เดินหน้าเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง

2895 views

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาโครงการติดตามเศรษฐกิจไทยครั้งที่ 16 (Thammasat Economic Focus-TEF16) และชุดก้าวเข้าสู่ 70 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 5 ในหัวข้อเรื่อง "เดินหน้าเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง" การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่าน คือ คุณเจน นำชัยศิริ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ รศ.ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



คุณ เจน นำชัยศิริ
"แรงงานคุณภาพ รัฐบาลโปร่งใส กฎหมายเอื้ออำนวย"


คุณเจน นำชัยศิริ เริ่มต้นการเสวนาโดยนำเสนอมุมมองทางด้านภาคธุรกิจกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา และโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจต่อรัฐบาลชุดใหม่ 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นการพัฒนาคุณภาพของ 'คน' หรือแรงงาน โดยการให้ความสำคัญกับนโยบายทางการศึกษา ประเด็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เนื่องจากการคอร์รัปชั่น เป็นการเพิ่มต้นทุนการทำธุรกิจที่ไม่จำเป็น และสุดท้ายคือประเด็นการแก้ไขมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น ใบอนุญาตการทำงานของชาวต่างชาติ โดยทั้งสามประเด็นข้างต้นนั้นคุณเจนมองว่าเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองมากเท่าที่ควร
นอกจากนี้ คุณเจนยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐบาล หรือการบูรณาการของรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยหลากหลายพรรคการเมือง โดยแสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่ผ่านมาของประเทศไทยส่วนมากที่ถูกมองว่าเป็นผลจากการพัฒนาอย่างไม่รวดเร็วเท่าที่ควรนั้น ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากคือการบูรณาการภายในของหน่วยงานภาครัฐ ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานทำงานเฉพาะโจทย์ระยะสั้นและเฉพาะในขอบเขตความรับผิดชอบตามกระทรวงของตนเอง ไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการร่วมกัน ส่งผลให้ผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ของประเทศถูกสกัดกั้นในที่สุด
คุณเจน นำชัยศิริ ให้ความเห็นว่า วินัยทางการเงินการคลังเป็นวินัยที่สำคัญของประเทศ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อสวัสดิการในสังคมยังส่งผลต่อเนื่องถึงภาคส่วนเอกชนความไม่มีเสถียรภาพทางการเงินคล้ายกับความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศซึ่งส่งผลต่อสังคมโดยรวม เช่น การลงทุน เสถียรภาพของค่าเงิน สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจในประเทศไทย



รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
"รัฐบาลใหม่กับความท้าทายในนโยบายเศรษฐกิจ"


รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เริ่มต้นด้วยการพูดถึงบรรยากาศของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก โดยสรุปข้อสังเกตต่างๆ ในหลากหลายประเด็น เช่น ความโปร่งใสและความเอาใจใส่ของรัฐบาลในการอำนวยการเลือกตั้ง รวมทั้งสรุปเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีใจความที่ชี้ให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น
รศ.ดร.นิพนธ์ เสนอความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งและเศรษฐกิจไทย ในหลากหลายแง่มุม ทั้งในแง่ของการถดถอยของเศรษฐกิจไทยโดยรวม และผลกระทบของการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจไทย โดย อาจารย์ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมนั้นชะลอตัว อันเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของการบริโภคที่ลดลงจากปีก่อน รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้าในเวทีโลก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยจะยังไม่มั่นคงจนกว่าเราจะได้รัฐบาลใหม่อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ รศ.ดร.นิพนธ์ ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นถึงนโยบายที่เป็นที่นิยมหรือน่าสนใจของพรรคการเมืองความเป็น 'ยุทธศาสตร์' ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ คือ ครอบคลุมในแง่มุมที่เป็นความท้าทายทั้งในเชิงการออกแบบนโยบายและโจทย์การพัฒนาของประเทศ เช่น ความจำเป็นในการเลือกนโยบายประชานิยมอย่างมีเหตุผล ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างสถานการณ์เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งส่งผลต่อการออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล
รศ.ดร.นิพนธ์ ทิ้งท้ายไว้สำหรับความแตกต่างระหว่างวัยที่ส่งผลต่อแนวคิดทางการเมืองที่ต่างกัน โดยว่าสามารถแก้ไขและลดความขัดแย้งได้ด้วยความรู้ และในประเด็นทางเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยควรเน้นระบบตลาด และให้รัฐบาลเป็นเพียงมีส่วนในการสนับสนุนในบางประการ รศ.ดร.นิพนธ์ เห็นว่า ปัจจุบันส่วนกลางมีอำนาจมาก และสังคมเองก็มองว่าทุกอย่างต้องพึ่งพาส่วนกลาง ทั้งๆที่รัฐบาลส่วนกลางในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ควร จากที่กล่าวมาทั้งสิ้นอาจารย์มองว่า ประเทศไทยต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีความคิดที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง



รศ.ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย
"การเมืองไร้เสถียรภาพกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย"


รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัยเสนอความเป็นไปได้ของหน้าตารัฐบาลใหม่ผ่าน '5 ฉากทัศน์ ทางการเมือง' ประกอบไปด้วย รัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำส่วนน้อย รัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์รักษาการณ์ต่อ รัฐบาลรูปแบบใหม่ๆ (รัฐบาลคนนอก) รัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญ (รัฐบาลหากเกิดการรัฐประหาร)
โดยในสองฉากทัศน์แรกนั้น รศ.ดร.อภิชาต คำนวณตัวเลขจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอำนาจของสองฝั่งอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีสองพรรคการเมืองคือพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทน ผลสรุปว่าโดยรวมแล้วมีจำนวนที่นั่งสส.แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลไม่มีสมาธิในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ แต่กลับพยายามออกแบบนโยบายที่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น มีลักษณะทำง่ายเห็นผลเร็ว เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหมายความว่านโยบายของประเทศไทยถูกออกแบบบนหลักการที่ไม่สมเหตุสมผล และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
รศ.ดร. อภิชาต ยังได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าภายใต้ฉากทัศน์การเมืองใด ประเทศไทยก็ยังจะต้องเจอกับปัญหาเรื่องโครงสร้างทางการเมืองของประเทศอย่างน้อยสามประเด็น ประกอบด้วย 'รวมศูนย์ไทยไร้เอกภาพและเสื่อมถอย' ซึ่งหมายถึงปัญหาระบบราชการและบุคลากรในระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 'รัฐบาลอ่อนแอขาดความชอบธรรม' หรือปัญหาจากการมีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปราชการและการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง และสุดท้าย 'การเกิดขึ้นของนโยบายสายตาสั้น' แสดงให้เห็นปัญหาผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจระยะยาวจากการที่รัฐบาลเลือกออกแบบเพียงนโยบายที่เห็นผลในระยะสั้น

รศ.ดร. อภิชาต สรุปอนาคตการเมืองไทยโดยมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มอบความหวังใหม่ให้กับประเทศไทย โดยโจทย์ที่อาจารย์มองว่าสำคัญสำหรับประเทศและยังสอดคล้องกับการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศดังที่คุณเจน นำชัยศิริ กล่าวข้างต้น คือ การสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ยั่งยืน โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้และข้อจำกัดต่างๆอย่างมีเหตุผล ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วหมายถึงการปฏิรูประบบราชการหรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั่นเอง

อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง อนาคตที่ต้องเฝ้าระวังแต่ให้มีความหวังอยู่เสมอ
วิทยากรทั้งสามท่าน เห็นตรงกันว่า ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข ซึ่งเป็นไปได้ยากในสถานการณ์การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพเช่นนี้ อย่างไรก็ดี ทิศทางการเมืองไทยและเศรษฐกิจไทยยังดำเนินต่อไปได้สำคัญคือการต้องคงเสถียรภาพทางการเงินและการคลังไว้และไม่ลืมที่จะพัฒนาอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างและออกแบบนโยบายที่คำนึงถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพส่วนกลางผ่านการบูรณาการระหว่างกระทรวงและการปฏิรูประบบราชการ แต่เน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และสนับสนุนระบบตลาดเพื่อให้เศรษฐกิจไทยและระบบสวัสดิการของคนในประเทศพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

รับชมวิดีทัศน์บันทึกการเสวนาได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=v6VB6321jNM

พันธิตรา ภูผาพันธกานต์
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Tag เศรษฐกิจไทย เศรษฐศาสตร์มหภาค