กล่องสุ่มเริ่มต้นมาจากไหน

กล่องสุ่ม (Blind Box) หรือที่คนไทยมักเรียกว่า ‘กล่องจุ่ม’ เป็นสินค้าที่บรรจุผลิตภัณฑ์ไว้ภายในโดยที่ผู้ซื้อไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่าจะได้รับอะไร กล่องสุ่มนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นที่รู้จักกันในชื่อ Fukubukuro หรือถุงโชคดี (Lucky Bag) (Nuryakin, 2019) โดยปกติแล้วกล่องสุ่มจะประกอบด้วยสินค้าหลากหลายประเภทที่ถูกสุ่มเลือกใส่ในกล่อง ผู้บริโภคที่เลือกซื้อกล่องสุ่มจะได้สัมผัสกับความตื่นเต้นและความคาดหวังในการเปิดกล่องเพื่อดูว่าจะได้รับอะไร

สำหรับผู้ผลิต ต้นทุนเฉลี่ยของกล่องสุ่มจะถูกคำนวณจากมูลค่ารวมของสินค้าที่นำมาสุ่มบรรจุแล้วหารด้วยจำนวนกล่องสุ่มที่จัดจำหน่าย โดยที่มูลค่าของแต่ละกล่องอาจแตกต่างกันเล็กน้อย และมักจะมีกล่องที่มีรางวัลใหญ่เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า กลยุทธ์การใช้กล่องสุ่มจึงเป็นวิธีการเพิ่มยอดขายที่มีประสิทธิภาพสำหรับบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย (Multiproduct Firm) หรือพ่อค้าคนกลางที่มีสินค้าหลายประเภทในคลังสินค้า นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีการจัดการกับสินค้าที่เหลือค้างในสต็อกได้อย่างดี อีกทั้งยังมีการนำกลยุทธ์นี้มาใช้ในการตลาด Art Toys เพื่อขยายฐานผู้บริโภคและเพิ่มความนิยมให้กับสินค้าของตนเอง


ในส่วนของ Art Toys หรือที่รู้จักกันในชื่อ Designer Toys เป็นของเล่นหรือโมเดลสามมิติที่ถูกออกแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์และไม่เหมือนใคร ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมักผสมผสานระหว่างศิลปะและการ์ตูนได้อย่างลงตัว ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักถูกผลิตในจำนวนจำกัด ทำให้มีความพิเศษและมีคุณค่าสูงในหมู่นักสะสม (Kuntjara, 2021)

นอกจากนี้ ยังมีการปรับแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับรสนิยมเฉพาะกลุ่มของนักสะสมและผู้ที่หลงใหลในงานศิลปะ ทำให้ Art Toys เป็นมากกว่าของเล่นธรรมดา แม้ว่าจะไม่ได้มีฟังก์ชันหรือการใช้งานที่ซับซ้อน แต่ถือเป็นงานศิลปะที่สามารถสะท้อนตัวตนและความชื่นชอบของผู้ครอบครองได้อย่างดี

ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ Art Toys จัดเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรม (Cultural Goods) ที่คุณค่าไม่ได้มาจากวัสดุและแรงงานที่ใช้ในการสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดความหมาย ปลุกอารมณ์ และแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอีกด้วย แม้ว่าสินค้าเชิงวัฒนธรรมมักจะเป็นสินค้าที่ไม่มีตลาดที่ชัดเจน (Non-market Goods) แต่ Art Toys กลับถูกนำเข้าสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง ทำให้กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าสินค้าเชิงวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น ผลงานศิลปะ

การเข้าถึงที่มากขึ้นนี้เกิดจากความสามารถของ Art Toys ในการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักสะสม นักลงทุน หรือผู้ที่ชื่นชอบศิลปะร่วมสมัย ซึ่งสามารถซื้อหา Art Toys ได้ในราคาที่หลากหลายตามความต้องการและความพึงพอใจ ความสามารถในการผลิตซ้ำและการปรับแต่งยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของ Art Toys และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างยืดหยุ่น

ในช่วงยุค 2020s การผสมผสานระหว่าง ‘กล่องสุ่ม’ และ ‘Art Toys’ ได้สร้างรูปแบบการตลาดใหม่ที่น่าสนใจขึ้น โดยผู้ผลิตและค่ายของเล่นออกตัวละครในรูปแบบเซตของสะสม (Collection) ซึ่งแต่ละเซตมักมีเรื่องราวที่สรรค์สร้างโดยศิลปินชื่อดังตามลักษณะของความเป็น Art Toys แต่ถูกนำมาเสนอขายในรูปแบบของกล่องสุ่ม ทำให้นักสะสมไม่ทราบว่าจะได้สินค้าชิ้นใดในเซตของสะสมจนกว่าจะเปิดออกดู

อย่างไรก็ตาม นักสะสมมีทางเลือกที่จะสามารถเลือกซื้อทั้งเซตเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนก็ได้ การผสมผสานกลยุทธ์การตลาดระหว่าง ‘กล่องสุ่ม’ และ ‘Art Toys’ ส่งผลให้เกิดประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจหลายประการ ได้แก่ ประการที่ 1 ตลาดกล่องสุ่ม Art Toys มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย ประการที่ 2 การเกิดตลาดรอง (Secondary Market) ขนาดใหญ่สำหรับการซื้อขายกล่องสุ่ม Art Toys และประการที่ 3 การเพิ่มขึ้นของราคา Art Toys ประเภทกล่องสุ่มและผลกระทบต่อสวัสดิการผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาด Resale ที่พ่อค้าคนกลางนำสินค้าจากผู้ผลิตมาขายต่อในราคาที่สูงมาก ซึ่งจะกล่าวถึงในเนื้อหาส่วนต่อไป

การเติบโตของตลาดกล่องสุ่ม Art Toys ในประเทศไทย

ตลาด Art Toys จัดอยู่ในประเภทตลาดแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) ซึ่งเป็นโครงสร้างตลาดที่มีผู้ขายหลายรายที่นำเสนอสินค้าที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างเล็กน้อยในด้านคุณลักษณะ รูปแบบ หรือการออกแบบ ความแตกต่างเหล่านี้มักเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าแต่ละชิ้นตามรสนิยมส่วนตัวหรือความชื่นชอบเฉพาะบุคคล แม้ว่าผู้ผลิต Art Toys จะมีจำนวนมาก แต่แต่ละรายสามารถสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีต่อตัวเองได้ นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดนี้ยังส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการออกแบบที่หลากหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยรวม

การเติบโตของตลาดนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งในปัจจุบันไม่เพียงแต่ให้ความสนใจในของเล่นที่เป็นมากกว่าของเล่นธรรมดา แต่ยังให้คุณค่ากับความสวยงาม ศิลปะ และความแปลกใหม่ที่สะท้อนถึงตัวตนของผู้บริโภคเอง ความนิยมใน Art Toys ได้รับการกระตุ้นอย่างมากจากสื่อสังคมออนไลน์และกลุ่มผู้สะสมที่ก่อตั้งชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ทำให้การสะสม Art Toys กลายเป็นกระแสนิยมที่แพร่หลาย

เรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของ Yu (2022) และ Huo (2024) ที่ชี้ให้เห็นว่ากลยุทธ์การขายที่สร้างสรรค์ การออกแบบที่สะดุดตา และการเน้นความพึงพอใจทางอารมณ์ของผู้บริโภคมีบทบาทสำคัญในการสร้างการเติบโตและความนิยมในตลาดนี้ บางครั้งการสนับสนุนหรือโพสต์ของบุคคลที่มีอิทธิพลในสังคมก็สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาและความต้องการของ Art Toys เช่น กรณีที่สินค้าบางชิ้นสามารถเพิ่มราคาขึ้นได้ถึงสามเท่าภายในชั่วข้ามคืนเมื่อได้รับการพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์

การเติบโตของตลาด Art Toys ทั่วโลกเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงในไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบในสินค้าประเภทของสะสม ซึ่งคาดว่ามูลค่าของตลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2030 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศไทยกำลังกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด เห็นได้จากการเปิดตัวสาขาของร้านค้าเฉพาะทางในประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยร้าน Popmart สาขาแรกที่ CentralWorld เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2023 ตามมาด้วยการเปิดสาขาเพิ่มอีกหลายแห่งภายในเวลาไม่ถึงปี รวมถึงที่ Terminal 21 Asok, Siam Center, Central Ladprao, Fashion Island, และ Megabangna

นอกจากนั้น ยังมีผู้ผลิตอื่นและตัวแทนจำหน่ายนำเข้าสินค้ากล่องสุ่ม Art Toys เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ความเร็วในการขยายตัวนี้สะท้อนถึงความพร้อมของผู้บริโภคชาวไทยในการลงทุนในสินค้าที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง นอกจากนี้ การเติบโตของตลาดกล่องสุ่ม Art Toys ยังมีส่วนส่งเสริมธุรกิจอื่น ๆ เช่น ร้านค้าเฉพาะทาง งานแสดงสินค้า และอีเวนต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ตลาดรองกล่องสุ่ม Art Toys

ในประเทศไทย นักสะสมหรือผู้บริโภคกล่องสุ่ม Art Toys มีช่องทางการซื้อสินค้าที่หลากหลาย ช่องทางที่ดีที่สุดที่การันตีทั้งราคาและคุณภาพของสินค้าว่าเป็นของแท้คือซื้อจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยโดยตรง อีกทางเลือกหนึ่งคือการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการสั่งซื้อทางออนไลน์หรือซื้อจากร้านค้าต่างประเทศโดยตรง ในกรณีนี้ผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าขนส่ง ภาษีศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากช่องทางใดก็ตาม การเปิดกล่องสุ่ม Art Toys ของนักสะสมแต่ละคนมักมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น นักสะสมที่ต้องการสะสมทั้งเซตของสะสม นักสะสมที่ต้องการเฉพาะบางรูปแบบที่ต้องการในเซต หรือผู้ที่พยายามหาสินค้ารูปแบบพิเศษหายาก (Rare หรือ Secret Item) ทำให้การสุ่มซื้อมีโอกาสที่นักสะสมจะได้สินค้าซ้ำและต้องการนำมาขายหมุนเวียนหาทุนในการสะสมต่อไป ซึ่งในกระบวนการนี้ นักสะสมหลายคนเลือกใช้วิธีการเช็คการ์ดเพื่อตรวจสอบรูปแบบของสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อขายในตลาดรอง


ผู้ผลิตสินค้าประเภทกล่องสุ่ม Art Toys มักบรรจุสินค้าภายในถุงที่ปิดผนึกอย่างแน่นหนา โดยมีการ์ดระบุรูปแบบของสินค้าแนบอยู่ในถุง เพื่อให้นักสะสมสามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าภายในถุงเป็นรูปแบบใดโดยไม่ต้องเปิดถุงออกมา การตรวจสอบรูปแบบสินค้าผ่านการ์ดนี้เรียกว่า "การเช็คการ์ด" การที่นักสะสมสามารถรู้ได้ว่าสินค้าในถุงเป็นรูปแบบใดโดยไม่ต้องเปิดกล่องนั้น ทำให้เกิดการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านตลาดรองอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนักสะสมสามารถหาสินค้าที่ต้องการได้ง่ายขึ้นและลดความเสี่ยงในการได้รับสินค้าที่ไม่ต้องการ การเติบโตของการซื้อขายในลักษณะเช็คการ์ดนี้ได้ช่วยกระตุ้นให้ตลาดรองกล่องสุ่ม Art Toys มีความน่าสนใจและคึกคักมากขึ้น ทำให้ตลาดนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ในบริบทของกล่องสุ่ม Art Toys ตลาดรอง หรือ Secondary Market คือ พื้นที่ที่นักสะสมสามารถนำสินค้าที่ได้รับจากการสุ่มมาแลกเปลี่ยนหรือขายต่อให้กับนักสะสมรายอื่นที่กำลังตามหาสินค้าชิ้นเฉพาะ เห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของตลาดรองนี้มีพื้นฐานมาจากความไม่แน่นอนและความหลากหลายของสินค้าที่นักสะสมได้รับจากการซื้อกล่องสุ่ม ความไม่แน่นอนนี้สร้างความสนใจและกระตุ้นให้ลูกค้าพยายามแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้อื่นเพื่อให้ได้สินค้าที่ต้องการ

ผลการวิจัยโดย Qi et al. (2024) แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเลียนแบบ (herd behavior) ภายในชุมชนออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความตั้งใจในการซื้อซ้ำและการแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดรอง การที่ผู้บริโภคได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมของผู้อื่นในชุมชนออนไลน์นำไปสู่การเพิ่มความต้องการสินค้ากล่องสุ่มในตลาดรองอย่างมีนัยสำคัญและนำไปสู่รูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เฉพาะของตลาดกล่องสุ่ม Art Toys นอกจากนี้ Feng et al. (2022) ได้วิเคราะห์ผลกระทบของตลาดรองที่มีต่อธุรกิจกล่องสุ่ม Art Toys ไว้ในสองด้านหลัก ได้แก่

1.ผลกระทบการเติบโต (Growth Effect): ตลาดรองสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าระหว่างนักสะสม ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินค้าที่มากขึ้น ส่งผลให้สวัสดิการทางสังคมเติบโต (Social Welfare) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบนี้จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดเมื่อมีปริมาณการขายสินค้าที่สูง เนื่องจากสินค้าจะถูกกระจายไปยังนักสะสมที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.ผลกระทบความไม่สอดคล้อง (Incompatibility Effect): ในทางกลับกัน ผลกระทบความไม่สอดคล้องเกิดขึ้นเมื่อผลประโยชน์ของผู้ผลิตและนักสะสมไม่ตรงกัน ซึ่งอาจทำให้กำไรของบริษัทลดลง เนื่องจากนักสะสมอาจเลือกแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านตลาดรองแทนการซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง ผลกระทบนี้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อโอกาสที่จะได้รับสินค้ารูปแบบที่ต้องการมีน้อย ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพิ่มเติมจากการขายได้อย่างเต็มที่

จากที่กล่าว ตลาดรองได้รับแรงผลักดันจากลักษณะของกล่องสุ่ม Art Toys ที่เป็นเซตสะสมที่ส่งเสริมการสะสมสินค้าครบชุด รวมถึงความต้องการสินค้ารูปแบบพิเศษหายากที่อยู่ในเซตสะสมด้วย ความต้องการสะสมให้ครบเซตในลักษณะเช่นนี้ทำให้นักสะสมต้องมองหาสินค้าที่พลาดจากการสุ่มจากการมีส่วนร่วมซื้อขายในตลาดรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดรองยังทำหน้าที่เป็นคู่แข่งกับบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายกล่องสุ่ม เนื่องจากนักสะสมอาจเลือกซื้อน้อยลงจากตลาดแรกหากรู้ว่ามีโอกาสแลกเปลี่ยนหรือซื้อสินค้าที่ต้องการได้ในตลาดรองนั่นเอง

สวัสดิการและการติดดอยกับ Art Toys

การซื้อ Art Toys โดยเฉพาะในกรณีของ Pop Mart ได้กลายเป็นความท้าทายของนักสะสมไทยมากขึ้น เนื่องจากจำนวนสินค้าที่จำกัดและระบบการขายที่ซับซ้อน ไม่ใช่แค่การเดินเข้าไปในร้านแล้วสามารถซื้อสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนั้นได้ จากความต้องการที่สูงประกอบกับอุปทานที่จำกัดนี้ ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้ซอฟต์แวร์หรือแอพลิเคชันในกระบวนการจองสิทธิ์ในการซื้อผ่านทั้งทางหน้าร้านและออนไลน์ แต่ทว่าระบบซอฟต์แวร์ที่บริษัทใช้ในการจองกลับทำให้นักสะสมทั่วไปรู้สึกว่าเข้าถึงสินค้าได้ยากและสินค้าเหล่านั้นตกอยู่ในมือของของพ่อค้าคนกลาง อย่างไรก็ตาม ชี้ให้เห็นว่าการขาดตลาดของสินค้าเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องเกิดจากความต้องการกล่องสุ่ม Art Toys ยังมีอยู่มากมาย


ในประเทศไทย นักสะสมที่ต้องการซื้อ Art Toys มีการซื้อสินค้าจากพ่อค้าคนกลางสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่ พ่อค้าคนกลางที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าภายในประเทศ หรือผ่านช่องทางออนไลน์ และพ่อค้าคนกลางที่ซื้อสินค้านำเข้าจากพ่อค้าชาวจีนอีกทีหนึ่ง ในกรณีแรก พ่อค้าคนกลางชาวไทยที่สามารถเข้าถึงสินค้าจากร้านค้าภายในประเทศหรือจากการจองสิทธิ์ซื้อทางออนไลน์จะนำสินค้ามาจำหน่ายต่อในราคาตลาด ส่วนในกรณีที่สอง พ่อค้าชาวไทยที่ซื้อสินค้าจากพ่อค้าชาวจีนมักต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาหน้าร้านค้า แล้วนำมาขายต่อในประเทศไทยในราคาตลาด

เมื่อทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสวัสดิการในปรากฏการณ์เหล่านี้ นักสะสมหรือผู้บริโภคหน่วยสุดท้ายมีส่วนเกินผู้บริโภค (Consumer Surplus) ที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ในกรณีนักสะสมซื้อสินค้าจากพ่อค้าที่ได้สินค้าจากร้านผู้ผลิตโดยตรง สวัสดิการจากนักสะสมจะถูกโอนย้ายไปสู่พ่อค้าคนกลางชาวไทย ซึ่งพ่อค้าแม่ค้า resale ไทนสามารถสร้างกำไรได้พอสมควรตามกระแสความนิยมของสินค้าในขณะนั้น แต่ในกรณีที่นักสะสมซื้อสินค้าจากพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อต่อมาจากพ่อค้า resale ชาวจีน สวัสดิการของนักสะสมจะถูกถ่ายโอนออกไปยังพ่อค้าคนกลางชาวจีน และทำให้พ่อค้าชาวไทยได้รับกำไรส่วนต่างเพียงเล็กน้อย ซึ่งทั้งสองกรณี นักสะสมชาวไทยต้องจ่ายในราคาที่เท่ากับราคาที่เต็มใจจะจ่าย (Reservation Price) ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของสินค้าและทำให้มีส่วนเกินผู้บริโภคเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สถานการณ์นี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อ Art Toys บางประเภทถูกกล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์โดยบุคคลที่มีชื่อเสียง ส่งผลให้เกิดความนิยมในตัวสินค้านั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก และทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการที่พุ่งสูงนี้ทำให้สต็อกสินค้าลดลงอย่างรวดเร็วและไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดไทย แม้ว่าบริษัทจะพยายามเพิ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยระบบการกระจายสินค้าที่ไม่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างทั่วถึงและผนวกกับการกักตุนสินค้าของพ่อค้าคนกลาง สินค้าจึงยังคงมีปริมาณที่จำกัดและถูกขายในราคาที่สูงมากและเป็นระยะเวลานาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมในสินค้า Art Toys เริ่มลดลงตามธรรมชาติ เนื่องจากตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และบริษัทเองก็ปล่อยสินค้ารุ่นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดความสนใจของนักสะสม ด้วยเหตุนี้ ความสนใจที่เคยมีต่อสินค้ารุ่นเก่าจึงกระจายไปยังสินค้ารุ่นใหม่ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าที่อยู่ในไลน์เดียวกันเริ่มลดลง แม้ว่าในช่วงที่ตลาดกำลังอยู่ในขาขึ้น นักสะสมหลายคนอาจได้ซื้อสินค้าด้วยราคาที่สูงมาก ทำให้สูญเสียส่วนเกินผู้บริโภค (Consumer Surplus) ไปอย่างมาก แต่เมื่อความนิยมในสินค้ารุ่นเก่าลดลง ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีสต็อกน้อยจากบริษัทก็ยังคงถูกกักตุนโดยพ่อค้าคนกลางที่ยังคงควบคุมตลาดอยู่

สุดท้ายนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาก คือ นักสะสมตัวจริงและพ่อค้าคนกลางชาวไทยที่ซื้อตุนสินค้าจากพ่อค้าชาวจีนในช่วงที่ตลาดกำลังอยู่ในขาขึ้น และตอนนี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ "ติดดอย" เนื่องจากไม่สามารถขายสินค้าได้ในราคาสูงอีกต่อไป นักสะสมที่ซื้อสินค้าในช่วงที่ราคาสูงก็ต้องเผชิญกับการสูญเสียส่วนเกินผู้บริโภคที่เคยมีอยู่ พ่อค้าที่รับสินค้ามาที่ราคา resale และมีการกักตุนไว้กลับกลายเป็นภาระ เนื่องจากความนิยมได้หายไปและราคาสินค้าลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถขายได้ในราคาที่ต้องการหรืออาจต้องขายในราคาที่ต่ำลง

สรุป

การเติบโตของตลาดกล่องสุ่ม Art Toys ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาด Art Toys ให้มีความหลากหลายและเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการผสมผสานระหว่างศิลปะและกลยุทธ์การตลาดที่สร้างสรรค์ ผู้ผลิตได้ใช้กลยุทธ์กล่องสุ่มเพื่อเพิ่มความน่าสนใจของสินค้าและกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภค การเติบโตนี้ยังนำไปสู่การขยายตัวของตลาดรองที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าในเซตสะสมที่หายาก ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของตลาดรองยังทำให้เกิดผลกระทบต่อสวัสดิการผู้บริโภคที่ต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของสินค้า แม้ตลาดนี้จะมีความท้าทายและความเสี่ยง เช่น ความไม่แน่นอนในการได้สินค้าที่ต้องการ แต่ก็เป็นการยืนยันถึงความสำคัญและอิทธิพลของตลาดกล่องสุ่ม Art Toys ในปัจจุบัน

เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียดและครอบคลุมยิ่งขึ้น ควรมีการศึกษาวิจัยเชิงลึกแบบไดนามิกเกี่ยวกับตลาดกล่องสุ่ม Art Toys โดยเฉพาะการวิเคราะห์เชิงโครงสร้างของตลาดหลักและตลาดรอง ควรศึกษาบทบาทของชุมชนออนไลน์และผลกระทบต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค รวมถึงวิเคราะห์ความยั่งยืนในระยะยาวของตลาดในบริบทของเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การศึกษานี้จะช่วยให้เข้าใจถึงความซับซ้อนและความท้าทายของตลาดนี้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการบริหารจัดการที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง

Feng, Yinbo and Sun, Chenxi and Yang, Chaolin, The Impact of Secondary Markets on Selling Blind Boxes with Set Bonuses (November 15, 2022). Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=4284733 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.4284733

HTF Market Intelligence. (2024). Art Toys Market - Global Trend and Outlook to 2030. Retrieved from HTF Market Intelligence or https://www.htfmarketintelligence.com/report/global-art-toy-market

Huo, Y. (2024). Standing out in a fashion brand competition: Potential analysis of Pop Mart. Journal of Education, Humanities and Social Sciences, 30, 105-110. https://doi.org/10.54097/q5jxt520

Kuntjara, A. P. (2021). Art toy as a tool for engaging the global public on the city of Surabaya. Creative Industries Journal. https://doi.org/10.1080/17510694.2021.1912536

Nuryakin, C., & Munro, A. (2019). Experiments on lotteries for shrouded and bundled goods: Investigating the economics of fukubukuro. The Japanese Economic Review, 70(2), 168-188. https://doi.org/10.1111/jere.12194

Qi, A., Sudtasan, T., Kewprasopsak, T., & Suriya, K. (2024). The impact of online community on blind box repurchase intention. RSEP International Multidisciplinary Conference, 27-35. https://doi.org/10.19275/RSEPCONFERENCES289

Yu, J. (2022). Study on the path of shaping the visual image of "POP MART" blind box. Highlights in Art and Design, 1(3), 115-119. https://doi.org/10.54097/hiaad.v1i3.4056

ปิยะวงศ์ ปัญจะเทวคุปต์
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์