ทางหลวงแผ่นดินสายเอเชียเส้นทาง R3A เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างนครคุนหมิง สาธารณรัฐจีน ผ่าน สปป.ลาว ออกเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขง ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เข้าอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย แล้วเชื่อมกับเครือข่ายทางหลวงของไทยไปสู่กรุงเทพมหานคร เส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางด่วนคุนหมิง-กรุงเทพฯ (Kunming-Bangkok Express way) หรือชื่อภาษาจีนคือ “คุนมั่น กงลู่” (昆曼公路) คำว่า “คุน” มาจากคุนหมิง “มั่น” มาจากมั่นกู่หรือกรุงเทพฯ ในภาษาจีน ส่วน กงลู่ ก็คือถนนสาธารณะ ดังนั้นเส้นทางสายนี้จึงเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างนครคุนหมิง เมืองหลวงของมลฑลยูนนาน กับกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ทั้งสองเมืองนี้มีประชากรรวมกันเกินกว่า 6 ล้านคน นับว่าเป็นมหานครขนาดใหญ่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เส้นทางนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว และกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้


ที่มา: FTA Watch

ปลายเดือนธันวาคม 2567 ผู้เขียนได้ลองนั่งรถตู้ประจำทาง ตามเส้นทาง R3A จากสะพานมิตรภาพไทย - ลาว อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ไปด่านชายแดนลาว-จีน (บ่อเต็น-โม่หาน) ก่อนต่อรถไฟในจีนไปเมืองสิบสองปันนา คุนหมิง ต้าลี่ ลี่เจียง และแชงกรีล่า ตลอดระยะทาง 240 กิโลเมตร ในเขต สปป.ลาว ผู้เขียนต้องใช้เวลาเดินทางถึง 7 ชั่วโมง มีอุปสรรคการเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล่าช้าในการเดินทาง จนทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางนี้เพิ่มขึ้น อุปสรรคการเดินทางเหล่านี้ทำให้เส้นทางคุนมั่น กงลู่ เส้นทางที่ควรจะเชื่อมต่อ (linked) นครคุนหมิงกับกรุงเทพ อย่างราบรื่น กลับเต็มไปด้วยจุดไม่เชื่อมต่อ (unlinked) อีกหลายจุด จนทำให้ สปป.ลาว ไม่ได้รับประโยชน์จากการเป็นพื้นที่เชื่อมต่อนี้ได้อย่างสมบูรณ์


ด่านสากลบ่อเต็น สปป.ลาว ประตูที่เชื่อมระหว่างจีน ลาว และไทย
ที่มา : ภาพจากผู้เขียน

จุดไม่เชื่อมต่อ

ความลำบากจากการไม่เชื่อมต่อ (unlinked) บนเส้นทาง R3A ใน สปป.ลาว เช่น ค่าโดยสารสาธารณะที่ยังสูงและใช้เวลานาน สภาพถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเนื่องจากการขาดการบำรุงรักษา ความไม่แน่นอนของตารางการเดินรถ และการขาดเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟกับการเดินทางขนส่งทางถนน

ผู้เขียนได้การเดินทางมายังเส้นทาง R3E โดยใช้ขนส่งสาธารณะ จากตัวเมืองเชียงรายโดยขึ้นรถโดยสารประจำทางเชียงราย-เชียงของ เมื่อแจ้งให้คนขับรับทราบว่าต้องการเดินทางไปยังสะพานมิตรภาพ คนขับก็จะพามาจอดที่หน้าด่าน ตม.ไทย ตรงสะพานมิตรภาพ ก่อนที่รถจะเข้าไปยังตัวอำเภอเชียงของ ค่ารถโดยสารจากตัวเมืองเชียงรายมายังเชียงของจะอยู่ที่ 90 บาท แต่หากลงที่ด่าน ตม.ไทย สะพานมิตรภาพแล้ว ก็จะโดนเก็บเพิ่มอีกคนละ 50 บาท หลังจากที่เราผ่านด่าน ตม.ฝั่งไทยได้แล้ว ก็จะมีรถโดยสารบริการวิ่งไปยังฝั่ง ตม.สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นรถไทยและรถลาววิ่งสลับกัน โดยเก็บค่าโดยสารอีกคนละ 20 บาท หลังจากผ่าน ตม.ลาวแล้ว เราจะต้องเสียค่ารถโดยสารจากสะพานมิตรภาพไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสารเพดอะลุน ( Phetaloon Huay Xai bus terminal) ซึ่งเป็นสถานีขนส่งหลักของเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว อีก 100 บาท สำหรับระยะทางไม่ถึง 10 กิโลเมตรแล้วนับว่าค่อนข้างแพงเลยทีเดียว

สภาพถนนใน สปป.ลาว ตามเส้นทางการเดินทางส่วนใหญ่ มีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งเกิดจากการที่ถนนต้องรองรับการขนส่งของรถบรรทุกจำนวนมากโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่มีน้ำหนักมากระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะเมื่อใกล้พรมแดนลาว-จีน บริเวณด่านบ่อเต็นและโม่หาน สภาพถนนแทบจะไม่มีช่วงที่พื้นถนนเรียบเลย ในขณะที่บริเวณด่านกลับมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รองรับกิจกรรมทางการพาณิชย์ เช่น โรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งประเทศจีน ด้วยเหตุนี้ การเดินทางบนเส้นทาง R3A จึงมีความลำบากเป็นอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยว


กองทัพรถขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแดนลาว-จีน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถนนสาย R3A ชำรุดทรุดโทรม
ที่มา : ภาพจากผู้เขียน

นอกจากนี้ ในมุมมองของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนแล้ว ตารางการเดินรถของ สปป.ลาว ยังไม่แน่นอน (Uncertainty) ก่อนออกเดินทางผู้เขียนได้พยายามหาข้อมูลรอบการเดินรถจากสถานีขนส่งเพ็ดอะลุน (ห้วยทราย) เพื่อเดินทางไปยังด่านพรมแดนบ่อเต็น-โม่หาน ซึ่งไม่มีเว็บไซต์ทางการหรือแอพพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้ ผู้เขียนได้พยายามหาข้อมูลจากคลิปของยูทูปเบอร์ และกูเกิ้ลโฟโต้ที่อยู่บนกูเกิ้ลแมพ แล้วนำมาเปรียบเทียบว่า ข้อมูลแหล่งใดน่าจะเป็นข้อมูลที่อัพเดทใหม่ล่าสุด ถึงกระนั้น เมื่อถึงวันแล้วกลับกลายเป็นว่า แม้ว่าตารางเวลาที่ได้มานั้นจะเป็นตารางการเดินรถที่อัพเดทแล้ว แต่กลับไม่มีรถรอบที่ต้องการจะใช้บริการเพราะว่ารถเที่ยวดังกล่าวมีบริการวันเว้นวัน แน่นอนล่ะ ข้อมูลนี้ไม่ได้ระบุไว้ในตารางการเดินรถ ความไม่แน่นอนดังกล่าวนี้ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถที่จะจองโรงแรมต่าง ๆ ล่วงหน้าไว้ได้เลย เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้เดินทางออกจากประเทศลาวได้วันไหน เข้าไปถึงประเทศจีนได้วันไหน ส่วนที่จีนนั้น รถไฟเป็นผู้เล่นหลักที่ให้บริการการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ พร้อมกับมีแอพลิเคชั่นให้เช็คและอัพเดทสถานะของการเดินรถแบบเรียลไทม์


ตารางการเดินรถที่สถานีขนส่งเพดอะลุน เมืองห้วยทราย
การเดินรถจริงนั้นไม่ได้เป็นไปตรงตามเวลาที่ได้ระบุไว้ แต่อย่างน้อยราคาตั๋วโดยสารก็เป็นไปตามที่ได้ระบุไว้ในตารางการเดินรถ
ที่มา : ภาพจากผู้เขียน

ขณะที่จีน รถไฟเป็นโครงข่ายคมนาคมหลักเชื่อมต่อระหว่างเมืองเป็นหลัก แต่ใน สปป.ลาว รถไฟยังไม่ได้เป็นเส้นทางการเดินทางระหว่างเมือง สถานีรถไฟนายเตย ตั้งอยู่ที่บ้านนาเตย ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากตัวเมืองหลวงน้ำทาเมืองใหญ่ทางตอนเหนือของลาวถึง 35 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์นานถึง 50 นาที ตามสภาพถนนที่ชำรุดทรุดโทรม ดังนั้นเส้นทางรถไฟสายนี้จึงไม่สามารถช่วยเชื่อมโยงหรือกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองหลวงน้ำทาได้เท่าใดนัก แม้ว่าบริเวณพื้นที่รอบ ๆ สถานีรถไฟนาเตยเริ่มมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์อยู่บางแล้ว แต่ยังมีจำนวนน้อยและไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจในบริเวณสถานนาเตยนั้นคึกคักขึ้นมาได้ นอกจากนี้ มีรถไฟเพียง 4 เที่ยวต่อวันเท่านั้นที่หยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีนายเตยแห่งนี้ ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารไม่มากนัก ในมุมมองของนักท่องเที่ยว อย่างประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียนแล้ว จึงไม่อยากที่จะแวะท่องเที่ยวที่เมืองหลวงน้ำทา เนื่องจากนั่งรถไฟต่อไปอีกเพียง 20 กิโลเมตรก็จะถึงสถานีบ่อเต็นซึ่งเป็นชายแดนจีน แล้วเดินทางข้ามไปยังดินแดนจีนได้เลย เส้นทางนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าและการเดินทางจากจีนสู่นครหลวงเวียงจันทน์และเชื่อมต่อมาประเทศไทยผ่านทางด่านจังหวัดหนองคาย มากกว่าที่จะสร้างประโยชน์ให้กับเมืองหลวงน้ำทาเอง


บรรยากาศภายในสถานีรถไฟนาเตยค่อนข้างเงียบเหงา
ที่มา: ภาพจากผู้เขียน

ข้อเสนอแนะ

จากปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวมาแล้ว เส้นทาง R3A ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ซ่อนอยู่ในโครงการ “คุนหมิง-กรุงเทพฯ” ที่มุ่งหมายจะเชื่อมโยงมหานครใหญ่สองแห่งในภูมิภาคให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กลับไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นตลอดทั้งเส้นทางได้อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นการเชื่อมโยง (linked) ระหว่างเส้นทาง R3A กับเส้นทางรถไฟลาวจีน เชื่อมไปยังเมืองใหญ่ของลาวเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เส้นทางนี้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจีน สปป.ลาว และไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการบำรุงรักษาและปรับปรุงคุณภาพของถนนในพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อ สภาพถนนที่ทรุดโทรม ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ แต่ยังเพิ่มต้นทุนการเดินทางและลดประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าด้วย

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขคือความไม่แน่นอนของตารางการเดินรถในฝั่ง สปป.ลาว การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างระบบข้อมูลที่อัพเดทแบบเรียลไทม์ จะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถวางแผนการเดินทางและจองที่พักได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ การประสานงานระหว่างหน่วยงานขนส่งในแต่ละประเทศจะช่วยลดความสับสนและเพิ่มความโปร่งใสในข้อมูลตารางเวลาให้กับนักท่องเที่ยวและเดินทางระหว่างกัน

เพื่อให้เส้นทาง R3A กลายเป็น “เส้นทางเชื่อมต่อ” ที่แท้จริง ควรมีการวางแผนระยะยาวที่ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ การบำรุงรักษาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ควรมีการจัดสรรงบประมาณและความร่วมมือในการซ่อมแซมถนนส่วนที่ชำรุด โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการใช้งานหนัก เพื่อให้เส้นทางมีความเรียบและปลอดภัย การพัฒนาระบบขนส่งและการจัดการข้อมูล การร่วมมือกันพัฒนาแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มข้อมูลขนส่งข้ามพรมแดน จะช่วยลดความไม่แน่นอนในตารางการเดินรถและเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร การส่งเสริมความร่วมมือเชิงภูมิภาค การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนในแต่ละประเทศ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


ด่านตรวจระหว่างทางจากห้วยทรายไปยังหลวงน้ำทา นักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องแสดงหนังสือเดินทางให้เจ้าหน้าที่ของลาวทำการตรวจสอบ
ที่มา: ภาพจากผู้เขียน

แม้ว่าในปัจจุบันเส้นทาง R3A ยังเผชิญกับต้นทุนที่เกิดจากการเชื่อมต่อที่ไม่ต่อเนื่องและความไม่แน่นอนในบริการ แต่ด้วยศักยภาพของเส้นทางที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม สภาพภูมิประเทศที่หลากหลายและสวยงาม เส้นทางนี้ยังมีศักยภาพที่จะกลายเป็นสะพานเชื่อมสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างแท้จริง


ตึกสูงระฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังก่อสร้างจำนวนมาก บริเวณด่านชายแดนบ่อเต็น ฝั่ง สปป.ลาว เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : ภาพจากผู้เขียน

พรเทพ กมลเพชร
อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยพายัพ