การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (ตอนที่ 1)

7923 views

การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น เป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมถึงเป็นมาตรการเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับจุลภาค ช่วยเสริมหรือสนับสนุนมาตรการทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคของรัฐบาล การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านจึงจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระหว่างประเทศร่วมกัน โดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิ ทรัพยากรธรรรมชาติ แรงงาน เงินลงทุนเพื่อการพัฒนา องค์ประกอบของอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ผู้ประกอบการ เทคโนโลยี การคมนาคม การสื่อสาร ตลาดเป้าหมาย และศักยภาพขององค์กรและหน่วยงานในท้องถิ่น ในกรณีการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดนจึงต้องพิจารณาในมิติของความร่วมมือระหว่างประเทศควบคู่ไปด้วย รวมทั้งต้องอาศัยศักยภาพของพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านเป็นปัจจัยร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วย

การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้เป็นนโยบายหนึ่งของภูมิภาคในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของทั้งสองด้านทางตอนใต้ของภูมิภาค คือ พื้นที่ตั้งแต่เมียนมา ไปจนถึงเวียดนาม ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่เชื่อมต่อทางทะเลทั้งสองด้าน คือ จากมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้การเชื่อมต่อทางถนนภายในพื้นที่ส่วนที่เป็นภาคพื้นดิน ทำให้ประเทศที่อยู่ภายใต้ขอบเขตนี้ได้รับประโยชน์ร่วมของการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคนี้ ได้แก่ เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม การทำให้เกิดการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง ทั้งในด้านของยุทธศาสตร์และนโยบายของแต่ละประเทศ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงเป็นโอกาสและความท้าทายของแต่ละประเทศในการที่จะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะข้อตกลงทวิภาคี เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ควบคู่พร้อมกับการเป็นความร่วมมือแบบข้อตกลงพหุภาคี ที่ทำโดยทั้ง 4 ประเทศ เช่น การเจรจาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมา หรือการเจรจาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชา รัฐบาลอาจต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละพื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงกลไกในการบริหารจัดการโดยเฉพาะด้านที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนากำลังคนควบคู่กันไป ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคควรมีระยะเวลาให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยเป็นระยะเวลาที่มากกว่าปกติของรอบการย้ายเวียนตำแหน่งข้าราชการไปยังพื้นที่อื่น และควรให้ผู้ที่มีความสามารถสูงมาทำงานในระดับพื้นที่ตามวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และ ภาครัฐควรมีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยมีการกำหนดขอบเขตของการทำงานร่วมกัน ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกำหนดรูปแบบการกระจายประโยชน์ที่เป็นที่ยอมรับ

จากการศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ กรณีกาญจนบุรี ผู้เขียนพบว่ามีประเด็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่น่าสนใจดังนี้

ประเด็นแรก เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดที่อยู่บนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ กรณีกาญจนบุรี จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกาญจนบุรี ประกอบกับศักยภาพของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เมียนมา ชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของพื้นที่กาญจนบุรีและประชาชนในพื้นที่ โดยจังหวัดสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการผลิต โดยเฉพาะการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การทำการเกษตร การค้าขาย และภาคบริการคือการให้บริการการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดประการสำคัญที่เป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจังหวัด ประกอบด้วย ปัญหาการใช้พื้นที่ของจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ การไม่สามารถต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปได้อย่างครบวงจร (ขาดตลาดกลางและการประชาสัมพันธ์) การไม่สามารถบริหารความเสี่ยงด้านราคาและปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร ความล่าช้าของก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งทางถนน การชะลอโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และระบบภาคบริการการท่องเที่ยวยังมีมูลค่าเพิ่มที่น้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพของพื้นที่ ดังนั้น กาญจนบุรีจำเป็นต้องมีการปรับตัวในหลายประการ ได้แก่

  • การสร้างข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้เป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาของจังหวัด ได้แก่ การสร้างถนน Motor way ที่เชื่อมต่อกาญจนบุรีกับบางใหญ่ นนทบุรี การปรับปรุงถนนหนทางให้รองรับการขนส่งปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะภาคการเกษตรในลักษณะเกษตรแปรรูป
  • พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น รองรับกลุ่มการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง และการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์เท่านั้น และควรสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
  • พัฒนาพื้นที่ตลาดกลางเพื่อช่วยในการเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร ผลผลิตเกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าจากสถานประกอบการในจังหวัด รวมถึงการมีศูนย์รวมด้านข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภาคบริการที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะของ One Stop Service
  • การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่กาญจนบุรีทำให้ทิศทางของการใช้พื้นที่ในอนาคตมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้เข้ามาลงทุน และประชาชนที่อยู่ในพื้นต้องมีความเป็นธรรม และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่
  • แม้ว่าในอนาคต การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นความหวังและส่งผลกระทบต่อกาญจนบุรีในทิศทางที่เป็นบวก แต่จะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น ดังนั้น จังหวัดควรจัดเตรียมการรองรับภายใต้เงื่อนไขว่า หากเศรษฐกิจพิเศษทวายเกิดขึ้น จังหวัดต้องมีการรับมืออย่างไร เช่น การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ ๆ การขนส่งวัสดุอุปกรณ์ การขนส่งสินค้า การเคลื่อนย้ายคน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับธุรกิจ หรือ การพัฒนาคนแบบ Train the Trainer ในการเป็นศูนย์กลางของการฝึกอบรมเพื่อการเตรียมคนทั้งคนไทยและเมียนมา เพื่อเตรียมป้อนให้กับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • การกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาควรดำเนินการในลักษณะของการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และควรมีการจัดระบบประชาสัมพันธ์ในประชาชนในพื้นที่รับทราบ เกิดความเข้าใจ และสามารถนำไปใช้เพื่อการต่อยอดได้

ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงของกาญจนบุรี กับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เมียนมา การที่กาญจนบุรีจะพึ่งพาการเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในการเป็นตลาดใหม่ของสินค้าและบริการในช่วงระยะสั้น (1-3 ปี) และระยะปานกลาง (3-8 ปี) โดยนับจากปี 2562 จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเงื่อนไขที่มาเป็นข้อจำกัดขึ้นกับรัฐบาลของเมียนมาเป็นสำคัญ ซึ่งได้แก่ สิทธิในการก่อสร้างถนนจากกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน มายังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย) และสิทธิในการบริหารจัดการ Land Leasing Agreement ใน Initial Phase ซึ่งภายหลังจากการได้รับสิทธิ บริษัทยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง การให้ผู้ลงทุนมาใช้พื้นที่ และการขยายพื้นที่นิคมอย่างครบวงจร ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีปัจจัยความเสี่ยงมาเกี่ยวข้องมากมายโดยเฉพาะปัจจัยทางสังคมและการเมืองของทั้งสองประเทศ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งพื้นที่และกำลังคนอาจไม่ได้มีการเตรียมการรองรับอย่างเพียงพอ ตลอดจนยังยึดโยงกับความสำเร็จของการสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการที่มีการรอให้โครงการนิคมมีความต้องการและสามารถจ่าย Load ของการขนสินค้าให้กับท่าเรือได้อย่างคุ้มค่า โครงการท่าเรือน้ำลึกจึงสามารถจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแนวทางที่สำคัญคือการพัฒนาเป็นช่วงระยะของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และกาญจนบุรีจึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้เป็นระยะ ๆ ประกอบด้วย

  • ระยะสั้น การสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างบ้านพุน้ำร้อน (ด่านชายแดนถาวร) มายังเขตทวาย โดยเป็นระยะทาง 180 กิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบันได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ในการศึกษาความเป็นไปได้และเชิงวิศวกรรมของการสร้างถนนเชื่อมต่อ และรอรัฐบาลของเมียนมาในการคัดเลือกผู้ก่อสร้าง ซึ่งหากสร้างถนนเส้นนี้ได้จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า คน ได้สะดวกมากขึ้น (ในปัจจุบัน เส้นทางมีลักษณะเป็นทางลูกรังซึ่งไม่สามารถเดินทางได้สะดวกในช่วงหน้าฝน) การมีเส้นทางนี้ทำให้การใช้เส้นทางจากแม่สอด-กาญจนบุรี ร่นระยะเวลาการเดินทางลง
  • ระยะปานกลาง การจัดทำนิคมอุตสาหกรรมตาม Initial Phase โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ การได้ Land Leasing Agreement จากรัฐบาลเมียนมา เพื่อนำไปจัดหาเงินทุนผ่านสถาบันการเงิน โดยใช้ Land Leasing Agreement เป็นหลักประกัน ระยะเวลาของการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 8 ปี จึงจะทำให้เกิด Initial Phase ที่สมบูรณ์ และจาก Phase นี้จะทำให้เกิดการลงทุนในสถานประกอบการ โดยเป้าหมายของธุรกิจเป็นอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) ส่งผลให้เกิดปริมาณการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากพอในการจูงใจให้เกิดการลงทุนในท่าเรือน้ำลึก และการขนส่งสินค้าทางทะเลที่นอกเหนือจากการใช้ท่าเรือขนาดเล็ก นอกจากนี้ ในระยะปานกลาง ควรมีการพัฒนาความสามารถของแรงงานในพื้นที่เพื่อรองรับกับสถานประกอบการที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษา ช่างเทคนิค รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของพื้นที่
  • ระยะยาว เมื่อมีหลักประกันว่าจะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าขายที่เพิ่มมากขึ้น การทำท่าเรือน้ำลึกจึงสามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการคมนาคมขนส่งทางทะเลและสามารถเชื่อมต่อกับเมืองท่าที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจของไทยเนื่องจากจะลดระยะเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และสามารถเชื่อมต่อจากภาคเหนือของเมียนมาซึ่งมีพรมแดนติดกับจีนทางตอนใต้ให้สามารถมีช่องทางเชื่อมต่อทางทะเลที่ลดระยะเวลาการเดินทางได้
  • ผลที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ของเมียนมาจะส่งผลกระทบทางบวกในด้านของการจ้างงานและทำให้เศรษฐกิจของพื้นที่มีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งจากเดิมพื้นที่เขตทวายเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและชายทะเล จะมีทางเลือกสู่อุตสาหกรรมเบาและการผลิตสินค้าเกษตรและประมงแปรรูป ผลโดยระยะยาวด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน คือ แรงงานกึ่งทักษะของเมียนมาอาจย้ายกลับจากไทย แม้ว่าผลตอบแทนในภาพรวมอาจน้อยกว่าการทำงานในไทย แต่ค่าครองชีพที่ต่ำกว่าและการไม่ต้องย้ายถิ่นอาจเป็นแรงจูงใจให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับมายังพื้นที่ ซึ่งหากพิจารณาร่วมกับระยะเวลาที่ไทยให้อนุญาตแรงงานมาทำงานในประเทศตามช่วงเวลาที่กำหนด ก็อาจเป็นระยะเวลาที่พอดีกันสำหรับแรงงานที่จำเป็นต้องกลับประเทศและไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานใหม่ในไทยได้

ถนนจากบ้านพุน้ำร้อนถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ที่มา : ปรับปรุงโดยคณะผู้วิจัย

ในบทความตอนหน้า ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ กรณีตราด

หมายเหตุ: บทความนี้นำเนื้อหาบางส่วนมาจากการวิจัยในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ สนับสนุนโดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) และ คลัสเตอร์วิจัย กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ อาจารย์นนท์ นุชหมอน คณะเศรษฐศาสตร์ และ อาจารย์สุกฤษฏิ์ วินยเวคิน คณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์