สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีหรือ “เกาหลีเหนือ” เป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก อันเนื่องมาจากภาพลักษณ์ของประเทศที่ประชาชนต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและถูกปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอก ในขณะเดียวกันผู้คนต่างก็รับรู้ความเคลื่อนไหวภายในเกาหลีเหนือได้ยากเช่นกัน หากกล่าวถึงเกาหลีเหนือประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นในแง่การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ การตอบโต้ระหว่างสองเกาหลีหรือการหลบหนีข้ามพรมแดนของผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือไปยังเกาหลีใต้ สำหรับผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า นอกเหนือจากประเด็นที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ความน่าสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับเกาหลีเหนือยังมีในแง่มุมอื่นด้วย คือ ประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนำไปสู่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจในรูปแบบตลาดจังมาดังและ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านมุมมองของผู้หญิงเกาหลีเหนือ
ทำไมผู้เขียนถึงให้ความสนใจกับการศึกษาเรื่องตลาดจังมาดังและผู้หญิงแทนที่จะเป็นผู้ชาย? คำถามนี้เริ่มต้นจากรูปแบบการปกครองสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือที่มีพื้นฐานอยู่บนอุดมการณ์จูเช่ (Juche Ideology) หรือ หลักการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ถูกพัฒนาขึ้นโดยคิมอิลซองและยังคงถูกถ่ายทอดต่อมาจนถึงรุ่นคิมจองอึนเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ โดยอุดมการณ์จูเช่ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์และสถานะของบุคคลในสังคม ตามกฎ“ซัมกังโอรยุน” (삼강오륜) ได้แก่ กฎระเบียบ 3 ประการ คือ ผู้ปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง บิดามีอำนาจเหนือบุตร และสามีมีอำนาจเหนือภรรยา และความสัมพันธ์ 5 ประการ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา บิดาและบุตร สามีและภรรยา พี่และน้อง และเพื่อนและเพื่อน จากความสัมพันธ์ทั้งห้าประการ พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยาได้กำหนดให้ฝ่ายสามี (ผู้ชาย) มีอำนาจสูงกว่าภรรยา (ผู้หญิง) และมี การกำหนดภาระหน้าที่ระหว่างเพศไว้อย่างชัดเจน คือ ภรรยามีหน้าที่ปรนนิบัติดูแลสามี ให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร รับผิดชอบงานบ้าน ส่วนผู้ชายมีหน้าที่ทำงานนอกบ้านและหาเลี้ยงครอบครัว (วิลาสินี พนานครทรัพย์, 2560) ส่งผลให้โครงสร้างสังคมเกาหลีเหนือขับเคลื่อนด้วยแนวคิดปิตาธิปไตยภายใต้ลัทธิขงจื๊อที่ยังคงฝังแน่นในสังคม พื้นที่ของผู้ชายในเกาหลีเหนือจึงมีขนาดใหญ่กว่าผู้หญิงโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ผู้เขียนจึงต้องการนำเสนอมุมมองสำหรับผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจังมาดังที่ได้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับผู้หญิงเกาหลีเหนือ
พื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาตามแนวคิดขงจื๊อได้ถูกหลอมรวมเข้ากับอุดมการณ์จูเช่ที่มีการรวบรวมศูนย์กลางอำนาจสูงสุดมาอยู่ที่ผู้นำเพียงคนเดียว จึงกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจเกาหลีเหนือในช่วงก่อนทศวรรษ 1990 หรือก่อนเกิดตลาดจังมาดังอยู่ในรูปแบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง (Planned economy) กิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ภายใต้การควบคุมจากภาครัฐ แม้กระทั่งชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนเกาหลีเหนือก็ต้องพึ่งพาระบบการจำหน่ายสาธารณะหรือ PDS (Public Distribution System) ของภาครัฐเพื่อรับการจัดสรรอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวัน (Yang, 2016)
จุดเปลี่ยนสำคัญของการเกิดตลาดจังมาดังในเวลาอันรวดเร็วเริ่มต้นจากวิกฤติขาดแคลนอาหารในช่วงทุพภิกขภัย (Arduous March) ครั้งใหญ่ในเกาหลีเหนือกลางทศวรรษ 1990 ส่งผลให้ระบบการจำหน่ายสาธารณะ (PDS) พังทลายลง ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารทำให้ประชาชนต้องพึ่งพาตลาดในการจัดหาอาหารในชีวิตประจำวัน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางการเมืองของผู้นำ คือ สมัยคิมจองอิลได้ประกาศใช้นโยบายการทหารมาก่อน (Military-first policy) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพเป็นอันดับแรกเปลี่ยนมาเป็นนโยบายบยองจิน (Byungjin policy) ในสมัยคิมจองอึนที่พัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนานระหว่างอาวุธนิวเคลียร์และเศรษฐกิจ การผ่อนคลายการควบคุมเศรษฐกิจของภาครัฐและให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจตลาดมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเพื่อ ความอยู่รอดของเกาหลีเหนือ
ภาพที่ 1 จุดสีเหลืองแทนตำแหน่งที่ตั้งของตลาดที่ถูกกฎหมายในเกาหลีเหนือ
ที่มา: Cha and Collins (2018)
ตลาดในเกาหลีเหนือแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ตลาดถูกกฎหมาย (ตลาดอย่างเป็นทางการ) หรือตลาดทั่วไปเป็นตลาดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล และตลาดผิดกฎหมาย (ตลาดไม่เป็นทางการ) โดยตลาดจังมาดังจัดอยู่ในประเภทตลาดกึ่งทางการหรือตลาดสีเทาที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยภาครัฐ ภาพรวมตลาด ถูกกฎหมายในเกาหลีเหนือทั่วประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากประมาณ 200 แห่งในปี ค.ศ. 2010 เพิ่มขึ้นเป็น 500 แห่ง ในปี ค.ศ. 2019 คาดว่ามีผู้ทำงานในตลาดประมาณ 1.1 ล้านคนทั่วประเทศ (Cha & Collins, 2018) หลังการล่มสลายของระบบ PDS ตลาดจังมาดังกลายเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารให้กับประชาชนและเป็นช่องทางการสร้างรายได้จำนวนมาก ตลาดได้กลายมาเป็น “พื้นที่สำหรับผู้หญิง” ทั้งในแง่ของการเป็นแม่ค้าและสินค้าที่ขายก็ตอบสนองความต้องการของผู้หญิง รวมถึงการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นหลังจาก การเกิดขึ้นของตลาดในเกาหลีเหนือ
ภาพที่ 2 ตัวอย่างทรงผมผู้หญิงเกาหลีเหนือที่ได้รับอนุญาต
ที่มา : Ko (2020)
ตลาดจังมาดังมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายประเภทตั้งแต่อาหาร สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู พัดลม ไปจนถึงสินค้าผิดกฎหมายที่แอบลักลอบมาจากพรมแดนจีนและเกาหลีใต้ ในบรรดาสินค้ายอดนิยมผิดกฎหมายสำหรับผู้หญิงเกาหลีเหนือคงจะหนีไม่พ้นเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และละครจากเกาหลีใต้ ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายรูปแบบใหม่สำหรับรัฐบาลเกาหลีเหนือ เนื่องจากสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์เสริม ความงามต่าง ๆ สำหรับผู้หญิงที่ถูกลักลอบนำเข้ามาในตลาดล้วนเป็นสินค้าของประเทศทุนนิยมอย่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าผิดกฎหมายในเกาหลีเหนือ การที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงสินค้าเหล่านี้ได้ อย่างเช่น ลิปสติก กางเกงยีนส์ ซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีใต้ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติด้านความงามของผู้หญิงเกาหลีเหนือจากเดิมที่ต้องแต่งกายตรงตามมาตรฐานของภาครัฐ (ภาพที่ 2) ผู้หญิงเกาหลีเหนือก็ได้ปรับเปลี่ยนการแต่งตัวให้เหมือนกับคนเกาหลีใต้มากขึ้น (Ko, 2020) อิทธิพลของ การเข้าถึงสื่อต่างประเทศยังส่งผลต่อทัศนคติของคนหนุ่มสาวรุ่นจังมาดังที่มีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อน คือ การแสดงความรักและการเดตไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ห้ามปฏิบัติในเกาหลีเหนืออีกต่อไป แต่กลายมาเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป และคนหนุ่มสาวจะออกเดตในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะแต่งงานกัน ซึ่งเหตุผลของการออกเดตและการแต่งงานเกิดจาก “ความรัก” มากกว่าการแต่งงานแบบคลุมถุงชนเหมือนรุ่นพ่อแม่
การเกิดขึ้นของตลาดจังมาดังนำมาสู่การเข้าร่วมในตลาดของผู้หญิงเกาหลีเหนือและเปลี่ยนสถานะจากแม่บ้านมาเป็นผู้ประกอบการในตลาด เนื่องจากแนวคิดขงจื๊อที่กำหนดบทบาทผู้หญิงต้องทำงานบ้านและเลี้ยงดูบุตร ทำให้ผู้หญิงมีความยืดหยุ่นในการจัดสรรเวลามากกว่าผู้ชายที่ทำงานให้กับภาครัฐ โดยผู้ประกอบการหญิงจะใช้ทักษะการเป็นแม่บ้านและสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการหญิงด้วยกันเอง (Jung et al., 2018; Tudor & Pearson, 2015) การทำงานในตลาดได้ส่งต่อชุดความคิดทุนนิยมและปัจเจกนิยมให้กับผู้หญิงด้วย เพราะว่าผู้หญิงสามารถหารายได้จากการทำงานในตลาดประมาณ 50,000-150,000 วอนเกาหลีเหนือต่อเดือนมากกว่าผู้ชายที่ทำงานให้กับภาครัฐที่ได้รับเงินเดือนประมาณ 2,000-6,000 วอนเกาหลีเหนือต่อเดือน ผู้หญิงจึงมองว่าผู้ชายเปรียบเสมือน “ไฟที่ปิดตลอดทั้งวัน” หมายถึง ผู้ชายไร้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว (CNBC, 2015) รายได้จากการทำงานในตลาดที่ค่อนข้างสูงส่งผลให้ผู้หญิงมีอิสระทางการเงินและเลือกที่จะครองโสดเพิ่มขึ้น หรือตัดสินใจแต่งงานกับผู้ชายที่มีความสามารถทางธุรกิจเพื่อที่จะสามารถสนับสนุนตนเองในการทำงานในตลาดได้
จากบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางเพศและบทบาทผู้หญิงในครัวเรือนก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อผู้หญิงได้กลายเป็นคนหารายได้หลักและเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้ผู้หญิงกล้าแสดงความคิดเห็นในครัวเรือน และอำนาจในการตัดสินใจในครัวเรือนของผู้หญิงก็เพิ่มขึ้น ผู้ชายหลายคนได้ปรับตัวให้เข้ากับบทบาททางเพศที่เปลี่ยนไปโดยมีส่วนร่วมในงานบ้านมากขึ้น ในบางกรณีผู้หญิงเรียกร้องให้สามีช่วยทำงานบ้าน แต่ในภาพรวมแล้วผู้หญิงก็ยังคงต้องทำงานนอกบ้านและรับผิดชอบหน้าที่ภายในบ้านพร้อมกัน กล่าวได้ว่าผู้หญิงในยุคจังมาดังต้องรับภาระหนักสองเท่าหลังแต่งงาน
การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดจังมาดังยังส่งผลต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงในสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ความนิยมมีลูกชายลดลงสวนทางกับความนิยมมีลูกสาวเพิ่มขึ้น เรียกกระแสนี้ว่า “daughter fever” ค่านิยมใหม่นี้เกิดจากบทบาทผู้หญิงมีความโดดเด่นในการหารายได้จากระบบเศรษฐกิจตลาด ทำให้ผู้หญิงนิยมมีลูกสาวมากกว่าลูกชายเพื่อให้ลูกสาวมาช่วยทำงานในตลาดได้ (Jung et al., 2018) อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของระบบตลาดกลับส่งผลให้เกิดเด็กไร้บ้าน (kotjebi) เนื่องจากหลายครอบครัวทั้งสามีและภรรยาต้องเอา ตัวรอดจากวิกฤติขาดแคลนอาหารและการล่มสลายของระบบ PDS จากสถานการณ์ดังกล่าวได้บีบบังคับให้สามีและภรรยาต้องช่วยกันทำงานหาเงิน ผู้หญิงบางส่วนต้องเดินทางไปค้าขายในตลาดต่างจังหวัดหรือตลาดบริเวณพรมแดนเป็นเวลานาน ด้วยโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนี้ทำให้เกิดการหย่าร้างขึ้น และเด็กจำนวนมากต้องถูกทอดทิ้งจากครอบครัว (Kim, 2014)
การเกิดขึ้นของตลาดจังมาดังตั้งแต่หลังทศวรรษ 1990 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและสังคมของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงเกาหลีเหนือที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตลาดได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ประกอบการในตลาด รวมถึงสินค้าที่ขายในตลาดจังมาดังได้ตอบสนองความต้องการของผู้หญิงมากขึ้น รวมถึงทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อแนวคิดทุนนิยมได้ส่งผลต่อความคิด การดำเนินชีวิตและบทบาทของผู้หญิงในครัวเรือน ทั้งในเรื่องการเดต การอยู่เป็นโสด การแต่งงานและ การหย่าร้าง บทบาทในครัวเรือนของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือ กระแสความต้องการมีบุตรสาวมากกว่าบุตรชาย (daughter fever) และการเพิ่มขึ้นของจำนวนเด็กไร้บ้าน แม้ว่า การเกิดขึ้นของตลาดจังมาดังจะสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทผู้หญิงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ในภาพรวมลัทธิขงจื๊อยังคงมีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางสังคมเกาหลีเหนือที่กำหนดบทบาททางเพศแบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตยอยู่
แหล่งอ้างอิง
วิลาสินี พนานครทรัพย์. (2560). พลวัตของครอบครัวและบทบาทผู้หญิงในสังคมเกาหลีใต้. ใน นภดล ชาติประเสริฐ (บรรณาธิการ), เกาหลีปัจจุบัน. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Cha, V., & Collins, L. (2018). The Markets: Private Economy and Capitalism in North Korea?. Beyond Parallel. https://beyondparallel.csis.org/markets-private-economy-capitalism-north-korea/
CNBC. (2015). In North Korea, men call the shots, women make the money. https://www.cnbc.com/2015/05/24/in-north-korea-men-call-the-shots-women-make-the-money.html
Jung, K. J., Dalton, B., & Willis, J. (2018). From patriarchal socialism to grassroots capitalism: The role of female entrepreneurs in the transition of North Korea. Women's Studies International Forum, 68, 19-27. https://doi.org/10.1016/j.wsif.2018.02.003
Kim, W. H. (2014). Women of North Korea: A closer look at everyday life. Institute for Unification Education
Ko, S. (2020). ‘Beauty is freedom’: The North Korean millennials wearing makeup to rebel against the state. CNN. https://edition.cnn.com/style/article/north-korea-womens-beauty-freedom/index.html
Tudor, D., & Pearson, J. (2015). North Korea Confidential: Private Markets, Fashion Trends, Prison Camps, Dissenters and Defectors. Tuttle Publishing.
Yang, M. S. (2016). North Korea's Planned Economy and Marketization. Ministry of Unification Institute for Unification Education.