ปั่นหุ้น: มิติการคอร์รัปชันในตลาดหุ้นไทย

2305 views

          การปั่นหุ้น (Stock Manipulation) หรือ การล่อและลวงนักลงทุนรายย่อยให้เข้าไปซื้อหรือขายหุ้นที่มีราคาสูงหรือต่ำกว่าสภาวะปกติ โดยเจตนาไม่สุจริต [1] โดยจุดสังเกตเบื้องต้นว่าหุ้นดังกล่าวนั้นกำลังโดนปั่นอยู่หรือไม่สามารถสังเกตได้จาก (1) ราคาหรือปริมาณการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงโดยไร้ซึ่งปัจจัยพื้นฐานรองรับ เช่น ภาพรวมเศรษฐกิจ การแข่งขันในอุตสาหกรรม การคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่ เป็นต้น (2) ข่าวที่ไม่ทราบที่มาหรือไม่ได้รับการยืนยันจากบริษัท [2]


          แม้ว่านักลงทุนรายย่อยจะทราบถึงข้อควรระวังทั้งสองข้างต้นแล้ว แต่การเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ Stock Manipulation ในตลาดหุ้นไทยยังมีให้พวกเราเห็นกันอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงนึกถึงประโยคเด็ดในหนังสือเล่มหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า อย่าริอ่านเป็นนักลงทุน ถ้าไม่รู้ว่าเขาโกงกันอย่างไร ของอาจารย์บรรยง วิทยวีรศักดิ์ ที่ระบุไว้ว่าการจะเป็นนักลงทุนนั้น เราจะต้องศึกษาช่องทางการทำมาหาได้และเล่ห์เหลี่ยมของขาใหญ่ เสียก่อน ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องการอธิบายวิธีการปั่นหุ้นร่วมกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คอร์รัปชันเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าวิธีการปั่นหุ้นที่จะระบุต่อไปนั้นจะเป็นเพียงวิธีระดับอนุบาล ที่ขาใหญ่ใช้ในตลาดหุ้นก็ตาม


          อย่างไรก็ดีก่อนจะไปทำความเข้าใจว่าวิธีการปั่นหุ้นนั้นเขาทำกันอย่างไร ผู้เขียนขอพาทุกท่านมาทำความเข้าใจ ลักษณะของหุ้นที่นิยมปั่น เสียก่อน สำหรับลักษณะดังกล่าวนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 6 ข้อ [1] [2] ด้วยกันโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


          (1) หุ้นที่มีมูลค่าทางตลาด(Market Capitalization) ต่ำเนื่องจากใช้เงินจำนวนน้อยในการการทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว(เรียกว่า การไล่ราคา) 

          (2) หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่ค่อยดีมากนัก เพื่อไม่ให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาซื้อขายด้วย(แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกรณีที่นักลงทุนสถาบันได้รับความเสียหายจากการปั่นหุ้นร่วมกับนักลงทุนรายย่อยด้วย เช่น กรณีหุ้น STARK [3]) 

          (3) ราคาต่อหุ้น(Market Price) ต่ำ 

          (4) จำนวนหุ้นหมุนเวียน(Free Float) ต่ำ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมปริมาณหุ้นตามที่ตนต้องการ

          (5) ผู้ถือหุ้นใหญ่รู้เห็นเป็นใจ และ 

          (6) หุ้นที่มีข่าวดีมารองรับ เพื่อใช้ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมาล่อหลวงนักลงทุนรายย่อยไล่ราคาเพราะคิดว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นมาจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้น


           หลังจากทราบลักษณะของหุ้นที่นิยมปั่นกันแล้วส่วนถัดมาคือการอธิบาย ขั้นตอนในการปั่นหุ้น เพื่อสร้างผลประโยชน์จากการไล่ราคาของนักลงทุนรายย่อยซึ่งมีข้อปฏิบัติดังนี้ (1) การเลือกตัวหุ้น ภายหลังการคัดเลือกหุ้นที่สามารถนำมาปั่นราคาภายใต้ลักษณะ 6 ข้อข้างต้นแล้ว ขาใหญ่จะต้องพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนคนอื่นๆประกอบด้วย เนื่องจากหากตนเองเข้ามาถือหุ้นดังกล่าวแล้วจะต้องไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันเข้ามาแทรกแซงได้นั้นเอง อย่างไรก็ดีหากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ให้ความร่วมมือ การปั่นหุ้นก็จะง่ายไปอีกขั้น (2) การกระจายเปิดพอร์ตการลงทุน โดยเป็นการเปิดพอร์ตไว้ที่โบรกเกอร์ต่างๆ ในชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นชื่อของคนที่ขาใหญ่ไว้ใจ เช่น คนขับรถ คนสวน หรือเรียกว่า ตัวแทนถือหลักทรัพย์ (Nominee)1 เพื่อป้องกันไม่ให้สืบสวนมาถึงตนได้

ก่อนจะไปในส่วนของขั้นตอนถัดไปเราจะพบว่าในสองขั้นตอนแรกมีตัวละครนอกจาก ขาใหญ่ ในการทำให้การปั่นหุ้นครั้งนี้สมบูรณ์และง่ายมากยิ่งขึ้นนั้นก็คือ เครือข่าย (Network) ซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ให้ความร่วมมือในขั้นตอนแรก และ Nominee ในส่วนของขั้นตอนที่สองนั้นเอง ภายใต้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คอร์รัปชันที่จำแนกประเภทการคอร์รัปชันตามหลักการทางทฤษฎีไว้นั้น พฤติกรรมการปั่นหุ้นจากสองขั้นตอนข้างต้นนั้นสามารถอธิบายได้ผ่านการคอร์รัปชันประเภท ผู้อุปถัมภ์กับผู้พึ่งพา (Patron – Client Relationship) แสดงดังรูปที่ 1


รูปที่ 1 –แสดงความสัมพันธ์ของโครงสร้างผู้อุปถัมภ์กับผู้พึ่งพา

ที่มา: ดัดแปลงจาก Khan (1998) 


          รูปที่ 1 แสดงแสดงความสัมพันธ์ของโครงสร้างผู้อุปถัมภ์กับผู้พึ่งพา โดยผู้อุปถัมภ์ (Patron) ในที่นี้คือ ขาใหญ่ ที่ต้องการปั้นหุ้นแสดงผ่านวงกลมสีน้ำเงิน และผู้พึ่งพา (Client) ซึ่งก็คือ Nominee ที่ทำการเปิดพอร์ตหุ้นไว้กับโบรเกอร์ต่างๆ แสดงผ่านวงกลมสีชมพู โดยเมื่อถึงเวลาปั่นหุ้น Nominee เหล่านั้นจะทำการไล่ซื้อหุ้น โยนหุ้นกันไปมาระหว่างบัญชีเพื่อให้ราคาหุ้นสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น แสดงผ่านเส้นลูกศรสีเขียว หลังจากนั้นขาใหญ่จะทำการถยอยขายหุ้นและมอบผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนให้กับ Nominee ของเขา แสดงผ่านเส้นประสีเนื้อ


          ในส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ให้ความร่วมมือในการปั่นหุ้น เราสามารถพิจารณาว่าเขาเป็นอีก“กลุ่ม” (Clan) ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างผู้อุปถัมภ์กับผู้พึ่งพาแสดงผ่านรูปที่ 2


รูปที่ 2–แสดงเครือข่ายระหว่างกลุ่มของโครงสร้างผู้อุปถัมภ์กับผู้พึ่งพา

ที่มา: ประมวลโดยผู้เขียน


          ในท้ายที่สุดความสัมพันธ์ระหว่าง Network และโครงสร้างผู้อุปถัมภ์กับผู้พึ่งพาจะเกื้อหนุนให้ขาใหญ่สามารถบรรลุการปั่นราคาหุ้นของเขาและแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนของเขานั้นเอง


          เรากลับมาต่อกันที่ขั้นตอนในการปั่นหุ้นข้อที่ (3) การเก็บสะสมหุ้น โดยจะต้องทำให้ราคาหุ้นนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผ่านการถยอยซื้อ หรือการโยนหุ้นไปมาระหว่างพอร์ตของตน เช่น หากมีรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นตัวดังกล่าวจำนวนมาก หากขาใหญ่ไม่ต้องการให้ราคาขยับจะใช้วิธีการโยนขายหุ้นล็อตใหญ่ๆออกมาให้พวกเดียวกันตั้งซื้อราคาไว้เป็นคนรับ แล้วทำการกดราคาลงมาอีกด้วยการทำซ้ำกระบวนการดังกล่าวจนอยู่ ณ ระดับราคาที่ตนพอใจ สังเกตได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเปรียบเสมือนเส้นลูกศรสีเขียวที่ Nominee ปฏิบัติให้กับขาใหญ่ ถัดมาคือ (4) การไล่ราคาหุ้น ด้วยการเคาะซื้อหุ้นครั้งละมากๆให้หายทั้งแถว ราคาเสนอซื้อ (Bid Price) เพื่อให้รายย่อยเชื่อว่ามีแรงซื้อหนุนจำนวนมากและถือหุ้นของพวกเขาต่อไป


          ขั้นตอนสุดท้ายที่ทุกท่านรอคอย (5) การขายหุ้น เมื่อราคาหุ้นขึ้นมาถึงจุดที่ขาใหญ่พอใจ เขาจะทำการตั้งขายหุ้นที่ราคาเสนอขาย (Offer Price) ไว้ล่วงหน้าจำนวนหลายแสนหุ้น แล้วทำการเคาะซื้อนำทีละเล็กน้อยเพื่อให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จนกระทั่งถึงคิวของหุ้นที่ตนตั้งขายไว้จึงทำการเคาะซื้อทีละมากๆ และนำหุ้นมาตั้งขายต่อทีละมากๆ (หรือก็คือการสร้างแรงซื้อปลอมๆขึ้นมา) หลังจากนั้นเมื่อหุ้นที่เขาตั้งขายไว้ใกล้หมด เขาจะทำการตั้งราคาซื้อปริมาณมากๆ (เพื่อหลอกนักลงทุนรายย่อยว่ามีแรงซื้อ) แล้วทำการถอนและเพิ่มคำสั่งตลอดเวลา (เพื่อให้คำสั่งซื้อของเขาไปอยู่ท้ายๆ) และในท้ายที่สุดเมื่อมีคนตั้งราคาซื้อมากพอเขาจะทำการขายส่วนลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งหุ้นในพอร์ตเขาหมด


           หลังจากทราบขั้นตอนการปั่นหุ้นทั้งห้าขั้นตอนแล้วเราจะพบว่าขั้นตอนที่หนึ่งและสองเปรียบเสมือนการหาพักพวกหรือการสร้างโครงสร้างผู้อุปถัมภ์กับผู้พึ่งพาของขาใหญ่ที่ต้องการจะปั่นหุ้น และขั้นตอนที่สามถึงห้าจะเป็นการกระทำของ Nominee และบางครั้งก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่ เข้ามาผ่านการมอบความจงรักภักดีด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆข้างต้นเพื่อให้ขาใหญ่บรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละขั้นตอน หลังจากการปั่นหุ้นสำเร็จแล้วขาใหญ่จึงค่อยมอบผลตอบแทนให้กับพวกเขาเหล่านั้น


           โดยสรุปแล้วขั้นตอนการปั่นหุ้นข้างต้นเราจะพบว่าเป็นเพียงขั้นตอนระดับอนุบาล เท่านั้นเพราะในโลกของความเป็นจริงนั้นการกระทำดังกล่าวล้วนมีความซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะนึกถึง เช่น กรณีของหุ้น MORE ที่มีการใช้เครดิตบาลานซ์ (Credit Balance)2 ซึ่งไม่ต้องใช้ขั้นตอนที่สามและสี่ในการสะสมหุ้นหรือไล่ราคาหุ้นแม้แต่น้อย แต่กลับสร้างความเสียหายสูงถึงระดับ 4,000-5,000 ล้านบาท [6] ดังนั้นนักลงทุนรายย่อยจึงต้องป้องกันตนเองและพึงระวังถึงกลโกงต่างๆที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในทุกๆวันนั้นเอง


[1] บรรยง วิทยวีรศักดิ์. (2546). กลโกงการเงิน. กรุงเทพฯ: บริษัท เนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด.

[2] สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.). รู้เรื่องหุ้น: จุดสังเกตหุ้นร้อน หุ้นผันผวน ลักษณะแบบไหนที่ควรชั่งใจ. สืบค้นวันที่ 2 มกราคม 2567, จากhttps://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/120466.pdf 

[3] workpointTODAY. ย้อนรอยหุ้น STARK จากบริษัทเนื้อหอมที่นักลงทุนรุมจีบ สู่ปรากฏการณ์หุ้นร่วง 90% ภายในวันเดียว. สืบค้นวันที่ 2 มกราคม 2567, จาก https://workpointtoday.com/thai-set-stark-falling-90-percent-within-one-day/ 

[4] Khan, Mushtaq. (1998). Patron—Client Networks and the Economic Effects of Corruption in Asia. The European Journal of Development Research. 10. 15-39. 10.1080/09578819808426700. 

[5] สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.). นิยาม บัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) หรือ เครดิตบาลานซ์ (Credit Balance). สืบค้นวันที่ 3 มกราคม 2567, จากhttps://dividend.sec.or.th/stat-report/30_DEF_BL9_MARGIN_TH.doc 

[6] workpointTODAY. ย้อธิบายแผนปล้นเงินโบรกเกอร์ ดราม่า MORE สะเทือนหุ้นไทย. สืบค้นวันที่ 3 มกราคม 2567, จาก https://workpointtoday.com/explainer-more/ 



1  Nominee คือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์แทนเจ้าของ (ซึ่งในที่นี้มีความหมายไปในทางที่ไม่ดี)  

2  เครดิตบาลานซ์ (Credit Balance) เป็นบัญชีที่โบรกเกอร์เปิดเพื่อให้สินเชื่อกับนักลงทุนในการลงทุนซื้อหุ้น โดย นักลงทุนจ่ายเงินซื้อเองส่วนหนึ่ง ที่เหลือโบรกเกอร์จะเป็นฝ่ายจ่าย ซึ่งเงินที่โบรกเกอร์จ่ายให้นั้น ถือว่าเป็นเงินส่วนที่นักลงทุนกู้จากโบรกเกอร์นั่นเอง[5]  

%PDF-1.5 %%PDF-1.5 %
ปัณณวัตน์ เภตรานนท์
การเงิน "คือสิ่งที่ผมหลงใหลมากขึ้นในทุกๆวัน" นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ และบัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์