Germinal เป็นนวนิยายของยอดนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อว่า เอมิล โซลา (Emile Zola) ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในวารสารชื่อ Gil Blas ระหว่างปี 1884 ถึง 1885 ก่อนที่จะตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี 1885 ถูกแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในปี 1980 โดย ชาลีมาน ในชื่อ พืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เม็ดทราย เล่มที่ผู้เขียนถืออยู่ในมือตอนนี้คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 2018 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน (ดังนั้น เลขหน้าที่ระบุไว้หลังข้อความที่ยกมาในบทความนี้จึงอ้างอิงมาจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้)
นักอ่านทั่วโลกต่างยกย่องว่า Germinal คือนวนิยายชิ้นเอกของโลก ในด้านหนึ่ง Germinal บรรยายสภาพความทุกข์ยากของกรรมกรเหมืองถ่านหินในศตวรรษที่ 19 ได้อย่างถึงแก่น บ้านที่อยู่กันอย่างแออัดมี “เงาดำหนาซึ่งรู้สึกได้โดยมองไม่เห็นยังคงกดอยู่... ราวกับว่าจะช่วยบดขยี้ผู้คนซึ่งกำลังซุกสุมกันหลับไหลด้วยความเหนื่อยอ่อนปากอ้ากอยู่ภายในห้อง” (p.43) ความแออัดที่บีบให้ความรัก ความสัมพันธ์ และการเกิดคือการที่ “ชายหนุ่มกับหญิงสาวมักจะไปลงนรกด้วยกัน พอตกค่ำเขาจะไปร่วมรักกันบนหลังคาลาดของเพิงคอกสำหรับเลี้ยงกระต่าย พวกผู้หญิงขนแร่มักได้ลูกคนแรกกันที่นั่น ถ้าไม่อยากไป... ตามทุ่งข้าวสาลี” (p.170) บางคนต้องทำงานในท่าทางที่ “ราวกับสัตว์ตัวแคระในละครสัตว์... ราวกับว่าสภาพธรรมดาของมนุษย์จะต้องมีชีวิตที่คุดคู้แบบนี้” (p.83) คนแก่ที่ทำงานในเหมืองมากว่า 50 ปี ต้องถ่มน้ำลายสีดำอยู่ตลอดเวลาเพราะว่า “มีถ่านหินอยู่ในตับไตไส้พุงพอจะเผา... จนถึงวันตายได้แล้วละ” (p.37) จนความตายอาจจะดีกว่าการมีชีวิตอยู่ “โอ พระผู้เป็นเจ้า ทำไมไม่รับพวกเราไป โปรดสงสารเราด้วยเถิด รับพวกเราไป จะได้หมดเวรหมดกรรมเสียที!” (p.635) ความยากแค้นเหลือทนเหล่านี้ถูกขับให้เด่นชัดยิ่งขึ้นจากการนำไปเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นอยู่แสนสบายของเหล่าเจ้าของเหมือง “ทั้งคู่ตามใจหล่อนทุกอย่าง ไม่ว่าจะซื้อม้าตัวที่สอง รถม้าอีกสองคันและเสื้อผ้าจากปารีส แต่นั่นแหละทุกอย่างเป็นสิ่งที่เพิ่มความชื่นชมให้แก่เขาทั้งสองผู้เป็นพ่อแม่ ไม่มีอะไรที่ดีเกินไปสำหรับลูกสาวของเขา” (p.137) ความเหลื่อมล้ำสุดกู่ทำให้กรรมกรเหมืองลุกขึ้นสู้เพื่อให้ชีวิตของตนดีขึ้น "สังคมนิยมจงเจริญ! กระฎุมพีจงฉิบหาย! ฆ่ามัน!" (p.578) ด้วยเนื้อหาเหล่านี้ การเป็นแรงบรรดาลใจชิ้นสำคัญให้กรรมาชีพลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรมคืออีกด้านหนึ่งของ Germinal ที่ได้รับการยอมรับจากผู้อ่าน
ราวทศวรรษ 1860 ชายหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อว่า เอเตียน ลองติเยร์ (Etienne Lentier) กำลังเดินเข้าสู่เมืองมงต์ซู (Montsou) เพื่อหางานทำ เขาเคยทำงานเป็นช่างเครื่องยนต์ในโรงงานรถไฟก่อนที่จะถูกไล่ออกเพราะอารมณ์ร้อนจนมีเรื่องชกต่อยกับหัวหน้างาน แต่งานเดียวที่มีในมงต์ซูคือเป็นคนงานดันรถขนถ่านหินในเหมือง เลอ โวเรอซ์ (Le Voreux) เอเตียนคือคนต่างถิ่นที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการทำเหมืองถ่านหิน แต่เขาต้องยอมทำงานนี้เพื่อความอยู่รอด เมื่อตัดสินใจดังนี้ เขาจึงมองหาที่พักสักแห่งที่อนุญาตให้เขาอยู่ก่อน เมื่อได้รับค่าจ้างจึงค่อยจ่ายค่าเช่าทีหลัง สถานที่แห่งนั้นคือโรงเตี๊ยมชื่อว่า อาว็องตาซ (A l’ Avantage) มีเจ้าของเป็นอดีตคนงานเหมืองชื่อว่า ราสเซอร์เนอร์ (Rasseneur) ผู้ถูกไล่ออกจากงานเนื่องจากเป็นผู้นำการนัดหยุดงานเมื่อสามปีก่อนหน้านั้น โรงเตี๊ยมแห่งนี้มีบาร์ขายเหล้าเบียร์ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมแห่งหนึ่งของกรรมกรเหมือง ซึ่งเอเตียนได้ทำความรู้จักกับช่างเครื่องชาวรัสเซียในเหมือง เลอ โวเรอซ์ คนหนึ่งซึ่งเช่าห้องติดกับเขาชื่อว่า ซูวาริน (Souvarine)
เอเตียนเห็นสภาพการทำงานที่เลวร้ายและการใช้ชีวิตที่ย่ำแย่ของกรรมกร เขาพร่ำพูดกับเพื่อนร่วมงานของเขาว่า นี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้องและจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้ การกระตือรือร้นปกป้องผลประโยชน์ของกรรมกร การเอาจริงเอาจังกับการทำงาน และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของคนรอบตัว อีกทั้งเขายังอ่านออกเขียนได้ จึงช่วยเหลือผู้ที่ไม่รู้หนังสือในการเขียนจดหมาย รวมถึงอ่านประกาศให้ฟังอยู่เป็นประจำ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในการต่อสู้จากกรรมกรเหมือง แต่ทว่า เขาเป็นชายหนุ่มไฟแรงคนหนึ่งที่รู้เรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ของกรรมาชีพเพียงน้อยนิด เขาจะปลุกการต่อสู้ได้อย่างไร?
เขาศึกษาหาความรู้จากการอ่านนิตยสารฝ่ายซ้ายชื่อ Le Combat ที่ซูวารินบอกรับมาจากสำนักพิมพ์ในเจนีวา นอกจากนี้ การพูดคุยกับราสเซอร์เนอร์และซูวารินที่บาร์ของโรงเตี๊ยมในยามค่ำคืนคืออีกโอกาสสำคัญที่เอเตียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ ทว่าราสเซอร์เนอร์และซูวารินกลับมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปคนละทาง ซูวารินเคยลอบปลงพระชนม์พระจักรพรรดิของรัสเซียแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงต้องหนีออกมาอาศัยแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในฝรั่งเศส เขามีความเชื่อแบบสุดโต่งว่า “มันต้องเผาบ้านเมืองล้มชาติเสีย กวาดทุกสิ่งทุกอย่างออกไป จนกว่าจะไม่มีโลกที่เน่าผุพังเหลืออยู่อีกนั่นแหละ บางทีโลกที่ดีกว่าอาจจะเกิดมาแทนก็ได้” (p.230) กล่าวคือ เขาเชื่อว่าการใช้กำลังเพื่อปฏิวัติสรรพสิ่งอย่างฉับพลันคือสิ่งจำเป็น แต่ราสเซอร์เนอร์กลับเป็นคนที่เชื่อในการประนีประนอม เขากล่าวว่า “ทางที่ดีที่สุดที่ควรจะทำเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องยุ่งยากก็คือทำตรงไปตรงมา และยืนยันที่จะให้มีการปฏิรูปสิ่งต่างๆ เท่าที่จะทำได้” (p.379) “หากคนเราต้องการอะไรทันละก็ เขาจะไม่มีทางได้มันมาเลย” (p.280)
ความคิดเห็นขัดแย้งกันระหว่างระหว่างกลุ่มกรรมกรที่เห็นชอบกับการเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงแบบสุดขั้ว (extremists) กับกลุ่มที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้วยการประนีประนอม (moderates) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน Paris Commune ปี 1871 น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีเนื่องจากการลุกฮือครั้งนั้นเป็นแรงผลักดันให้โซลาอยากแต่งนิยายเกี่ยวกับการปฏิวัติ จนกระทั่งได้ Germinal ออกมาในที่สุด [1] สมาชิก Paris Commune มาจากหลากหลายกลุ่มที่มีความเชื่อและแนวทางการเคลื่อนไหวแตกต่างกัน ทั้งกลุ่มสุดโต่งที่ให้ความสำคัญกับการจับอาวุธสู้และสนับสนุนให้ผู้นำกุมอำนาจเด็ดขาด สมาชิกองค์กรสังคมนิยมสากล (Socialist internationalists) ที่เรียกร้องการปฏิรูปเพื่อความเท่าเทียมกัน และกลุ่มสนับสนุนสาธารณรัฐจาโคบิน (Jacobin Republicans) ที่เรียกร้องให้จำกัดสิทธิ์ในการถือครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ในช่วงท้ายของการเคลื่อนไหว มีการนองเลือดรุนแรง สมาชิกกลุ่มสุดโต่งกำลังทยอยฆ่าตัวประกัน เออแฌน วาร์แลน (Eugene Varlin) ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรสังคมนิยมสากลพยายามช่วยเหลือตัวประกันจากความตาย แต่ในที่สุดเขาถูกจับได้และถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอ [2]
นักเคลื่อนไหวยังคงถกเถียงกันต่อไปว่าการปฏิรูปหรือปฏิวัติคือยุทธวิธีที่เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนไหว แต่การถกเถียงยกระดับจากการเป็นเรื่องของยุทธิวิธีในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งมาเป็นเรื่องของการยกระดับเข้าสู่ระบบสังคมนิยม การถกเถียงนี้ทำให้คำถามว่า ปฏิรูปหรือปฏิวัติ (reform of revolution) ถูกกล่าวถึงแพร่หลายในแวดวงปัญญาชนฝ่ายซ้าย โดยเรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1890 เมื่อเอดูอาร์ด แบรนชไตน์ (Eduard Bernstein) นักคิดมาร์กซิสต์ชาวเยอรมันจากพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี (Social Democratic Party of Germany) เขียนบทความวิจารณ์ว่าการปฏิวัติเพื่อเข้าสู่ระบบสังคมนิยมที่แพร่หลายในหมู่มาร์กซิสต์ในสมัยนั้นเป็นวิธีที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในโลกแห่งความจริง เขาเสนอว่าสังคมนิยมสามารถเกิดขึ้นได้โดยสันติภาพ รัฐไม่ควรถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งในหมู่นายทุน กรรมาชีพสามารถปฏิรูปรัฐโดยใช้ระบบตัวแทนในรัฐสภาเพื่อผลักดันสังคมให้เข้าใกล้สังคมนิยมมากขึ้นทีละน้อย แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับโดยนักคิดจำนวนหนึ่งจนเกิดกระแสสนับสนุนการปฏิรูปและต่อต้านการปฏิวัติขึ้น
แต่แนวคิดของแบรนชไตน์ก็ถูกโต้แย้งโดยนักสังคมนิยมอีกจำนวนหนึ่ง งานเขียนชิ้นสำคัญที่โต้แย้งแบรนชไตน์ในเวลานั้นคือหนังสือที่เผยแพร่ในปี 1899 ชื่อว่า Reform or Revolution ของนักคิดชาวโปแลนด์ชื่อว่า โรซา ลักเซมเบิร์ก (Rosa Luxemburg) สาระสำคัญของหนังสือคือการวิจารณ์ว่า แนวคิดที่ว่าการปฏิรูปภายใต้ระบบทุนนิยมจะนำไปสู่สังคมนิยมได้ คือการยอมรับว่าทุนนิยมจะแปลงสภาพเป็นสังคมนิยมได้เอง และวันหนึ่งนายทุนจะยินดีสละกรรมสิทธิ์เหนือปัจจัยการผลิตและกรรมาชีพจะไม่ถูกขูดรีดอีกต่อไป ซึ่งนั่นไม่น่าเป็นไปได้ อันที่จริง นายทุนใช้การปรับตัวทำนองนี้เพื่อให้ตนรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป การจำกัดการเคลื่อนไหวให้อยู่ภายใต้ชื่อของการปฏิรูปแบบที่แบรนชไตน์หมายถึงทำให้การที่กรรมาชีพเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นกลับกลายเป็นการขอความร่วมมือจากนายทุน และเป็นการทำลายการตระหนักรู้เกี่ยวกับชนชั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปไม่สำคัญ ลักเซมเบิร์กเขียนว่า “จากมุมมองของการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมนิยม การต่อสู้ของสหภาพแรงงานและกิจกรรมในรัฐสภาของเรานั้นสำคัญอย่างยิ่งเพราะทำให้สังคมเกิดการตระหนักรู้ คือการรับรู้ของกรรมาชีพและช่วยในการรวมกันเป็นชนชั้น” [3] การปฏิรูปจึงไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นวิธีการไปสู่การปฏิวัติ
คำถามว่าปฏิรูปหรือปฏิวัติยังคงทันสมัยเนื่องจากความขัดแย้งและการเรียกร้องเกิดขึ้นเสมอ ในกรณีของไทย การประท้วงของนักเรียน-นักศึกษาในช่วงปี 2020-2021 คือตัวอย่างที่น่ากล่าวถึง เมื่อแรกเริ่ม การประท้วงถูกขับเคลื่อนจากปัญหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา การครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานของรัฐบาลประยุทธ์ อำนาจล้นเกินของศาล และอำนาจนอกรัฐธรรมนูญที่แทรกแซงการเมืองไทยเรื่อยมา ก่อนที่ประเด็นของการประท้วงจะขยายไปยังหัวข้ออื่นๆ เช่น สิทธิของ LGBTQ ค่าจ้างขั้นต่ำ สวัสดิการแรงงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูประบบทุนนิยมไทย [4] ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) นักวิชาการชาวอังกฤษผู้ศึกษาการเมืองไทยมายาวนานตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประท้วงไว้ว่า ผู้ประท้วงใช้ภาษาแบบนักปฏิวัติ เช่น “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ซึ่งคือคำขวัญสำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวสะท้อนว่าปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มคนสองชนชั้น และชนชั้นผู้กดขี่จำต้องถูกทำลายลงไป แต่ทว่า ผู้ประท้วงกลับเรียกร้องในระดับการปฏิรูป กล่าวคือ “ผู้ประท้วงไม่เคยประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปหรือปฏิวัติ [5]
การถามคำถามว่าปฏิรูปหรือปฏิวัติ และการวิจารณ์แนวทางการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่ควรจะเป็นอุปสรรคสำหรับการเคลื่อนไหวในอนาคต อันที่จริง การปฏิรูปกับการปฏิวัติอาจจะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) กล่าวว่า “มีเพียงทางเดียวที่จะทำให้การปฏิรูปจะเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์... คือ ผู้คนจำนวนมากเริ่มตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องการนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในกรอบของสถาบันที่มีอยู่ นั่นหมายความว่าหากคุณเป็นผู้อุทิศตนให้กับการปฏิวัติ คุณคือนักปฏิรูป ปฏิรูปกับการปฏิวัติไม่ได้ขัดแย้งกัน” [6] เมื่อเป็นเช่นนี้ การถามคำถามและการวิจารณ์ควรจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้การเคลื่อนไหวในอนาคตเกิดขึ้นและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม
ในตอนท้ายของ Germinal โซลากล่าวว่าการเคลื่อนไหวจะต้องเกิดขึ้นต่อไปในสังคมที่อยุติธรรม และ “คนรุ่นใหม่จะต้องสร้างสังคมใหม่ และในการคาดหวังของการบุกรุกแบบป่าเถื่อนคงจะช่วยประชาชาติที่เหนื่อยล้าเก่าแก่ทั้งหลายให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ เขา (เอเตียน) รู้สึกว่าตนเองมีศรัทธาในการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง” (p.834)
เชิงอรรถ
[1] Nelson, Brian. 2020. Emile Zola: A Very Short Introduction. Oxford University Press. P.182.
[2] https://www.thenation.com/article/world/paris-commune/
[3] Luxemburg, Rosa. 1899. Reform or Revolution. บทที่ 5
[4] Supachalasai, Chyatat. 2023. Thai Youth Liberation as a Politico-Economic Force: A Critique of Hierarchical Capitalism and the Authoritarian State. Journal of Contemporary Asia, Vol. 53, No. 4, pp. 712-723.
[5] McCargo, Duncan. 2021. Disruptors’ Dilemma? Thailand 2020 Gen Z Protests. Critical Asian Studies, Vol. 53, No. 2, pp. 175-191.
[6] https://www.youtube.com/watch?v=mLAeNmRwY3I