"อาเซียน-สหภาพยุโรป : 45 ปีแห่งสายใยการบูรณาการเศรษฐกิจภูมิภาค"

3813 views
จากบทความที่แล้ว  ผู้เขียนได้นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอินเดีย เนื่องในโอกาสการครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างกัน 30 ปี  นอกจากนี้ ยังได้เกริ่นถึงการครบรอบความสัมพันธ์ 45 ปี ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปไว้เล็กน้อย  ในทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศแล้ว อาเซียนและสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มบูรณาการภูมิภาคที่สำคัญที่เกิดขึ้นข้ามทวีปและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา  สำหรับบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอพัฒนาการความสัมพันธ์และความร่วมมือของอาเซียน-สหภาพยุโรป และช่วงท้ายบทความ ผู้เขียนจะนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ที่ได้รื้อฟื้นการเจรจาการค้าเสรีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

พัฒนาการความสัมพันธ์ : จากความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันสู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

สหภาพยุโรปและอาเซียนมีพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างกันมากว่า 4 ทศวรรษในฐานะองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่สำคัญ  ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นจากสหภาพยุโรปมองเห็นความสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการสร้างความร่วมมือทางการค้าและความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกในช่วงทศวรรษที่ 1970  ด้วยเหตุที่สหภาพยุโรปมีการบูรณาการที่เป็นเอกภาพมากกว่าอาเซียน จึงทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สหภาพยุโรปมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกแบบรายรัฐกับรัฐต่าง ๆ (ขจิต จิตเสวี, 2559, 537)

อาเซียนเริ่มมีความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปในฐานะคู่เจรจาอย่างไม่เป็นทางการในปี 1972 และพัฒนาเป็นคู่เจรจาอย่างเป็นทางการในปี 1977 (ASEAN, 2023; จุลชีพ ชินวรรโณ, 2558, 251)  การพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายมีหมุดหมายสำคัญในปี 1980 เมื่ออาเซียนและสหภาพยุโรป (หรือประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในเวลานั้น) ได้ตกลงจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (ASEAN-EEC Cooperation Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงที่ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการพัฒนา (ASEAN a, 2023) รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (Joint Cooperation Committee: JCC) และสหภาพยุโรปยังให้การปฏิบัติกับสมาชิกอาเซียนตามหลักการการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งอีกด้วย (ขจิต จิตเสวี, 2559, 538)

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปมีพัฒนาการอย่างก้าวหน้าเป็นลำดับ เมื่ออาเซียนมีสถานะตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน หลังการประกาศกฎบัตรอาเซียนในปี 2007 และบังคับใช้ในปี 2008  อีกทั้งฝั่งสหภาพยุโรปเองก็ออกยุทธศาสตร์เอเชียใหม่ (Towards a New Asia Strategy) ในปี 1994 ที่กำหนดให้อาเซียนเป็นผู้มีบทบาทหลักในยุทธศาสตร์เชื่อมโยงความสัมพันธ์กันระหว่างเอเชียกับยุโรป ดังนั้น สถานะของอาเซียนกับสหภาพยุโรปจึงเริ่มพัฒนาสู่คู่ค้าอย่างสมดุลขึ้น มีการพัฒนาการลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และได้ริเริ่มความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง (ขจิต จิตเสวี, 2559, 538)  จนกระทั่งในปี 2007 ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นชอบปฏิญญานูเรมเบิร์กว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป (Nuremberg Declaration on an EU-ASEAN Enhanced Partnership) การจัดตั้งผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศอียู (European External Action Service – EEAS) ในปี 2010 รวมไปถึงการประกาศแผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน ในปี 2012 (Bandar Seri Begawan Plan of Action to Strengthen the ASEAN-EU Enhanced Partnership, 2013-2018)  ความตกลงฉบับต่าง ๆ ที่ได้ตกลงกันนั้นมีเป้าหมายความร่วมมือที่ชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งความร่วมมือได้ 3 ด้าน คือ ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า และความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN a, 2023)

เมื่อใกล้ครบกำหนดแผนงานในปี 2017 อาเซียนและสหภาพยุโรปตกลงรับรองแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหภาพยุโรปฉบับใหม่ (ASEAN-EU Plan of Action, 2018-2022) ในการประชุมระดับรัฐมนตรี ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง  ในเวลาต่อมา ในการประชุมระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในปี 2022 ทั้ง 2 ฝ่ายได้ยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ตามแผนปฏิบัติการการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-สหภาพยุโรป (the Plan of Action to Implement the ASEAN-EU Strategic Partnership, 2023-2027)  ต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2022 สหภาพยุโรปและอาเซียนได้จัดประชุมครั้งพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวาระครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่าย และได้ออกแถลงการณ์ที่เน้นย้ำการสร้างความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายอย่างรอบด้าน และการสร้างความร่วมมืออันดีท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน (ASEAN, 2022; ASEAN a, 2023)

จากภาพรวมพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป จะเห็นได้ว่า ในช่วงแรกนั้น สหภาพยุโรปค่อนข้างจะเป็นผู้นำทิศทางความสัมพันธ์ จนกระทั่งอาเซียนค่อย ๆ พัฒนาและเติบโตขึ้นในฐานะกลุ่มบูรณาการภูมิภาคที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปกับเอเชีย จึงมีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่แนบแน่นขึ้น

ภาพรวมของความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป

ดังที่กล่าวข้างต้นว่า อาเซียนกับสหภาพยุโรปมีความร่วมมือ 3 ด้านใหญ่ ๆ ตามแผนงานปี 2012 ดังนี้

ความร่วมมือด้านความมั่นคง อาเซียนกับสหภาพยุโรปมีความร่วมมือด้านความมั่นคงผ่านการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF)  สหภาพยุโรปพยายามขยายความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่กับอาเซียน เช่น การบริหารจัดการชายแดน อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมไซเบอร์ การจัดการภัยพิบัติ และความมั่นคงทางทะเล ฯลฯ  สหภาพยุโรปยังได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ในปี 2012  นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังแสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนพลัส (ASEAN Defence Ministers Meeting Plus: ADMM Plus) ด้วย  เวทีดังกล่าวนี้มีมหาอำนาจสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเข้าร่วมด้วย ได้แก่ อินเดีย จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา (สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์, ม.ป.ป.; ASEAN b, 2023)

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อาเซียนกับสหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อกัน  ในปี 2021 อาเซียนกับสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 268.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเจริญเติมโตร้อยละ 18.6 ต่อปี  นอกจากนี้ การลงทุนทางตรง (foreign direct investment :FDI) จากสหภาพยุโรปในอาเซียนในปี 2021 มีมูลค่า 26.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน (ASEAN a, 2023; the101world, 2565)

การดำเนินการด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้ง 2 ฝ่ายได้จัดตั้งกลไกที่ปรึกษาหารือกันสม่ำเสมอ อาเซียนและสหภาพยุโรปมีการจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) กับคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (EU Trade Commissioner)  ส่วนในระดับปฏิบัติงาน ก็มีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่เศรษฐกิจอาวุโสอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU Senior Economic Officials : SEOM-EU)  สหภาพยุโรปมีความสนใจผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน (ASEAN-EU FTA) โดยเริ่มการเจรจากันตั้งแต่ปี 2015  และในการประชุม ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ปี 2022 อาเซียนและสหภาพยุโรปได้ยืนยันการดำเนินงานเพื่อให้ความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวนี้เป็นผลประโยชน์ในระยะยาวของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ประชุมยังตัดสินใจเพิ่มการมีส่วนร่วมในประเด็นการค้าและเศรษฐกิจโดยดำเนินการตามแนวทางอื่นทั้งระยะสั้นและระยะกลาง โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานร่วมสำรวจความร่วมมือเฉพาะสาขาโดยเฉพาะ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีและบริการสีเขียว รวมทั้งความยืดหยุ่นของโซ่อุปทานการผลิต

นอกจากการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าแล้ว สหภาพยุโรปและอาเซียนยังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือด้านการคมนาคมทางอากาศอีกด้วย โดยมีการลงนามข้อตกลงการขนส่งทางอากาศ อาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU Comprehensive Air Transport Agreement: ASEAN-EU CATA) ในการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนครั้งที่ 28 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ปี 2022 (ASEAN a, 2023)

ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มความร่วมมือภูมิภาคที่มีความร่วมมือระหว่างกันไปมากกว่าเรื่องของเศรษฐกิจและการเมือง สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มความร่วมมือที่เป็นต้นแบบหรือเป็นกลุ่มที่สร้างปทัสถานสากลอื่น ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ การรักษาสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานสาธารณสุข (ปิติ ศรีแสงนาม, 2565, 138) ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศและการเสริมอำนาจสตรี การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านทุนการศึกษาและสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาในอาเซียน ผ่านโครงการสนับสนุนการศึกษาระดับสูงในอาเซียนของสหภาพยุโรป (EU Support to Higher Education in ASEAN Region: SHARE)

สหภาพยุโรปยังให้การสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ โดยสหภาพยุโรปได้ลงนามข้อตกลงจัดสรรงบประมาณสนับสนุนศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management: AHA) ณ กรุงบรัสเซลส์ ปี 2018  นอกจากนี้ สหภาพยุโรปและอาเซียนยังจัดประชุมหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา

นอกจากการสร้างความร่วมมือทั้ง 3 ด้านข้างต้นแล้ว อาเซียนกับสหภาพยุโรปยังมีความร่วมมือด้านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เช่น ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางทะเล 

การสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญของสหภาพยุโรป ตามเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) กับยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโดแปซิฟิก ต่างก็ให้ความสำคัญต่อสถานะการเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN centrality) อาเซียนที่เข้มแข็งในโครงสร้างสถาปัตยกรรมระหว่างประเทศย่อมสร้างเสถียรภาพและช่วยลดความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือบนพื้นฐานของเสรีนิยม พหุภาคีนิยม และหลักการแห่งเสถียรภาพได้ (the101world, 2565)

ไทย-สหภาพยุโรป: ความสัมพันธ์และการเจรจาการค้าเสรีครั้งใหม่

ไทยกับสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์กันในลักษณะ 4 กรอบความสัมพันธ์ ได้แก่ 1) กรอบความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับความสัมพันธ์รายประเทศของสหภาพยุโรป 2) กรอบความสัมพันธ์ทวิภาคีแบบกลุ่ม คือ ประเทศไทยกับสหภาพยุโรปทั้งกลุ่ม 3) กรอบความร่วมมือระหว่างองค์การภูมิภาค คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป และ 4) กรอบความร่วมมือพหุภาคีระดับภูมิภาค คือ การประชุมในเวทีเอเชีย-ยุโรป (Asia-European Meeting: ASEM)  ในส่วนนี้ ผู้เขียนจะเน้นไปที่กรอบความร่วมมือในข้อที่ 2 

ปัจจุบันสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ข, 2566)  สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์แบะส่วนประกอบ อัญมณี เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ  ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องมือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ฯลฯ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ , 2566)

การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในทศวรรษ 2000 โดยเฉพาะในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไทยและสหภาพยุโรปมีการจัดทำกรอบความร่วมมือว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป มีการเจรจาโดยอิงเอกสารยุทธศาสตร์ของยุโรป  นอกจากนี้ ไทยกับสหภาพยุโรปยังสร้างกลไกที่สนับสนุนความร่วมมือที่แนบแน่นมากขึ้น 1) การจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-ประชาคมยุโรป 2) การประชุมคณะทำงานด้านความร่วมมือไทย-คณะกรรมาธิการยุโรป 3) การทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับประชาคมยุโรป 4) กรอบพหุภาคีในเวทีอาเซียน-สหภาพยุโรป และ 4) กรอบพหุภาคีในเวที ASEM  ในเวทีเหล่านี้ ไทยมักจะใช้โอกาสในการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อสร้างความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และประเด็นอื่น ๆ อยู่เสมอ (จุลชีพ ชินวรรโณ, 2558, 159, 163-164)

ก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปคือ การริเริ่มการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ในปี 2013 โดยมีการเจรจาการทั้งหมด 4 ครั้งจนถึงปี 2014 ข้อตกลงดังกล่าวมีการหารือทั้งการลดอุปสรรคทางการค้า การส่งเสริมมาตรฐานต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน  อย่างไรก็ตาม การเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายต้องหยุดชะงักลงเมื่อเกิดการรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนพฤษภาคมปี 2014 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  สหภาพยุโรปได้ขอชะลอการเจรจา สหภาพยุโรปได้วิจารณ์คณะรัฐประหารและกดดันประเทศไทยโดยใช้มาตรฐานทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ  อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้มีมติให้ดำเนินการเพื่อรื้อฟื้นการเจรจากับไทย หลังจากที่ไทยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง  โดยในวันที่ 25 มกราคมปี 2023 ไทยกับสหภาพยุโรปได้แสดงเจตจำนงร่วมกันในการดำเนินการกระบวนการภายในและจะเริ่มการเจรจาการค้าเสรีระหว่างกันให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2023  หากไทยประสบความสำเร็จในการตกลงข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปได้ ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคถัดจากสิงคโปร์ในปี 2019 และเวียดนามในปี 2020 ที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ข, 2566; จุลชีพ ชินวรรโณ, 2558, 173; Nikkei Asia, 2023)

นอกจากนี้ ไทยกับสหภาพยุโรปยังมีการลงนามในกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2022 ซึ่งมีการเจรจากันมาตั้งแต่ปี 20047 กรอบความตกลงดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกระดับทั้งทวิภาคี ภูมิภาคและพหุภาคีอย่างเป็นแบบแผนมากขึ้น รวมทั้งอิงอยู่กับคุณค่าและปทัสถานของทั้งสหภาพยุโรปและการเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยที่จะส่งเสริมการเจรจาการค้าเสรีต่อไปในอนาคตด้วย (กระทรวงการต่างประเทศ, 2565; คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, 2565; มติชน, 2565)

การสานสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป แม้ว่าในสายตาของเราอาจจะมองเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสำหรับสหภาพยุโรปแล้ว ประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการยึดถือคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปประกาศตั้งประชาคมการเมืองยุโรป (European Political Community) ในปี 2022 (European Council, 2022)  นัยหนึ่งนอกเหนือไปจากการบูรณาการเศรษฐกิจแล้ว การบูรณาการทางการเมืองกำลังกลายเป็นเรื่องสำคัญของสหภาพยุโรปมากขึ้นและเรื่องดังกล่าวยิ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของไทยต่อการสร้างความร่วมมือกับสหภาพยุโรปที่ต้องยึดมั่นในคุณค่าประชาธิปไตยต่อไปในอนาคตมากขึ้น

รายการอ้างอิง


ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัยประจำสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยที่กำลังศึกษาและพยายามหาประเด็นหลักสำหรับชีวิตวิชาการ