Green Industry Policy (GIP) คืออะไร ?
GIP คือ แนวทางการบรรลุความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศโดยเร่งพัฒนาและการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้เพื่อออกแบบนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ไขอุปสรรคที่ขัดขวางกระบวนการของคาร์บอนต่ำ เช่น ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการวิจัยและการพัฒนา (R&D) อุปสรรคด้านทักษะ โครงสร้างพื้นฐาน อุปสรรคด้านกฎระเบียบสำหรับผู้ประกอบการ และผลิตภัณฑ์สีเขียว นอกจากนี้ GIP ยังมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การสนับสนุนจากภาครัฐด้านการวิจัยและการพัฒนา แต่ยังรวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายการฝึกฝนทักษะในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เช่น ความเข้าใจขององค์ประกอบไฮโดรเจนสีเขียว กฎระเบียบ การกำหนดราคาคาร์บอน และสร้างจูงใจด้านสำหรับการลงทุนและตลาดบริโภคคาร์บอนต่ำ ดังนั้น GIP จำเป็นต้องดำเนินควบคู่ไปกับความร่วมมือทางธุรกิจและการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (OECD, n.d.)
GIP เกิดขึ้นจากความท้าทายหลัก 2 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างความมั่งคั่งและลดความยากจน และ (2) การรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีความยั่งยืน การเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน โดยไม่ได้คำนึกถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม กลไกตลาดไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้จึงจำเป็นต้องมีการแทรกแซงเชิงนโยบาย รัฐบาลจึงอาจมีบทบาทในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Altenburg & Assmann, 2017) ดังนั้น ความจำเป็นของ GIP จึงไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นความจำเป็นเพราะหากการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึกถึงสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลกระทบในระยะยาวและต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น
Green Industry Policy ของเกาหลีใต้
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเป็นต้นแบบการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการยกระดับรายได้ต่อหัวและเพิ่มขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในแง่ของ GIP เกาหลีใต้มีโดดเด่นและสามารถเป็นบทเรียนการเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรมให้แก่ไทยได้ เกาหลีใต้เป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายการเติบโตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอผ่านโครงการต่าง ๆ นับตั้งแต่ ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา เช่น Green Growth (2008) Framework Act on Low Carbon Green Growth (2010) การเป็นเจ้าภาพ Green Climate Fund (2013) การเปิดตัว Korea Emission Trading Scheme (K-ETS) การกำหนด Nationally Determined Contribution ไว้ที่ 37% ในปี 2030, Carbon Neutrality Vision (2020) ในปี 2050 และกำหนดกรอบ Carbon Neutrality Green Growth Framework Act (2022) (Kim, n.d.) โครงการที่กล่าวมาเป็นแนวทางกระบวนการที่สำคัญที่สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักการนโยบายสีเขียว แต่สิ่งที่สำคัญคือความต่อเนื่องในการปรับปรุงกรอบการเปลี่ยนผ่านของนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
โมเดลสำคัญของเกาหลีใต้ในด้าน GIP คือ Korean Green New Deal (KGND) ที่อยู่บนหลักการของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่คู่ขนานกัน โดยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน ลดการใช้ถ่านหิน และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น การวิจัยและการพัฒนาด้านพลังงานไฮโดรเจน สมาร์ทกริด (Smart Grid) และระบบกักเก็บพลังงาน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินอุดหนุน และโครงการนำร่องของรัฐบาล เช่น การลงทุนในเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ KGND ยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างตลาดแรงงานใน Green Jobs เพื่อประกันว่าแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมที่มีคาร์บอนสูงสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างเป็นธรรมผ่านการอบรมและการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อตอบสนองความต้องเศรษฐกิจยุคใหม่ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ลงทุนประมาณ 144,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างงาน 1,901,000 ตำแหน่งภายใน ค.ศ. 2025 ตามโครงการ Digital New Deal และ Green New Deal ดังนั้น ความสำเร็จของโครงการต่าง ๆ ที่เกาหลีใต้ดำเนินเรื่อยมาขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของรัฐบาล การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Chowdhury, 2021; Ministry of Economy and Finance, n.d.)
กล่าวได้ว่า การกำหนดนโยบาย GIP ของเกาหลีใต้เป็นวิสัยทัศน์ระดับชาติผนวกเข้ากับโครงสร้างการบริหาร กฎหมาย และจัดสรงบประมาณ ความเข้มแข็งของระบบราชการ อำนาจในการสั่งแบบบนลงล่าง (top-down leadership) และการกำหนดการดำเนินการเชิงรุกที่ครอบคลุม (Global Green Growth Institute, 2015)
นโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว (GIP) กับประเทศไทย
การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ดร. ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ซึ่งเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวให้สอดคล้องกับนโยบายของอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ใน ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ (กระทรวงอุตสาหกรรม, ม.ป.ป.; Bangkok Insight, 2567) ดังนี้
การกำหนดหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) เช่น การมีกลไกขับเคลื่อน Bio Economy (การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี จาก Center of Bio Excellence: CoBE ฯลฯ) กลไกการขับเคลื่อน Circular Economy (การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล (ITC) ฯลฯ) และ กลไกการขับเคลื่อน Green Economy (มาตรฐาน กฎหมาย และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา BCG ฯลฯ) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน กระทรวงอุตสาหกรรม, 2564)
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
จุดร่วมที่สำคัญระหว่างนโยบายของเกาหลีใต้กับไทยคือ การมีนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การกำหนดเป้าหมาย Net Zero และแผนพัฒนานโยบายเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งสองประเทศต่างมีแผนยุทธศาสตร์ที่ผสานนโยบายอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เช่น BCG Economy ของไทย และ Korean Green New Deal (KGND) ของเกาหลีใต้ แม้ว่าแนวทางนโยบายของเกาหลีใต้และไทยจะแตกต่างกันในรายละเอียด ตลอดจนโครงสร้างสถาบันและกฎหมาย เช่น หน่วยงาน กฎเกณฑ์ หรือการวัดผล แต่สิ่งที่สำคัญคือต่างฝ่ายต่างพยายามกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ดี ไทยสามารถเรียนรู้บทเรียนจากเกาหลีใต้และนำไปปรับใช้เพื่อให้กลไกการทำงานมีประสิทธิภาพและดีขึ้น ดังนี้
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
กระทรวงอุตสาหกรรม. (ม.ป.ป.). หลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)New!!. https://greenindustry.diw.go.th/webgi/green-industry-criteria/.
กระทรวงอุตสาหกรรม. (24 พฤษภาคม 2564). BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม. https://www.industry.go.th/th/industrial-economy/7775
Bangkok Insight. (14 สิงหาคม 2567). ไฟเขียว หลักเกณฑ์ใหม่ 'อุตสาหกรรมสีเขียว' ทุกโรงงานต้องผ่าน GI 100% ภายใน 2568. Today Line. https://today.line.me/th/v2/article/wJO69qw.
ภาษาอังกฤษ
Altenburg, T., & Assmann, C. (2017). Green Industrial Policy: Concept, Policies, Country Experiences. Geneva, Bonn: UN Environment.
Chowdhury, S. (2021, February 8). South Korea's Green New Deal in the year of transition. United Nations Development Programme. https://www.undp.org/blog/south-koreas-green-new-deal-year-transition.
Global Green Growth Institute. (2015). Korea’s Green Growth Experience: Process, Outcomes and Lessons Learned. (Global Green Growth Institute: Seoul).
Kim, J. (n.d.). Strategic Roadmap for Korea’s Green Transition: Challenges and Pathways. Global Knowledge Exchange and Development Center. https://thedocs.worldbank.org/en/doc/ce763c3a8293601a6487d3fff1f9f2c5- 0320072024/original/Session-1-1-Jungwook-Kim-F.pdf.
Ministry of Economy and Finance. (n.d.). Korea’s Green New Deal Towards a Low-carbon Society. https://www.greenclimate.fund/sites/default/files/event/koreas-green-new- deal-moef-international-conference-green-new-deal.pdf.
OECD. (n.d.). Green industrial policies. https://www.oecd.org/en/topics/green-industrial- policies.html.