ความเหลื่อมล้ำในเวียดนาม 2024

12266 views

ผมทำวิจัยในประเทศเวียดนามต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 1998 และเคยอยู่ในเวียดนามเกือบ 3 ปี (2002-2005) จากนั้นก็ยังคงมีโครงการวิจัยในเวียดนามและไปเสนอผลงานวิจัยในเวียดนามเป็นระยะๆ ทำให้ผมมีโอกาสได้เห็นเนื้อในของสังคมที่นั่นในหลายมิติ และไม่เคยมองชีวิตคนเวียดนามจากเฉพาะตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ที่เฉลี่ยสูงถึง 6.23% ใน 20 ปีที่ผ่านมา[1]  จนทำให้คนไทยมักพูดกันว่า “เวียดนามจะแซงไทยอยู่แล้ว”


อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็มีข่าวเสื่อมเสียด้านความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการธุรกิจและการลงทุนอยู่เสมอๆ เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีการฉ้อฉลทางเศรษฐกิจทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง จนทำให้เกิดการดำเนินคดีและปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รัฐแม้ระดับรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสูงขึ้นไปอยู่เสมอๆ


อย่างเช่นเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เองก็มีข่าวใหญ่ด้านเศรษฐกิจในเวียดนามข่าวหนึ่ง คือข่าวการจับกุมนักธุรกิจหญิงผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงเงินธนาคาร Saigon Commercial Bank ในจำนวนเงินถึง 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (4.4 แสนล้านบาท)[2]  จำนวนเงินนี้มากถึงราว 3% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติของประเทศเวียดนามปี 2022 นักธุรกิจรายนี้ถูกกกล่าวหาว่าถือหุ้นธนาคารนี้ (ที่เพิ่งควบรวมจาก 3 ธนาคารในปี 2012) ราว 85%-91.5% โดยที่เธอมิได้เป็นผู้บริหารเอง แต่ใช้คนของเธอบริหารเพื่อนำเงินฝากไปให้กู้ยืมโดยไม่มีระบบการตรวจสอบที่รัดกุมเพียงพอ ทำให้ในขณะนี้มีคนไปถอนเงินจากธนาคารแห่งนี้อย่างถล่มทลายจนธนาคารกลางกังวลถึงสถานะของธนาคารแห่งนี้ และอาจจะกระทบไปยังความเชื่อมั่นต่อธนาคารอื่นๆ ไปด้วย


หากจะไม่นับว่าธรรมาภิบาลในการบริหารดูแลเศรษฐกิจเวียดนามอาจจะยังพัฒนาไม่ทันกับความเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เวียดนามเพิ่งก้าวเข้ามาอยู่ในระบบนี้เพียง 20 กว่าปีนี้เองแล้ว อีกส่วนหนึ่งของปัญหาคือการแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจเวียดนามอย่างรุนแรง ขณะที่การที่พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศยังคงกระเสือกกระสนดิ้นรนกับระดับรายได้ที่ต่ำมาก แต่บรรดาบรรดาเจ้าสัวรายใหญ่จำนวนหยิบมือของประเทศร่ำรวยถึงขนาดเป็นเจ้าของธนาคารและก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจได้ในมูลค่าหลักแสนล้านบาท ที่ยิ่งน่าตกใจคือ สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศที่ยังคงเรียกตนเองว่าประเทศ “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์”


หากไม่ดูเฉพาะตัวเลขดัชนีต่างๆ ความเหลื่อมล้ำในเวียดนามเห็นได้ชัดจากตามท้องถนนในเมืองใหญ่ อย่างเช่นในเมืองฮานอย บ่อยครั้งที่เราจะเห็นรถหรูราคาแพงอย่างโรลสลอยด์ เฟอรารี หรือพอร์เชอ จอดอยู่ตามห้างร้านริมถนน ทั้งๆ ที่ถนนในฮานอยคับแคบ แออัด และเหมาะกับการใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ขนาดเล็กมากว่า ส่วนผู้คนส่วนใหญ่นั้น หากไม่ใช่คนชั้นกลางที่มักสัญจรไปมาด้วยจักรยานยนต์ พวกเขาอีกจำนวนมากก็เป็นคนจนเมืองที่มาใช้แรงงานในเมืองและสัญจรไปมาด้วยจักรยานขาถีบ


คนใช้แรงงานเหล่านั้นส่วนหนึ่งคือบรรดาหาบเร่ที่ใส่งอบ “หนอน” ทรงแหลมของเวียดนาม บ้างก็หาบคอนด้วยคานแบกตะกร้า 2 ข้างหนักอึ้งเดินเร่ขายของ บ้างก็ถีบจักรยานบรรทุกดอกไม้ ผัก ผลไม้ หรือแม้แต่เครื่องเซรามิก เครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆ เร่ขาย ของที่บรรทุกขายก็มักหนักอึ้งจนพวกเขาไม่สามารถถีบรถได้ ต้องเดินประคองจักรยานเร่ขายของไปเรื่อยๆ วันละหลายๆ กิโลเมตร บ้างก็ถีบจักรยานเก็บขยะรีไซเคิลหรือเร่รับซื้อของเก่า ลังกระดาษ ขวดพลาสติก


นอกจากคนใช้แรงงานแบกหาม โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้างในระดับแบกหาม ที่มักทำงานกลางคืนเนื่องจากกลางวันอากาศร้อนมาก คนจนเมืองที่พบเห็นได้ทั่วไปอีกส่วนคือคนถีบรถสามล้อหรือ “ซิกโล” ในภาษาเวียดนาม เมื่อสัก 20 ปีก่อน อาชีพถีบสามล้อเป็นอาชีพของคนจนเมืองที่สำคัญ สามล้อเป็นยวดยานที่ทั้งบรรทุกคนและข้าวของ แต่ภายหลังเนื่องจากถนนหนทางต้องการความรวดเร็วยิ่งขึ้น สามล้อถีบกลายเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร เมืองที่แออัดส่วนใหญ่อย่างเมืองฮานอยจึงห้ามสามล้อถีบในหลายเส้นทาง สามล้อถีบจึงเหลือเพียงมีวิ่งในเส้นทางที่เมืองอนุญาตให้ใช้บริการนักท่องเที่ยวนั่งชมเมือง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ผู้คนทั่วไปเช่าสามล้อถีบบรรทุกของหรือเดินทางไปไหนมาไหน เมื่อก่อนผมเองก็ยังเคยใช้บริการสามล้อถีบอยู่บ่อยๆ


คนจนในเมืองฮานอยกลายเป็นภาพแทนอันแสนโรแมนติกของเมืองเวียดนาม พวกเขาคือกลุ่มคนที่ถูกเก็บภาพกลับมาโดยนักท่องเที่ยว โดยบริษัททัวร์ หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวมากที่สุด แต่อีกด้านหนึ่งแล้ว พวกเขาเป็นความน่ารังเกียจของเมืองที่เคยต้องห้ามหรือมีความพยายามขจัดให้หมดจากเมืองอยู่เสมอมา


ในด้านที่พักอาศัยของคนจนเมือง เมืองใหญ่บางเมือง อย่างโฮจิมินห์ซิตี้ (ชื่อเดิมคือ ไซ่ง่อน ปัจจุบันคนก็ยังมักเรียกชื่อนี้) จะมีคนไร้บ้านอยู่ประปราย และมีชุมชนแออัดขนาดใหญ่อย่างชัดเจน แต่ในเมืองอย่างฮานอย อาจจะด้วยความที่ไม่กว้างใหญ่และแออัดเท่าไซ่ง่อน รวมทั้งอาจจะมีความเข้มงวดกวดขันในการบังคับใช้กฎหมายมากกว่าไซ่ง่อน จึงแทบจะหาชุมชนแออัดไม่ได้เลย คนจนเมืองในฮานอยมักเช่าห้องเช่าราคาถูกยิ่งกว่าราคาเฝอ 1 ชาม (ปัจจุบันเฉลี่ยอย่างถูกๆ ชามละ 40,000 ด่อง ประมาณ 60 บาท) นอนในแต่ละคืน ที่จริงจะว่าพวกเขาเช่าห้องพักนอนก็ไม่ถูก เพราะในที่พักเหล่านั้นเขาทำได้แค่เพียงเหยียดตัวลงนอนและพอพลิกตัวได้ ไม่ได้เป็นห้องหับส่วนตัวแต่อย่างใด


เมื่อสัก 10 กว่าปีก่อน ผมเองเคยไปเยี่ยมห้องเช่าของเพื่อนคนต่างจังหวัดที่เข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในฮานอย ห้องพักที่เขาอยู่กัน 2 คนมีที่ว่างเพียงพอนั่งๆ นอนๆ เหยียดขากันพอดีแต่ละคน พวกเขาจะยืนเต็มตัวก็ยังแทบไม่ได้ เพราะห้องถูกแบ่งซอยทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ปัจจุบันสภาพหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐเองในฮานอยก็ไม่ได้ดีไปกว่านี้นัก ในห้องแคบๆ ราว 8-10 ตารางเมตร อาจมีนักศึกษาพักรวมกันถึง 4 คนด้วยกัน


ในบรรดาคนจนเมือง กลุ่มที่ผมว่าน่าสะเทือนใจที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือคนขัดรองเท้า ผมคิดว่าอาชีพคนขัดรองเท้าเป็นอาชีพในเมืองที่แสดงความเหลื่อมล้ำอย่างยิ่งอาชีพหนึ่ง ในประเทศไทย เท่าที่สอบถามเพื่อนที่อยู่นกรุงเทพฯ ตั้งแต่วัยเยาว์ สมัยที่กรุงเทพฯ ยังมีคนเดินเร่ขัดรองเท้านั้นย้อนกลับไปเมื่อสัก 40 ปีก่อน ส่วนเมืองใหญ่อย่างฮานอยเมื่อสัก 20 ปีก่อนมีคนขัดรองเท้าอย่างไร ปัจจุบันนี้หลังการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่องกันมา 20 กว่าปีแล้วก็ยังมีคนขัดรองเท้าอยู่อย่างนั้น แทบจะไม่ได้ลดน้อยลงเลย


คนขัดรองเท้าในเมืองอย่างฮานอยมักคิดค่าขัดรองเท้าคู่หนึ่งได้ไม่ถึงครึ่งของราคาเฝอ 1 ชาม ทั้งนี้แล้วแต่ความยากง่ายของรองเท้า อย่างรองเท้ากีฬาก็จะทั้งเช็ดทั้งล้าง แต่รองเท้าหนังก็จะเพียงเช็ดแล้วลงน้ำยาขัดเงา

ที่น่าตกใจคือ ปัจจุบันนี้คนขัดรองเท้าอายุสูงขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาผมเจอคนขัดรองเท้าอายุราว 40 กว่าๆ ขณะที่เมื่อก่อนคนนขัดรองเท้ามักเป็นยังรุ่น อายุอย่างมากก็ 20 ต้นๆ หรือปลายๆ ทำให้ผมที่ปกติแล้วแทบไม่เคยจ้างคนขัดรองเท้า ก็ยอมจ้างเขาขัดด้วยความเห็นใจที่เขาต้องมาทำอาชีพนี้ด้วยค่าแรงแสนถูก


ที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกเขาออกจากอาชีพนี้ไม่ได้มาอย่างยาวนานต่อเนื่องกันนับสิบปีหรือ หรือเพราะพวกเขายังต้องอยู่ในภาวะยากจนมายาวนานจนผ่านไปร่วม 20 ปีแล้ว ก็ยังต้องวนเวียนอยู่กับการทำอาชีพขายแรงงานไร้ฝีมือตามท้องถนนเช่นนี้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่องมายาวนาน ยังไม่สามารถดูดแรงงานนอกระบบเหล่านี้เข้าไปในระบบได้เลย




สิ่งที่น่าจะชี้ความเหลื่อมล้ำได้อีกประการหนึ่งคือการไปหางานทำในต่างแดนของคนจน แน่นอนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนในประเทศที่ยากจนกว่าจะไปขายแรงงานในประเทศที่ร่ำรวยกว่า แต่ที่น่าแปลกคือ แม้ว่าคนไทยจะรับรู้กันว่า การผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นนั้นย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ มายาวนานเกินกว่า 10 ปีแล้ว และประเทศเวียดนามก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังเห็นคือ มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเวียดนามจำนวนมากมาทำงานในประเทศไทย และส่วนใหญ่เป็นการลักลอบทำงานด้วยซ้ำ ปัจจุบันประเทศไทยยอมให้เฉพาะคนจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา เข้ามาใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมาย ส่วนเวียดนามนั้น มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากมาก พูดง่ายๆ คือ ประเทศไทยยินดีให้เฉพาะแรงงานมีฝีมือ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี มาทำงานในประเทศไทย


มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ติดตามชีวิตของชาวเวียดนามกลุ่มหนึ่งที่เคยเป็นคนเวียดนามอพยพในประเทศไทย แล้วหวนกลับไปอยู่เวียดนามตามโครงการให้ชาวเวียดนามหวนกลับปิตุภูมิในช่วงสงครามเวียดนาม (ในทศวรรษ 1960) คนเหล่านี้จึงยังคงมีทุนวัฒนธรรมของความเป็นไทย ยังพอมีทุนทางสังคมหรือเครือข่ายของญาติพี่น้องชาวไทยอยู่ พวกเขาจึงมาใช้แรงงานในลักษณะต่างๆ ในกรุงเทพฯ แล้วส่งเงินกลับไปเวียดนามจนมีฐานะดีถึงขนาดมั่งคั่งกันเลยทีเดียว[3]




ผมคิดว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ค่าแรงขั้นต่ำในเวียดนามจะสูงขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนมาก ระดับรายได้โดยรวมสูงขึ้น แต่ลำพังการใช้แรงงานอยู่ในประเทศก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้คนจำนวนมากยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดีนัก ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการในเวียดนามอยู่ที่ 15,600-22,500 ด่องต่อชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับพื้นที่ อย่างฮานอยซึ่งอยู่ในกลุ่มพื้นที่รายได้สูง ในปี 2024 ก็ยังคงกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เพียง 22,500 ด่องต่อชั่วโมง หากทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ก็ราวๆ 270 บาทต่อวัน[4]  ทั้งๆ ที่ค่าครองชีพในฮานอยจริงๆ แล้วไม่ได้แตกต่างจากกรุงเทพฯ มากนัก โดยเฉพาะค่าเช่าบ้านที่สูงกว่าไทยมากเพราะมีความหนาแน่นของประชากรมากกว่าและมีการเติบโตของเศรษฐกิจในอัตราที่สูงมาก การที่คนเวียดนามจะไปใช้แรงงานแม้จะอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย จึงยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการทำงานในประเทศ


หากใครยังคิดอยู่ว่าเวียดนามจะแซงไทย เวียดนามกำลังร่ำรวยขึ้นมาก ก็ขอให้ลองมองให้เห็นชีวิตคนจริงๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น มองให้เห็นความเหลื่อมล้ำในชีวิตปรกติประจำวันของผู้คนทั่วไป อย่ามองแต่เพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้บอกว่าสัดส่วนของตัวเลขเหล่านั้นไปกระจุกตัวอยู่กับใคร ที่ใด อย่ามองแต่เพียงรถราที่มากขึ้น อย่ามองแต่ถนนหนทางที่ตัดใหม่ๆ แทบทุกวัน อย่ามองแต่ร้านรวง โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ที่ดูโอ่อ่ามั่งคั่งขึ้น ที่สำคัญคือ เวียดนามไม่ได้มีแต่เมืองใหญ่ๆ อย่างโฮจิมินห์ซิตี้หรือฮานอย แต่ยังมีผู้คนยากไร้ในชนบทอีกมากมายที่ใช้ชีวิตอยู่กับค่าแรงระดับต่ำกว่า 270 บาทต่อวัน




[1] https://theinvestor.vn/vietnam-a-high-income-nation-within-20-years-vinacapital-exec-d7047.html#:~:text=Source%3A%20VinaCapital.,per%2Dcapita%20income%20of%20%2412%2C000.

[2] https://learningenglish.voanews.com/a/vietnamese-woman-accused-of-12-5-billion-fraud/7514821.html

[3] https://www.matichonweekly.com/column/article_647180#google_vignette

[4] https://www.vietnam-briefing.com/doing-business-guide/vietnam/human-resources-and-payroll/minimum-wage



ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์