เทคโนศักดินา (Technofeudalism)

28 มีนาคม 2568
452 views

“ตอนนี้ทุนนิยมตายแล้ว ในแง่ที่พลวัตของมันไม่ได้บงการระบบเศรษฐกิจของพวกเราอีกต่อไป บางอย่างที่แตกต่างไปโดยพื้นฐานได้เข้าบงการแทนที่แล้ว ซึ่งผมเรียกว่าเทคโนศักดินา (Technofeudalism)” (p. X)

ยานิส วารูฟาคิส (Yanis Varoufakis) คือนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายผู้มีชื่อเสียงชาวกรีก เขาเคยเป็นรัฐมนตรีคลังของกรีซในปี 2015 ซึ่งคือขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการทั่วไปของ พันธมิตรทางการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในทวีปยุโรป ชื่อว่า Democracy in Europe Movement 2025 (DiEM25) เขาเขียนข้อความในย่อหน้าข้างต้นในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา นั่นคือ Technofeudalism: What Killed Capitalism แน่นอนว่าประเด็นสำคัญของหนังสือก็คือข้อเสนอว่า ในปัจจุบันวิถีการผลิตที่บงการชีวิตพวกเราไม่ใช่ทุนนิยม แต่คือเทคโนศักดินา

เป้าหมายของบทความนี้ก็คือแนะนำคร่าว ๆ ให้ผู้อ่านรู้จักกับเทคโนศักดินา แต่เนื่องจากคำว่าเทคโนศักดินาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เทคโน (techno) ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยี และศักดินา ซึ่งหมายถึงระบบศักดินา (feudalism) ผู้เขียนจึงเห็นว่าเราต้องรู้จักกับระบบศักดินากันเสียก่อน

ระบบศักดินาและวิถีการผลิตแบบต่างๆ

วิถีการผลิตคือระบบในสังคมที่กำกับการผลิตและการกระจายผลผลิต นั่นคือ เป็นวิถีที่กำกับว่าปัจจัยการผลิตต่างๆ จะถูกนำมาใช้อย่างไรบ้าง ใครมีหน้าที่ใดในกระบวนการผลิต จะกระจายผลผลิตให้กับผู้คนในสังคมด้วยวิธีการใด ใครสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตได้บ้าง และได้รับในปริมาณเท่าใด ฯลฯ

กติกาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในวิถีการผลิตที่เป็นใหญ่ในสังคมจะครอบงำและทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ชีวิตที่ดำเนินไปตามครรลองของวิถีการผลิตเป็นเรื่องปกติ เช่น ในระบบทุนนิยม (capitalism) ผู้คนอาจจะยอมรับว่าการที่เจ้าของทุนซื้อกำลังแรงงานจากคนงานเพื่อทำการผลิตและผลผลิตจะต้องตกเป็นของเจ้าของทุน รวมถึงการขายผลผลิตเพื่อเอากำไร คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่อันที่จริง กติกาเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมที่มีวิถีการผลิตแบบทุนนิยมเป็นใหญ่ วิถีการผลิตที่ครอบงำสังคมในช่วงเวลาหนึ่งจะไม่ดำรงอยู่ตลอดไป เมื่อเทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตนานาประการพัฒนาไปจนศักยภาพของปัจจัยการผลิตเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับกติกาทั้งหลายที่กำกับการใช้งานพวกมันอีกต่อไป สังคมก็จะเปลี่ยนไปสู่วิถีการผลิตรูปแบบอื่น นั่นทำให้ตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง วิถีการผลิตเกิดขึ้นขึ้นหลายรูปแบบนอกเหนือจากทุนนิยม เช่น การหาของป่าล่าสัตว์ (hunting and gathering) คอมมิวนิสต์แบบวางแผนจากส่วนกลาง (central planning communism) ทาส (slavery)

ระบบศักดินาคือวิถีการผลิตที่กำกับการผลิตและการกระจายผลผลิตในโลกตะวันตกตั้งแต่ยุคมืด (ราวศตวรรษที่ 5) ไล่เรียงมาจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ราวศตวรรษที่ 18) แน่นอนว่าช่วงเวลาเริ่มต้นและจบลงนั้นไม่แน่นอนเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการผลิตหนึ่งไปยังอีกวิถีการผลิตหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและพร้อมกันในทุกพื้นที่ ในทางตรงกันข้าม กลับเกิดขึ้นที่ละน้อยจนยากที่จะระบุช่วงเวลาที่ชัดเจน

ความสัมพันธ์หลักในระบบศักดินาเกิดขึ้นระหว่างเจ้าศักดินา (lord) กับทาสติดที่ดิน (serf) โดยมีที่ดินศักดินา (fief) เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ กล่าวคือ ทาสติดที่ดินคนหนึ่งถือกำเนิดและถูกปลูกฝังว่าตนต้องทำกินบนที่ดินที่บรรพบุรุษของตนอาศัยทำกินมานานแล้ว ที่ดินผืนดังกล่าวไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวตน แต่อยู่ในการดูแลของเจ้าศักดินาครอบครัวหนึ่งซึ่งสัญญาว่าจะให้ความคุ้มครองแก่ตนจากภัยนานาประการ เช่น โจรผู้ร้าย ความขัดแย้งกับคนในชุมชน หรือการรุกรานจากข้าศึก เป็นต้น โดยที่ตนจะต้องปันผลผลิตจำนวนหนึ่งให้แก่เจ้าที่ดินเป็นการต่างตอบแทน ซึ่งนี่อาจจะมองได้ว่าคือค่าเช่า (rent) ซึ่งเป็นค่าตอบแทนของการใช้ที่ดิน การช่วยเหลือเจือจุนกันระหว่างผู้คนในสังคมตามปกติของชีวิต แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นผ่านระบบตลาด การซื้อขายในตลาดเกิดขึ้นอยู่บ้างโดยมีอิสรชนที่ไม่ได้ผูกพันกับที่ดินศักดินาทำหน้าที่เป็นพ่อค้า แต่ก็มีสัดส่วนน้อยมาก

เทคโนศักดินา

เทคโนโลยีล้ำหน้าในทุกวันนี้ทำให้มนุษย์สามารถสร้างดินแดนเสมือนจริงขึ้นมาบนอินเทอร์เน็ต ดินแดนเหล่านี้ควรเป็นของส่วนรวมที่ใครๆ ก็ใช้ได้ แต่ผู้ประกอบการหัวใสจำนวนหนึ่งได้ใช้ความสามารถทั้งทางเทคโนโลยีและทางธุรกิจเข้าไปครอบครองดินแดนเหล่านี้ แล้วตีตราเป็นชื่อแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, X, Tiktok, Shopee, Lazada, Amazon เป็นต้น วารูฟาคิสเรียกผืนดินบนดินแดนดังกล่าวว่าที่ดินศักดินาบนคลาวด์ (cloud fief) ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ใช่นายทุนที่สร้างความมั่งคั่งจากกำไร (profit) เหมือนในยุคทุนนิยม แต่ทำตัวเป็นนายทุนคลาวด์ (cloudalist) ใช้เทคโนโลยีในการกำหนดว่าใครสามารถเข้ามาใช้ที่ดินศักดินาบนคลาวด์ของพวกเขาได้บ้าง จากนั้นก็เรียกเก็บค่าเช่าคลาวด์ (cloud rent) จากผู้ใช้บริการ

แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้ผลิตสินค้าเพื่อขาย แต่ทำตัวเป็นตัวกลางแล้วเรียกตัวเองว่าเป็นตลาด วารูฟาคิสตั้งคำถามว่า นี่คือตลาดจริงหรือไม่ เพราะหากตลาดหมายถึงสถานที่ที่ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันเพื่อทำธุรกรรมโดยเสรี แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ไม่ควรเป็นตลาด เนื่องจากอัลกอริทึมอันซับซ้อนจะคัดกรองการพบปะกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย นั่นคือกำหนดว่าผู้ซื้อกับผู้ขายรายใดสามารถเจอกันได้บ้าง ผู้ขายบางรายที่ไม่ได้จ่ายเงินพิเศษให้แพลตฟอร์มก็ถูกปิดการมองเห็น แต่ครั้นจะเอาของไปขายที่อื่นก็ไม่ได้อีก เพราะว่ากลุ่มลูกค้าหลักก็อยู่แค่ในแพลตฟอร์มไม่กี่แห่ง ในขณะที่ผู้ซื้อก็ถูกอัลกอริทึมชี้นำให้สนใจสินค้าบางประเภทมากเป็นพิเศษ มหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยีทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราทุกคนต้องอาศัยแพลตฟอร์มไม่ทางใดก็ทางหนึ่งและกำลังกลายเป็นทาสติดที่ดินบนคลาวด์ (cloud serf)

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นายทุนคลาวด์สามารถดึงค่าเช่าคลาวด์เข้ากระเป๋าและสร้างรายได้มหาศาล ในขณะที่กำไรที่ตกอยู่ในมือของผู้ประกอบการที่เอาของมาขายบนแพลตฟอร์มกลับลดน้อยถอยลง การขยายตัวของทุนคลาวด์จากการดูดเอาค่าเช่าคลาวด์มาจากทาสติดที่ดินบนคลาวด์คือลักษณะของการสะสมทุนในยุคปัจจุบัน นายทุนยังเป็นเจ้าของทุนบนโลกและยังขูดรีดแรงงาน แต่พวกเขากำลังพ่ายแพ้ให้แก่นายทุนคลาวด์ ทุนคลาวด์มีอำนาจเหนือทุนบนพื้นโลก และค่าเช่ามีอำนาจเหนือกำไร นี่ไม่ใช่รูปแบบใหม่ของระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมตายแล้ว ในปัจจุบันพวกเราอยู่ในสังคมที่มีระบบเทคโนศักดินาเป็นวิถีการผลิตหลัก

ความท้าทายในอนาคต

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือ ทาสติดที่ดินบนคลาวด์ทั้งหลายจะมีชีวิตเปราะบางขึ้นเพราะแรงงานที่ตนใช้เพื่อสร้างมูลค่าสำหรับการดำรงชีวิตและส่วนเกินที่ตนจำเป็นต้องมีสำหรับสะสมเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้กลับถูกนายทุนคลาวด์ดูดไป (ผู้อ่านลองนึกถึงการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น ผู้ซื้อจ่ายแพงขึ้นเพราะต้องเสียค่าส่ง แถมอาหารยังอาจจะมีปริมาณน้อยกว่าสั่งกินที่ร้าน แต่เจ้าของร้านกลับได้ส่วนแบ่งไม่เยอะ เพราะว่าแอปพลิเคชันคิดค่าบริการมากกว่า 30% แถมยังต้องเผชิญกับคู่แข่งมากขึ้นเพราะร้านที่ขายอาหารประเภทเดียวกันก็เข้ามาเสนอขายในแพลตฟอร์มเดียวกัน ยังไม่ต้องพูดถึงคนส่งที่รายได้ถูกกำหนดโดยอัลกอริทึมของแอปพลิเคชัน แถมยังต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุงยานพาหนะ รวมถึงความเสี่ยงในการประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนเอง)

หากนายทุนคลาวด์อ้างการเป็นเจ้าของที่ดินศักดินาบนคลาวด์ในการดูดเอาค่าเช่าคลาวด์ไปจากผู้คนมากมายในสังคม โจทย์สำหรับเหล่าทาสติดที่ดินบนคลาวด์ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะมีดินแดนบนคลาวด์ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน วารูฟาคิสกล่าวว่า “อินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนไปอย่างไร หากไม่มีการล้อมรั้วครั้งใหม่นี้ ลองจินตนาการว่าคุณจะทำอะไรได้บ้างถ้าคุณมีตัวตนทางดิจิทัลและสามารถพิสูจน์ตัวตนได้โดยไม่ต้องอาศัยการประกอบกันของบัตรจากธนาคารกับบริษัทเช่น อูเบอร์ (Uber) หรือลิฟท์ (Lyft) ที่ผูกบัตรดังกล่าวเข้ากับข้อมูลการเดินทางทั้งหมดของคุณเข้าด้วยกัน ในทำนองเดียวกัน จีพีเอส (GPS) จะระบุว่าตอนนี้คุณอยู่ตรงไหน จากนั้นคุณมีช่องทางที่จะประกาศผ่านอินเทอร์เน็ตว่า ‘ผมชื่อจอร์จ ตอนนี้อยู่ที่หัวมุมมถนนอริสโตเติลกับถนนเพลโต และกำลังจะไปสนามบิน มีใครที่กำลังไปจะรับผมไปด้วยได้ไหม’ ไม่กี่วินาทีต่อมา คุณจะได้รับข้อความจากผู้คนหรือองค์กรที่มีใบอนุญาตให้รับส่งผู้โดยสาร ร่วมกับคำแนะนำอย่างรอบคอบจากหน่วยงานขนส่งสาธารณะในท้องถิ่นว่า ‘ทำไมถึงไม่ขึ้นรถไฟใต้ดินที่ห่างจากตำแหน่งที่คุณอยู่ตอนนี้สามนาทีโดยการเดิน และวิธีนี้จะเดินทางได้รวดเร็วกว่าที่นั่งรถฝ่ารถติดในตอนนี้’ น่าเสียดาย คุณทำเช่นนั้นไม่ได้” (p. 77)

แพลตฟอร์มจำพวกนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน อย่างน้อยวิกิพีเดีย (Wikipedia) ก็คือตัวอย่างหนึ่งที่ทุกคนสามารถเข้าไปอ่านเอาความรู้และปรับปรุงข้อมูลโดยไม่ต้องเสียงเงิน ไม่มีโฆษณา และไม่ถูกอัลกอริทึมปิดกั้นการมองเห็น การเคลื่อนไหวเพื่อให้พ้นจากอำนาจของนายทุนคลาวด์ สร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยในการใช้ประโยชน์จากดินแดนบนโลกเสมือนจริง และคว่ำเทคโนศักดินาลง คือความท้าทายสำคัญสำหรับทาสติดที่ดินบนคลาวด์ซึ่งนั่นก็คือแทบทุกคนบนโลกนี้

อ่านเพิ่มเติม

Varoufakis, Yanis. 2023. Technofeudalism: What Killed Capitalism. London: Melville House.

นภนต์ ภุมมา
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์