เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562 ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมรับฟังการแข่งขัน Young Government's Policy Design (YGPD) นโยบายออกแบบได้ ในรอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นโดยคณะกรรมการนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังได้รับเกียรติจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นคณะกรรมการอีก 5 ท่าน นอกจากนี้ ยังมีผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาจากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรับฟังและให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของนโยบายอีกด้วย ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดีกับ พรรค Blink ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันดังกล่าว เพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความยินดี ผมจึงขอเริ่มนำเสนอนโยบายของพรรคผู้ชนะเป็นพรรคแรก


(พรรค Blink ได้รับรางวัลชนะเลิศ)

นโยบายของพรรค Blink เน้นเรื่อง การศึกษาและปัญหาของสังคมไทย เนื่องจากทางพรรคมีความเชื่อว่าทุกๆ ปัญหาของสังคมมักเริ่มต้นมาจากการศึกษา ด้วยจุดประสงค์และความมุ่งมั่นดังกล่าวจึง นโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษา 3 นโยบายหลัก
นโยบายแรก มีฐานคิดมาจากการสังเกตว่า หลักสูตรปัจจุบันที่เน้นการท่องจำมากกว่าการประยุกต์และมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรบ่อย ส่งผลให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นตัวนโยบายจึงเน้นไปที่การปรับหลักสูตรให้เกิดการคิด วิเคราะห์ และต้องสามารถบูรณาการให้เข้ากับแต่ละท้องถิ่นได้ ทั้งนี้การขึ้นตรงของกระทรวงการศึกษาธิการต่อรัฐบาลนำมาซึ่งอุปสรรคมากมาย เช่น ความจำเป็นต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาหลักของนโยบายจึงต้องการแยกกระทรวงการศึกษาธิการให้เป็นองค์กรอิสระออกจากการควบคุมของรัฐ แต่ทั้งนี้ยังคงรับงบประมาณจากรัฐบาล รูปแบบดังกล่าวรับอิทธิพลมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่สามารถแยกตัวเป็นองค์กรอิสระ แต่คำถามคือ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการแยกตัวของกระทรวงการศึกษาธิการ โดยใช้แม่แบบมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย?

นโยบายต่อมา ทางพรรคต้องการสร้างมาตรฐานการศึกษาทั้งประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน(One Quality) สืบเนื่องมาจากครูมีมาตรฐานที่แตกต่าง และปัญหาการกระจายครูในแต่ละพื้นที่ ปัญหาเหล่านี้อาจแก้ไขโดยสร้างศูนย์อบรมครู กล่าวคือหลังจากที่ครูเรียนจบ จะต้องเข้ารับการอบรมที่ศูนย์ดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนถึงจะสามารถรับใบประกอบวิชาชีพได้ เพื่อสร้างมาตรฐานของครูให้มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้จับฉลากเพื่อกระจายครูในแต่ละพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างมาตรฐานเช่นนี้จะเป็นการพัฒนาที่ไปลดทอนบริบทด้านความแตกต่างของแต่ละพื้นที่หรือไม่? ดังเช่นกรรมการท่านหนึ่งยกตัวอย่างโรงเรียนในจังหวัดเดียวกัน แต่มีวัตถุประสงค์การสร้างนักเรียนที่แตกต่างกัน โรงเรียนแรกหวังผลเชิงวิชาการ (เน้นเพื่อให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา) และโรงเรียนที่สองต้องการสร้างเด็กเพื่อตอบโจทย์การสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่นมากกว่า เพราะฉะนั้น การสร้างมาตรฐานโดยหวังให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสจากรัฐที่เท่าเทียมโดยเน้นที่รูปแบบ จะไปลดทอนความแตกต่างของตัวเด็กหรือไม่? กรรมการท่านกล่าวจึงเสนอว่าอาจจะต้องเป็นมาตรฐานที่หลากหลาย
นโยบายสุดท้ายคือ การจัดสรรงบประมาณให้นักเรียนโดยตรง ซึ่งเปลี่ยนจากการให้เงินอุดหนุนทางโรงเรียนเป็นการให้คูปองกับนักเรียนเพื่อให้สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนและเลือกลงทะเบียนเรียนออนไลน์ในวิชาที่ตนสนใจได้เอง นอกจากนี้ การจัดสรรงบดังกล่าวในแต่ละโรงเรียนอาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาของตัวนักเรียนเป็นที่ตั้ง


(พรรคผ่อนไม่เพียงพอ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ)

สำหรับพรรคต่อมามีชื่อว่า พรรคผ่อนไม่เพียงพอ โดยมีเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวมากและยังสามารถโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้อีกด้วย พรรคได้นำเสนอสถิติที่ไม่น่าประทับใจของประเทศไทย นั่นคือในปี 2559 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเป็นอันดับที่ 5 ของโลก จุดประสงค์หลักของพรรค คือ การลดการใช้พลาสติก และการส่งเสริมให้สังคมแยกขยะกันมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ การส่งเสริมให้ใช้วัสดุแทนพลาสติก ซึ่งมีทั้งการส่งเสริมให้เพิ่มเนื้อหาการแยกขยะในหลักสูตรเพื่อปลูกจิตสำนึกตั้งแต่เด็กและต้องทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถสร้างรายได้ด้วยการนำขยะพลาสติกบางส่วนมาแปรรูป และรายได้บางส่วนยังสามารถนำไปสมทบสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้สมาชิกชุมชนสามารถกู้ยืมได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำอีกด้วย

อีกนโยบายหนึ่งที่น่าสนใจมีชื่อนโยบายว่า Goal Green Policy ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขัน Start -up เพื่อค้นหานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ โดยให้เงินสนับสนุนแก่ผู้เข้าแข่งขัน นอกจากนี้ รัฐยังให้การสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัสดุทดแทนและการแยกขยะ ทั้งด้านงบประมาณและการลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนา อาทิเช่น ด้านกฎหมาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะของธุรกิจที่ต้องการการคุ้มครองของรัฐซึ่งสอดคล้องกับแม่แบบของอุตสาหกรรมทารก จึงนำมาสู่คำถามของกรรมการท่านหนึ่งว่า จะทำยังไงให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้ในระยะยาวโดยปราศจากการช่วยเหลือจากรัฐ?

นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ชื่อว่า Good Garbage Application Policy โดยเน้นส่งเสริมเรื่องการแยกขยะให้กับประชาชน โดยให้เจ้าหน้าที่มาตรวจเช็คว่าสามารถแยกขยะได้ถูกต้องหรือไม่ และถ้าแยกขยะได้ถูกต้องตามเกณฑ์จะได้รับ point ที่สามารถนำไปเป็นส่วนลดค่าน้ำค่าไฟ นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิ์ผ่อนผันหนี้ในระบบอีกด้วย อาทิเช่น หนี้การศึกษาสามารถผ่อนให้ยาวขึ้นอีก 1 เดือน ฯลฯ โดยการผ่อนผันนั้นมีข้อจำกัดที่สามารถทำได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น


(พรรคนี้ไม่ทำงานเลย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ)

ต่อเนื่องมาที่ พรรคนี้ไม่ทำงานเลย ที่เล็งเห็นความสำคัญของไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเริ่มนำเสนอจากการประมาณการว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร งบประมาณที่ใช้กับผู้สูงอายุในช่วงปี 2552-2561 มีการเติบโตสูงขึ้นทุกๆ ปี ถ้าเปรียบเทียบปีแรกกับปีสุดท้ายจะพบว่า งบประมาณสูงขึ้นถึง 44,000 กว่าล้านบาท นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ยากจนยังคงมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน สัดส่วนผู้สูงอายุที่ยากจนสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ทางพรรคจึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างสวัสดิการที่ดีแก่ผู้สูงอายุที่ยากจน เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตจนสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น และนำไปสู่การลดรายจ่ายภาครัฐ ทางพรรคมีฐานความเชื่อว่าสังคมไทยมีความเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นทุนเดิม

นโยบายแรกนั้นมีชื่อว่า ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยบริการฟรีจากชุมชน ซึ่งเน้นไปที่การเข้ามามีบทบาทของภาคเอกชน กล่าวคือ ให้ภาคเอกชนในชุมชนเข้ามาจัดบริการฟรีแก่ผู้สูงอายุในชุมชน อาทิเช่น การตัดผมฟรี ตัดแว่นฟรี ตรวจสุขภาพฟรี เป็นต้น โดยจะสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชนด้วยการลดหย่อนภาษี การให้เกียรติบัตร ฯลฯ หลังจากสร้างโครงการดังกล่าว จึงนำมาสู่คำถามของกรรมการท่านหนึ่งว่า นโยบายจะช่วยลดงบจากรัฐบาลยังไง? ทำไมเอกชนต้องทำ? จะทำอย่างไรให้เอกชนสามารถทำแบบเดียวกันทั้งประเทศ? หากรัฐลดภาษีให้ ยิ่งตอกย้ำว่าไม่ใช่นโยบายแบบให้เปล่า รัฐจะต้องเสียงบถึง 2 ต่อ ทั้งรายได้ที่ให้แก่ผู้สูงอายุและภาษีที่ลดให้แก่ภาคเอกชน ทางพรรคได้ให้คำตอบว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นทุกชุมชน แต่เสริมบทบาทของชุมชนที่มีความร่วมมือกันเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว และได้ยอมรับถึงข้อจำกัดว่า ถ้ารัฐลดภาษีให้แก่เอกชนเยอะกว่าบริการที่เอกชนจัดให้ก็แสดงออกถึงความไม่คุ้มแก่การลดภาษี ทั้งยังเสริมว่าไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ทางภาษี แต่รวมถึงความภาคภูมิใจที่เอกชนได้รับจากชุมชนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ส่งเสริมการหางานไม่เต็มเวลาให้แก่ผู้สูงอายุ สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ โดยรัฐและเอกชนจะเป็นองค์กรที่รับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทั้งยังมีนโยบายที่เน้นเรื่องของสุขภาพ โดยเริ่มที่การตั้งคำถามว่าผู้สูงอายุทำได้แค่รอการรักษาจริงหรือไม่? และมองว่าการรักษาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ตัวนโยบายจะแก้ไขที่ต้นเหตุนั่นคือเริ่มต้นที่การดูแลสุขภาพ โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุหันมาดูแลสุขภาพเพื่อเป็นการป้องกันในขั้นต้น แรงจูงใจดังกล่าวประกอบด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มอบให้แก่ผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุมีสุขภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด
แต่ทั้งนี้การเน้นบทบาทของภาคชุมชนของนโยบายดังกล่าว ต้องเป็นไปในเชิงสอดคล้องกับอำนาจที่กระจายไปสู่ชนบท ดังที่กรรมการท่านหนึ่งกล่าวว่า รูปแบบดังกล่าวเน้นไปที่บทบาทขององค์กรส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่นโยบายระดับรัฐ เพราะฉะนั้น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือการทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอจึงเป็นหมุดหมายที่ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายของพรรค


(พรรคพลังคนรุ่นใหม่ ได้รับรางวัลชมเชย)

สำหรับพรรคต่อไปมีชื่อว่า พรรคพลังคนรุ่นใหม่ โดยมีสโลแกนพรรคว่า เกษตรกรไทย มั่งคั่ง ยั่งยืน พรรคเริ่มต้นที่การอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวว่า รายได้เฉลี่ยต่อปีของเกษตรกรไทยอยู่ที่ 57,000 บาท ซึ่งต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำที่ควรจะได้ และไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่สูง จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่งผลไปสู่ภาระหนี้สินและปัญหาอื่นๆ ทางพรรคมีเป้าหมายหลักเพื่อลดบทบาทพ่อค้าคนกลาง โดยเชื่อว่า พ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร จนนำซึ่งปัญหาความยากจนของภาคเกษตร
ด้วยเป้าหมายหลักดังกล่าวจึงนำมาซึ่งนโยบายหลักของพรรคที่มีชื่อว่า ศูนย์หนีจน ซึ่งเป็นลานเกษตรชุมชน กล่าวคือเป็นลานเกษตรที่ให้คนในชุมชน เข้ามาบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยรัฐจะให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์และการขนส่ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเรื่องระบบที่ปรึกษา (Mentor) ซึ่งมีรูปแบบการทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดนเชิงรุกเน้นการลงชุมชนเพื่อสอบถามและติดตามผลกับเกษตรกรที่สมัครสมาชิกของศูนย์ไว้ และเชิงรับเน้นบทบาทเรื่องการปรึกษาปัญหาและให้ความรู้แก่เกษตรกร ทั้งยังมีการวิจัยและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น smart farm ที่เพิ่มบทบาทของเทคโนโลยีและปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มบทบาทของ Start-up ให้เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย


(พรรคจบแล้วแต่อย่างแข่ง ได้รับรางวัลชมเชย)

พรรคสุดท้ายมีชื่อว่า พรรคจบแล้วแต่อยากแข่ง กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่กำลังเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเลือกใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานเป็นส่วนใหญ่ในระยะยาว เนื่องจากต้นทุนในระยะยาวที่ต่ำกว่าและผลิตภาพที่สูงกว่า ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการเบียดขับโดยเทคโนโลยีส่วนใหญ่คือ กลุ่มคนที่มีอายุ 15-24 ปี ทางพรรคยังได้เสริมอีกว่า กลุ่มอาชีพที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเบียดขับดังกล่าว ต้องเป็นกลุ่มอาชีพที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ (เป็น skill ที่หุ่นยนต์ทดแทนยาก) กลุ่มอาชีพดังกล่าวทางพรรคเรียกว่า การมีทักษะ Job Creator จากทั้งหมดที่กล่าวจึงนำมาซึ่งสองเป้าหมายหลักของพรรคคือ สร้างแรงงานที่มีทักษะ Job Creator และลดจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมเสี่ยงลงร้อยละ 40

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเชื่อมโยงไปสู่นโยบายที่มีชื่อว่า "สยามสามคิด" โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองในท้ายที่สุด นโยบายแบ่งออกเป็น 3ระยะ ระยะแรก คือ Awareness โดยจะสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหา ระยะสองConsideration เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักความสำคัญของปัญหาว่ามีผลกระทบต่อตัวเองอย่างไรและกล่าวถึงผลดีของค่านิยมใหม่ๆ ระยะสุดท้าย Purchase เป็นขั้นตอนที่กลุ่มเป้าหมาย จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการพัฒนาศักยภาพ เพื่อออกจากอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือพัฒนาเพื่อเป็นนายจ้างด้วยตัวเอง โดยรวมแล้ว นโยบายดังกล่าวจะใช้เวลาดำเนินการ10 ปี

เนื่องด้วยนโยบายดังกล่าวมีความซับซ้อน จึงหยิบยกข้อเสนอจากกรรมการท่านหนึ่งที่เสนอว่านอกเหนือไปจากการสร้างแรงงานให้มีทักษะ Job Creator ด้วยการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยงตระหนักและนำไปสู่เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นหลักแล้ว ควรสร้างโปรแกรมการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรในระยะยาว (Training Program) ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนการศึกษาเพื่อสร้างแรงงานให้มีทักษะ Job Creator ในระยะยาวในท้ายที่สุด

สุดท้ายนี้ เราจะเห็นได้ว่านโยบายของพรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ารอบล้วนเต็มไปด้วยความหลากหลาย เล็งเห็นปัญหาต่างๆ ของประเทศไทย แม้ว่าจุดยืนนโยบายจะหลากหลาย แต่เป้าหมายเดียวกันคือ อยากเห็นประเทศไทยพัฒนาในทิศทางที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต แม้ว่ายังคงมีอีกหลายนโยบายที่ไม่ได้ถูกหยิบยกเพื่อนำเสนอในโครงการดังกล่าว อาทิ นโยบายด้านเศรษฐกิจ และการกระจายอำนาจ แต่การขบคิดนโยบายที่หลากหลายรวมทั้งการแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายคงไม่สามารถผูกขาดไว้กับกลุ่มใดกลุมหนึ่ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหน้าที่ของเราทุกคน โดยมีพื้นฐานที่เสรีภาพในการแสดงความเห็น รวมถึงการคำนึงว่าทุกๆ นโยบายล้วนมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง ที่สำคัญและท้าทายมากกว่าคือ เราจะเรียนรู้จากข้อจำกัดและพัฒนานโยบายให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยได้อย่างไร?

ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ชอบการค้นคว้า จึงรักการอ่าน และต้องการแบ่งปันประสบการณ์ จึงรักทั้งการพูดและการเขียน