เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 76 ปี: ศาสตร์แห่งชีวิตที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข...แต่คือจิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง

2257 views

14 มิถุนายน 2568 เป็นวันเกิดปีที่ 76 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดระยะเวลาสามในสี่ของศตวรรษที่ผ่านมา คณะแห่งนี้มิได้เป็นเพียงสถาบันการศึกษาที่ผลิตเศรษฐศาสตร์บัณฑิตเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยการร่วมบ่มเพาะ “คน” ที่มีความรู้ ความสามารถ จริยธรรม และความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ในช่วงเดือนเกิดของคณะปีนี้ ผู้เขียนขอตั้งคำถามสำคัญว่า “ความสำเร็จของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์คืออะไร?” สำหรับผู้เขียนแล้ว ความสำเร็จมิได้วัดเพียงจำนวนบัณฑิตที่จบออกไป หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่พวกเขามี หรือรายได้จากโครงการต่างๆของคณะ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงคือการที่เราได้สร้างบุคลากรที่สามารถนำองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์ใช้เพื่อ “พัฒนาประเทศ” ได้อย่างมีหลักการ ใช้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจ และจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดคุณค่าสูงสุด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจสำคัญที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ยึดมั่นและปลูกฝังมาโดยตลอด

พวกเราเชื่อมั่นว่านักเศรษฐศาสตร์ที่ดีต้องไม่ใช่แค่คนที่มีความรู้ทางทฤษฎีหรือคำนวณตัวเลขเก่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนมาให้เข้ากับความเป็นจริงของสังคม สามารถวิเคราะห์และดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึง “ความเป็นอยู่ที่ดี” ของคนในสังคมเป็นสำคัญ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือการสร้างเงื่อนไขให้เกิด “การกระจายอย่างทั่วถึง” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง

เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพแต่เป็นปรัชญาแห่งชีวิตและการบริหาร บ่อยครั้งที่คนทั่วไปมักมองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเพียงศาสตร์เฉพาะด้านที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในการประกอบอาชีพอย่างเจาะจง แต่สำหรับพวกเราที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราเชื่อว่าเศรษฐศาสตร์เป็นมากกว่านั้น เพราะเศรษฐศาสตร์เป็น “ศาสตร์เชิงปรัชญา” ที่สอนให้เราคิดอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล โดยสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตส่วนตัว การดูแลครอบครัว การบริหารองค์กร ไปจนถึงการพัฒนาประเทศ

หลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การจัดสรรทรัพยากร การตัดสินใจภายใต้ข้อจำกัด การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ การทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ ล้วนเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถนำไปผนวกกับศาสตร์อื่นๆ ได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือแม้กระทั่งศิลปะ ในหลายครั้ง เราอาจถูกมองว่าเป็น "เป็ด" เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญที่ชัดเจนเลย แต่เรามีความพิเศษคือ "เป็ดที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ" ซึ่งสามารถเข้าไปส่งเสริมการทำงานของผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นได้ ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ การบ่มเพาะนักเศรษฐศาสตร์ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องอาศัย “ความร่วมมือแบบองค์รวม” ที่ใส่ใจในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ “ทั่วถึง” และเป็นประโยชน์ต่อทุกคนอย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลา 76 ปีที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หล่อหลอมบุคคลสำคัญจำนวนมากที่ได้นำความรู้ความสามารถไปสร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติอย่างมิอาจประเมินค่าได้ หลายท่านได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ และกลายเป็นเป็นผู้วางรากฐานและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ศิษย์เก่าเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ แต่ยังเป็นผู้ที่มีสำนึกทางสังคม และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ พวกเขาได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญทางวิชาการในการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญในอดีต ไปจนถึงความท้าทายในปัจจุบัน เช่น ปัญหาความยากจน การกระจายรายได้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำงานของศิษย์เก่าของเราได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือเรื่องราวของผู้คนและสังคมที่ต้องได้รับการดูแลอย่างรอบด้าน เราจึงได้ส่งผ่านแนวคิดที่ลึกซึ้งและเจตนารมย์เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การพึ่งพาตนเอง และการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาต่อยอดผู้สืบทอดเจตนารมณ์ รุ่นต่อมา

หลายครั้ง ผู้เขียนมักจะเจอคำถามว่า ในปัจจุบันที่เราก้าวเข้าสู่ยุคของปัญญาประดิษฐ์ (Generative AI) อย่างเต็มตัว “นักเศรษฐศาสตร์ยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่?” คำตอบในมุมมองของผู้เขียนคือ “มีความสำคัญอย่างยิ่ง” และอาจจะสำคัญกว่าที่เคยเป็นมาด้วยซ้ำ

ถึงแม้ Generative AI สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล วิเคราะห์รูปแบบ และสร้างโมเดลที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนช่วยเหลือนักเศรษฐศาสตร์ทำงานในด้านต่างๆ เช่นการคาดการณ์เศรษฐกิจ การวิเคราะห์นโยบาย หรือการออกแบบกลไกตลาด ได้เป็นอย่างมาก แต่ AI ก็ยังไม่สามารถทดแทน “ความคิดเชิงวิพากษ์” “การให้คุณค่าเชิงจริยธรรม” “ความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรม” หรือ “การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์” ที่ซับซ้อนได้

บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์ในยุค AI คือการเป็น “ผู้ควบคุม” และ “ผู้กำกับ” เครื่องมือเหล่านี้ พวกเราต้องสามารถตั้งคำถามที่ถูกต้อง สามารถตีความผลลัพธ์จาก AI อย่างมีวิจารญาณ และนำข้อค้นพบจาก AI ไปประยุกต์ใช้ในบริบทที่เหมาะสมได้ ต้องสามารถผนวกข้อมูลเชิงปริมาณที่ได้จาก AI เข้ากับข้อมูลเชิงคุณภาพและความเข้าใจเชิงปรัชญา สังคม และจริยธรรม เพื่อให้การตัดสินใจทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่มีประสิทธิภาพในเชิงตัวเลข หรือกำไรที่เป็นตัวเงิน แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อคนและสังคมโดยรวม

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจผลกระทบของ AI ต่อตลาดแรงงาน การกระจายรายได้ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อออกแบบนโยบายที่เหมาะสมในการรับมือกับความท้าทายและคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่นี้ การสร้างเงื่อนไขให้เกิด “การกระจายทรัพยากรและโอกาสอย่างทั่วถึง” ในยุคที่ความเหลื่อมล้ำของผู้คนมีแนวโน้มจะขยายตัวจากความก้าวหน้าของ AI การสร้างเงื่อนไขข้างต้นจะเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ ความเข้าใจในบริบทสังคม และจริยธรรมในการนำพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง

มาถึงวันนี้ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ผู้เขียนลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ความหวังของสังคมที่มีต่อคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สู่ศตวรรษต่อไปคืออะไร?” โดย 76 ปีที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักในการสร้างสรรค์ปัญญาและบุคลากรเพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดไปในอนาคต เราก็จะยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันชั้นนำในการให้การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ทางวิชาการที่ลึกซึ้ง แต่ยังปลูกฝัง “หัวใจ” ของความเป็นมนุษย์ ให้บัณฑิตของเราเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเศรษฐศาสตร์อย่างถ่องแท้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์สังคมที่ “อยู่ดีมีสุข” และ “มีการกระจายทรัพยากรและโอกาสอย่างทั่วถึง”

ในท้ายที่สุด ผู้เขียนยังมีความเชื่อว่าเศรษฐศาสตร์เป็น “ศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์” (Discipline of Creation) ที่มี DNA ด้านความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับทุกยุคสมัยได้ในตัวเอง ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด DNA นี้เป็นเงื่อนไขอันสำคัญของการบรรลุถึงความสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีหลักการ มีเหตุผล และมีจิตสำนึกในการร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ด้วยปรัชญาที่ลุ่มลึก ความรู้ที่ทันสมัย และความมุ่งมั่นที่จะรับใช้สังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะขอรักษาจิตวิญญาณที่ก่อเกิดความหวังและพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

เอื้อมพร พิชัยสนิธ
ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์