ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกระจายความเสี่ยงต่อมูลค่าผลผลิตของครัวเรือนเกษตรกรไทย

994 views

เป้าหมายและภาพรวมบทความ

บทความนี้เริ่มต้นด้วยบรรยายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันของประเทศ ภูมิหลังเกี่ยวกับครัวเรือนเกษตรกรและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากนั้นจึงนำเสนอเนื้อหาหลักเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและบทบาทของการกระจายความเสี่ยงทางการเกษตรที่มีต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนไทย โดยใช้ผลวิเคราะห์จากงานวิจัยเรื่อง Impacts of Climate Change and Agricultural Diversification on Agricultural Production Value of Thai Farm Households (2024) ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Climatic Change [Q1 in Earth and Planetary Sciences / Environmental Science] และได้รับการอ้างอิงในบทความของ Telegraph ในชื่อเรื่อง Why Thai farmers are launching gunpowder propelled homemade rockets

งานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมูลค่าผลผลิตการเกษตร โดยใช้ข้อมูลสำรวจครัวเรือนเกษตรกร ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2563 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศระดับตำบล เพื่อวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติและประมาณการตามฉากทัศน์อนาคตสภาพภูมิอากาศของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ตลอดจนอภิปรายข้อคิดเห็นเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลการศึกษาพบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้สร้างความเสียหายต่อมูลค่าการผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนไทยแล้ว โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่มีระบบชลประทาน หรือ มีพื้นที่ประกอบการเกษตรขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การทำกิจกรรมการเกษตรหลากหลายประเภท เช่น ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง หรือ การปลูกพืชผสมผสานหลายชนิด จะช่วยบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยนี้ คือ ควรเร่งสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงระบบชลประทาน ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน และพัฒนาวิธีการเกษตรที่ยั่งยืน

ข้อพึงพิจารณาที่สำคัญ ก็คือ ถึงแม้ว่ามนุษยชาติจะสามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) แต่มูลค่าการผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรไทย จะยังคงได้รับผลกระทบทางลบ คือ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องต่อไป โดยสัมพันธ์เชิงผกผันกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฉากทัศน์อนาคตสภาพภูมิอากาศใดก็ตาม โดยสรุป คือ อนาคตไม่สดใสสำหรับครัวเรือนเกษตรกรในยุคสังคมสูงวัย ซึ่งควรได้รับความใส่ใจโดยเร่งด่วนจากรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ลักษณะปริมาณฝนตกในประเทศไทยมีความผิดปกติอย่างน่ากังวล อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี พ.ศ. 2567 มีปริมาณน้ำฝนสะสม (total rainfall / cumulative precipitation) ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ แทบจะไม่มีฝนตกในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ซึ่งปกติจะมีฝนตกบ้าง เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนสำหรับปริมาณน้ำฝนสะสมที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อเดือนเมษายน 2567 อีกเดือนที่อุณหภูมิร้อนจัดทำลายสถิติโลก ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีของประเทศลดลง 74% โดยเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2534-2563 ซึ่งสถานการณ์รุนแรงในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำฝนลดลง 93% 89% และ 81% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยสามทศวรรษที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน สภาพอากาศไทยก็มีแนวโน้มร้อนรุนแรงขึ้น อุณหภูมิสูงสุด (maximum temperature) เฉลี่ยรายปีเพิ่มขึ้นจาก 32-33 องศาเซลเซียสในช่วงปี 2493-2533 เป็น 33-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ปี 2553 ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลรายเดือนระดับจังหวัดตั้งแต่มกราคม 2561 ถึงมีนาคม 2566 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มสภาวะอากาศร้อนจัด ตั้งแต่ปี 2562 อุณหภูมิสูงสุดเกิน 43 องศาเซลเซียสได้เริ่มเกิดขึ้นบ้างในบางจังหวัดช่วงเดือนเมษายนของแต่ละปี โดยมีจำนวน 4 ถึง 6 จังหวัดในแต่ละปี แต่แล้วในเดือนเมษายน 2567 มีรายงานข่าวบันทึกอุณหภูมิสูงเกิน 43 องศาเซลเซียสถึง 16 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ลำพูน มหาสารคาม ตาก กำแพงเพชร อุดรธานี แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ มุกดาหาร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุโขทัย และกาฬสินธุ์

ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีของโลก ก็สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้ เพราะงานวิจัยวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ทำให้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น เช่น เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (extreme weather events) อย่างภาวะแล้ง ขาดแคลนน้ำ และ น้ำท่วมระดับมหาอุทกภัย ตลอดจนวิทยาศาสตร์ยังได้แสดงความสัมพันธ์กับการเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ดินถล่มจากน้ำป่า สึนามิ การระเบิดของภูเขาไฟ พายุเฮริเคน และพายุไต้ฝุ่น เป็นต้น ในทางเศรษฐศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น (Stern, 2006; Burke et al., 2015; Nordhaus, 2017; IPCC AR6, 2022 เป็นต้น)

นอกจากแนวโน้มของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว เรายังมี ปรากฏการณ์ ลานีญา (La Niña) หรือ “wet phase” และ เอลนีโญ (El Niño) หรือ “warm phase” โดยทั้งสองปรากฏการณ์เปรียบเทียบกับสภาวะปกติ หรือ neutral phase ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของระบบ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) คือ รูปแบบสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิระหว่างมหาสมุทรและบรรยากาศในพื้นที่แถบศูนย์สูตรตะวันออก-กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลกในรูปแบบที่แตกต่างกันตามพื้นที่ มีขนาดของผลกระทบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปรากฎการณ์และระยะเวลาของเหตุการณ์

สำหรับประเทศไทยและภูมิภาคแล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญจะนำไปสู่ภัยแล้ง การลดลงของปริมาณน้ำฝน ภาวะขาดแคลนน้ำ การรุกล้ำของน้ำเค็มเพราะระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำ ความเสื่อมคุณภาพของน้ำใต้ดินอันเกิดจากน้ำทะเลหนุน อาจส่งผลต่อความมั่นคงด้านแหล่งน้ำบนดินและแหล่งน้ำบาดาล นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าอีกด้วย

ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2567 ได้ทำให้อุณหภูมิในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงสุดทำลายสถิติเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง เป็นสาเหตุทำให้ฝนตกช้าลง จนเกิดภาวะภัยแล้งในประเทศไทยกระทบต่อเกษตรกร ทำให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งผลผลิตตกต่ำ ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร หรือ ร้อนจัดจนมีชาวนาชาวไร่เสียชีวิตคาที่ทำกิน

จากนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี 2567 ปรากฏการณ์ลานีญากลับมาช่วยอำนวยให้ฝนชุ่มฉ่ำ บันดาลเป็นน้ำท่วมฉับพลันหรือท่วมรุนแรงในหลายจังหวัด ด้วยแรงผสมผสานจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ตามฤดูกาล ซึ่งมักทำให้ฝนตกชุกตลอดช่วงฤดูฝน จึงเกิดเป็นมรสุมกำลังแรงปกคลุมประเทศไทย พัดผ่านจากภาคใต้ไปภาคเหนือ ทำให้พื้นที่รับมรสุม (ภาคใต้ และภาคตะวันออก) และ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง (ใกล้ร่องมรสุม) ต้องคอยเฝ้าระวังความเสี่ยงจากอุทกภัย

เราจึงสามารถสรุปได้ว่า สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างน่ากังวล แนวโน้มของอุณหภูมิที่สูงขึ้น เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนภายในไม่กี่ทศวรรษ และ เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (extreme weather events) จะมีโอกาสเกิดบ่อยมากขึ้นและมีโอกาสทวีความรุนแรงสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) และ เอลนีโญ (El Niño) จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพภูมิอากาศในประเทศ เช่นเดียวกับที่สร้างผลกระทบเกิดขึ้นทั่วโลกในรูปแบบต่างกันไป

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อภาคการเกษตร ผ่านการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา การผลิต การจ้างงาน และผลกระทบภายนอกต่าง ๆ (Externalities) นอกจากนี้ เรายังต้องคำนึงถึงตลาดแข่งขันแย่งชิงการจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างการบริโภคและการผลิต เช่น ที่พักอาศัย/นิคมอุตสาหกรรม, ระหว่างสาขาการผลิต คือ เกษตร อุตสาหกรรม และ บริการ เช่น สนามกอล์ฟ/นาปรัง, ระหว่างพื้นที่ เช่น จังหวัดใหญ่/เล็ก เขตเมือง/ชนบท, และ ระหว่างรุ่นประชากร เช่น ปัจจุบัน/อนาคต

ในที่สุดแล้วก็จะส่งผลย้อนกลับมาที่การจัดสรรน้ำสำหรับชลประทานในภาคการเกษตร ซึ่งจะทั้งมีความเสี่ยงและการแข่งขันมากขึ้น จึงช่วยเน้นย้ำความจำเป็นของกลยุทธ์การปรับตัว (adaptation strategies) สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะครัวเรือนกสิกรรมจำนวนมาก มีอนาคตที่เปราะบางต่อความยากจน จาก climate shocks

ภูมิหลังเกี่ยวกับครัวเรือนเกษตรกรและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ครัวเรือนเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา มักประสบกับความเสี่ยงด้านการผลิตและรายได้ที่ผันผวน อันเนื่องมาจากผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการขาดประสิทธิภาพของระบบป้องกันความเสี่ยงด้านรายได้ และความสามารถที่จำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนและตลาดการเกษตร สภาวะขาดแคลนทรัพยากรเช่นนี้ บีบให้หลายครัวเรือนต้องดิ้นรน เข้าสู่วงจรถดถอยทางการเงิน เช่น การขายทรัพย์สิน หรือ การพึ่งพิงการกู้ยืมนอกระบบ เป็นต้น

ภัยพิบัติทางภูมิอากาศในระดับภูมิภาค สามารถจุดชนวนความปั่นป่วนต่อครัวเรือนในพื้นที่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการกระจายความน่าจะเป็นของสภาพอากาศ (โอกาสที่สภาพอากาศแต่ละแบบจะเกิดขึ้น) และทำให้ความท้าทายในการรับมือกับสภาพอากาศเลวร้ายยิ่งทวีความยากมากยิ่งขึ้นสำหรับทั้งครัวเรือนเกษตรกรและผู้กำหนดนโยบาย

นอกจากนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะยังคงเพิ่มต่อไป ส่งผลกระทบรุนแรงต่อครัวเรือนเกษตรกรรมทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยต่าง ๆ ได้มีผลการคาดกาณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เกษตรกรยากจนจะมีความสามารถในการปรับตัวต่ำกว่า

ข้อค้นพบจากงานวิจัย
งานวิจัย Impacts of Climate Change and Agricultural Diversification on Agricultural Production Value of Thai Farm Households ถือเป็นงานศึกษาครั้งแรกของประเทศไทยเพื่อศึกษาผลกระทบของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร (agricultural production value) ของเกษตรกรไทย ครอบคลุมทั้งมูลค่าการผลิตเพื่อพาณิชยกรรมและมูลค่าการผลิตเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน โดยผู้เขียนได้ร่วมกับนิสิตปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ขณะที่ทำวิจัย) และคณาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยเพื่อนำเสนอผลงานศึกษาดังกล่าว

วัตถุประสงค์ในงานวิจัยนี้จะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบสถานะปัจจุบัน (status quo) และกลยุทธ์การปรับตัว ดังเช่น การกระจายความเสี่ยงด้านการเกษตร (agricultural diversification) ทั้งแบบทำเกษตรหลายประเภท (multiple enterprises) หรือ แบบปลูกพืชผสมผสาน (crop diversification) รวมทั้ง ยังคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตด้วยฉากทัศน์อนาคตสภาพภูมิอากาศของ Sixth Assessment Report โดย Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) หรือที่เรียกกันว่า IPCC AR6

งานวิจัยนี้วิเคราะห์ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศ ERA5 โดยใช้การวิเคราะห์การถดถอย (regression analysis) เพื่อควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (observable heterogeneity) และมีโครงสร้างข้อมูลครัวเรือน ทั้งแบบ repeated cross section และ pseudo panel ระยะเวลา 15 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2020 (พ.ศ. 2550–2563) แล้วใช้ค่าความยืดหยุ่นของมูลค่าผลผลิตต่ออุณหภูมิ (temperature elasticity of output value) เพื่อสามารถเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนแต่ละประเภท ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดทางเทคนิคเพิ่มเติมได้จากบทความนิพนธ์ต้นฉบับของงานวิจัย

ผลการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลแสดงผลประมาณการที่สอดคล้องกันว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์ทางลบต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยสถานการณ์คาดว่า จะเลวร้ายลงตามภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นภายใต้ฉากทัศน์อนาคตสภาพภูมิอากาศ ตามรูปที่ 1

รูปที่ 1: คาดการณ์อุณหภูมิและมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรกรรม

(ก) คาดการณ์อุณหภูมิ



(ข) คาดการณ์มูลค่าผลผลิตทางการเกษตร


นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังพบว่า ครัวเรือนที่มีการผลิตแบบกระจายความเสี่ยง เช่น ทำกิจกรรมทางการเกษตรหลายประเภท หรือปลูกพืชผสมผสาน จะมีความสามารถในการปรับตัวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ดีกว่า ดังแสดงตัวอย่างในรูปที่ 2

รูปที่ 2: คาดการณ์มูลค่าผลผลิต จำแนกตามจำนวนกิจกรรมทางการเกษตร


นอกจากนั้น ยังพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีที่สูงกว่าช่วง 24°C ถึง 27°C ส่งผลกระทบทางลบต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรไทย แต่การกระจายความเสี่ยงทำให้ลดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และระบบชลประทานสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เพราะครัวเรือนที่มีพื้นที่ชลประทานมากจะมีมูลค่าผลผลิตสูงกว่า ดังนั้น เรื่องดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบชลประทานที่มั่นคงสำหรับครัวเรือนเกษตรกรร

สรุปและอภิปรายเชิงนโยบาย
ในฤดูร้อนของปีนี้ เกษตรกรไทยเผชิญโลกเดือดและผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จนส่งผลให้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนรุนแรงขึ้น โดยเกษตรกรหลายรายอาจจะต้องล้มละลาย และสูญเสียที่ดินให้กับนายทุน

เช่นเดียวกับครัวเรือนเกษตรกรที่ยากจนในประเทศกำลังพัฒนา เกษตรกรไทยกำลังประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ผันผวน อันเนื่องจากผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสูญเสียเหล่านี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการขาดประกันภัย ขาดความคุ้มครองทางสังคม และขาดการสนับสนุนในการรับมือที่เพียงพอจากสถาบันต่าง ๆ ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศจะมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น ครัวเรือนเกษตรกรรมจึงมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นในยุคสังคมสูงวัย

งานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า การกระจายความเสี่ยงด้านการเกษตรกรรมเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับครัวเรือนเกษตรกรในหลายพื้นที่ของประเทศในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและสามารถนำเสนอผลได้ในระดับประเทศ ยังไม่เคยมีปรากฎมาก่อน ดังนั้น จึงสามารถแสดงให้เห็นผลการวิเคราะห์ภาพรวมในระดับประเทศว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบทางลบต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรไทย และการกระจายความเสี่ยงด้านการเกษตรกรรม ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมและพืชที่หลากหลาย มีศักยภาพเป็นกลยุทธ์การปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ แน่นอนว่า ผลการประมาณการทางเศรษฐมิติและสถิติ เป็นการแปลความหมายในระดับค่าเฉลี่ย ดังนั้น จึงควรระวังไม่คิดแบบ one-size-fits-all เพราะมีหลักฐานที่แสดงว่าการเพิ่มความเข้มข้นของการเพาะปลูก (crop intensification) เช่น การมุ่งเพิ่มผลผลิตโดยปลูกพืชเชิงเดี่ยว สามารถเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับชาวสวนยางในบางภูมิภาคของประเทศไทย (Amornratananukroh et al., 2024) อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การทำเกษตรผสมผสาน สามารถเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและมีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสำหรับพื้นที่นั้น เราก็ควรส่งเสริมการปรับตัวล่วงหน้าเพื่อตอบสนองในระยะยาวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในมุมมองด้านนโยบาย ผลงานวิจัยหลักนี้สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติของไทยในปัจจุบันสำหรับภาคการเกษตร ซึ่งส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสานและการปลูกพืชหลากหลายชนิด ถึงแม้ข้อมูลในปี พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรไทยประมาณร้อยละ 70 ประกอบกิจกรรมทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว และประมาณร้อยละ 40 ปลูกพืชเพียงชนิดเดียว ผลวิจัยซึ่งเน้นย้ำประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยง จึงช่วยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนเกษตรกรให้กระจายความเสี่ยง เพื่อส่งเสริมการนำระบบการทำเกษตรผสมผสานมาประยุกต์ใช้แบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องมีแรงจูงใจ เพิ่มการสนับสนุนทางการเงิน และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการเกษตรผสมผสานปศุสัตว์และพืช หรือ การเลือกปลูกพืชที่ให้ผลกำไรดีและทนแล้ง

ในทางปฏิบัติ การจัดการกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงขนาดใหญ่ เช่น ระบบการทำฟาร์มแบบผสมผสานพืชปศุสัตว์ (ICLS: integrated crop-livestock system) อาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะในระยะสั้น เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีขนาดพื้นที่ทำกินขนาดเล็กและมีเงินลงทุนเพื่อทำฟาร์มแบบผสมผสานได้อย่างจำกัด

สิ่งสำคัญ คือ การพิจารณาแนวทางนโยบายระดับสูงที่ควรมุ่งเน้นการดำเนินการทันทีโดยเร่งด่วนจริงจังในภาคการเกษตร เพื่อช่วยเหลือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่มุ่งเอาแต่ใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ในสารพัดหน่วยงาน โดยไม่ได้เกิดประโยชน์คุ้มค่าต่อเกษตรกร อาทิ เช่น โครงการที่มีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์แค่หลักหมื่นราย (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนครัวเรือนเกษตรเกือบ 8 ล้านครัวเรือน) และโครงการของกระทรวงเกษตรที่ใช้งบประมาณกันอย่างสนุกสนาน เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน นโยบายระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นของประเทศควรมีเป้าหมายส่งเสริมกลยุทธ์ที่สามารถปรับตัวได้อย่างมีความยั่งยืน ผ่านการออกแบบแรงจูงใจและกลไกการสนับสนุนการกระจายความเสี่ยงสำหรับครัวเรือนเกษตรกรรม โดยควรพิจารณาปัจจัยสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น การลดความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อจะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในมิติที่กว้างขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการการพัฒนาภาคเกษตรไทยให้มีความยั่งยืนตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs)

โดย Goal 13: Climate action ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า:

“Take urgent action to combat climate change and its impacts. Every person, in every country in every continent will be impacted in some shape or form by climate change. There is a climate cataclysm looming, and we are underprepared for what this could mean.”


เอกสารอ้างอิง
Amornratananukroh N, Jithitikulchai T, Leelahanon S (2023). Factors affecting the production efficiency of rubber farmers in Thailand: Findings from farm household survey data in the years 2007–2020 (in Thai), Faculty of Economics, Thammasat University, Discussion Paper No.73
Burke, M., Hsiang, S. M., & Miguel, E. (2015). Global non-linear effect of temperature on economic production. Nature, 527(7577), 235-239.
Nordhaus, W. D. (2017). Revisiting the social cost of carbon. Proceedings of the National Academy of Sciences, 114(7), 1518-1523.
IPCC, 2022: Climate Change 2022: Impacts, Adaptation, and Vulnerability. Contribution of Working Group II to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [H.-O. Pörtner, D.C. Roberts, M. Tignor, E.S. Poloczanska, K. Mintenbeck, A. Alegría, M. Craig, S. Langsdorf, S. Löschke, V. Möller, A. Okem, B. Rama (eds.)]. Cambridge University Press. Cambridge University Press, Cambridge, UK and New York, NY, USA, 3056 pp.
Stern, N. (2006). Stern Review on the economics of climate change. HM Treasury, London.

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์