อ่าน The Communist Manifesto: สะท้อนชีวิต ความฝัน และความหวัง ในระบบทุนนิยม

620 views

ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น

คุณเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ประวัติศาสตร์มนุษย์ คือ ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น” หรือไม่ คุณเห็นด้วยด้วยกับคำกล่าวนี้มากเพียงใด หากคุณนึกถึงประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับหลักสูตรที่เคยเรียนมา คุณอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะบทเรียนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนนั้นได้ฉายภาพความปรองดองของคนในสิ่งที่เรียกว่า “ชาติ” เดียวกันกับความเป็นชาติอื่น ซึ่งไม่ได้แสดงให้เห็นถึงชนชั้นแม้แต่น้อย หรือหากศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจผ่านข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค คุณอาจเห็นความสัมพันธ์ กลมกลืนกันของภาคต่าง ๆ เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางชนชั้น

คำกล่าวข้างต้นปรากฏอยู่ตอนต้นบทแรกของหนังสือ “The Communist Manifesto” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้ว โดย Karl Marx และ Friedrich Engels สหายผู้มีอุดมการณ์ร่วมกันกับเขา แถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์นี้เกิดขึ้นในบริบทการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป ที่ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยี การขยายตลาด หรืออำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐชาติต่าง ๆ ทว่าผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นก็ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคน เปลี่ยนจากการทำเกษตรกรรม หัตถกรรม เป็นอุตสาหกรรม

การเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมนี้ทำให้คนอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในเมือง จนเกิดความแออัด เกิดมลพิษ คนงานเสียสุขภาพ ทั้งยังมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ จนเกิดการรวมตัวของมวลชนเพื่อปฏิวัติขึ้นในหลายที่ในปี 1848 Marx และ Engels มองพลวัตสังคมในสมัยนั้นว่าเกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างสองชนชั้น คือ ชนชั้นนายทุน (Bourgeois) ผู้เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้ค่าจ้าง กับชนชั้นกรรมาชีพ (Proletarians) ผู้ที่ถูกจ้างมาทำงานสร้างผลผลิตให้กับนายทุนเพื่อแลกกับค่าจ้างประทังชีวิตไปในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางชนชั้นไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางชนชั้นทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็น Patrician กับ Plebian ในสมัยโรมัน หรือ Lord กับ Vassal ในยุคกลาง การเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นสามารถอธิบายได้โดยวิถีการผลิต(Modes of production) อันประกอบด้วย ความสัมพันธ์ในการผลิต (Relations of production) และเทคนิคในการผลิต (Techniques of production)

ดังนั้น การเกิดขึ้นของชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานในบริบทของ The Communist Manifesto จึงเกิดจากการทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง Lord กับ Vassal แบบเดิม กลายมาเป็นแรงงานเสรี (Free labour) ไปพร้อม ๆ กับกลุ่มพ่อค้า หรือชนชั้นกลาง ความสัมพันธ์แบบใหม่นี้ได้ก่อให้เกิดระบบ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (Private Property) และการแข่งขันเสรี (Free Competition) อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของทุนนิยม ซึ่งช่วยขยายตลาด การผลิต และอำนาจของชนชั้นกลางเป็นอย่างมาก

ชนชั้นกลางนี้เองที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและจ้างแรงงานมาทำงานให้ตน โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นกำไรที่จะนำมาลงทุนต่อ และสะสมเป็นทุน จนชนชั้นกลางเหล่านี้พัฒนาไปเป็นเจ้าของโรงงาน เจ้าของอุตสาหกรรม เจ้าของธุรกิจ หรือชนชั้นนายทุน ในขณะที่แรงงานได้ค่าจ้างตอบแทนเพียงแค่พอเลี้ยงชีพ

นอกจากนี้ การแข่งขันเพื่อขยายตลาดระหว่างนายทุนด้วยกันเองเป็นแรงจูงใจให้เหล่านายทุนใช้วิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา นายทุนที่ผลิตได้มีประสิทธิภาพกว่าจะได้กำไรมากกว่า และสามารถบีบคู่แข่งออกจากตลาด นำไปสู่การผูกขาดในอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันนายทุนก็พยายามหาวิธีขูดรีดผลิตภาพจากแรงงาน ทั้งการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน การแบ่งงานกันทำ (Division of labour) ทำให้แรงงานต้องทำงานซ้ำซากจำเจ และทำงานหนักจนเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต ยิ่งไปกว่านั้น นายทุนยังพยายามใช้เครื่องจักรมาแทนคนในการผลิต ทำให้แรงงานบางส่วนว่างงาน ไม่มีค่าจ้างมาเลี้ยงชีพ

สังคมทุนนิยมตามที่ได้บรรยายไว้ในหนังสือ The Communist Manifesto จึงประกอบไปด้วยชนชั้นนายทุนที่ครอบครองทุน ปัจจัยการผลิต และความมั่งคั่ง มีอำนาจผูกขาดเศรษฐกิจ กับชนชั้นแรงงานที่เป็นลูกจ้าง ต้องทำงานหนัก ถูกขูดรีดแรงงาน แลกกับค่าจ้างเลี้ยงชีพ ไม่เพียงเท่านั้น แรงงานยังจำต้องอยู่ในสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย การเกิดชนชั้นที่เป็นขั้วตรงข้ามกันเช่นนี้ ทำให้เกิดสำนึกทางชนชั้นของผู้ที่ถูกกดขี่ (ชนชั้นแรงงาน) เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

เกือบสองร้อยปีที่ The Communist Manifesto ถูกเขียนขึ้นมา ระบบทุนนิยมไม่เพียงแต่ยังคงอยู่เท่านั้นแต่ยังฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน การต่อสู้ทางชนชั้นก็มิได้หายไป เพียงแต่ถูกเปลี่ยนรูปใหม่ และชนชั้นผู้ถูกกดขี่ยังคงถูกชนชั้นนายทุนลดทอนอำนาจโดยใช้ปีศาจที่ชื่อว่า ‘เสรีนิยมใหม่’ ที่พยายามลดทอนบทบาทของรัฐลง เพิ่มบทบาทของตลาดเสรีและใช้กลไกราคาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทว่าความเป็นปัจเจกในแนวคิดดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้นายทุนกอบโกยกำไร หรือกล่าวได้ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอานั่นเอง แม้จะอ้างว่าเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน แต่ทุกการแข่งขันย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะ เช่นเดียวกันกับในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่แม้จะมีการแข่งขัน แต่การแข่งขันนั้นก็นำไปสู่การกระจุกตัวของทุน ท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นที่รู้กันว่าตราบใดที่ระบบทุนนิยมยังอยู่ ความเหลื่อมล้ำและระบบชนชั้นย่อมไม่สูญสลาย นับว่าเป็นวงจรอุบาทว์ที่ชนชั้นนายทุนได้สร้างขึ้น ให้ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถมีอำนาจต่อรองกับตนเองได้ เพียงแต่ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมต่อไป

ความโหดร้ายของทุนนิยมในปัจจุบันปรากฏชัดอยู่ในรูปของความเหลื่อมล้ำ ทั้งความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้และทรัพย์สิน ชนชั้นนายทุนยังคงพยายามที่จะขูดรีดแรงงานและสร้างผลกำไรสูงสุดให้กับตนเอง และนำผลกำไรนั้นมาเป็นทุนต่อ ในเมื่อทรัพยากรในโลกนี้มีอยู่จำกัด การที่คนใดคนหนึ่งมีทรัพยากรเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมใช้ทรัพยากรได้น้อยลง หมายความว่าหากการสะสมทุนของเหล่านายทุนเพิ่มขึ้นนั้นย่อมทำให้ชนชั้นแรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง

ในหนึ่งช่วงชีวิตของมนุษย์เราเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของทุนนิยม ความโหดร้ายอย่างหนึ่งของทุนนิยมคือการทำให้มนุษย์เรากลัว กลัวที่จะใช้ชีวิตตามเจตจำนงของตนเอง สังคมทุนนิยมบีบบังคับให้เราต้องทำงานตลอดเวลา ทำงานเพื่อความอยู่รอด และทำงานให้หนักขึ้นอีกเพื่อจะมีชีวิตเหนือความจนขึ้นมาอีกระดับ จนเกิดวาทกรรม “work hard to survive”

ความพยายามที่จะอยู่รอดนี้สำหรับชนชั้นกลางระดับล่าง อาจจะหมายถึงการพยายามรักษาความฝันไว้ แต่สำหรับคนจนแล้วนั้นเรื่องความฝันเป็นเรื่องที่ดูจะไกลจากจินตนาการของพวกเขา พวกเขารู้เพียงว่าวันนี้ต้องเอาตัวให้รอด เดือนนี้ต้องอยู่รอด ไม่ใช่คนจนไม่มีความฝัน แต่พวกเขาไม่กล้าที่จะฝันท่ามกลางความเลวร้ายของทุนนิยมต่างหาก

ปัญหาที่นายทุนกำลังเผชิญในโลกปัจจุบัน

ปัญหาที่ทั่วโลกหรืออาจจะบอกว่าปัญหาที่นายทุนกำลังเผชิญคือ อัตราการเกิดที่ลดลง การที่ชนชั้นแรงงานไม่สามารถ ‘ผลิตลูก’ ได้นั้นเปรียบเสมือนฝันร้ายของเหล่านายทุน เพราะหมายความว่ากำลังขาดแรงงานที่จะสามารถขูดรีดเพื่อสร้างผลกำไรให้ตนได้ แต่หากมองในมุมของชนชั้นแรงงานก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าสาเหตุที่ทำให้คนมีลูกน้อยลงเป็นเพราะทุกอย่างมีต้นทุน

เรามักจะเห็นข่าวที่น่าสะเทือนใจอยู่บ่อยครั้ง ข่าวแม่ขโมยนมผงให้ลูก หรือข่าวที่เด็กนักเรียนต้องออกจากระบบการศึกษามาทำงานช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางบ้าน เหตุการณ์เหล่านี้ได้นำไปสู่ข้อถกเถียงทางสังคมว่าควร ‘มีลูกเมื่อพร้อม’ กล่าวคือ ต้องพร้อมทั้งด้านการศึกษา ทั้งความตั้งใจที่จะมีลูกของผู้เป็นพ่อแม่ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือความพร้อมด้านฐานะทางการเงิน นั่นหมายความว่าถ้าไม่มีเงินที่มากพอก็จะไม่สามารถเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยฉพาะในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ รัฐไม่ได้โอบอุ้มคนจน ไม่ได้สนับสนุนสวัสดิการแม่และเด็ก สภาพสังคมในระบบทุนนิยมทำให้คนเกิดความกลัวที่จะมีลูก หรือไม่สามารถรับประกันได้ว่ามีลูกแล้วจะสามารถเลี้ยงดูได้ เราจึงแก้ปัญหาโดยการไม่มีลูก

เมื่อย่างเข้าสู่วัยเรียน เสมือนเป็นสนามจำลองที่ฝึกซ้อมการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ภายใต้สังคมทุนนิยม ในช่วงวัยนี้เองที่เด็กจะเริ่มรู้จักการแข่งขัน ตั้งแต่การสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ทำให้การเรียนพิเศษที่เมื่อก่อนดูจะเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่เข้าใจบทเรียนกลับกลายมาเป็นว่าสถาบันกวดวิชามีความจำเป็นมากกว่าโรงเรียนเสียอีก ด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงถูกทำให้เป็นสินค้า

ส่วนนักเรียนที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอก็ต้องเรียนโรงเรียนรัฐที่ต้องเสี่ยงดวงกันเอาเองว่าจะโชคดีเจอครูที่ตั้งใจสอน เจอสภาพแวดล้อมที่ดีหรือเปล่า เรามักจะเห็นข่าวนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจนอยู่บ่อยครั้ง และต้องมาเป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างอันน้อยนิด ชีวิตก็ยังคงอยู่ในวังวนเดิม ส่งต่อความจนข้ามรุ่น เพียงเพราะเขาเหล่านั้นไม่สามารถเข้าสู่ “ตลาดการศึกษา” ได้

สภาพการศึกษาและการทำงานในระบบทุนนิยม

คำถามคือ การศึกษาควรเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงจะได้รับหรือเปล่า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเรากันแน่ ส่วนคนที่ครอบครัวสามารถส่งเสียด้านการเรียนได้นั้น ก็ยังหนีไม่พ้นอิทธิพลของทุนนิยม เพราะแม้ว่าการศึกษาควรจะเป็นไปเพื่อบรรลุศักยภาพในตนเอง แต่ทว่าในสังคมปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น การศึกษาเป็นไปเพื่อความอยู่รอด การศึกษาเพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน ไม่ต้องพูดถึงการเรียนที่ตอบสนองต่อเจตจำนงของตัวเอง เพราะแม้แต่การเรียนที่เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานยังเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มี AI เข้ามา

สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือแม้จะเป็นการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าสิ่งนั้นคือการศึกษา เพราะน่าจะเป็นการฝึกคนเข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่า การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการฝึกฝน เน้นข้อมูลสถิติ ขาดการวิพากษ์ แน่นอนว่าการเรียนในสายการเรียนที่เป็นที่ต้องการของตลาดจึงสำคัญมากกว่าการเรียนตามความสนใจของผู้เรียนเอง นับว่าทุนนิยมได้ทำลายชีวิต และความฝัน ในด้านการศึกษาของใครหลายคน

เมื่อจบการศึกษาในระดับที่พอจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้แล้วนั้น ก็เป็นการเข้าสู่ช่วงชีวิตแห่งการทำงาน ซึ่งการแข่งขันก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีก การทำงานในระบบทุนนิยมนั้นนายทุนจะพยายามที่จะขูดรีดแรงงานให้ได้มากที่สุด การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแรงงานก็ไม่ต่างอะไรจากการเป็นหุ่นยนต์ เพราะต้องทำงานแบบเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นการลดระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงานเฉพาะอย่างของคนงาน (Deskilling) ที่นายจ้างใช้เป็นกลไกในการควบคุมคนงาน ทำให้มีแรงงานที่ทดแทนกันได้มากขึ้น

เมื่องานต่างๆ ถูกทำให้ง่ายขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกัน นายจ้างจะเปลี่ยนคนงานได้ง่ายขึ้น โดยแทบไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการผลิตเลย สิ่งนี้สามารถสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงให้คนงาน คนงานอาจกลัวที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติหรือแรงงานที่มีค่าจ้างถูกกว่า เนื่องจากนายจ้างใช้ประโยชน์จากอุปทานแรงงานที่ล้นตลาดทำให้มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าในการเจรจาต่อรองอัตราค่าจ้างที่ต่ำลง ท้ายที่สุดแล้วชนชั้นแรงงานต้องมาแข่งขันกันเอง

ยิ่งไปกว่านั้นท่ามกลางสภาพสังคมในปัจจุบันที่บริษัทต่าง ๆ มีนโยบาย work from home ดูผิวเผินอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ แต่แท้จริงแล้วการ work from home เป็นสิ่งที่กัดกินชีวิตแรงงาน เนื่องจากไม่สามารถแยกการทำงานกับการพักผ่อนได้ ไม่สามารถแยกพื้นที่การทำงานกับพื้นที่ครอบครัวได้ สุดท้ายก็แปลกแยกโดยไม่รู้ตัว

คนที่ไม่รู้สึกแปลกแยกก็เป็นโรคเจ็บป่วยทางใจ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่แรงงานไม่ต่อสู้ แต่แรงงานแทบไม่มีโอกาสลุกขึ้นสู้ เพราะสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยระบบทุนนิยมเอื้อแก่ชนชั้นนายทุนเท่านั้น นายทุนสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้แรงงานรู้สึกว่าต้องพึ่งพาตนเอง ต้องทำงานมีเงิน มีรายได้ การต่อสู้คือการขายฝัน ไม่ต้องพูดถึงเสรีภาพ เพราะแม้แต่อำนาจต่อรองก็แทบไม่มี

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีขบวนการแรงงานที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อตนเองและเพื่อแรงงานด้วยกันเอง การต่อสู้นี้แม้จะถูกทำให้อ่อนแอลงจากอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ และอำนาจของเทคโนโลยี แต่มนุษย์เราเมื่อถูกกดขี่จนถึงจุดหนึ่ง ก็คงไม่สามารถทนกับความแปลกแยกได้ ท้ายที่สุดแล้ว แรงงานก็ต้องรวมตัวกันต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

บทส่งท้าย: ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ต่อไป

แม้ว่า The Communist Manifesto จะถูกเขียนขึ้นเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน แต่ก็ยังสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นและความสัมพันธ์ของคนในสังคมปัจจุบันได้อย่างดี นั่นก็เป็นเพราะว่าระบบเศรษฐกิจยังคงมีวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล มีกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของทุนและครอบครองความมั่งคั่ง กับกลุ่มคนที่เป็นแรงงานรับค่าจ้าง ยิ่งไปกว่านั้นคือความพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้า

ทั้งยังมีการแข่งขันที่ทำให้คนไม่เท่ากัน ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในปัจจุบันก็ล้วนมาจากทุนนิยมสามานย์ซึ่งลดทอนความเป็นมนุษย์มาตั้งแต่สมัยของ Marx และ Engels เรื่อยมาจนถึงสมัยเสรีนิยมใหม่ ทางออกเดียวที่จะปลดแอกมนุษย์ออกจากความชั่วร้ายของทุนนิยมนั้น ก็อยู่ในตอนจบของ The Communist Manifesto

“กรรมาชีพทั่วโลก จงสามัคคีกัน!”

กัลยาณี แก้วมี
นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธัญ ไชยมาดี
นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์