ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 หลังจากสิ้นสุดอาณานิคม เมียนมาร์ไม่สามารถได้รับเอกราชอย่างสันติได้ เนื่องจากการลอบสังหารนายพลอองซานได้ทำลายความหวังในการจัดตั้งรัฐรวมอำนาจภายใต้ข้อตกลงปางโหลงที่ให้ความสำคัญความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2505 โดยนายพลเนวินนำไปสู่การปกครองโดยทหารผ่านแนวคิดความเป็นพม่า (Burmanisation) เพื่อรวมอำนาจไว้ที่กลุ่มชาติพันธุ์พม่า (Callahan, 2003) ชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวกะเหรี่ยง คะฉิ่น ชาน และยะไข่ ถูกปราบปรามอย่างต่อเนื่องจากการพยายามอ้างสิทธิ์ในการปกครองตนเอง (South, 2008) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 กองทัพพม่าได้เปิดฉากการปราบปรามครั้งใหญ่ ส่งผลให้ชาวโรฮีนจามากกว่า 740,000 คนหลบหนีข้ามชายแดนไปยังบังกลาเทศ (Human Rights Council, 2018; OHCHR, 2019)
การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2564 นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ทำให้สถานการณ์ในเมียนมาร์แย่ลงไปอีก กลุ่มทหารได้จัดตั้งคณะรัฐประหารขึ้นมาเข้ารับช่วงต่อจากรัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซู จี โดยอ้างว่ารัฐบาลพลเรือนชนะการเลือกตั้งอย่างไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นประชาชนทั่วประเทศก็เริ่มออกมาประท้วง และหลายคนก็เข้าร่วมการต่อต้านด้วยอาวุธ กองกำลังป้องกันประชาชน (People's Defence Force: PDF) ร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) และกองทัพอาระกันหรือยะไข่ (AA) ลุกขึ้นต่อสู้ในหลายพื้นที่ จนเมืองใหญ่ ๆ บางเมืองก็จบลงด้วยการควบคุมของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน (International Crisis Group, 2021) คณะรัฐประหารตอบโต้ด้วยการเกณฑ์ชายหนุ่มอายุ 18 ถึง 35 ปีเข้ากองทัพ พร้อมทั้งมีข่าวลือไม่ดีว่าถูกใช้งานหนัก ไม่มีค่าจ้าง และถูกส่งไปต่อสู้โดยแทบไม่ได้รับการฝึกฝน (UNHCR, 2024) ยิ่งไปกว่านั้นมีรายงานว่ากองทัพใช้ยาเสพติดกับทหารระดับล่างเพื่อควบคุมจิตใจ ลดความหวาดกลัว และกล้าปฏิบัติตามคำสั่งที่ผิดหลักมนุษยธรรม (UNODC, 2023) ในขณะเดียวกัน ค่าเงินจ๊าดก็มีแนวโน้มอ่อนค่า จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และประชาชนเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น (Frontier Myanmar, 2024; Thepgumpanat, 2025) จากการล่มสลายทางเศรษฐกิจ สงครามกลางเมือง และการบังคับเกณฑ์ทหาร ประชาชนของเมียนมาร์ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ต้องหลบหนีไปต่างประเทศเพื่อความปลอดภัยในชีวิต (South China Morning Post, 2025)
การจัดการแรงงานข้ามชาติในไทย : จากบัตรชมพูถึงระบบ MOU
ในช่วงแรก ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายเปิดรับแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ มีเพียงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และประกาศสงวนอาชีพสำหรับคนไทย ต่อมาเมื่อแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากขึ้น รัฐบาลไทยจึงเริ่มใช้มติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้แรงงานเหล่านี้สามารถจดทะเบียนและทำงานได้ชั่วคราวนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จากนั้นจึงพัฒนาสู่การออกเอกสารแสดงตน เช่น บัตรประกันสุขภาพ และต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ใช้ระบบบัตรชมพูซึ่งให้สิทธิในการทำงานบางประเภทและอยู่ในประเทศอย่างถูกต้องชั่วคราว พร้อมกับเริ่มทำบันทึกความเข้าใจ (MOU)1) กับประเทศต้นทาง เพื่อให้มีการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย และในปี พ.ศ. 2550 จึงมีการขยายระบบจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติ เพื่อรองรับแรงงานที่อยู่นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่จำเป็น เช่น ประมง เกษตร และบริการในบ้าน จนมาถึงปี พ.ศ. 2560 ไทยจึงออก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อวางระบบบริหารจัดการใหม่อย่างเป็นระบบ และลดการพึ่งพานโยบายเฉพาะหน้าในระยะยาว (แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล และคณะ, 2561)
ระบบบัตรชมพู
บัตรชมพูเป็นเอกสารแสดงตัวตนชั่วคราวที่รัฐบาลไทยออกให้กับแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว แต่เป็นการเข้ามาโดยไม่มีเอกสารการเดินทางหรือใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง วัตถุประสงค์หลักของระบบบัตรชมพูคือเพื่อกำหนดสถานะแรงงานที่ไม่มีเอกสารให้ถูกต้อง ทำให้สามารถอาศัยและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ในการขอรับบัตรชมพูนั้น แรงงานจะต้องลงทะเบียนกับทางการ เข้ารับการตรวจสุขภาพ และเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติที่ประสานงานกับประเทศต้นทาง ระบบนี้บริหารจัดการโดยกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทยร่วมกัน ผู้ถือบัตรชมพูได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐาน และอาศัยและทำงานในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระบบบัตรชมพูเองก็มีข้อจำกัด เช่น บัตรชมพูมีอายุใช้งานจำกัด โดยปกติคือ 2 ปี และต้องต่ออายุ นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างหรือสถานที่ได้อย่างอิสระโดยไม่ผ่านขั้นตอนอย่างเป็นทางการ ผู้ถือบัตรชมพูจะไม่ได้รับวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานภายใต้ข้อตกลง MOU และสถานะทางกฎหมายของแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นสถานะแบบชั่วคราวเท่านั้น (กรมการจัดหางาน, 2563; IOM 2025)
ระบบ MOU
ในทางตรงกันข้าม ระบบ MOU เป็นโครงการย้ายถิ่นฐานแรงงานระหว่างรัฐบาลที่อนุญาตให้แรงงานเข้าประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายตั้งแต่แรกเริ่ม แรงงานข้ามชาติภายใต้ระบบนี้จะได้รับเอกสารการเดินทาง หนังสือเดินทาง วีซ่าผู้อพยพระหว่างประเทศประเภท B (Non-Immigrant Visa “B”: Non-B) 2) และใบอนุญาตทำงาน การเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายนี้ทำให้แรงงานมีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้อง สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคม และในบางกรณี สามารถเปลี่ยนงานได้ ด้วยผลของสถานะทางกฎหมายนี้เอง แรงงานข้ามชาติบางคนที่เข้ามาด้วยระบบบัตรชมพู จึงขอเปลี่ยนเป็นระบบ MOU หลังจากทำการตรวจสอบสัญชาติเสร็จแล้ว การเข้าสู่ระบบ MOU เป็นช่องทางที่แรงงานต่างชาติต้องการและมีมั่นคงกว่าระบบบัตรชมพู สำหรับการจ้างงานระยะยาวในประเทศไทย (กรมการจัดหางาน, 2563; IOM 2025)
อย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารในเมียนมาร์ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ได้ขัดขวางแรงงานในการเข้าสู่ระบบ MOU เนื่องจากรัฐบาลที่นำโดยทหารในเมียนมาร์ไม่สนับสนุนการย้ายถิ่นฐานออกไป โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว เยาวชนเหล่านี้จำนวนมากเป็นกลุ่มเดียวกับที่กองทัพพยายามเกณฑ์เข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ผลที่ตามมาคือรัฐได้จำกัดช่องทางทางกฎหมายในการอพยพย้ายถิ่น โดยควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวด กำหนดให้ชายหนุ่มต้องรายงานตัวต่อหน่วยงานท้องถิ่น และในหลายกรณี รัฐบาลเมียนมาร์ไม่ออกเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการเข้าร่วมโครงการ MOU กับประเทศไทย ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้แรงงานเมียนมาร์จำนวนมากจึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการได้เลย แรงงานเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีความแน่นอนทางกฎหมาย และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานไทย
ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายแรงงานข้ามชาติไทย : การบริหารจัดการที่ยังไม่ยั่งยืน
แม้ว่าประเทศไทยจะพยายามปรับปรุงระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง แต่นโยบายที่ไม่สอดคล้องยังคงเป็นอุปสรรคกับการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบัตรชมพู ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ รวมถึงความล่าช้าในการประกาศนโยบาย ขั้นตอนที่ซับซ้อน และสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่จำกัด
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของระบบบัตรชมพูคือ การมีสถานะทางกฎหมายไม่ถาวร การใช้ระบบบัตรชมพูเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในแต่ละปี การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เจ้าหน้าที่ระดับสูง และสภาพแวดล้อมทางการเมืองจึงสงผลต่อความต่อเนื่องของระบบ
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมักจะจัดการแรงงานข้ามชาติไร้เอกสารเป็นรายกรณี ขึ้นอยู่กับความต้องการในระยะสั้น เช่น การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม หรือแรงกดดันให้ลดการจับกุมแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้การใช้นโยบายไม่สามารถคาดเดาได้ อีกทั้ง ผู้ถือบัตรชมพูส่วนใหญ่มักทำงานที่ใช้ทักษะอาชีพต่ำ ขาดโอกาสก้าวหน้าในอาชีพหรือการพัฒนาทักษะ โดยทั่วไปแล้ว แรงงานเหล่านี้มักถูกจำกัดให้ทำงานที่หนัก เงินเดือนต่ำ และไม่มั่นคง หลายคนไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างหรือเปลี่ยนอาชีพได้อย่างอิสระ และเข้าถึงระบบประกันสังคมได้จำกัด ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและแทบไม่มีหนทางสู่เสถียรภาพในระยะยาว (IOM, 2025)
ส่วนระบบ MOU นั้น ก็มีปัญหาการบริหารจัดการด้วยเช่นกัน ความล้มเหลวของระบบ MOU มีอุปสรรคสำคัญมาจากรัฐบาลเมียนมาร์ หลังการรัฐประหารในเมียนมาร์ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ทำให้ไม่สามารถส่งออกแรงงานผ่านช่องทางรัฐบาลต่อรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป สงครามกลางเมืองและความไม่มั่นคงทางการเมืองของเมียนมาร์ทำให้ออกเอกสารสำคัญ เช่น หนังสือเดินทาง ล่าช้า และในบางกรณี รัฐบาลได้ปิดกั้นไม่ให้เยาวชนออกจากประเทศอย่างจริงจัง แรงงานจำนวนมากจึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบ MOU อย่างเป็นทางการได้ แรงงานเมียนมาร์บางส่วนหันไปพึ่งนายหน้า โดยนายหน้าเหล่านี้มักจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้โดยเรียกร้องเงินใต้โต๊ะ บางครั้งสูงถึง 15,000 บาท เพื่อเร่งรัดกระบวนการหรือหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่นี้เพิ่มภาระให้กับคนงานรายได้น้อย และสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความโปร่งใสในระบบการจัดการแรงงาน (International Crisis Group, 2021; Karen News, 2022; Karen News, 2024)
สถานการณ์ความรุนแรงและการเกณฑ์ทหารในเมียนมาร์ ทำให้หลายคนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการหลบหนีไปยังประเทศไทย แต่การเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนต้องใช้ช่องทางวีซ่าทางเลือก เช่น วีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าเพื่อการศึกษา แม้จะรู้ว่าวีซ่าเหล่านี้ไม่อนุญาตให้ทำงานอย่างถูกกฎหมายก็ตาม (Thai Enquirer, 2024) ส่วนบางคนโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ ยังคงเข้ามาเมืองและทำงานผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการหรือผิดกฎหมาย มีนายหน้าคอยนำทางในการข้ามพรมแดนธรรมชาติ แรงงานเมียนมาร์ส่วนใหญ่เหล่านี้มักจะอยู่อาศัยเกินกำหนด ไม่มีหนังสือเดินทางหรือวีซ่า ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการจับกุม และถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้าโดยไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย (Eckert, 2025)
บทสรุป และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ภายหลังการรัฐประหารในเมียนมาร์ในปี พ.ศ. 2564 จำนวนผู้อพยพชาวเมียนมาร์ที่เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบแรงงานของไทย ซึ่งรวมถึงความล่าช้าในกระบวนการลงทะเบียนบัตรชมพู นอกจากนี้ ระบบ MOU ก็ล้มเหลวเนื่องจากขาดความร่วมมือจากเมียนมาร์ การจ่ายเงินใต้โต๊ะสำหรับเอกสารทางกฎหมายที่แพร่หลาย และการเข้าเมืองของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่ผ่านนายหน้าที่ผิดกฎหมาย หลายคนอยู่เกินกำหนดใบอนุญาตหรืออยู่ในสถานะไม่แน่นอนทางกฎหมาย ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่ได้รับภายใต้ระบบ MOU ได้
จากปัญหาบัตรชมพู ที่ไม่แน่นอนทางกฎหมายและมีความล่าช้าของระเบียบราชการ และปัญหากระบวนการ MOU ที่หยุดชะงัก โดยไม่มีนโยบายอย่างชัดเจนของไทยในการปรับตัวให้เข้ากับปัญหาการเมืองของเมียนมาร์ ผู้เขียนเห็นว่า นโยบายสำคัญที่ประเทศไทยควรนำมาใช้คือกลไกการปรับสถานะให้ถูกต้อง (Regularization) ที่อนุญาตให้ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารในระยะยาว (4 ปีขึ้นไป) ยื่นคำร้องขอสถานะพำนักโดยไม่ต้องกลับประเทศต้นทาง ตามแบบอย่างโครงการของไอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2565 (PICUM, 2022a; 2022b)
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีช่องทาง MOU ทางเลือกสำหรับผู้ย้ายถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาถึงก่อนการรัฐประหาร เพื่อยื่นคำร้องขอสถานะทางกฎหมายและใบอนุญาตทำงานโดยไม่ต้องกลับเมียนมาร์ (MPI, 2025)
และที่สำคัญ ในทางปฏิบัติแล้ว ประเทศไทยควรปฏิรูประบบบัตรชมพูให้มีความต่อเนื่อง โปร่งใส และเข้าถึงได้ เช่น ออกระบบการลงทะเบียนแบบต่อเนื่องแทนการอาศัยอำนาจตามมติคณะรัฐมนตรีที่ไม่แน่นอน การใช้ระบบการให้บริการแบบดิจิทัลที่ครบวงจรเพื่อลดอุปสรรคด้านภาษาและปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากนายหน้า การส่งเสริมให้มีและใช้ช่องทางรับข้อร้องเรียนและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพื่อคุ้มครองแรงงานและปราบปรามการทุจริต
หากประเทศไทยสร้างระบบการกฎหมายที่ยุติธรรมและยั่งยืน ก็จะช่วยลดการย้ายถิ่นฐานของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร และส่งผลดีต่อทั้งแรงงานต่างด้าวเองและสังคมไทย
เชิงอรรถ
1) MOU คือระบบย้ายถิ่นแรงงานที่รัฐจัดการร่วมกับประเทศต้นทาง โดยมีการขอหนังสือเดินทาง วีซ่า Non B และ Work Permit ล่วงหน้า (กรมการจัดหางาน, 2563)
2) Non-Immigrant Visa “B” (Non‑B) เป็นวีซ่าที่ออกให้โดยสถานทูตไทยสำหรับผู้ที่จะทำงานหรือประกอบธุรกิจในไทย ต้องมี Passport อย่างน้อย 6 เดือน มีรูปถ่าย และมีจดหมายรับรองจากนายจ้างก่อนเข้าประเทศ (กระทรวงการต่างประเทศ, 2567)
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
กรมการจัดหางาน. (2563). แนวทางการขึ้นทะเบียนและออกเอกสารให้แรงงานต่างด้าว. กระทรวงแรงงาน.
กระทรวงการต่างประเทศ. (2567). Non-Immigrant Visa "B" - Business. กระทรวงการต่างประเทศ. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2568, จาก https://wellington.thaiembassy.org/th/publicservice/non-immigrant-visa-b-business
แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล, กิริยา กุลกลการ และศุภชัย ศรีสุชาติ. (2561). โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาการบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน.
ภาษาอังกฤษ
Callahan, M. P. (2003). Making enemies: War and state building in Burma. Cornell University Press.
Eckert, P. (2025). Tide of Myanmar war refugees tests Thailand’s welcome mat for migrants. Radio Free Asia. https://www.rfa.org/english/asia/2025/01/25/thailand-myanmar-laos-cambodia-refugees-migrants-labor-conscription/
Frontier Myanmar. (2024). Power cut along the border leaves ethnic areas in the dark. https://www.frontiermyanmar.net
Human Rights Council. (2018). Report of the Independent International Fact-Finding Mission on Myanmar. United Nations. https://www.ohchr.org/en/documents/country-reports/ahrc39164-report-independent-international-fact-finding-mission-myanmar
International Crisis Group. (2021). Responding to the Myanmar coup (Asia Briefing No. 166). https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/myanmar/166-responding-myanmar-coup
International Organization for Migration. (2025). Overview of Myanmar nationals in Thailand: January 2025. Bangkok: International Organization for Migration Thailand. https://thailand.iom.int/sites/g/files/tmzbdl1371/files/documents/2025-03/myanmar_migrants_thailand_jan25_final-1.pdf
Karen News. (2022). Burmese workers entering Thailand under MOU system, paying more than double. Karen News. https://karennews.org/2022/05/burmese-workers-entering-thailand-under-mou-system-paying-more-than-double/
Karen News. (2024). Refugee resettlement programme from Thailand-Myanmar border to third countries to restart. Karen News. https://karennews.org/2024/06/refugee-resettlement-programme-from-thailand-myanmar-border-to-third-countries-to-restart/
MPI. (2025). Policy options for regularising undocumented migrant workers in Thailand: Lessons from international models. Migration Policy Institute Asia. https://www.migrationpolicy.org
OHCHR. (2019, August 5). UN Fact-Finding Mission on Myanmar exposes military business ties, calls for targeted sanctions and arms embargoes. Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights. https://www.ohchr.org/en/press-releases/2019/08/un-fact-finding-mission-myanmar-exposes-military-business-ties-calls
PICUM. (2022a). FAQ: Regularisation and access to a secure residence permit. Retrieved from https://picum.org/faq-regularisation-access-secure-residence/
PICUM. (2022b). Regularisation of undocumented migrants: how to make it work. Retrieved from https://picum.org/regularisation-of-undocumented-migrants-how-to-make-it-work/
South China Morning Post. (2025). No way home for Myanmar migrants stuck in Thai limbo 4 years after coup usurped Aung San Suu Kyi. https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3212356/no-way-home-for-myanmar-migrants-stuck-thai-limbo
South, A. (2008). Ethnic politics in Burma: States of conflict (1st ed.). Routledge. https://doi.org/10.4324/9780203883550
Thai Enquirer. (2024). Thailand’s border run boom: The legal gray area of visa extensions. https://www.thaienquirer.com/48291/thailands-border-run-boom-the-legal-gray-area-of-visa-extensions/
Thepgumpanat, P. (2025). Thailand to cut power to Myanmar border areas linked to scam centres. Reuters. https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thailand-cut-power-myanmar-border-areas-linked-scam-centres-2025-02-04/
United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR). (2024). Myanmar displacement overview as of 08 Apr 2024 [Map]. UNHCR Operational Data Portal. https://data.unhcr.org/en/documents/details/107651
United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC). (2023). Synthetic drugs in East and Southeast Asia: Latest developments and challenges. UNODC Regional Office for Southeast Asia and the Pacific. https://www.unodc.org