อ่าน กุลี กับโศกนาฏกรรมของการอพยพและการขยายเมือง

24 กรกฎาคม 2567
1961 views

          กุลี(Coolie) เป็นนวนิยายที่ถูกแต่งขึ้นโดยใช้ภาษาอังกฤษโดยนักเขียนชาวอินเดียชื่อว่า มุลก์ ราช อนันต์ (Mulk Raj Anand) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1936 เรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบเป็นการเล่าถึงโศกนาฏกรรมของชีวิตพเนจรของมุนนู เด็กหนุ่มกำพร้าวัย 14 ปี (ตอนต้นเรื่อง) โดยกำเนิดแล้วเขาไม่ได้เป็นคนในวรรณะต่ำต้อยและได้รับการศึกษาจนอ่านออกเขียนได้ เขามีความสุขกับชีวิตในบ้านเกิดชนบทแถบเทือกเขากังกรา (Kangra) ซึ่งอยู่ในเขตเมืองโกพีปุระ (Bilaspur) [1]  ทางตอนเหนือของอินเดีย เขาอยากไปโรงเรียน มีความฝันถึงอนาคตอันสวยงาม อยากเรียนรู้เรื่องเครื่องจักร “เขานึกอยากจะให้เครื่องจักรทั้งหมดมาตั้งอยู่ตรงนี้มากกว่าที่จะปลีกตัวเองไปจากหาดทรายริมแม่น้ำที่ยังคงนิ่งสงบ ซึ่งเขาชอบมานั่งเล่น แต่แล้ว...” (p.23)

          แต่แล้วความยากจนก็บีบให้เขาต้องออกจากบ้านเกิดเพื่อไปทำงาน อาและอาสะใภ้ซึ่งดูแลเขามาตั้งแต่เด็กเห็นว่าเขา “โตมากแล้ว ควรจะหากินเอาเองมั่ง” (p.20) และนี่คือจุดเริ่มต้นของการอพยพเพื่อหางานทำเลี้ยงชีพ กุลี แบ่งออกเป็น 5 ตอนที่ผูกกันหลวมๆ โดยตอนแรก มุนนูยังอยู่ที่โกพีปุระบ้านเกิดของเขาและกำลังจะออกเดินทาง อีก 4 ตอนต่อมา เป็นชีวิตของมุนนูที่ถูกพัดพาด้วยโชคชะตา ความไร้เดียงสา และความหวัง ไปยังเมืองต่างๆ ของอินเดีย ได้แก่ ศามนคร (Sham Nagar) เดาลัทปุระ (Daulatpur) บอมเบย์ (Bombay) และ ศิมลา (Simla)

          ในแต่ละเมืองเขาทำงานแตกต่างกันออกไป งานแรกของเขาคือเป็นคนรับใช้ในบ้านของเสมียนธนาคารอินเดียนอิมพีเรียลสาขาศามนคร ความไม่รู้ประสาทำให้เขาถูกดุด่าและทำร้ายร่างกายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเขาต้องตัดสินใจหนีขึ้นรถไฟอย่างไร้จุดหมาย บนรถไฟขบวนนั้นเอง เขาได้เจอนายจ้างใจดีที่ชวนเขาไปทำงานในโรงงานโบราณผลิตผักดองและแยม [2] ของตนที่เดาลัทปุระ แต่เมื่อโรงงานปิดตัวลงเพราะเจ้านายไม่สามารถจ่ายหนี้ให้กับเพื่อนบ้านได้ เขาจึงกลายเป็นคนเร่ร่อนและตัดสินใจเดินทางไปบอมเบย์ด้วยความหวังว่าเมืองใหญ่จะให้โอกาสเขาลืมตาอ้าปาก เขาได้งานในโรงงานทอผ้าของนักลงทุนชาวอังกฤษ แต่เมื่อโรงงานสั่งลดชั่วโมงทำงาน ลูกจ้างจึงประท้วง การปราบปรามม็อบทำให้เกิดการจราจลขึ้น มุนนูหลงทางในเมืองก่อนที่จะถูกรถยนต์ชนจนสลบไป เจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวพามุนนูกลับไปดูแลที่บ้านของตนที่ศิมลา และจ้างเขาเป็นกุลีลากรถประจำตัว ถึงแม้เขาจะอพยพและเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ต่างกันสำหรับมุนนูก็คือ ทุกแห่งล้วนมีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ทุกงานล้วนใช้แรงงานหนัก ค่าตอบแทนต่ำ สิ่งเหล่านี้พามุนนูไปสู่ความตายในท้ายที่สุดด้วยวัยเพียง 15 ปี

          เป้าหมายของ กุลี ไม่ได้เพียงแค่ต้องการตีแผ่ชีวิตรันทดของกุลีคนหนึ่ง แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าเห็นว่าสภาพสังคมและเศรษฐกิจอินเดียในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินธุรกิจแบบทุนนิยม ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ระบบวรรณะดั้งเดิม และอิทธิพลของการปกครองแบบอาณานิคมโดยจักรวรรดิอังกฤษ ทั้งผลักดันและดึงดูดให้มุนนูในฐานะตัวแทนของกุลีทั้งหลายต้องเดินทางจากบ้านเกิดในชนบทสู่เมือง และจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง ก่อนที่จะทำลายทั้งความไร้เดียงสา ความหวัง และชีวิต ของเขา

          การอพยพเข้าไปเผชิญโชคในเมืองของมุนนูพ้องกับการขยายเมือง (urbanization) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1930 ซึ่งเมืองใหญ่ของอินเดียมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็ว (ราวร้อยละ 4.5 ต่อปี) กว่าเมืองขนาดเล็ก (ราวร้อยละ 2.5 ต่อปี) นั่นหมายความว่า เมืองใหญ่ เช่น บอมเบย์ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเหนือเมืองอื่นๆ การขยายเมืองรูปแบบนี้เกิดขึ้นในอินเดียจนกระทั่งทศวรรษ 1960 หลังจากนั้นอัตราการเจริญเติบโตของประชากรในเมืองต่างๆ จึงลดลงมาใกล้เคียงกัน [3] ปรากฏการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอินเดีย แทบทุกประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมไปอาศัยการทำอุตสาหกรรมต่างก็เผชิญกับการขยายเมืองทั้งสิ้น อันที่จริง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การขยายเมืองแบบเอเชียใต้ (South Asia-Type Urbanization) ซึ่งอาศัยข้อมูลการขยายเมืองของอินเดียเป็นหลักมีอัตราการเจริญเติบโตของจำนวนประชากร (ราวร้อยละ 3.5 ต่อปี) น้อยกว่าในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ รวมถึงไทยเสียด้วยซ้ำ [4]

          ในไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนผ่านคือราวๆ ทศวรรษ 1960 ถึงทศวรรษ 1980 ผู้คนอพยพเข้าสู่เมืองจนทำให้จำนวนประชากรในกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว (ราวร้อยละ 4.5 ต่อปี) โดยในช่วงแรก ผู้อพยพส่วนใหญ่เดินทางมาจากชนบทในภาคกลาง แต่หลังจากนั้นผู้อพยพส่วนใหญ่คือชาวบ้านจากภาคอิสานที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เนื่องจากรายได้จากเกษตรกรรมไม่พอกิน บางรายไม่มีที่ทำกินเพราะโดนเจ้าหนี้ยึดไปแล้ว นอกจากนี้ เครือข่ายถนนที่ครอบคลุมและค่าโดยสารรถไฟที่ไม่แพงจนเกินไปยังสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยสามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำงานเฉพาะในช่วงที่ว่างจากการทำการเกษตร การอพยพชั่วคราวนี้ตกสำรวจไปพอสมควร นั่นหมายความว่าจำนวนประชากรในกรุงเทพๆ อาจจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่มีการบันทึกไว้เสียอีก [5]  ผลพวงของการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ ทำให้มีคนล้นงานและผู้คนจำนวนมากต้องหากินอยู่ในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (informal sector) การขยายเมืองจึงถูกจัดให้เป็นแบบล้นเกิน (over-urbanized type urbanization) [6]

          อังกฤษเป็นประเทศแรกที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงเป็นประเทศแรกที่การขยายเมืองอย่างรวดเร็วเป็นผลของการอพยพที่ถูกผลักดันและดึงดูดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรในเมืองของอังกฤษตั้งแต่ทศวรรษ 1770 จนกระทั่งทศวรรษ 1870 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็วอยู่ที่ราวร้อยละ 2.2 ต่อปี อัตรานี้ต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ขณะที่กำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจในศตวรรษถัดมา แต่การขยายเมืองในอังกฤษกับในเอเชียเกิดขึ้นคนละศตวรรษที่วิทยาการด้านต่างๆ แตกต่างกันอย่างมาก ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความเจริญทางวัตถุทำให้อัตราการเสียชีวิตเมื่อแรกเกิดต่ำลงและผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้น จำนวนประชากรในประเทศกำลังพัฒนาในศตวรรษที่ 20 จึงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าประชากรอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ถึงเกือบสองเท่า [7] อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (life expectancy) ของคนอังกฤษทั้งหมดอยู่ที่ 35-41 ปี [8]  แต่ในแมนเชสเตอร์ อัตราดังกล่าวของเด็กที่เกิดในครอบครัวแรงงานชั้นล่างอยู่ที่ 17 ปี (p.71) [9]  ส่วนในลิเวอร์พูลอยู่ที่ 15 ปีเท่านั้น (p.62) [10]

          อายุคาดเฉลี่ยที่ต่ำจนไม่น่าเชื่อเป็นผลของสภาพการดำรงชีวิตและการทำงานอันเลวร้ายของชนชั้นแรงงานในอังกฤษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงานและโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นผลมาจากการถูกบังคับให้ทำงานยาวนานจนไม่มีเวลาพักผ่อน การควบคุมเข้มงวดและใช้การลงโทษที่รุนแรงในการบังคับให้ผู้ใช้แรงงานทำงานหนัก สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการทำงาน เมื่อเลิกงานกลับมาที่พัก ผู้ใช้แรงงานหลายคนก็ต้องมาแออัดอยู่ร่วมกันในที่แคบๆ ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ต่อการดำรงชีวิตหลายประการ เช่น มลภาวะจากการหุงหาอาหารและการทำความอบอุ่น มลภาวะทางเสียง ขยะ การขาดแคลนน้ำสะอาด และโรคระบาด ปัจจัยเหล่านี้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ในบางสังคม คนกว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่เสียอีก (p.71) [11]

          ในทุกวันนี้ การขยายเมือง คุณภาพชีวิต และสภาพการทำงานของเหล่าแรงงานอพยพยังเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ผู้อ่านที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ของไทยน่าจะเห็นว่าผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น มีการศึกษาพบว่า ถึงแม้พวกเขาจะพอใจกับสภาพความเป็นอยู่และค่าจ้างที่ตนได้รับ แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานของสังคมในปัจจุบันแล้ว ความแออัด สภาพการทำงานที่ย่ำแย่และเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อีกทั้งค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือการขาดสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาล หรือการศึกษา ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่ [12]

          ประสบการณ์จากในอดีต ปัจจุบัน รวมถึงในจินตนาการดังที่ปรากฏใน กุลี อาจจะชวนให้เราถามว่า หรือว่าการอพยพกับการตกระกำลำบากอาจจะเป็นของคู่กันที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้? คำตอบแบบนักเศรษฐศาสตร์อาจจะคือ “ใช่” หากเราให้นิยามว่า “การตกระกำลำบาก” หมายถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการอพยพ เนื่องจาก ทุกทางเลือกล้วนมีต้นทุน อย่างน้อยก็คือต้นทุนค่าเสียโอกาส กล่าวคือ อย่างน้อยผู้อพยพก็ต้องย้ายออกจากบ้านเกิดหรือไม่สามารถใกล้ชิดกับผู้คนที่ตนเคยคุ้นเคย (ซึ่งหลายคนอาจจะยินดีย้ายออก แต่นั่นก็คือต้นทุนค่าเสียโอกาสอยู่ดี)

          อันที่จริง การอพยพเพื่อหากินไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ มนุษย์สมัยใหม่หรือ โฮโม เซเปียนส์ (homo sapiens) ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเมื่อกว่า 200,00 ปีที่แล้ว แต่มนุษย์กลุ่มแรกที่มีความรู้มากพอที่จะลงหลักปักฐานทำการเกษตรมีชีวิตอยู่เมื่อราว 12,000 ปีที่แล้วเท่านั้น นั่นหมายความว่า ระยะเวลาส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้น มนุษย์หากินในทำนองเดียวกับสัตว์ทั้งหลาย นั่นคือ โดยการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์และล่าสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ความขาดแคลนอาหารจากปัจจัยนานาประการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนฤดูกาล ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด ล้วนบีบให้พวกเขาต้องเดินทางหาอาหารไปเรื่อยๆ เพื่อเอาชีวิตรอด นั่นทำให้การอพยพเพื่อหากินเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติและเป็นกิจกรรมแห่งความหวังเพื่อการเอาชีวิตรอดเสมอมา ใน กุลี ความหวังคือแรงผลักดันประการหนึ่งที่ผลักดันให้มุนนูเดินทาง เช่นเดียวกับผู้จำนวนมากที่หวังว่าการอพยพจะทำให้ตนและคนใกล้ชิดมีชีวิตที่ดีขึ้น

          ความหวังวูบหนึ่งของมุนนูไปไกลกว่าบอมเบย์ ขณะที่เขาแอบดูนักแสดงผู้มีชื่อเสียงแห่งคณะละครสัตว์ เขาคิดว่า “‘เขาคงจะควบม้าไปเมืองอังกฤษที่อยู่โพ้นทะเล ไปถึงที่ที่นายฝรั่งมาจากนั่นน่ะ’… ‘ยังไงก็เถอะ เราไปที่นั่นไม่ได้หรอก เราเป็นแต่เพียงกุลีนี่นะ แต่เราจะไปบอมเบย์ บางทีที่นั่นเราอาจจะหาเงินได้พอสำหรับเดินทางไปโพ้นทะเลมั่งก็ได้’” (pp. 262-263) ชีวิตของมุนนูจบลงไม่นานหลังจากความหวังวูบนั้นเกิดขึ้น บางทีโศกนาฏกรรมร้ายกาจประการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ก็คือความผิดหวัง โจทย์สำหรับสังคมก็คือ ทำอย่างไรที่ต้นทุนของการอพยพจะไม่สูงจนเกินไปและผู้คนบรรลุสิ่งที่ตนหวังไว้จากการอพยพได้ไม่ยากจนเกินไป บางทีการที่มีคนสมหวังมากขึ้นอาจจะหมายถึงโศกนาฏกรรมที่ลดลงและสังคมที่ดียิ่งขึ้น


เชิงอรรถ

[1] ในต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ Bilaspur หรือพิลาสปุระ แต่ฉบับแปลใช้ โกพีปุระ

[2] ในต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ chutney ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสพื้นเมืองของอินเดีย แต่ในหนังสือฉบับภาษาไทยแปล chutney ว่าแยม

[3] Swerts, E., D. Pumain, and E. Denis. 2014. The Future of India’s Urbanization. Futures, 56, pp. 43-52.

[4] Kojima, R. 1996. Introduction: Population Migration and Urbanization in Developing Countries. The Developing Economies, 34 (4), pp. 346-369.

[5] Nakanishi, T. 1996. Comparative Study of Informal Labor Markets in the Urbanization Labor Process: the Philippines and Thailand. The Developing Economies, 34 (4), pp. 470-496.

[6] Kojima, R. 1996. Introduction: Population Migration and Urbanization in Developing Countries. The Developing Economies, 34 (4), pp. 346-369.

[7] Williamson, J.G. 1988. Migration and Urbanization. In H. Chenery and T.N. Srinivasan (Eds.), Handbook of Development Economics (chapter 11, pp.426-465). North Holland.

[8] Gallardo-Albarran, D., and H. de Jong. 2021. Optimism or Pessimism? A Composite View on English Living Standards during the Industrial Revolution. European Review of Economic History, 25(1), pp. 1-19.

[9] Engels. F. 1887. The Condition of the Working Class in England. John W. Lovell Company.

[10] Heilbroner, R. and W. Millberg. 2012. The Making of Economic Society. Pearson Education.

[11] Engels. F. 1887. The Condition of the Working Class in England. John W. Lovell Company.

[12] ทรงชัย ทองปาน. 2020. สภาพปัญหา และข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย: ผลจากการสังเคราะห์งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. วารสารสังคมวิจัยและพัฒนา, 2(4), pp.1-20.

นภนต์ ภุมมา
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์