สังคมสูงวัยและการเตรียมความพร้อมของประชากรวัยทำงาน

1463 views

ปรากฎการณ์การสูงวัยของประชากรทั่วโลก

อัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิด “ปรากฏการณ์การสูงวัยของประชากรทั่วโลก” กล่าวคือ โครงสร้างอายุของประชากรโลกในแต่ละ ประเทศ กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีอายุสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนประชากรสูงอายุและสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลของ The world bank database พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 ประชากรทั่วโลกรวมทั้งหมด 7.95 พันล้านคน โดยมี “ผู้สูงอายุ” ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เท่ากับ 779,605,295 คน คิดเป็นร้อยละ 9.8 ของประชากรทั้งหมด แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรในแต่ละช่วงอายุเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราส่วนการเป็นภาระของผู้สูงอายุ หรือ อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน (Old-age Dependency Ratio)  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

ในประเทศไทย การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ นำเสนอข้อมูล อัตราส่วนการเป็นภาระของผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เท่ากับ 30.5 ในปี พ.ศ. 2564 สะท้อนว่า ประชากรวัยทำงาน 100 คน ต้องเลี้ยงดูประชากรสูงอายุโดยเฉลี่ย 30.5 คน แนวโน้มอัตราส่วนการเป็นภาระของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึง ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะนำทรัพยากรของครอบครัวและสังคมมาใช้สนับสนุนประชากรสูงอายุมากขึ้นในอนาคต

การเตรียมความพร้อมของการทำงานในสังคมสูงวัยในอนาคต

ปัจจัยที่ช่วยเตรียมความพร้อมของประชากรวัยทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะและการปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้และการทำงานในวัยสูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญในการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างยั่งยืน 

งานศึกษาของ แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล, ศุภชัย ศรีสุชาติ, พิมลพรรณ อิศรภักดี, ยุรนันท์ ตามกาล, อุไรวรรณ รุ่งไหรัญ, คริษฐา อ่อนแก้ว, และ ขวัญสุดา เชิดชูงาม (2565) ได้ถอดบทเรียนด้วยการการเก็บแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างแรงงานในระบบและนอกระบบช่วงอายุ 40-59 ปี และการสัมภาษณ์เชิงลึก รวมถึงการประชุมระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคชุมชน สามารถสังเคราะห์ปัจจัยการเตรียมความพร้อมของประชากรวัยทำงานต่อสังคมสูงวัยได้ดังนี้ 

  1. ปัจจัยส่วนบุคคล : การส่งเสริมการทำงานนอกระบบของผู้สูงอายุมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 4 ปัจจัยหลักได้แก่ ก) ปัจจัยด้านสุขภาพ ข) ความรู้ด้านดิจิทัล ค) การเดินทางมาทำงาน ง) ทัศนคติ ปัจจัยภายในที่เกิดจากตัวผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ปัจจัยด้านความรู้ ความสามารถ และการพัฒนาตัวเองของแต่ละคนมีผลต่อการทำงาน สมรรถนะ ทักษะ และคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงาน ความอาวุโส ที่สั่งสมประสบการณ์การทำงาน สุขภาพพื้นฐานโดยรวม และทัศนคติในการของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ การส่งเสริมความรู้ด้าน IT ให้กับผู้สูงอายุ หรือการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยในการทำงานยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานด้วยที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานนอกระบบให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน 
  2. การสร้างกรอบความคิด (Mindset) ด้านการเตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ : การสร้าง Mindset ทั้งในเรื่องของสุขภาพ การเงิน ที่อยู่อาศัย ให้มีความเหมาะสม รวมทั้งต้องสร้าง Mindset ของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) โดยการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมผู้สูงอายุ โดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีสถาบันการศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ จะเป็นเครือข่ายสำคัญในการทำงานร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม ในการร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ
  3. การจัดตั้งเป็น “ศูนย์” ที่รวมทุกอย่างสำหรับสังคมสูงวัย : ศูนย์ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานในวัยสูงอายุได้อย่างรอบด้านและราบรื่น โดยในศูนย์จะรวมคนทุกวัย ให้มาทำงานร่วมกัน มีงานหลายประเภท มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภูมิภาค และในระดับท้องถิ่นให้การสนับสนุน และมีแหล่งข่าวสารเกี่ยวกับการฝึกอบรมทักษะต่าง ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมกิจการผู้สูงอายุ รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งครอบคลุมด้านสุขภาพ การใช้ชีวิต การทำงาน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทั้งนี้บทบาทของกระทรวง อว. ที่เกิดขึ้นแล้วในท้องถิ่น เช่น โครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยการนำนโยบายต่าง ๆ ลงไปให้ถึงท้องถิ่น สนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นให้เป็นไปตามนโยบาย ทั้งในส่วนของงบประมาณ บุคลากร ความชัดเจน และความต่อเนื่องของประเด็นหรือโครงการกิจกรรมการพัฒนา เพราะหน่วยงานระดับท้องถิ่นจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุได้อย่างเป็นรูปธรรม
  4. ความร่วมมือของภาคเอกชน โดยการส่งเสริมการจ้างงานต่อในระบบของภาคเอกชนมีรูปแบบการจ้างจะต้องคำนึงถึงลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่น การทำงานแบบบางช่วงเวลา หรือการมีค่าจ้างค่าตอบแทนรายชั่วโมง เช่น งานในลักษณะขายของหน้าร้านเป็นช่วงเวลา เป็นต้น การสร้างทัศนคติเชิงบวกให้ครอบครัวผู้สูงอายุสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีทักษะในการพึ่งตนเองหรือ Enterprise Mindset (ความเป็นวิสาหกิจ) เนื่องจากจะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า ซึ่งเป็นการปฏิบัติเสมือน SGD mindset หรือ self-reliance การพึ่งตนเองทั้งนี้ควรมีความร่วมมือในระดับชุมชน ด้วย
  5. การออกนโยบายเชิงกระบวนการควรมองที่ platform ที่มีความหลากหลาย โดยอาจจัดทำในรูปแบบของ learning space ที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของผู้สูงอายุที่อยู่ในเมือง/ชนบท ควรพิจารณาความแตกต่างบริบทของผู้สูงอายุเมืองและผู้สูงอายุชนบทในด้านการเกษียณ
  6. การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ด้วยการร่วมกันทำงานของกระทรวงต่าง ๆ ที่ให้การดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สามารถทำให้กลุ่มประชากรหลักของผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการสนับสนุนการดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุ มีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการตามบริบทของพื้นที่ และมีการบูรณาการนำทรัพยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ มาส่งเสริมการทำงานของชมรม/โรงเรียนผู้สูงอายุ
  7. นโยบายรัฐต้องมีความชัดเจน เจาะลึก ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) ภาครัฐต้องมีความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับ ลักษณะความต้องการการทำงาน ความต้องการในการพัฒนาตนเองของผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มอาชีพ โดยต้องเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานความรู้ ระดับการศึกษา ภูมิลำเนา ทรัพยากรที่มีอยู่  เพื่อจัดทำมาตรการหรือโครงการที่จำเพาะเจาะจง ปรับรูปแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านดิจิทัล รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จำเป็นต้องคำนึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและบริบทของพื้นที่
  8. การมีฐานข้อมูลด้านแรงงานในทุกระดับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพร่วมทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน มี Big Data ที่ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนของประเทศ (E-Workforce system) มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นต้น โดยมีความเชื่อมั่นว่าข้อมูล Big Data จะช่วยพยากรณ์กำลังคน การพัฒนาหาจัดหากำลังคนให้เพียงต่อในแต่ละอุตสาหกรรม (Sector) ที่ต้องการได้หรือที่จะขาดแคลนในอนาคตได้ นอกจากนั้น ภายใต้ฐานข้อมูลนี้จะมีระบบ E-Portfolio ที่จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระดับการศึกษาทั้งหมด เช่น จาก อาชีวศึกษา หรือจาก สพฐ. จะถูกเชื่อมโยงมาในระบบ มีข้อมูลการได้รับการฝึกอบรมความรู้/ทักษะ และใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ประเมินว่าแรงงานนั้นเหมาะกับอาชีพอะไร หรือต้องเพิ่มเติมทักษะอะไร ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการกำลังเร่งดำเนินการกันมาจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติ ฯลฯ โดยตัวระบบ Demo E-Portfolio อยู่ในระหว่างการดำเนินการ รูปแบบผลของโปรแกรมนี้จะนำเสนอได้ 2 มิติ คือ เป็นระดับตัวบุคคล และระดับหน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการทำงานในภาพรวมต่อไป ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นอกจากนี้ ยังได้มีการวางแผนที่จะมีกองทุนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเอื้อให้คนได้เข้าถึงการฝึกทักษะ Reskill, Upskill โดยมี E-coupon ให้คนสามารถเรียนเพิ่มพูนทักษะอะไรก็ได้ที่ต้องการ แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการจัดตั้งกองทุน
  9. มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ สำหรับแรงงานในระบบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่มีประเด็นรองรับการเกษียณอายุทั้งโดยการเกษียณปกติและการเกษียณก่อนกำหนด โดย “ให้นายจ้างกำหนดเรื่องการเกษียณอายุให้ลูกจ้างด้วย และถ้าหากว่าลูกจ้างและนายจ้างไม่ได้มีการกำหนดอายุการเกษียณ ก็ถือว่า อายุ 60 เป็นอายุการเกษียณได้ โดยถือว่าเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามเงื่อนไขให้กับลูกจ้าง แต่ ถ้านายจ้างจะประสงค์จ้างลูกจ้างต่อก็ให้ทำข้อตกลงกันเป็นรายปีต่อไป ในส่วนนี้เป็นการคุ้มครองให้ลูกจ้างมีเงินก้อนในการเกษียณ และอีกทางก็สามารถทำงานต่อได้ด้วยถ้าทั้งลูกจ้างและนายจ้างมีความประสงค์ร่วมกัน ในขณะที่แรงงานนอกระบบ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน 2) กลุ่มแรงงานภาคเกษตร 3) กลุ่มทำงานบ้าน แม้ว่าในปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองบางกลุ่ม เช่น การรับงานไปทำที่บ้าน แต่อาจยังไม่ครอบคลุมกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งรัฐอาจต้องมีการเร่งรัดการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานนอกระบบตามกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และได้รับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

บทสรุปของสังคมสูงวัย

สังคมสูงวัยกลายเป็นความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเตรียมความพร้อมของคนวัยทำงานต่อสังคมสูงวัยเป็นความจำเป็นเพื่อสามารถบรรเทาแนวโน้มอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานในอนาคต ปัจจัยการเตรียมความพร้อมของการทำงานในหลายด้านจำเป็นต้องบูรณาการตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา เครือข่ายภาคสังคม จนไปถึงการปรับแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมไปยังคนสูงวัยทั้งในระบบและนอกระบบอย่างทั่วถึง โจทย์ดังกล่าวคงต้องเร่งปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้ไทยเดินหน้าเตรียมความพร้อมต่อสังคมสูงวัยได้อย่างทันท่วงที

เอกสารอ้างอิง

แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล, ศุภชัย ศรีสุชาติ, พิมลพรรณ อิศรภักดี, ยุรนันท์ ตามกาล, อุไรวรรณ รุ่งไหรัญ, และ คริษฐา อ่อนแก้ว, และขวัญสุดา เชิดชูงาม (2565) โครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการวิจัยเชิงระบบเรื่อง การใช้ศักยภาพของอุดมศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการเรียนรู้และการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ.


แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์