30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย จากรัฐกำลังพัฒนาสู่มหาอำนาจเพื่อนบ้านใกล้ชิด

20 กุมภาพันธ์ 2566
4040 views
ปี 2022 ที่ผ่านมา เป็นปีสำคัญของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) หรือที่เรามักเรียกกันโดยทั่วไปว่าอาเซียน ในด้านการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ และมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาค ไม่ว่าการครบรอบความสัมพันธ์ 45 ปี ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป และการครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปีระหว่างอาเซียน-อินเดีย  ในครั้งนี้ ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ในฐานะประเทศมหาอำนาจใหม่ที่น่าสนใจและมีบทบาทมากขึ้นทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสำรวจความร่วมมือด้านต่าง ๆ 

30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย
 
อินเดียกับอาเซียนมีความสัมพันธ์ทางการค้าตั้งแต่ปี 1992 และพัฒนาสถานะขึ้นเป็นคู่เจรจาการค้าอย่างเป็นทางการในปี 1995 และได้เข้าเป็นสมาชิกของ ASEAN Regional Forum (ARF) ในปี 1996  ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอาเซียนยกระดับขึ้นในปี 2002 เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายทุกปี  ในปี 2003 อินเดียยังได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TCA) ซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากประเทศจีน รวมทั้งรับรองแถลงการณ์ร่วมกับอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากลในปีเดียวกัน (จุลชีพ ชิณวรรโณ, 2558, 248-249; ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน, ม.ป.ป.; ASEAN a, n.d.)

อาเซียนกับอินเดียสร้างความร่วมมืออย่างรอบด้านในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา มีการลงนามใน “เอกสารหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดียเพื่อสันติภาพ ความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (ASEAN-India Partnership for Peace, Progress and Shared Prosperity) ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 3 ณ นครเวียงจันทร์ ประเทศลาวในปี 2004  การประชุมดังกล่าวได้กำหนดแนวทางความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนา และออกแผนปฏิบัติการรองรับ (2004-2010) รวมทั้งได้มีการจัดตั้ง ASEAN-India Fund เพื่อสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือดังกล่าว (กรมอาเซียน, 2560)  ในปี 2009 ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการจัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าของแผนงาน ผลสำเร็จและข้อบกพร่องในการดำเนินงานของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานและความร่วมมือเพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก (ASEAN a, 2021)

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอินเดียกับอาเซียนยกระดับขึ้นในปี 2003 เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า การบริการ การลงทุน  อย่างไรก็ตาม กว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถสรุปความตกลงว่าด้วยการค้าเสรีได้ ก็ในปี 2008 (จุลชีพ ชิณวรรโณ, 2558, 249)  แม้ว่าในช่วงต้นของความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อมีการเจรจาและข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้ว มูลค่าทางการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายเพิ่มมากขึ้น มูลค่าทางการค้าอาเซียนกับอินเดียขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี โดยขยายตัวจาก 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1993 เป็น 12.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2003

แม้จะมีความพยายามส่งเสริมการค้าเสรี แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าสินค้าของ 2 ฝ่ายกลับขยายตัวติดลบร้อยละ 14.9  จากมูลค่าการค้า 77.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เหลือ 65.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ซึ่งสวนทางการการลงทุนทางตรง (FDI) จากอินเดียมาสู่อาเซียนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 จาก 1.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เป็น 2.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 (ASEAN a, 2021)

การประชุมสุดยอดผู้นำครบรอบ 20 ปี อาเซียน-อินเดีย ในปี 2012 ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับรองวิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย รวมทั้งยกระดับความสัมพันธ์การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) รวมทั้งจัดทำความตกลงด้านการค้าการบริการและการลงทุนภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India FTA)  ขณะที่การประชุมสุดยอดผู้นำครบรอบ 30 ปี อาเซียน-อินเดีย ในปี 2022 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทั้ง 2 ฝ่ายยกระดับความร่วมมือและออกแถลงการณ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Comprehensive Strategic Partnership) โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ทบทวนความคืบหน้า และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทุกมิติ (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2565; ASEAN b, 2022)

การเชื่อมโยงและการร่วมพัฒนาอื่น ๆ ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับอินเดีย
  
นอกจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว การพัฒนาด้านการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค การร่วมมือพัฒนาทางสังคมและการสร้างความสัมพันธ์อันดีในระดับประชาชนของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นสิ่งที่ทั้งอินเดียและอาเซียนยังให้ความสำคัญด้วย

อาเซียนและอินเดียให้ความสำคัญกับ การเชื่อมโยงภูมิภาค ที่รอบด้านทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ  อินเดียส่งเสริมการเชื่อมโยงกับอาเซียนผ่านทะเลอันดามัน โดยมีเมืองทวายของเมียนมาร์เป็นท่าเรือสำคัญเข้าสู่อาเซียน รวมถึงสนับสนุนการสร้างทางหลวง 3 ฝ่าย ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ และอินเดีย รวมทั้งการขยายเส้นทางดังกล่าวเชื่อมโยงไปยังกัมพูชาและลาว อีกทั้งยังมีการสร้างทางหลวงสายใหม่เชื่อมโยงอินเดียกับเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  อินเดียยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา Mekong-India Economic Corridor (โฮจิมินห์- พนมเปญ-กรุงเทพ-ทวาย-เจนไน) เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอินเดียฝั่งตะวันออก  นอกจากนี้ อินเดียยังสนับสนุนให้มีการเปิดน่านฟ้าเสรีกับอาเซียนด้วย (กรมอาเซียน, 2560; ASEAN a, 2021)

ในด้านการพัฒนาสังคม อินเดียให้ความร่วมมือกับอาเซียนในการลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียน  อินเดียสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมภาษาอังกฤษในกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือ กับอาเซียนในสาขาที่อินเดียมีความชำนาญ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) การแพทย์และเภสัชศาสตร์ ทั้ง 2 ฝ่ายได้จัดตั้งกองทุน ASEAN-India Science & Technology Fund เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดตั้งกองทุน ASEAN India Green Fund เพื่อการส่งเสริมการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค  นอกจากนี้ อินเดียยังให้ความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการพัฒนาการแพทย์แผนโบราณ การให้ทุนการฝึกอบรมด้านอายุรเวชแก่บุคลากรของอาเซียน (กรมอาเซียน, 2560; จุลชีพ ชิณวรรโณ, 2558, 249-250; ASEAN a, n.d.)

ส่วนในระดับภาคประชาชน นั้น อินเดียสนับสนุนโครงการประจำปีในการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนทั้งนักศึกษา ผู้สื่อข่าว นักการเมือง และนักการทูต  อินเดียได้จัดตั้ง Inter-Ministerial Group on ASEAN Connectivity เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยง และได้ประชุมร่วมกับ ASEAN Connectivity Coordinating Committee (ACCC) (ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน, ม.ป.ป.; ASEAN a, 2021)  นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทางวัฒนธรรมแก่ศูนย์วิจัยด้านอินเดียศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้น

โอกาสและความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย

อินเดียสนใจเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก และภาพที่ขยายใหญ่ขึ้นไปมากกว่านั้น คือ การบูรณาการตัวเองเข้ากับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ  อินเดียกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวพันธ์กับเวทีความร่วมมือหลากหลายกลุ่ม  หากมองในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว นอกจากเวทีของอาเซียน อินเดียยังมีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมอีกเวทีหนึ่งคือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจหรือบิมสเทค (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล และภูฏาน กับกลุ่มประเทศจากอาเซียนคือ ไทย และเมียนมาร์  เวทีดังกล่าวเป็นเวทีความร่วมมือหลากหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ ประมง สาธารณสุข พลังงาน ตลอดจนถึงการเกษตร (เดอะ แสตนดาร์ด, 2563) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคเอเชียใต้ได้

ตาม นโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy) ของรัฐบาลนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ซึ่งเป็นนโยบายการต่างประเทศของอินเดียที่ได้รับการพัฒนาและสานต่ออย่างต่อเนื่องหลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการวางรากฐานยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดียที่ต้องการไปไกลมากกว่าการเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคหรือมหาอำนาจขนาดกลางเท่านั้น (ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก, 2565, K. V. Kesavan, 2020) อินเดียพยายามบูรณาการทางเศรษฐกิจของตนเองกับกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น ดังที่กล่าวไปข้างต้น อินเดียให้ความสำคัญกับภาคส่วนต่าง ๆ ของอาเซียนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาพรวมของอาเซียนผ่านการตกลงด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ  อินเดียยังให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) อย่างมาก  อินเดียลงทุนทางตรงระหว่างปี 2017-2018 กว่า 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลัฐกา เนตรทัศน์, 2562) ซึ่งเป็นความพยายามของอินเดียเพื่อช่วยลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

อินเดียเป็นโอกาสสำคัญของอาเซียนสำหรับการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจอื่น ๆ ทั้งจากจีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ  ในปัจจุบัน อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของโลก (ประชาชาติ, 2565)  อินเดียมีแหล่งทรัพยากรหลากหลาย โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณ  นอกจากนี้ อินเดียยังห่างไกลกับสภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแตกต่างจากมหาอำนาจอื่นอย่างจีน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีการคาดการณ์อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรของอินเดียในระดับร้อยละ 0.9 ต่อปีจนถึงปี 2026 (จักราวุธ ศรีจันทร์งาม, พบกานต์ อาวัชนาการ, 2565)  นอกจากนี้ อินเดียยังมีความใกล้ชิดทางวัฒนาธรรม ภาษา และอาหารการกินกับประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจได้ (ปิติ ศรีแสงนาม, 2565, 189-191)

รายการอ้างอิง
ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัยประจำสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยที่กำลังศึกษาและพยายามหาประเด็นหลักสำหรับชีวิตวิชาการ