ในหลายครั้ง ผู้คนจำนวนมากมักมองข้ามความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งแท้จริงแล้ว นับว่ามีความสำคัญมากไม่แพ้กับหน่วยงานราชการส่วนกลางที่ดูแลภาพรวมของประเทศ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ฉะนั้นการเสริมสร้างความสามารถและศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะในบริบทของการกระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่
ด้วยความสำคัญดังกล่าว คณะเศรษฐศาสตร์ จึงได้จัดเวทีเสวนาซีรีย์ EconTU Review ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ความสามารถและศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย: มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์” ร่วมกับสถาบันไทยคดีศึกษา และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อเสนอแนะ และมุมมองที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช การเสวนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยมีรายได้อยู่ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง 2. รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บหรือจัดสรรให้ 3. ภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ 4. เงินอุดหนุนจากรัฐบาล หากรายได้จากสามประเภทแรกไม่พอ รัฐบาลจะมีการให้เงินอุดหนุน ซึ่งในปัจจุบัน รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 แต่ประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องการกระจายอำนาจสูง รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองมีสัดส่วนสูงเกินกว่าร้อยละ 50
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการหารายได้ และความเป็นอิสระทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ที่จัดเก็บเองเพิ่มขึ้น เพราะเป็นรายได้ที่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง และสามารถตัดสินใจในการใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัว ซึ่งรายได้สำคัญสำหรับรายได้จัดเก็บเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในช่วงแรกที่มีการประกาศใช้เป็นช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้มีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงไปถึงร้อยละ 90 จึงมีรายได้ในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย แต่เมื่อจัดเก็บแบบเต็มจำนวน รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงก้าวกระโดดขึ้นมาทันที ทำให้สัดส่วนของรายได้จัดเก็บเองทั้งหมดเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 10
ในด้านของการพัฒนารายได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนารายได้ท้องถิ่นในหลายมิติด้วยกัน มิติแรกคือ ผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องมีแนวนโยบายในการพัฒนารายได้ท้องถิ่นของตนเอง มิติที่สองคือ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ โดยจะต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น และเพิ่มความสะดวกให้กับผู้จ่ายภาษี และมิติที่สามคือ การมีฐานข้อมูลของผู้เสียภาษีครบถ้วน มีความเป็นปัจจุบัน และการออกแบบประเมินภาษี การแจ้งหนี้ ต้องทำให้ถูกต้อง หากแจ้งไปแล้ว ไม่มีการจ่ายภาษี ต้องมีการติดตามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ นอกจากนี้ การจะให้ประชาชนเข้ามาจ่ายภาษี เขาต้องมีความเต็มใจที่จะจ่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำให้ประชาชนรู้ว่า การเสียภาษีของเขาจะมีประโยชน์กับตัวเขาและท้องถิ่นอย่างไรบ้าง
การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเศรษฐกิจชุมชนไม่โต ฐานภาษีต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้จะมีน้อย ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าไปหนุนเสริมหรือช่วยจัดการเศรษฐกิจชุมชนได้ และเป็นการขยายฐานภาษีไปในตัว ไม่ว่าจะเป็นฐานภาษีของท้องถิ่นหรือรัฐบาล ในขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐต้องปรับวิธีการทำงาน ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสำรวจ หรือปรับปรุงข้อมูลภาษีให้เป็นปัจจุบันและครบถ้วน
อีกส่วนที่สำคัญ แต่ประเทศไทยมักขาดไปคือ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ส่วนใหญ่ฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้น หน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อให้แต่ละฝ่ายมีข้อมูลฐานภาษีที่ถูกต้อง สามารถเพิ่มรายได้ให้กับทั้งรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกันว่ามีการจัดเก็บภาษีครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการเชื่อมโยงตรงนี้จะทำให้การเลี่ยงภาษีเกิดได้ยากขึ้น
เมื่อกล่าวถึงด้านรายได้กับความสามารถที่ท้องถิ่นสามารถพัฒนารายได้ของตนเอง ประเด็นต่อมาคือ ด้านรายจ่าย ตัวอย่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถบริหารจัดการด้านรายจ่ายและด้านบริการสาธารณะได้ดีคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเทศบาลเมืองบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเทศบาลนี้มีประชากรประมาณ 35,000 คน มีผู้สูงอายุประมาณ 6,000 คน หรือเกือบร้อยละ 20 ของประชากรในเขตเทศบาล ทางเทศบาลจึงเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเทศบาลมีศูนย์การแพทย์จากที่อนามัยถ่ายโอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จึงทำให้มีงบประมาณ และบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุขมาอยู่กับเทศบาล ในช่วง 5 ปีแรก เทศบาลเน้นงานที่ศูนย์การแพทย์ เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นมองว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการรักษาโรคกลุ่ม NCDs เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด ซึ่งโรคกลุ่มนี้จะรักษาไม่หายได้โดยง่าย ในเวลาต่อมา ได้มีการเปิดรับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล เข้ามาเพิ่ม รวมถึงมีแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นการพัฒนาการบริการปฐมภูมิแบบเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ เทศบาลเมืองบึงยี่โถมีการหารายได้เพิ่มเติม ไม่ได้อาศัยงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น การให้บริการฝังเข็ม ทันตกรรม และอื่น ๆ ที่ผู้รับบริการต้องจ่ายเงินเอง ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมที่จะสนับสนุนส่วนงานด้านอื่น
จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพค่อนข้างสูง อยู่ที่ว่าแต่ละที่จะค้นพบศักยภาพของตนเองได้เร็วช้าต่างกันอย่างไร และผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ เข้าใจสภาพเศรษฐกิจ สังคม สถานะของท้องถิ่นของตนเองว่าอยู่ตรงไหน อะไรคือปัญหาที่คนในท้องถิ่นต้องเผชิญในอนาคต และมีการเตรียมการสำหรับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นดีขึ้น
รศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เรียนรู้ว่าการกระจายอำนาจเป็นอย่างไร ส่งผลให้มีการตระหนัก รวมถึงเริ่มเข้าใจการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านการแสดงบทบาทของท้องถิ่นในมิติต่าง ๆ โดยมิติแรกคือ ทางการเมือง แม้การขยายบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะยังไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง แต่เราก็ได้เห็นว่าภูมิทัศน์ของการเมืองท้องถิ่นในความสัมพันธ์ของการเมืองระดับชาติมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในปัจจุบัน เราจะเห็นนักการเมืองใหญ่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้น และท้องถิ่นไทยทั่วประเทศมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน โดย รศ.ดร.วสันต์ ได้กล่าวถึง 2 กลุ่มหลักคือ เด็กและผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มเด็กนี้ ปัจจุบัน ท้องถิ่นไทยทั่วประเทศมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ในความดูแลมากกว่า 16,000 ศูนย์ ทำให้เด็กปฐมวัยมีที่รองรับ มีคนดูแล และผู้ปกครองก็สามารถออกไปทำงานได้ ซึ่งผลการประเมินศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ท้องถิ่นดูแลอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้น ในเชิงบริการสาธารณะ ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมาก และจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ
มิติที่สองคือ สัมพันธภาพระหว่างรัฐกับสังคม แต่เดิม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมมีลักษณะค่อนข้างแยกชัด เมื่อก่อนเวลาที่เราพูดถึงรัฐหรือสำนักงานราชการ ประชาชนทั่วไปจะรู้สึกว่าเข้าถึงยาก แต่ปัจจุบัน ท้องถิ่นก็เป็นกลไกรัฐชนิดหนึ่งที่ประชาชนเริ่มสามารถทวงถาม ติดตามได้ ทำให้เห็นว่าประชาชนเริ่มมีความรู้สึกใกล้ชิดกับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น และสัมพันธภาพแบบนี้จะเป็นผลบวกต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย และเป็นผลบวกต่อการที่เราไม่ได้มองนักการเมืองท้องถิ่นเป็นเจ้าคนนายคนแล้ว
เรื่องที่น่าสนใจมากตลอดระยะเวลาของการกระจายอำนาจคือ เรากระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มีงบประมาณ และอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานกับประชาชนที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่กลับมีผลพวงของการกระจายอำนาจเกิดขึ้นทางอ้อมเช่นกันคือ การปลดปล่อยพลังท้องถิ่นที่ถูกกดทับมานาน หลายคนเริ่มเห็นแล้วว่าท้องถิ่นพอมีศักยภาพ แต่ตอนนี้ศักยภาพดังกล่าวยังปลดปล่อยออกมาไม่เพียงพอที่จะถูกนำไปใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้ นั่นหมายความว่า การกระจายอำนาจยังไม่มากพอ ตัวอย่างเช่น ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เครือข่ายการพัฒนาเมือง หรือการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน เพื่อเรียกร้องให้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา การตัดสินใจ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อการปลดปล่อยศักยภาพ และการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่
ทุกวันนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและความต้องการใหม่ ๆ ตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับท้องถิ่นไทย จึงจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ทำงานท้องถิ่นให้มีองค์ความรู้ใหม่ที่เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย รวมถึงการมีศูนย์กลางที่ชัดเจนในการดูดซับประเด็นปัญหาการจัดการของท้องถิ่น และอำนาจการตัดสินใจที่เพียงพอและรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีศูนย์กลางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน กระบวนการกระจายอำนาจและยกระดับท้องถิ่นจึงยังเป็นปัญหาต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
สืบเนื่องจาก ผศ.ดร.ดวงมณี และ รศ.ดร.วสันต์ คือ การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เพียงพอ เกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดว่าการกระจายอำนาจเพียงพอหรือไม่ ผศ.ดร.ยอดพล มองอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยประชาชนพึงพอใจกับบริการสาธารณะที่ท้องถิ่นจัดให้ ประเด็นที่สองคือ เงื่อนไขทางกฎหมาย ซึ่งคำว่า “ไม่เพียงพอ” เราต้องดูว่ากฎหมายที่กำลังใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันมีอะไรบ้าง โดยหลัก ๆ มีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มของกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกลุ่มของพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอน ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างกว้าง โดยให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการเรื่องพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต และการให้บริการประชาชนในพื้นที่ของตน ตัวอย่างเช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ รศ.ดร.วสันต์ เคยกล่าวไว้ข้างต้น ในหลายครั้ง เราจะได้ยินว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความพร้อมหลายอย่าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ขาดหลายอย่างตามที่เราเคยได้ยิน สิ่งที่ขาดหรือเป็นข้อจำกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แท้จริงคือ กำลังคนที่มาดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากต้องจ้างตามระเบียบราชการ ท้องถิ่นไม่สามารถกำหนดเองได้ และการใช้รายได้ของท้องถิ่นก็มีกฎระเบียบอยู่มาก
ประเด็นที่สามเป็นเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ ศักยภาพในการจัดเก็บภาษี ตัวอย่างของปัญหานี้คือ กรณีของภาษีสรรพสามิตในหลายประเภท พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากต้องพึ่งพากรมสรรพสามิตจัดเก็บให้ ทำให้รายได้ของท้องถิ่นที่ควรจะได้เต็มจำนวนต้องถูกหักไปบางส่วน เพื่อเป็นค่าบริการของกรมสรรพสามิต หรือกรณีของค่าบริการในการจัดเก็บขยะสำหรับครัวเรือนในต่างจังหวัด มีอัตราค่าบริการ 20 บาทต่อเดือน ซี่งเป็นอัตราที่คนมีรายได้น้อยสามารถจ่ายได้โดยไม่ลำบากใจ แต่เงินจำนวนนี้ไม่สามารถทำให้ท้องถิ่นไปพัฒนาระบบจัดเก็บและจัดการขยะได้ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย โดยอาจขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น แต่ต้องไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อย
ประเด็นสุดท้ายคือ ท้องถิ่นในหลายจังหวัดยังมองไม่เห็นศักยภาพของตนเอง อย่างในกรณีที่ท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่ง ๆ เสียโอกาสกับการที่องค์การมหาชนไม่ได้ไปต่อในจังหวัดของตน จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมท้องถิ่นถึงต้องไปพึ่งองค์การมหาชน ทำไมไม่กล้าขยับด้วยตนเองบ้าง ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ สาเหตุเกิดจากกฎหมายมีข้อจำกัดประการหนึ่งคือ ต้องเป็นภารกิจที่ไม่ทับซ้อนกับส่วนราชการอื่นที่กำลังทำอยู่ จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ท้องถิ่นไม่กล้าทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง จนศักยภาพที่มีไม่ได้ปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มที่ หรืออีกกรณีคือ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษายื่นเรื่องเบิกงบประมาณจากท้องถิ่นเพื่อมาซ่อมอาคารเรียนได้ยากมาก เพราะหากผู้บริหารท้องถิ่นเซ็นอนุมัติงบประมาณบางส่วนของท้องถิ่น เพื่อไปซ่อมแซมอาคารเรียนของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาจะมีโอกาสโดนตรวจสอบสูงมาก เนื่องจากเป็นการใช้เงินที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ทางกฎหมายและผิดประเภท
ในความท้าทายเชิงกฎหมาย เราต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดินบนเส้นทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ โดยที่ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องมีความผิด ประชาชนมีความพึงพอใจ และการใช้จ่ายเงินของภาครัฐมีความคุ้มค่า
จากการร่วมเสวนาของทั้ง 3 ท่าน จะเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสามารถและศักยภาพ แต่ยังไม่สามารถใช้ความสามารถและศักยภาพเหล่านั้นได้เต็มที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ การบูรณาการความรู้ความเข้าใจทางด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการทรัพยากร การวางโครงสร้างอำนาจการบริหาร และการออกแบบระบบกฎหมายในระดับท้องถิ่นมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์พื้นที่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นกลไกที่ช่วยเสริมสร้างธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติอย่างยั่งยืนในระยะยาว