เมืองสร้างสรรค์: โอกาสและความท้าทาย

8966 views

การพัฒนาเมืองเพื่อให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนอันประกอบด้วยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่ มิติทางเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนเอื้อต่อผู้อยู่อาศัยนับเป็นโจทย์ที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายแนวคิดถูกนำมาผนวกใช้ในการออกแบบและพัฒนาเมือง โดยหนึ่งแนวคิดที่สำคัญ คือ การนำเอา “สินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์” มาร่วมเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเพื่อนำไปสู่ความเป็น “เมืองสร้างสรรค์” (Creative City)

ดังจะเห็นได้จากการระบุมิติของเมืองไว้เป็นเป้าหมายหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ คือ เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน ซึ่งมีการเน้นย้ำความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติใน เป้าหมายย่อย 11.4 คือ เสริมความพยายามในการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมืองมีการสร้างความยั่งยืน ความครอบคลุม และความยืดหยุ่น [1-2]

แม้คำว่าเมืองสร้างสรรค์เริ่มมีการกล่าวถึงครั้งแรกตั้งแต่ 1980s [3] อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือสร้างความร่วมมือ ยังไม่มีปรากฎเด่นชัดจนกระทั่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้จัดตั้ง “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก” (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน [4] ปัจจุบันครอบคลุมกว่า 350 เมืองเครือข่ายทั่วโลก (ข้อมูล ณ ปี 2024) ใน 7 สาขา ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts & Folk Art) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) อาหาร (Gastronomy) วรรณกรรม (Literature) สื่อศิลปะ (Media Arts) และดนตรี (Music)


สำหรับประเทศไทย มีเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกทั้งสิ้น 7 เมือง ได้แก่

1)     ภูเก็ตเมือง สร้างสรรค์ด้านอาหาร (ปี 2015)

2)     เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (ปี 2017)

3)     กรุงเทพมหานคร เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (ปี 2019)

4)     สุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (ปี 2019)

5)     เพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (ปี 2021)

6)     เชียงราย เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (ปี 2023)

7).    สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี (ปี 2023)



รูปที่ 1 เมืองสร้างสรรค์ 7 สาขาของยูเนสโก


ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์


แล้วเมืองสร้างสรรค์คืออะไร?

หากพิจารณาว่านิยามของเมืองสร้างสรรค์มีที่มาอย่างไร คงต้องย้อนกลับไปยังนักวิชาการ 2 ท่านที่พัฒนาจุดเริ่มต้นของงานวิจัยเกี่ยวกับเมืองสร้างสรรค์ ท่านแรก คือ Charles Landry ในหนังสือ The Creative City: A Toolkit for Urban Innovators [5] ที่ใช้แนวคิดเมืองสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตกทำให้เกิดความเสื่อมโทรมในพื้นที่และความถดถอยของเมือง โดยให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นศิลปะหรือกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ถือว่าเป็นทรัพยากรสร้างสรรค์ของเมือง เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบ ได้แก่ คน สถานที่ และอัตลักษณ์ ต่อมา Richard Florida [6] ได้เสนอแนะการเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านบทบาทของกลุ่มมวลชนสร้างสรรค์ (Creative Class) ดังนั้น เมืองสร้างสรรค์จึงต้องมีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อดึงดูด รักษา และสร้างกลุ่มมวลชนสร้างสรรค์เพื่อเป็นทรัพยากรหลักในการพัฒนาเมืองต่อไป

สำหรับนิยามของเมืองสร้างสรรค์ในปัจจุบันสามารถอ้างอิงได้ตามรายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) เรื่อง Creative Economy Report [7] ได้สะท้อนความหมายของเมืองสร้างสรรค์ว่า เป็นเมืองที่มีกิจกรรมทางความคิดสร้างสรรค์หลากหลายและถูกนำมาเป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองนั้นๆ เช่น การมีระบบบริหารงานที่สร้างสรรค์ บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาล เอกชน ชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ

ดังนั้น การเป็นเมืองสร้างสรรค์จึงไม่เพียงแต่พิจารณามิติทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากความคิดสร้างสรรค์ เป็นเมืองที่สามารถดึงดูดผู้ประกอบการสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมหรือเกิดลงทุน และก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเมือง ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของเมืองในระยะยาว [8]


จะวัดความเป็นเมืองสร้างสรรค์ได้อย่างไร?

ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นและในหลายประเทศที่ให้ความสนใจวัดความเป็นเมืองสร้างสรรค์ สำหรับงานที่มีการทบทวนครอบคลุมตัวชี้วัดจากงานวิจัยที่ผ่านมาและพัฒนาต่อเป็นดัชนีวัดเมืองสร้างสรรค์ คือ Montalto และคณะ ในปี 2019 [9] ที่ต่อมาคณะกรรมการยุโรป (European Union) ได้ใช้ศึกษาจัดทำดัชนีเมืองสร้างสรรค์ 168 เมืองในสหภาพยุโรปตามรายงาน The Cultural and Creative Cities Monitor [10] ซึ่งดัชนีดังกล่าวครอบคลุมตัวชี้วัด 3 กลุ่ม ใน 9 มิติ ได้แก่

1)     ความมีชีวิตชีวาทางวัฒนธรรม (Cultural Vibrancy) ประกอบด้วย

         -       สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัฒนธรรม พิจารณาจาก สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร คอนเสิร์ตและการแสดง และที่นั่งในโรงภาพยนต์

         -       การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม และความน่าดึงดูดใจ พิจารณาจาก จำนวนนักท่องเที่ยวพักค้างคืน ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ผู้เข้าชมในโรงภาพยนตร์ และความพึงพอใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัฒนธรรม

 

2)     เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ประกอบด้วย

         -       งานสร้างสรรค์และตามความรู้ พิจารณาจาก ตำแหน่งงานด้านศิลปะ วัฒนธรรมและความบันเทิง งานด้านสื่อและการสื่อสาร และงานในภาคสร้างสรรค์อื่น ๆ

         -       ทรัพย์สินทางปัญญาและ นวัตกรรม พิจารณาจาก จำนวนคำขอรับสิทธิบัตร ICT และคำของานออกแบบชุมชน

          -       อาชีพใหม่ในภาคสร้างสรรค์ พิจารณาจาก ตำแหน่งงานในองค์กรศิลปวัฒนธรรมและความบันเทิงใหม่ งานในองค์กรสื่อและการสื่อสารใหม่ และงานในองค์กรใหม่ในภาคสร้างสรรค์อื่นๆ

 

3)     สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ประกอบด้วย 

          -       ทุนมนุษย์และการศึกษา พิจารณาจาก จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาด้านศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ บัณฑิตสาขา ICT และปรากฏตัวโดยเฉลี่ยในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย

          -       การเปิดกว้าง ความอดทน และความไว้วางใจ พิจารณาจาก จำนวนบัณฑิตที่เป็นชาวต่างชาติ ประชากรที่เกิดในต่างประเทศ ความอดทนของชาวต่างชาติ การรวมตัวของชาวต่างชาติ และความไว้วางใจ

          -       การเชื่อมต่อในท้องถิ่นและระหว่างประเทศ พิจารณาจาก จำนวนเที่ยวบินโดยสาร ศักยภาพในการเข้าถึงถนน และรถไฟตรงไปยังเมืองอื่น

          -       คุณภาพของธรรมาภิบาล


แม้กรอบแนวคิดดังกล่าวถูกพัฒนาให้ครอบคลุมถึงมิติที่สำคัญๆ และสอดคล้องกับคำนิยามของความเป็นเมืองสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ากรอบตัวชี้วัดดังกล่าวยังไม่สามารถครอบคลุมมิติด้านอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของแต่ละเมือง การพัฒนาตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยจึงเป็นประเด็นท้าทายที่ควรให้ความสำคัญต่อไป เพื่อใช้ในการติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาเมือง หรือการติดตามผลจากการใช้งบประมาณในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ว่าให้ผลผลิตหรือผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ อย่างไร

รูปที่ 2 กรอบแนวคิดดัชนีเมืองสร้างสรรค์

ที่มา : European Commission [10]


ความท้าทายของการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์?

แม้เมืองสร้างสรรค์จะได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับเนื่องด้วยเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ความเป็นเมืองสร้างสรรค์ไม่ได้มีเพียงผลทางบวกอย่างเดียวเท่านั้น จากงานศึกษาของ Florida ในปี 2017 [11] แสดงผลทางลบที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแนวคิดวิกฤติของเมืองใหม่ (New Urban Crisis) กล่าวคือ ผลจากการพัฒนาเมืองสามารถนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งระหว่างเมืองที่ผู้ดำเนินนโยบายมักให้ความสำคัญกับเมืองที่มีศักยภาพสูงแล้วละเลยเมืองเล็กๆ หรือภายในเมืองเองที่ช่องว่างทางรายได้มักสูงขึ้นจากการสนับสนุนกลุ่มมวลชนสร้างสรรค์ (Creative Class) เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปสู่ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาความยากจนที่นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมตามมาได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวมากเกินไป และความหลากหลายทางวัฒนธรรมหากผู้ดำเนินนโยบายให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมหลักในพื้นที่เท่านั้นซึ่งอาจนำไปสู่วัฒนธรรมย่อยที่อาจทำให้ถูกเลือนหายไปจากเมือง

ประเด็นข้างต้นจึงนำไปสู่ความท้าทายที่ตามมาจากการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ว่าผู้ดำเนินนโยบายควรทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างสมดุลภายในเมืองเพื่อลดช่องว่างระหว่างรายได้และระดับความก้าวหน้าของการพัฒนาระหว่างเมือง รวมถึงพัฒนากลไกเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในเมือง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืนได้ต่อไป




เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.unesco.org/en/creative-cities

[2] https://sdgs.nesdc.go.th/เกี่ยวกับ-sdgs/เป้าหมายที่-11-ทาให้เมือง/ 

[3] Landry, C. (2006) ‘Lineages of the creative city’, Research Journal for Creative Cities 1(1):15–23.

[4] https://creativecity.cea.or.th/th/about-us/unesco-creative-cities-network

[5] Landry, C. (2000). The Creative City: A Toolkit for Urban Innovators. London: Earthscan.

[6] Florida, R. (2002). The Rise of the Creative Class. NY : Basic Books.

[7] https://unctad.org/fr/system/files/official-document/ditc20082cer_en.pdf

[8] https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=17453

[9] Montalto, V., Moura, C. J. T., Langedijk, S., & Saisana, M. (2019). Culture counts: An empirical approach to measure the cultural and creative vitality of European cities. Cities, 89, 167-185.

[10] https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/QANDA_19_6005.

[11] Florida, R. (2017). The new urban crisis: How our cities are increasing inequality, deepening segregation, and failing the middle class-and what we can do about it. Hachette UK.

วินัย หอมสมบัติ
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์