ตำบลช่อมะกอก : ภาพสะท้อนสังคมเศรษฐกิจไทย

29 มิถุนายน 2562
4042 views

ตำบลช่อมะกอกเขียนขึ้นในปีพุทธศักราช2517โดยคุณวัฒน์ วรรลยางกูร นิยายเล่มนี้เขียนภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516และในช่วงที่เกิดการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาแห่งแรกในประเทศไทย เนื้อหาภายในเรื่องเป็นความเรียงอ่านง่าย เพลิดเพลิน กล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวนาในตำบลช่อมะกอก มีนายชัย เป็นผู้นำชาวน้านให้ลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆ การถูกกดขี่จากผู้มีอำนาจ ระบบราชการและตำรวจ มีการกล่าวถึงนักศึกษาหญิงชายจากในเมืองที่ออกสู่ชนบทเพื่อเผยแพร่ความรู้ ทั้งยังนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสตรี

เริ่มจากนายชัย ช่อมะกอก ตัวละคอนหลักของเรื่อง ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก นายใช่ วังตะกู ซึ่งเป็นประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คนแรกแห่งประเทศไทย ในเรื่องช่วงแรก แทบจะไม่มีชาวบ้านคนไหนในตำบลช่อมะกอกที่รู้จักสหพันธ์เลย ยกเว้นเขา ซึ่งเป็นตัวละคอนที่มีอุปนิสัยใฝ่เรียน ชอบอ่านหนังสือ ผิดกับคนอื่นๆ ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตรงกับสภาพสังคมแต่ก่อนที่พวกชาวไร่ชาวนาไร้ปากเสียงเพราะขาดการศึกษา

เมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2517 ได้เกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ อย่างเป็นทางการครั้งแรก จากการลุกขึ้นสู้ภายใต้คำขวัญ "ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ" ถ้อยคำนี้ได้ถูกหยิบยกมาใส่ในเนื้อเรื่องช่วงที่ไร่นาของชาวบ้านได้ตกเป็นทรัพย์สินของท่านขุน ทำให้ทุกคนกลายเป็นลูกหนี้บนที่ทำกินของตนเอง ต้องประสบความไม่เป็นธรรม กินอยู่ด้วยความอดอยาก ในประเทศไทยเองก่อนจะเกิดสหพันธ์ ชาวนาส่วนใหญ่ก็ประสบความลำบากยากแค้นจากปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน เพราะถูกเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ขูดรีดและฉ้อโกงไป เงินทองตกเป็นของผู้มีอำนาจ คนรวยรวยจากการโกง คนจนจนแบบไม่มีสิทธิได้ลืมตาอ้าปาก

ภายในเรื่อง นายชัยจะเป็นคนกระจายข้อมูลข่าวสารและรวบรวมชาวบ้านให้มาเข้าร่วมสหพันธ์ แต่การก่อตั้งก็หาได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเมื่อท่านขุนทราบ การกลั่นแกล้งสมาชิกในกลุ่มสหพันธ์ก็เริ่มขึ้น อาทิ การลอบวางเพลิงแปลงนาในตอนดึก การใส่ร้ายว่าสหพันธ์เป็นพวกคอมมิวนิสต์ ทำให้พวกชาวบ้านหวาดกลัวเพราะคิดว่าคิดว่าคอมมิวนิสต์เป็นเหมือนผีร้าย เชื้อโรคติดต่อ สัตว์ประหลาดไร้จิตสำนึก เป็นภัยคุกคาม ต้องคอยเฝ้าระวัง ในภายหลัง ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มลูกเสือชาวบ้านขึ้นเพื่อยับยั้งและจัดการกับสหพันธ์ รวมไปถึงการลอบสังหารผู้นำชาวบ้านจากสหพันธ์ต่างๆ นายชัยต้องหนีเข้าไปซ่อนตัว เพราะตำรวจที่ตำบลช่อมะกอกอยู่ฝั่งตรงข้ามกับชาวบ้าน ทุกคนต้องดูแลและพึ่งพาตนเอง การกลั่นแกล้งสมาชิกสหพันธ์และการลอบสังหารได้เกิดขึ้นจริงในช่วง พ.ศ. 2517-2522มีชาวนาไม่ต่ำกว่า 46 คนถูกฆ่าตาย เพราะการเคลื่อนไหวเรียกร้องไปขัดกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจหลายราย ฝั่งตำรวจก็พยายามเบี่ยงประเด็นว่าเป็นเรื่องชู้สาว เรื่องขัดแย้งส่วนตัว ไม่ก็เป็นเรื่องภายในกลุ่มสหพันธ์เอง แต่ไม่ได้พยายามจะจับคนร้ายมาลงโทษ รัฐบาลก็ไม่มีนโยบายปราบปราม แต่ได้ยอมรับว่าการลอบสังหารผู้นำชาวบ้านนั้นคล้ายกับว่ามีขบวนการอยู่

ในส่วนของตัวละคอนที่เป็นนักศึกษาครูทั้งหญิงและชายที่เข้ามาให้ความรู้แก่ชาวบ้านในตำบลช่อมะกอกนั้น เทียบได้กับเหตุการณ์ช่วงก่อน 14 ตุลา กลุ่มองค์กรนักศึกษาได้กลายเป็นหัวขบวนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการออกค่ายเพื่อให้ความรู้และเผยแพร่ประชาธิปไตยแก่ผู้คนในชนบท ทว่าในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ได้สัมผัสและเรียนรู้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ อาทิ การขาดโอกาสและถูกผู้มีอำนาจข่มแหง ทำให้นักศึกษาต้องการจะแก้ไข ดังที่ตำบลช่อมะกอกได้นำเสนอทัศนคติดังกล่าวผ่านตัวละคอนที่ชื่อ นิด ผู้เป็นนักศึกษาครูสาว ซึ่งทั้งในสถานการณ์จริงและในหนังสือ กลุ่มนักศึกษาต่างก็โดนกลั่นแกล้ง ถูกขับไล่ ถูกจับ และถูกฆ่า เพราะการกระทำดังกล่าวขัดกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ

ภายหลังเหตารณ์14ตุลา การร้องทุกข์ของชาวนาก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีความช่วยเหลือจากนักศึกษา ประชาชนบางส่วน และแรงงานกรรมกรคอยสนับสนุน จนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2517 ชาวไร่ชาวนาจากต่างจังหวัดได้เดินทางเข้ามาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญว่าด้วยการประกันราคาข้าวแก่ชาวนา การลดค่าพรีเมียมข้าว การควบคุมราคาน้ำมันเชื่อเพลิงและปุ๋ยให้ถูกลง การควบคุมการส่งออก และการจัดการให้ชาวนาได้ขายข้าวในระดับตลาดโลก ในตำบลช่อมะกอก ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ในตอนท้ายของเรื่อง เมื่อชาวนา 9 คน โดนจับเข้าห้องขังด้วยข้อหาบุกรุก เพราะท่านขุนกล่าวว่า ที่นาดังกล่าวเป็นของตน ทำให้เกิดการรวมตัวหน้าศาลากลางของชาวบ้านจากตำบลช่อมะกอกพันกว่าคน และจากสหพันธ์ชาวนาใกล้เคียงที่มาช่วยเรียกร้องอีกเกือบพัน เพื่อควงคืนอิสระให้แก่ผู้บริสุทธิ์ และทวงคืนความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพของตนเอง

โดยสรุป ตำบลช่อมะกอกเป็นหนังสือที่นำเหตุการณ์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่และการต่อสู้ของกลุ่มองค์กรนักศึกา มาเรียบเรียงและสร้างขึ้นผ่านโลกนิยาย ตำบลช่อมะกอกเป็นเสมือนโลกคู่ขนานที่เสียดสีเหตุการณ์อย่างเจ็บแสบระหว่างชนชั้นรากหญ้ากับผู้มีอำนาจ

ชญาภัส หงสไกร
นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ ชั้นปีที่สอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรกคือเลี้ยงปลากัด