ขอบเขตของวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน

68 views

เนื่องในวาระครบรอบ 76 ปี แห่งการสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง "ขอบเขตของวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน" โดยเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองจากทั้งคณาจารย์ผู้สร้างองค์ความรู้ ได้แก่ รศ.ดร.พีระ เจริญพร ผศ.ดร.ถิรภาพ ฟักทอง และ อ.ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา รวมถึงนักศึกษาผู้ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ ได้แก่ คุณณัฐวัศ ยงประเดิม และคุณทัตพงศ์ สิทธิ์สุกใส การเสวนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา

รศ.ดร.พีระ เจริญพร

เศรษฐศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของสังคมศาสตร์ที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยมีการพัฒนาและปรับปรุงคำอธิบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและพลวัตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสังคมศาสตร์เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เมื่อพฤติกรรมมนุษย์ เทคโนโลยี กฎเกณฑ์ทางสังคม และบริบทโดยรวมเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ตั้งแต่แนวคิดการสร้างความมั่งคั่งของชาติโดยอดัม สมิธ มาสู่ทฤษฎีมูลค่า (Value Theory) ของเดวิด ริคาร์โด การคิดแบบส่วนเพิ่ม (Marginalism) ทฤษฎีเศรษฐกิจแบบเคนส์เซียน (Keynesianism) ที่เน้นบทบาทรัฐในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การคาดการณ์แบบสมเหตุสมผล (Rational Expectations) ที่เชื่อว่าคนมีเหตุผลทำให้การออกนโยบายบางอย่างอาจใช้ไม่ได้ผล และในปัจจุบันคือ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ที่พิจารณาถึงความไม่สมเหตุสมผลของมนุษย์

เศรษฐศาสตร์ยังสามารถพัฒนาผ่านกรณีศึกษาในระดับต่าง ๆ โดยเริ่มจากระดับใหญ่ที่สุดคือ ระดับชาติ แนวคิดเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมเคยเป็นที่นิยม แต่ถูกลดบทบาทลงเมื่อเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนีโอคลาสสิก เข้ามามีอิทธิพล อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจและการเติบโตของจีนทำให้แนวคิดนี้ถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง โดยมีการนำเสนอกลยุทธ์อุตสาหกรรมแบบมุ่งพันธกิจ (mission-oriented industrial strategy) ซึ่งพิจารณาบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์การเมืองที่กว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาว่าสถาบันทางเศรษฐกิจและการปกครองมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของประเทศ

ต่อมาเป็นระดับอุตสาหกรรม ระดับนี้ถูกประยุกต์ใช้กับเรื่องการบริหารธุรกิจ จากเดิมที่มองว่าตลาดเป็นแบบแข่งขันสมบูรณ์หรือไม่ก็แบบผูกขาด แต่โครงสร้างตลาดในความเป็นจริงมักเป็นตลาดผู้ขายน้อยรายหรือกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด โดยมีการนำแนวคิดเรื่องการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และทฤษฎีเกมมาใช้เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของธุรกิจ โครงสร้างตลาด และพฤติกรรมคู่ค้าหรือคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของตลาด และแนะนำบทบาทภาครัฐในการส่งเสริมสวัสดิการสังคม

ระดับสุดท้ายคือ ระดับบริษัท เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่าทุกอย่างมีความสมเหตุสมผล บริษัทต้องการกำไรสูงสุด มีข้อมูลครบถ้วน และตัดสินใจโดยการวิเคราะห์ต้นทุน-ประโยชน์ส่วนเพิ่ม (marginal analysis) แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็พบว่าพฤติกรรมที่แท้จริงของมนุษย์ไม่ได้สมเหตุสมผลเสมอไป พวกเขาจึงเริ่มผ่อนคลายข้อสมมติเรื่องความสมเหตุสมผล เพื่อให้การศึกษาเศรษฐศาสตร์สะท้อนความเป็นจริงและอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้ดีขึ้น

ด้วยความซับซ้อนของโลกที่มากขึ้น สาขาทางเศรษฐศาสตร์จึงเพิ่มขึ้น และมีความเป็นสหวิชาที่ต้องผสมผสานความรู้จากศาสตร์อื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องตระหนักเสมอคือ โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทฤษฎีที่เคยอธิบายได้ในสถานการณ์หนึ่งอาจใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ที่มีรูปแบบหรือช่วงเวลาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดหลัก (core idea) ของเศรษฐศาสตร์ยังคงเป็นรากฐานสำคัญ ผู้เรียนหรือผู้สร้างองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จึงต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ ลืมสิ่งที่เปลี่ยนไปแล้ว และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ผศ.ดร.ถิรภาพ ฟักทอง

ในอดีต การศึกษาเศรษฐศาสตร์มุ่งเน้นความเข้าใจการทำงานของตลาด พฤติกรรมการตัดสินใจของผู้คนและบริษัท รวมถึงการสร้างผลกระทบที่นำไปสู่นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบัน ความคาดหวังต่อนักเศรษฐศาสตร์ได้ขยายวงกว้างขึ้น ไม่จำกัดเพียงนวัตกรรมเชิงนโยบาย แต่ยังรวมถึงการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาในบริบทที่หลากหลาย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการทำงานข้ามสาขา (interdisciplinary work) และการผสมผสานเทคโนโลยี (tech/engineering) เข้ามาช่วยเร่งความเร็วในการวิจัยและเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดแม่นยำยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์การวิจัย ที่ทำมาในอดีต ความคาดหวังของนักเศรษฐศาสตร์ได้ขยายวงกว้างขึ้น มีดังนี้

1. Big Data และ Machine Learning: ช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจในโลกความเป็นจริงได้แม่นยำขึ้น ด้วยการประมวลผลและเรียนรู้จากชุดข้อมูลขนาดมหาศาล ผ่านอัลกอริทึมที่ซับซ้อน โดยอาศัยข้อมูลเรียลไทม์จากหลากหลายแหล่ง เช่น สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์หรือข้อมูลธุรกรรม

2. Large Language Models (LLMs): เป็นแบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าใจ สร้าง และจัดการข้อความภาษาของมนุษย์ เช่น Generative AI ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยย่อยข้อมูลจำนวนมากให้เหลือเพียงสาระสำคัญ และช่วยทำงานด้านอื่น ๆ ได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเนื้อหา การแปลภาษา หรือการตอบคำถามที่ซับซ้อน

3. Remote-Sensing และ Geospatial Data: ช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเศรษฐกิจและพฤติกรรมมนุษย์ผ่านข้อมูลเชิงสิ่งแวดล้อมและภูมิสารสนเทศ โดย Remote-Sensing คือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโลกจากระยะไกลผ่านดาวเทียมหรืออากาศยาน ขณะที่ Geospatial Data คือข้อมูลที่มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ ซึ่งนำมาใช้ในการวิเคราะห์รูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการกระจายตัวของประชากร

4. Agent-Based Modeling (ABM): เป็นการสร้างแบบจำลองโดยใช้ตัวแทน (agent) เหมือนตัวละครหรือกลุ่มคนจำลองที่ถูกสร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วยให้สามารถจำลองปฏิสัมพันธ์ของผู้คน สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในระบบ แต่ละตัวแทนจะตัดสินใจและส่งผลกระทบต่อภาพรวมอย่างไร

5. High-Performance หรือ Cloud Computing: เป็นเทคโนโลยีการประมวลผลที่ทรงพลังและยืดหยุ่นสูง โดยเฉพาะ Cloud Computing ที่เป็นการเข้าถึงทรัพยากรคอมพิวเตอร์ผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อก่อนเทคโนโลยีเหล่านี้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันมีต้นทุนที่ต่ำลง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และรันแบบจำลองที่ซับซ้อนสามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก

6. Generative-AI Agents: เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่เหนือกว่า LLMs เนื่องจากสามารถตั้งเป้าหมาย วางแผน และลงมือทำงานที่ซับซ้อนแทนมนุษย์ได้เกือบทั้งหมด เช่น การวิเคราะห์รายงานทางการเงิน การวิเคราะห์หุ้น หรือการรวบรวมข้อความทุกประเภทจากโซเชียลมีเดียมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อมูลเชิงลึก (social listening) เพื่อติดตามข่าวสารและคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า ในโลกธุรกิจ ตัวแทนปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ยังถูกนำมาใช้ในการเจรจาต่อรอง การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมมนุษย์ได้ละเอียดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ประสบการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่ข้อมูลจำกัดอยู่แค่รายปีหรือรายไตรมาส ปัจจุบันสามารถเข้าถึงข้อมูลรายวันหรือแบบเรียลไทม์ จากการวิจัยที่อาศัยตัวอย่างขนาดเล็ก ปัจจุบันสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลขนาดใหญ่และหลากหลาย ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ การทดสอบสมมติฐานที่เคยใช้เพียงการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ หรือการถดถอยแบบวิธีกำลังสองน้อยที่สุด (Ordinary Least Squares regression - OLS) ก็สามารถทำได้ซับซ้อนขึ้นด้วยเครื่องมือและข้อมูลที่มากขึ้น ส่งผลให้ระยะเวลาการวิจัยที่เคยใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปีสามารถลดลงเหลือเพียงนาทีหรือชั่วโมงในปัจจุบัน

อ.ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) คือ การผสานหลักจิตวิทยาเข้ากับเศรษฐศาสตร์ เพื่อปรับปรุงข้อสมมติฐานที่ว่ามนุษย์มีเหตุผลสมบูรณ์ให้มีความสมจริงมากขึ้น โดยยอมรับว่ามนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทางจิตวิทยาที่หลากหลายและมีข้อจำกัดในการคิด

สิ่งที่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

1. ความชอบที่ไม่ได้เป็นตามมาตรฐาน (nonstandard preferences): ศึกษาความชอบที่ไม่เป็นไปตามเหตุผล เช่น ความชอบหรือไม่ชอบเสี่ยง การให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต และความชอบทางสังคม มีความยุติธรรม การให้ การตอบแทน รวมถึงอิทธิพลของอารมณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเป็นอาทิ

2. ความเชื่อที่ไม่ได้เป็นตามมาตรฐาน (nonstandard beliefs): พิจารณาว่าความเชื่อของมนุษย์ไม่เป็นไปตามเหตุผลเสมอไป เช่น มนุษย์มีความสนใจที่จำกัด แม้จะมีข้อมูลมากมาย แต่มนุษย์ก็มีความสนใจอย่างจำกัด

2. ความเชื่อที่ไม่ได้เป็นตามมาตรฐาน (nonstandard beliefs): พิจารณาว่าความเชื่อของมนุษย์ไม่เป็นไปตามเหตุผลเสมอไป เช่น มนุษย์มีความสนใจที่จำกัด แม้จะมีข้อมูลมากมาย แต่มนุษย์ก็มีความสนใจอย่างจำกัด

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขา ตัวอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับแรงงาน เราสามารถพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับบริษัทได้ ถ้าบริษัทมีการแลกเปลี่ยนของขวัญ แรงงานจะยิ่งมีความพยายามในการทำงานมากขึ้น ในด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการพัฒนาที่ศึกษาปัญหาเงินกู้นอกระบบ โดยพิจารณาว่าจะให้ข้อมูลอย่างไรเพื่อให้ผู้กู้ตัดสินใจได้ดีขึ้น และด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการเงินที่มีการอธิบายปรากฏการณ์ปริศนาผลตอบแทนส่วนเกินของหุ้น (equity premium puzzle) ว่าทำไมคนไม่นิยมลงทุนในตลาดหุ้น หรือผลกระทบจากการขาดทุนในหุ้นแล้วไม่ยอมขาย (disposition effect)

ตัวอย่างนโยบายที่มีมุมมองจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคือ โครงการออมเพิ่มในวันพรุ่ง (Save More Tomorrow) 1) เป็นนโยบายที่คิดโดยริชาร์ด เอช. เธเลอร์ (Richard H. Thaler) และชโลโม เบนาร์ทซี (Shlomo Benartzi) ในปี ค.ศ. 2000 โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการออมเพื่อวัยเกษียณ โดยให้พนักงานให้คำมั่นว่าจะออมเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งนโยบายนี้มี 2 ลักษณะสำคัญคือ การเข้าร่วมอัตโนมัติ (auto enrollment) พนักงานจะถูกเข้าร่วมโครงการออมทรัพย์โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องดำเนินการสมัครด้วยตนเอง ทำให้ทุกคนเริ่มต้นออมได้ทันที และการเพิ่มเงินออมอัตโนมัติ (automatic escalation) เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว เงินสมทบหรือเงินออมจะถูกปรับเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ โดยมักจะผูกกับการได้รับเงินเดือนขึ้นในอนาคต ทำให้พนักงานไม่รู้สึกว่าสูญเสียรายได้ปัจจุบัน และยังคงมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นแม้จะออมมากขึ้น ด้วยกลไกที่อิงกับพฤติกรรมมนุษย์เช่นนี้ โครงการออมเพิ่มในวันพรุ่งจึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมการออมและอัตราการออมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

คุณณัฐวัศ ยงประเดิม

จากการเก็บข้อมูลและรวบรวมความคิดเห็นของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ 40 ถึง 50 คน สามารถสรุปเป็นกรอบการนำเสนอได้ว่า “เศรษฐศาสตร์กับสายงานที่หลากหลาย” มีความคิดเห็นของนักศึกษาคนหนึ่งที่คุณณัฐวัศประทับใจและคิดว่าน่าสนใจคือ “ผมก็แค่เด็กที่อยากเรียนจบไปหางานทำ” เขาไม่ได้เข้ามาด้วยความตั้งใจที่จะเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ แต่เข้ามาด้วยความบังเอิญว่าคะแนนถึง และจากการพูดคุยกับนักศึกษาคนอื่น ๆ ก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน คือ นักศึกษาหลายคนไม่ได้ตั้งใจจะเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ แต่ได้เข้ามาเพราะคะแนนถึง ดังนั้น นักศึกษากลุ่มนี้จะรู้สึกว่าแค่อยากเรียนจบไปหางานทำ โดยใช้ปริญญาเป็นใบเบิกทาง นักศึกษาหลายคนมีความต้องการให้หลักสูตรเน้นการประยุกต์ใช้จริงและลดทฤษฎีลง เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้ทันที พวกเขามองว่าเมื่อไปสมัครงาน โดยเฉพาะในงานจ็อบแฟร์ (Job Fair) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) โดยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะรับเด็กคณะเศรษฐศาสตร์เข้าไปทำงานอะไร จึงมักเสนอตำแหน่งงานที่ไม่ตรงสาย ด้วยเหตุนี้ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าไม่มีพื้นที่สำหรับนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ นอกจากสายงานธนาคารหรือภาครัฐ

ไม่เพียงเท่านั้น นักศึกษามีความรู้สึกว่าหลักสูตรของคณะในปัจจุบันพยายามทำให้นักศึกษาเป็นนักวิจัย โดยเขาให้เหตุผลว่านักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์แต่ละรุ่นมีจำนวนมาก เขาไม่มั่นใจว่าตลาดจะต้องการนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขนาดนี้หรือไม่ นักศึกษาบางคนอาจมีความชอบเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่ได้อยากทำงานเป็นนักวิจัย อาจารย์ หรืองานที่ต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว คณะจึงควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความถนัดด้านอื่น ๆ สามารถนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในวิชาชีพที่หลากหลายได้

นอกจากนี้ ในงานปฐมนิเทศของคณะมีการกล่าวว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพ แต่เศรษฐศาสตร์คือการประยุกต์ เราเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลาย จึงเป็นเหตุให้นักศึกษาบางส่วนเกิดคำถามว่าจะสามารถทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาชีพได้หรือไม่ จะทำอย่างไรให้เราสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ และบางส่วนมีความรู้สึกว่าแค่จะเรียนให้จบก็ยากมากแล้ว เขาไม่มีเวลาที่จะได้ลองประยุกต์เลย จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีวิชาให้นักศึกษาได้ลองประยุกต์ เช่น อาจตั้งชื่อวิชาว่านักข่าวเศรษฐกิจ แล้วให้นักศึกษาลองประยุกต์เอาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย โดยมีอาจารย์คอยดูแลความถูกต้องของข้อมูล เป็นต้น

คุณทัตพงศ์ สิทธิ์สุกใส

จากการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาที่คุณณัฐวัศกล่าวมาข้างต้น คำถามแรกที่คุณณัฐวัศกับ คุณทัตพงศ์ตั้งคือ “ทำไมต้องเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์” พบว่านักศึกษาร้อยละ 38.6 ชื่นชอบวิชาเศรษฐศาสตร์จากการเรียนในระดับมัธยม มีนักศึกษาร้อยละ 20.5 เลือกเรียนตามคำแนะนำจากครอบครัว ครู เพื่อน โดยอาจเป็นการแนะแนวในโรงเรียน หรือมีญาติแนะนำ และอีกร้อยละ 20.5 เข้ามาเพราะมีคะแนนเพียงพอให้สามารถยื่นเข้าศึกษาได้ ส่วนร้อยละ 20.4 เป็นอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น เคยเข้าร่วมการแข่งขันออกแบบนโยบายสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่คณะเป็นผู้จัด

คำถามที่สองคือ “จบแล้ว (อยาก) ไปไหน” คำตอบสูงสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ประกอบธุรกิจส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 38.6 สายงานด้านการลงทุน คิดเป็นร้อยละ 34.1 เศรษฐกรในหน่วยงานภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 34.1 และจุดที่น่าสนใจคือร้อยละ 31.8 ของนักศึกษายังไม่ทราบแน่ชัดหรือกำลังอยู่ในช่วงค้นหาตนเอง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่พวกเขาได้สัมผัสกับความรู้และโอกาสใหม่ ๆ ในระหว่างการศึกษา ที่แตกต่างจากเศรษฐศาสตร์สมัยมัธยม ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้อาจยังไม่แน่ใจในทิศทางของตนเอง

ส่วนคำถามสุดท้ายคือ “ถ้าอยากให้คณะเปลี่ยนหลักสูตร จะให้เปลี่ยนไปในทิศทางไหน” นักศึกษาส่วนมากอยากได้ทักษะความรู้ (hard skills) ที่มากขึ้นและเอาไปประยุกต์กับการทำงานได้ นักศึกษาแนะนำว่าคณะอาจเสริมทักษะการปฏิบัติ หรือการประยุกต์ใช้โปรแกรมต่าง ๆ ให้เข้ากับการทำงานจริง การเสริมทักษะนี้จะเป็นอาวุธให้นักศึกษาพร้อมไปเผชิญกับการทำงานในอนาคต

การเสวนาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าวิชาเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องขยายขอบเขตและปรับตัวให้เข้ากับโลกที่ซับซ้อนและความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน การแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างคณาจารย์และนักศึกษาย้ำว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมไม่ได้เป็นเพียงกรอบคิดที่ตายตัวอีกต่อไป แต่ได้ผนวกเรื่องราวทางสังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และพฤติกรรมมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น อนาคตของเศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ที่ต้องเปิดกว้างและเชื่อมโยงองค์ความรู้หลากหลายแขนง เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถทำความเข้าใจและเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างรอบด้าน

เชิงอรรถ
1ริชาร์ด เอช. เธเลอร์ และชโลโม เบนาร์ทซี, ‘Save More Tomorrow™: Using Behavioral Economics To Increase Employee Saving’ (UCLA Anderson School of Management, 2004) สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2568

นันท์นรินทร์ แสงอาทิตย์
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชื่อว่าถึงโลกจะไม่แน่นอน แต่เศรษฐศาสตร์จำเป็นแน่นอนนะคะ