โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" เปิดให้ประชาชนที่สนใจเริ่มลงทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2563 ในจังหวัดที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้านของผู้ใช้สิทธิ โดยเงินอุดหนุนตามโครงการนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
(1) เงินอุดหนุนค่าที่พัก ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน สูงสุดไม่เกิน 5 คืนต่อคน รวม 5 ล้านสิทธิ์
(2) เงินอุดหนุนค่าอาหารหรือท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ร่วมโครงการ ร้อยละ 40 แต่ไม่เกินวันละ 600 บาท รวม 5 ล้านสิทธิ์
(3) เงินอุดหนุนค่าเดินทางโดยเครื่องบิน ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อผู้โดยสาร โดยให้ 2 สิทธิ์ต่อ 1 ห้องโรงแรมที่จอง รวม 2 ล้านสิทธิ์
ที่มา: https://www.เราเที่ยวด้วยกัน.com
วงเงินงบประมาณรวมทั้งหมดเฉพาะโครงการนี้คือ 2 หมื่นล้านบาท (ไม่นับรวมโครงการ "กำลังใจ" หรือการอุดหนุนเงินของ ททท. ด้านการท่องเที่ยวในช่องทางอื่น ๆ) แน่นอนว่าแหล่งเงินทั้งหมดมาจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของโครงการนี้คือการชดเชยภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดหวังว่า "ภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงมีการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประเทศ"[1]
คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้คาดว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้ ทางตรง ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแกรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวและสายการบินกว่า 5 หมื่นล้านบาท และสร้างรายได้ ทางอ้อม แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท รวมการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่า ผู้ออกนโยบายคาดหวังผลของตัวคูณมากกว่า 3.8 เท่า ตัวเลขนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่
มุมมองด้านทฤษฎี
ผลของตัวคูณ (Multiplier effect) น่าจะเป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยกันมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลมักตั้งงบประมาณขาดดุลเพื่ออัดฉีดรายจ่ายลงไปในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการวางโครงการขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนอำนาจซื้อไปสู่ประชาชนโดยตรงแบบโครงการนี้ (รวมถึงโครงการจำพวก "เช็คช่วยชาติ" "ชิม-ช้อป-ใช้" ฯลฯ) ความคาดหวังคือการกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมโดยให้การใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นทอด ๆ มูลค่าที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจจะมีค่ามากกว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ดอกเบี้ยนโยบายต่ำจนเข้าใกล้ศูนย์[2]
ถ้าเปรียบตัวเลขผลของตัวคูณเป็นการ "เข็นครกขึ้นภูเขา" ค่าความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายในการบริโภค (Marginal Propensity to Consumer: MPC) เปรียบเสมือนสิ่งอำนวยให้เราเข็นไปได้ไกลขึ้น ยิ่งประชาชน "กล้า" นำเงินออกมาใช้จ่าย เศรษฐกิจที่เคยชะงักงันอาจกลับมาครึกครื้นอีกครั้งได้ เพราะรายจ่ายของคนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นรายได้ของคนกลุ่มหนึ่ง อุปทานมวลรวมก็จะตอบสนองต่ออุปสงค์มวลรวมที่เพิ่มขึ้นนี้ผ่านการแทรกแซงของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ครกที่เราเข็นขึ้นไปกลับจะมีน้ำหนักมากขึ้นผ่านอีกผลหนึ่งที่เรียกว่า Wealth effect ในทางทฤษฎี ประชาชนที่มีเหตุมีผล (rational) เลือกที่จะเก็บออมรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายในอนาคต เพื่อให้ระดับการบริโภคตลอดชีวิต (Lifetime consumption) เป็นไปอย่างราบรื่น (หรือหากประชาชนคาดการณ์ว่า ในอนาคตจะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้หนี้ที่กู้ยืมมากระตุ้นเศรษฐกิจ) โครงการ "ชิม-ช้อป-ใช้" จึงถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะ Wealth effect นี้เอง[3] กลายเป็นว่าผู้รับสิทธิ์บางส่วนแค่ประหยัดเงินได้มากขึ้น แต่มิได้ใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ "เราเที่ยวด้วยกัน" เป็นการอุดหนุนแทนที่จะเป็นการให้เปล่า หมายความว่าผู้รับสิทธิต้องควักเงินของตัวเองออกมาใช้จ่าย ควบคู่กับส่วนที่รัฐบาลอุดหนุนเพิ่มเติม
ผลในเชิงประจักษ์
ถ้าเราลองไปพลิกดูงานศึกษาวิจัยเรื่องผลของตัวคูณ ก็จะพบว่า การใช้จ่ายภาครัฐขนานใหญ่กลับมามีความสำคัญหลังวิกฤตซับไพรม์ในช่วงปี 2551 ส่งผลให้งานศึกษาเกี่ยวกับตัวคูณมีจำนวนมากขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น และพัฒนาแบบจำลองให้มีความซับซ้อนมากขึ้น แม้ว่างานศึกษาส่วนใหญ่ยังคงวางอยู่บนข้อสมมติสำคัญให้ประชาชนมีเหตุมีผลและมองการณ์ไกลได้ แต่การค่อย ๆ ลดทอนข้อสมมติดังกล่าวลงทีละน้อย ช่วยอธิบายปรากฏการณ์และคาดการณ์ผลลัพธ์ของการอัดฉีดได้ดียิ่งขึ้น เช่นมีการค้นพบว่าตัวคูณเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะชะงักงัน เทียบกับการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐเมื่อต้องการรัดเข็มขัดนั้นมีค่าไม่เท่ากัน เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายภาครัฐด้วยเม็ดเงินที่เท่ากัน ข่าวสารที่ประชาชนรับรู้และแผนการใช้จ่ายของภาครัฐในระยะยาว ก็มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในปัจจุบันและอนาคต
ตัวคูณที่ประมาณการได้นั้นแตกต่างกันไปตามสถานการณ์และประเทศ[4] แต่ส่วนใหญ่แล้ว ตัวคูณของการใช้จ่ายภาครัฐจะอยู่ในช่วง 0-1.5 เท่านั้น โครงการนี้จะไปถึงฝั่งฝันที่ 3.8 เท่าได้หรือไม่
สถานการณ์ปัจจุบัน
คำถามข้างต้นคงยังไม่มีผู้ใดตอบได้ และตัวเลขจะเป็นเท่าไรอาจไม่สำคัญเท่าการกระจายของเม็ดเงินจะสร้างประโยชน์ในภาพรวมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่เกี่ยวข้องธุรกิจการท่องเที่ยว ผู้เขียนชวนตั้งข้อสังเกตหลายประการ ดังนี้
(1) วงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ 2 หมื่นล้านบาทไม่น่าจะถูกใช้ไปทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ตามอัตราสูงสุดของสิทธิ์ ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนห้องพักร้อยละ 40 ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน รวมทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์ (เงินงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทพอดี) หมายความว่าถ้าจะใช้เงินก้อนนี้ได้หมด แต่ละคืนผู้เข้าพักจะต้องเข้าพักในห้องราคา 7,500 บาท (ประชาชนจ่าย 4,500 บาทและรัฐบาลสนับสนุน 3,000 บาทตามสัดส่วน) ห้องพักในราคาระดับนี้น่าจะต้องพึ่งพากำลังซื้อของชนชั้นกลางบนเป็นต้นไป ในขณะที่การเดินทางเข้าประเทศก็ถูกจำกัดโดยสิ้นเชิง กำลังซื้อสำคัญจึงหายไปจากสถานการณ์ปกติ เพราะชาวต่างชาติใช้จ่ายมากกว่าคนไทยถึง 2 เท่า[5] นอกจากนี้ ในส่วนการอุดหนุนค่าอาหารและท่องเที่ยว ผู้มีสิทธิ์จะต้องใช้จ่ายวันละ 1,500 บาทเพื่อเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้ครบ 600 บาท เมื่อรวมกับค่าที่พักก็กลายเป็นวันละ 6,000 บาท และคำถามสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ผลประโยชน์ของการอัดฉีดนี้จะตกไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงหรือไม่[6] หรือจะยังคงกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่มีธุรกิจท่องเที่ยวหนาแน่นอย่างกรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต อย่างที่เป็นมา
(2) ประชาชน "กล้า" ใช้จ่ายหรือไม่ การท่องเที่ยวถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างหนึ่ง การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนด้านรายได้ของประชากรนับล้านย่อมเป็นความเสี่ยง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่แม้จะทุเลาลงในประเทศ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนของการจัดการภาครัฐตามข่าวที่เราเห็นในจังหวัดระยอง เมื่อประกอบกับข้อสังเกตแรกแล้วยิ่งทำให้ชวนคิดว่า ผู้มีสิทธิ์ที่มาลงทะเบียนในยามนี้น่าจะเป็นผู้มีกำลังซื้อสูง ซึ่งหมายความว่า ผู้รับสิทธิ์เองอาจเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ในสังคม (วันที่เขียนบทความชิ้นนี้เป็นวันแรกของการเปิดจองห้องพัก ผ่านมา 21 ชั่วโมงของวันแรกมียอดจองเพียง 5 หมื่นสิทธิ์จาก 5 ล้าน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปย่อมมียอดจองมากขึ้น และอาจมีการนำเสนอโครงการให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น)
(3) วงจรการใช้จ่ายจะถูกตัดจบอย่างรวดเร็วหรือไม่ จริงอยู่ที่โครงการนี้รัฐบาลให้เป็นเงินอุดหนุน ประชาชนจะต้องควักเงินออกมาใช้จ่าย หมายความว่า อำนาจซื้อก็จะผ่องถ่ายจากคนที่พร้อมจ่ายไปสู่ประชาชนในธุรกิจท่องเที่ยว แต่คนเหล่านี้จะเอาเงินไปใช้จ่ายต่ออย่างไร จึงควรต้องตั้งคำถามต่อไปว่า สภาวะของแรงงานธุรกิจท่องเที่ยวตอนนี้เป็นอย่างไร เมื่อเกิดวิกฤตซับไพรม์ในช่วงปี 2551 บทความของศูนย์วิจัย SCB[7] กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
"โรงแรมและภัตตาคาร การคมนาคมขนส่งและสื่อสาร รวมถึงการค้าปลีกค้าส่งนั้น มีการจ้างงานประมาณ 7 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 20% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ นั่นหมายความว่า การขึ้นลงของภาวะการท่องเที่ยวไทยสามารถมีผลกระทบต่อแรงงานค่อนข้างมาก และมักเป็นแรงงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้เร็ว ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงถึง 17% ในช่วงไตรมาสสี่ปี ค.ศ. 2008 ถึงไตรมาสสามปี ค.ศ. 2009 จนทำให้โรงแรมต้องใช้มาตรการลดจำนวนพนักงานลงหรือลดชั่วโมงการทำงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งส่งผลให้แรงงานมีรายได้ลดลง" |
ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนแปรผันโดยการลดค่าจ้าง ปรับชั่วโมงการทำงาน หรือกระทั่งปลดคนออกตามที่เราเห็นจากภาพข่าวกอดคอกันร้องไห้ของพนักงานโรงแรมบางแห่ง หรือหากถูกสั่งให้ปิดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัยก็สามารถผลักภาระการจ่ายค่าจ้างไปให้กับประกันสังคมได้ เมื่อธุรกิจถูกกระตุ้นให้ฟื้นคืนชีพขึ้นโรงแรมก็สามารถเรียกกลับเข้ามาทำงานได้ใหม่ หรือไม่ก็หาคนใหม่เข้ามาทำงานได้แถมยังจ่ายเพียงค่าจ้างแรกเข้าได้ซึ่งกลายเป็นต้นทุนการดำเนินงานต่ำลงกว่าเดิม ในขณะที่ลูกจ้างจำนวนมากเมื่อกลับมาทำงานรับเงินเดือนจะนำไปใช้จ่ายในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด เป็นไปได้ไหมว่า พวกเขาอาจจะต้องนำเงินไปใช้หนี้สินที่การพักชำระหนี้ใกล้หมดเวลาลงทุกวัน หรือเก็บออมเอาไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่เห็นภาพเลยว่า ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวล้มหายตายจากไปมากน้อยเพียงใดแล้ว หมายความว่า เงินจากการอัดฉีดนี้อาจทำงานไม่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากมองโลกในแง่ร้ายที่สุด โครงการนี้อาจได้ผลในแง่การรักษาสภาพคล่องและธุรกิจท่องเที่ยวให้อยู่รอดได้บ้าง แต่เข็นผลของตัวคูณให้สูงน่าจะเป็นครกที่หนักมาก
นอกจากนั้น วิกฤตการระบาดของโควิด-19 น่าจะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยวมากกว่าปี 2551 เสียอีก บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งก็มองว่า นโยบายนี้น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย[8] นี่ยังไม่นับรวมข้อโต้แย้งเรื่อง Dutch Disease[9] ว่า การชูธุรกิจท่องเที่ยวจนกลายเป็นสัดส่วนสำคัญของ GDP นั้นก่อให้เกิดต้นทุนอะไรบ้างที่ประเทศต้องแบกรับในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างที่ยากต่อการแปลงสภาพหรือปรับตัวให้เป็นธุรกิจอื่น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และการดึงดูดแรงงานมหาศาลเข้าสู่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงและอ่อนไหวต่อแรงกระเพื่อมของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้แนะนำว่า ประเทศไทยควรเลิกธุรกิจท่องเที่ยวหรือไม่ควรสนับสนุนต่อไปแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงปัญหาและข้อสังเกตของการวางนโยบาย ทั้งโครงการนี้และภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างน้อยที่สุด หลังโครงการนี้จบลงเราน่าจะได้เห็นว่าภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า การเข็นครกขึ้นภูเขานี้หนักเพียงใด หรือเราใช้ครกใบนี้เพื่อตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
[1] เอกสารเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เรื่อง "ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๖๓", 30 มิถุนายน 2563.
[2] ดู Christiano, Eichenbaum and Rebelo (2010), "When is the Government Spending Multiplier Large?".
[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://thematter.co/social/1000-baht-with-pawin/87376
[4] เช่น Laski, Osiatynski, Zieba (2010); Ramey (2011); Ramey and Zubairy (2014); Barnichon and Matthes (2017) และ Beyer and Milivojevic (2019)
[5] https://forbesthailand.com/news/finance-and-investment/kkp-ประเมิน-ภาคการท่องเที่.html
[6] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.the101.world/tourism-and-thai-economy/
[7] https://www.scbeic.com/th/detail/product/355
[8] https://www.thansettakij.com/content/money_market/441814
[9] ข้อโต้แย้งของทั้ง 2 ฝั่งดูเปรียบเทียบได้จาก https://thestandard.co/tourism-and-the-thai-economy-after-covid-19/ และ https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_22May2018.pdf ซึ่งมีความเห็นต่อเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง แม้จะเขียนในช่วงเวลาที่สถานการณ์ต่างกัน