ธุรกิจแบบพีรามิดและพอนซี่สกีมเป็นรูปแบบธุรกิจที่ผิดกฎหมาย สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจทั้งต่อผู้เข้าร่วมและต่อระบบเศรษฐกิจส่วนรวม ธุรกิจแบบพีรามิดและพอนซี่สกีมมีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ คือ เงินจากผู้เข้าร่วมใหม่จะเป็นแหล่งที่มารายได้ที่นำมาจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมรายก่อนหน้า ธุรกิจแบบพีรามิดและพอนซี่สกีมจึงดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้เข้าร่วมใหม่เข้ามาในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นกิจการก็จะไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนที่สูงตามที่ให้สัญญากับผู้เข้าร่วม ในแง่เศรษฐกิจ
ด้วยความจำกัดของจำนวนประชากรที่มีโอกาสจะเข้าร่วม จึงเป็นไปไม่ได้ที่กิจการนี้จะดำรงอยู่ไปตลอด เมื่อตลาดถึงจุดอิ่มตัว จำนวนผู้เข้าร่วมใหม่มีไม่เพียงพอที่จะสร้างรายได้มาจ่ายให้ผู้เข้าร่วมตามที่สัญญาไว้ได้ กิจการก็จะล่มสลายลง ผู้เข้าร่วมรายหลัง ๆ จะสูญเสียเงินที่ลงทุนไปทั้งหมด
ทั้งธุรกิจแบบพีระมิดและพอนซีสกีม ไม่มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (หรือมีก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินทุน เช่น อาจมีการสั่งผลิตสินค้าอยู่บ้าง แต่ก็ทำเพียงเพื่อบังหน้าให้ดูเสมือนกิจการที่ถูกกฎหมาย) ธุรกิจแบบพีระมิดและพอนซี่สกีมจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย พอนซีสกีมหรือแชร์ลูกโซ่มักจะไม่มีการขายสินค้า ผู้ก่อตั้งพอนซีสกีมมักจะอ้างว่าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูง โดยไม่มีการลงทุนที่มีผลกำไรเกิดขึ้นจริงมีเพียงแต่เงินที่ผู้เข้าร่วมนำมาลงทุนที่หมุนเวียนในกิจการ และไม่มีการจัดลำดับขั้นของผู้เข้าร่วมอย่างชัดเจน
ส่วนธุรกิจแบบพีระมิด ผู้ก่อตั้งธุรกิจพีระมิดมักจะอ้างตัวเป็นธุรกิจการตลาดแบบเป็นขั้น (Multi-Level Marketing) แต่ไม่มีการทำกำไรจากการขายผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ธุรกิจพีระมิดอาจจะอ้างว่ามียอดขายสินค้าสูง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าสินค้าเป็นที่ต้องการผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจ ยอดขายที่สูงมักจะมาจากการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมซื้อสินค้าเกินกว่าจำนวนที่จะขายได้ในราคาสูง มีการจัดลำดับขั้นของผู้เข้าร่วม ผู้เข้าร่วมด้านบนจะได้รับเงินจากการชักชวนผู้ด้านล่างให้มาลงเงินร่วมธุรกิจ ผู้ที่อยู่ด้านบนของพีรามิดเท่านั้นที่จะได้รับผลกำไรมหาศาลจากเงินที่ผู้เข้าร่วมด้านล่างนำมาจ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าและค่าธรรมเนียมสมาชิก
บทความนี้จะอธิบายสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้คนเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนซีสกีมจากมุมมองทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความท้าทายด้านนโยบายในการป้องกันและจัดการธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้
เพราะเหตุใดคนจึงเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนซีสกีม
นักเศรษฐศาสตร์มีความสนใจเรื่องกระบวนการคิดการตัดสินใจของคนเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร สาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้คนตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนซีสกีม นอกจากจะมาจากการได้รับข้อมูลที่บิดเบือนแล้ว ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยังอธิบายว่า ปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์มีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจ ทำให้แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นว่าธุรกิจมีความเสี่ยงสูงจนอาจจะทำให้สูญเสียเงินที่ลงทุนไปทั้งหมด บุคคลก็ยังคงตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจและยังคงทำต่อไป เพราะถูกเล่นงานด้วยกลยุทธ์ที่ธุรกิจพีระมิดและพอนซีสกีมใช้ ทำให้บุคคลเกิดอคติเชิงพฤติกรรมจนมองข้ามข้อเท็จจริงเหล่านั้นไป ซึ่งส่วนนี้จะอธิบายอคติเชิงพฤติกรรมที่ทำให้ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม ได้แก่ อคติทางอารมณ์ และอคติเกี่ยวกับการรับรู้
(1) อคติทางอารมณ์ (Emotional Bias)
อคติทางอารมณ์ คือ การตัดสินใจของบุคคลที่ถูกขับเคลื่อนโดยความรู้สึกและการถูกกระตุ้นเป็นหลัก อคติทางอารมณ์มีบทบาทสำคัญทำให้ผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม การดำเนินธุรกิจเหล่านี้จะมีการออกแบบกลยุทธ์มาเพื่อสร้างการตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรง ขัดต่อความคิดเชิงเหตุผล กระตุ้นความโลภและความปรารถนาของบุคคลที่จะได้รับผลกำไรอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นอคติทางอารมณ์ ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมมักสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูงโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมากนัก ยั่วยวนให้กับบุคคลทั่วไปที่กำลังมองหาวิธีที่จะประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างรวดเร็ว ด้วยคำสัญญาว่าจะได้ "เงินง่ายๆ" เป็นการหาผลประโยชน์จากความหวังและความรู้สึกทะเยอทะยานของมนุษย์ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมมองข้ามสัญญาณเตือนและความไม่สมเหตุสมผลของแผนการดำเนินธุรกิจ ผู้เข้าร่วมจะเกิด ความกลัวว่าจะพลาดโอกาส (Fear of missing out - FOMO) ซึ่งเป็นอคติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง
ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมมักจะใช้กลยุทธ์ผ่านบทสนทนา สร้างความรู้สึกเร่งด่วนหรือความพิเศษเฉพาะ ผู้ชักชวนมักจะนำหลักความขาดแคลน (Scarcity Principle) มาหลอกล่อให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าโอกาสในการใส่เงินเข้าไปลงทุนมีความพิเศษและจำกัด ทำให้บุคคลเกิดความหวาดกลัวว่าจะพลาดโอกาส เป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วน ขาดความรอบคอบ อคติทางอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยาก เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นทันที แตกต่างจากอคติจากการรับรู้ที่เกิดจากกระบวนการคิด
(2) อคติเกี่ยวกับการรับรู้ (Cognitive Bias)
อคติเกี่ยวกับการรับรู้ เกิดขึ้นในกระบวนการคิด โดยบุคคลจะมีความเอนเอียงที่จะใช้ทางลัด ที่เรียกว่า ฮิวริสติก (heuristics) เพื่อประมวลปัญหาเฉพาะส่วนที่ซับซ้อนอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้ประสบการณ์ในอดีตหรือความรู้ที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ใส่ใจรายละเอียดส่วนอื่นๆ กระบวนการคิดนี้มีประโยชน์สำหรับสถานการณ์วิกฤตเร่งด่วนที่จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว แต่ในการตัดสินใจบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจทางการเงิน อคติเกี่ยวกับการรับรู้ มักจะทำให้การติดสินใจผิดพลาดได้ เพราะแม้จะตัดสินใจได้รวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้ใช้เวลาพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนรอบคอบและสมเหตุสมผลเพียงพอ
รูปแบบหนึ่งของอคติเกี่ยวกับการรับรู้ คือ อคติจากความมั่นใจมากเกินไป (Overconfidence) ได้แก่ การที่บุคคลประเมินความสามารถหรือความรู้ของตัวเองสูงเกินกว่าความเป็นจริง บุคคลไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม ผู้เข้าร่วมธุรกิจเชื่อมั่นว่าตนมีความรู้ มีข้อมูล หรือมีทักษะมากกว่าคนอื่นๆ และเชื่อมั่นว่าหากธุรกิจเริ่มประสบปัญหา ตนจะสามารถที่จะรับรู้ได้รวดเร็วและออกจากธุรกิจได้ทันก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น อคติจากความมั่นใจมากเกินไปนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมธุรกิจปิดการรับรู้ข้อบกพร่องของธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม ทั้งนี้ อคติจากความมั่นใจมากเกินไปไม่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่เข้าร่วมธุรกิจผิดกฎหมาย แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไป
ตัวอย่างเช่น งานศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นบางงานพบว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความมั่นใจมากเกินไป จะมีแนวโน้มลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงในมูลค่าที่มากเกินกว่าระดับที่เหมาะสม (การลงทุนระดับที่เหมาะสม คือ การลงทุนในระดับที่ทำให้เขาได้รับอรรถประโยชน์ที่คาดหวังสูงสุด ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล)
แผนการดำเนินธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมมักจะขยายผลที่เกิดจากการมีอคติจากความมั่นใจมากเกินไป ด้วยการพยายามทำให้เกิด พฤติกรรมหมู่ (Herd Behavior) กล่าวคือ เมื่อผู้คนเห็นเพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือเป็นจำนวนมาก ตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและได้รับกำไรแล้ว ก็จะเข้าใจไปว่า ธุรกิจดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือและมีความสามารถในการทำกำไรจริง ๆ อคตินี้มีรากฐานมาจากธรรมชาติทางจิตวิทยาของมนุษย์ที่มีความต้องการเข้าสังคม มีความพยายามที่จะปรับความคิด การกระทำ ให้สอดคล้องกับคนหมู่มาก ผู้คนมักจะเลือกทำตามคนส่วนใหญ่เมื่อมีความลังเลสงสัยไม่มั่นใจในตัวเองหรืออยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ผู้ดำเนินแผนธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมจึงมักจะป่าวประกาศโฆษณาเรื่องราวความสำเร็จของผู้เข้าร่วม สร้างความน่าเชื่อถือหรือความนิยม เพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมกลุ่มมากขึ้น
นอกจากพฤติกรรมกลุ่มจะทำให้ผู้คนตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมแล้ว พฤติกรรมกลุ่มยังสร้างรู้สึกกดดันให้กับผู้เข้าร่วมว่าจะต้องทำให้ได้อย่างคนอื่น ๆ ที่อยู่ในธุรกิจ ซึ่งความกดดันนี้จะส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการเข้าใจผิดเกี่ยวกับต้นทุนจม (Sunk Cost Fallacy) ถึงแม้ว่าผู้เข้าร่วมจะเริ่มเห็นปัญหาและเริ่มสูญเสียเงินลงทุนไปแล้ว แทนที่ผู้เข้าร่วมจะเริ่มใคร่ครวญพิจารณาถึงศักยภาพของแผนธุรกิจและถอยออกมา ผู้เข้าร่วมจะมีความเสียดายเงินลงทุนที่จมไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้เข้าร่วมเห็นคนอื่นๆยังคงลงทุนต่อไป ก็ยิ่งทำให้มั่นใจไปว่าการลงทุนต่อไปเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยังอธิบายว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมี พฤติกรรมการหลีกเลี่ยงความสูญเสีย (Loss aversion) การที่ไม่ได้รับเงินทุนคืนตามที่หวังจะยิ่งทำให้ผู้เข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงที่จะออกจากธุรกิจ เพราะกลัวว่าจะทำให้หมดโอกาสที่จะได้รับเงินที่ลงทุนคืนไปตลอดกาล ความกลัวนี้มีความรุนแรงจนทำให้ผู้เข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมหลงเชื่อว่าหากลงทุนเพิ่มอีกเล็กน้อยก็จะได้เงินทุนกลับคืนมา ด้วยกระบวนการคิดดังกล่าว ผู้เข้าร่วมจึงพยายามลงเงินทุนของตัวเองตลอดจนชักชวนคนอื่นมาลงทุนเพิ่ม ด้วยความหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนในอนาคตที่สูงเพียงพอที่จะคืนเงินทุนทั้งหมดที่ตนสูญเสียไปแล้วได้ในที่สุดผู้เข้าร่วมจึงติดอยู่ในวังวนกับดักของธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม
ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมเป็นธุรกิจที่ไม่มีผลิตภาพจริง เป็นการหลอกลวง ธุรกิจไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องล้มไปในที่สุดอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม จึงก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายทางเศรษฐกิจในหลายแง่มุม ทั้งต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงและต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ผลกระทบของธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมต่อเศรษฐกิจโดยสังเขปมีดังนี้
(1) การบิดเบือนตลาดและความไม่มีประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากร
ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม เป็นเพียงการนำเงินทุนมาหมุนเวียนกระจายใหม่โดยไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมจึงเปรียบเสมือนโครงการลงทุนที่ไม่มีผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่มีการสร้างการจ้างงาน (หรือมีก็น้อยมากโดยเปรียบเทียบกับมูลค่าของเงินทุน) และมีการสูญเสียทรัพยากรบางส่วนไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งหากตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการบิดเบือนตลาด ผู้คนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลตอบแทนและความเสี่ยง มีการวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล ย่อมไม่มีใครต้องการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมที่ผู้เข้าร่วมแทบทั้งหมดจะต้องประสบกับภาวะขาดทุน การดำรงอยู่ของธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมจึงสะท้อนถึงการบิดเบือนตลาดและความไม่มีประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องสูญเสียต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากการที่ทรัพยากรถูกนำไปใช้ในธุรกิจที่เป็นอันตราย แทนที่จะนำไปใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
(2) ผลกระทบต่อผู้เข้าร่วม
เมื่อธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมล่มสลาย ผู้เข้าร่วมพอนซี่สกีมและผู้เข้าร่วมที่อยู่ด้านล่างของพีระมิดจะสูญเสียเงินลงทุน เนื่องจากโครงสร้างของธุรกิจ จะใช้เงินจากผู้เข้าร่วมใหม่ไปจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เข้าร่วมรายแรก ๆ ผู้เข้าร่วมรายแรก ๆ จึงอาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงไปแล้วตอนที่ธุรกิจยังดำเนินการอยู่ เมื่อธุรกิจล้มลง ไม่มีผู้เข้าร่วมรายใหม่อีก ผู้เข้าร่วมรายหลัง ๆ จึงสูญเสียเงินลงทุนแทบจะทั้งหมด การศึกษาพบว่า ในธุรกิจพีระมิด ผู้เข้าร่วมอยู่ในอันดับต้น ๆ ของพีระมิดที่มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ได้รับกำไรจากการลงทุน คนส่วนใหญ่ที่อยู่ระดับล่างกว่าจะสูญเสียเงินที่ลงทุนไป
(3) ผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน
ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมเป็นการหลอกลวงผู้คน เพื่อให้ความมั่งคั่งของคนจำนวนมากถูกถ่ายโอนไปยังคนจำนวนเพียงเล็กน้อย การดำเนินงานของธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมจึงก่อให้เกิดผลกระทบทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่มากขึ้น ในประเทศที่พบว่าธุรกิจพีระมิดมีขนาดใหญ่ การล่มสลายของธุรกิจพีระมิดอาจจะสามารถทำให้ ความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรง จนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ เพราะตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ คนจนมีแนวโน้มการบริโภคส่วนเพิ่มที่สูงกว่าคนรวย การที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวในกลุ่มคนรวยมากขึ้น เป็นผลเสียต่อการกระจายรายได้ ทำให้อุปสงค์มวลรวมลดลง การบริโภคลดลง เป็นผลเสียหายต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสวัสดิการทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวม
(4) ผลกระทบต่อความไว้วางใจในระบบเศรษฐกิจ
ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมเป็นธุรกิจที่หาผลกำไรบนความไว้วางใจของผู้คน การล่มสลายของธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมอาจทำให้เกิดการพังทลายของความไว้วางใจในระบบเศรษฐกิจ ตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรื่องพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงความสูญเสีย ความเจ็บปวดที่ผู้คนได้รับจากการสูญเสียเงินจะมีความรุนแรงมากกว่าความสุขที่ผู้คนได้รับการได้เงินในมูลค่าเท่ากัน ผู้คนจึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียแบบที่เคยเจอในอดีตแม้ว่าจะต้องพลาดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้น หลังจากที่การล่มสลายของธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม ผู้เข้าร่วมจำนวนมากจะประสบกับการขาดทุนอย่างหนัก ความเจ็บปวดที่เกิดจากสูญเสียเงินลงทุนจะสร้างความเกลียดชังทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความหวาดระแวง กลัวการสูญเสียแบบเดียวกันอีกครั้ง จึงพยายามลดการใช้จ่ายและการลงทุนลงอย่างมากเพราะขาดความเชื่อมั่นในตลาด ความไม่เชื่อมั่นนี้จะลุกลามไปถึงธุรกิจอื่นๆที่ถูกกฎหมาย อาทิ ธุรกิจการตลาดแบบเป็นขั้น ธุรกิจการเงิน ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ดำเนินกิจการได้อย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น ขัดขวางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาอาศัยความเชื่อมั่น
ความท้าทายด้านนโยบายในการป้องกันและจัดการ
การแก้ไขปัญหาธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมถือเป็นความท้าทายด้านนโยบาย เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ มักจะมีการดำเนินงานรวมถึงการพัฒนารูปแบบใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบที่กำกับดูแล ความท้ายทายด้านนโยบายในการป้องกันและจัดการธุรกิจพีระมิดโดยสังเขปมีดังนี้
(1) การตรวจจับธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมให้ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น
การที่จะบ่งบอกว่ากิจการใดมีการทำธุรกิจแบบพีระมิดเป็นเรื่องยาก เนื่องจากธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมมักสร้างฉากบังหน้าให้การดำเนินงานดูเสมือนมีความคล้ายคลึงกับธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เช่น ธุรกิจพีระมิดมักซ่อนตัวให้ดูเสมือนการตลาดแบบเป็นขั้น ส่วนพอนซี่สกีมก็มักจะอ้างตัวว่าเป็นกองทุนที่รวบรวมเงินไปลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลกำไรทางเศรษฐกิจ การแยกแยะกิจการที่ทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมายเหล่านี้ออกจากธุรกิจพีระมิดจึงทำได้ยาก
ธุรกิจพีระมิดมักจะนำเสนอตัวเองเป็นธุรกิจการตลาดแบบเป็นขั้นซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย โดยให้ผู้เข้าร่วมได้รับคอมมิชชั่นจากทั้งยอดขายและยอดของผู้ที่ชักชวนมาร่วมธุรกิจได้ด้วย ข้อสำคัญที่แบ่งแยกธุรกิจพีระมิดออกจากธุรกิจการตลาดแบบเป็นขั้นที่ถูกกฎหมาย คือ ธุรกิจการตลาดแบบเป็นขั้นที่ถูกกฎหมายจะมุ่งเน้นที่การขายผลิตภัณฑ์จริง รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายสินค้า มิได้มาจากการชักชวนคนมาร่วมธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจพีระมิดโครงสร้างรายได้จะกลับกัน กล่าวคือ รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจพีระมิดจะมาจากการชักชวนคนมาร่วมธุรกิจ ในช่วงแรกที่ธุรกิจพีระมิดเริ่มดำเนินงาน โครงสร้างรายได้อาจจะยังไม่ชัดเจน มองไม่เห็นแหล่งที่มาของกำไร อีกทั้งธุรกิจพีระมิดมักจะใช้แผนการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้เข้าร่วมและผู้ชักชวนที่ซับซ้อน ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างภาพลวงว่ากิจการเน้นการขายสินค้า เป็นการยากที่ผู้คนทั่วไปและหน่วยงานกำกับดูแลจะสามารถระบุแหล่งรายได้ที่แน่นอนเพื่อเอาผิดกับกิจการที่ดำเนินธุรกิจแบบพีระมิด ด้วยเหตุนี้ การตรวจจับธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมให้ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นที่ความเสียหายยังไม่สูงมาก จึงเป็นความท้าทายในเชิงนโยบายอย่างยิ่ง นอกจากนี้การสร้างกฎระเบียบใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมยังทำได้ยาก เนื่องจากต้องระวังมิให้กฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ไปปิดกั้นขัดขวางการดำเนินธุรกิจอื่นที่ถูกกฎหมาย
(2) การสร้างความตระหนักรู้และความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน
เป็นความจริงว่าผู้คนจำนวนหนึ่งอาจจะเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดเพียงเพราะขาดความรู้ทางการเงินที่จำเป็นในการรับรู้ถึงอันตรายของการธุรกิจนี้ ทำให้ถูกหลอกลวงให้เข้าร่วมได้ง่ายกว่าผู้ที่มีความรู้ทางการเงิน แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมีความรู้ทางการเงินที่จำเป็นแล้ว การตัดสินใจของผู้คนยังได้รับอิทธิพลจากอคติทางพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ได้แก่ อคติทางอารมณ์และอคติเกี่ยวกับการรับรู้ ทำให้มีโอกาสที่จะพ่ายแพ้ต่อผลตอบแทนที่ดึงดูดใจที่ธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีมนำเสนอ ดังนั้น การดำเนินนโยบายด้านการตระหนักรู้ที่จะสามารถป้องกันและจัดการกับธุรกิจพีระมิดได้จะต้องไม่เพียงแต่ให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านจิตวิทยาตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนซี่สกีม การตระหนักรู้เท่าทันถึงอคติเชิงพฤติกรรมจะสามารถช่วยให้บุคคลสามารถควบคุมอารมณ์และสามารถตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น ลดโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจผิดกฎหมาย
บทสรุป
ธุรกิจพีรามิดและพอนซี่สกีมเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ดำเนินการโดยนำเงินจากผู้เข้าร่วมใหม่มาจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมรายก่อนหน้า ด้วยการให้ความหวังกับผู้เข้าร่วมใหม่ว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง ธุรกิจอาจมีการสร้างฉากบังหน้าให้ดูเสมือนว่าเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการตลาดแบบลำดับขั้นหรือกองทุนที่รวบรวมเงินมาลงทุนในโครงการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนจริง สาเหตุที่ทำให้คนเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนซีสกีม
นอกจากการขาดความรู้ทางการเงินที่จำเป็นแล้ว ปัจจัยทางจิตวิทยา ตามแนวทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ได้แก่ อคติเชิงอารมณ์และอคติเกี่ยวกับการรับรู้ มีบทบาทสำคัญทำให้ผู้เข้าร่วมตกหลุมพราง และตกอยู่ในวังวนของธุรกิจไม่ถอนตัวออกไป แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงเปิดเผยออกมา การตัดสินใจของผู้เข้าร่วมมีความไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นไปตามข้อสมมุติของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ธุรกิจพีรามิดและพอนซี่สกีมเป็นธุรกิจที่แทบไม่มีผลิตภาพเลย และจะล้มลงในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ธุรกิจเหล่านี้สร้างผลกระทบที่อันตรายต่อบุคคลและระบบเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายและกฎระเบียบเพื่อควบคุม ป้องกัน และจัดการกับธุรกิจพีรามิดและพอนซี่สกีมมีความท้าทายยิ่ง เพราะเป็นการยากที่จะตรวจจับธุรกิจพีรามิดและพอนซี่สกีมได้โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น อีกทั้งธุรกิจเหล่านี้มีการพัฒนารูปแบบเพื่อหลบเลี่ยงกฎระเบียบอยู่เสมอ การออกกฎระเบียบใหม่เพื่อป้องกันจึงต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ให้กฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นมา ไปปิดกั้นการดำเนินงานสร้างผลกระทบทางลบต่อธุรกิจถูกกฎหมาย การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันปัญหาธุรกิจพีรามิดและพอนซี่สกีม แม้กระนั้น การให้ความรู้ทางการเงินอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะกระบวนการตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจพีระมิดและพอนสกีมของบุคคล มักจะไม่ได้มาจากกระบวนการคิดอย่างสมเหตุสมผล แต่ถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยทางจิตวิทยาตามแนวทางของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจอย่างมีนัยสำคัญ
เอกสารอ้างอิง
Ariely, D., & Jones, S. (2012). The honest truth about dishonesty (Vol. 255). New York: HarperCollins. Becker, G. S. (1968). Crime and Punishment: An Economic Approach. The economic dimensions of crime. Springer.
Bosley, S. A., Bellemare, M. F., Umwali, L., & York, J. (2019). Decision-making and vulnerability in a pyramid scheme fraud. Journal of Behavioral and Experimental Economics, 80, 1-13.
Daniel, K. (2017). Thinking, fast and slow.
Daniel, K., Hirshleifer, D., & Subrahmanyam, A. (1998). Investor psychology and security market under-and overreactions. the Journal of Finance, 53(6), 1839-1885.
Hidajat, T., Primiana, I., Rahman, S., & Febrian, E. (2020). Why are people trapped in Ponzi and pyramid schemes?. Journal of Financial Crime, 28(1), 187-203.
Jarvis, C. (2000). The rise and fall of the pyramid schemes in Albania. IMF staff papers, 47(1), 1-29.
Valentine, A. (1998). Pyramid schemes. Presented at the International Monetary Fund seminar on current legal issues affecting central banks, Washington, DC.
Yaniv, G., & Siniver, E. (2016). The (honest) truth about rational dishonesty. Journal of Economic Psychology, 53, 131-140.