เมื่อฟุตบอลคือส่วนหนึ่งของชีวิต จากลิเวอร์พูลถึงนอริช
หงส์แดง ลิเวอร์พูล ยอดทีมแห่งลุ่มน้ำเมอร์ซีย์มีฐานแฟนบอลหนาแน่นทั่วโลก ในแต่ละฤดูกาลนั้น แฟนบอลมีความคาดหวังสูงมาก แต่กลับต้องผิดหวังอย่างซ้ำ ๆ และรอคอยการเป็นแชมป์ลีกสูงสุดยาวนานถึง 30 ปี ส่วนทีมนกขมิ้นนอริชซิตี้ เป็นทีมท้องถิ่นในเมืองเล็กๆ ทางภาคตะวันออก ปีนี้สถานการณ์ไม่ดีนักและเป็นฤดูกาลที่ต้องล้มลุกคลุกคลานอีกครั้ง
การแข่งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 20 ทีม แต่จะมีทีมแชมป์ที่สร้างความสุขสูงสุดให้แฟนบอลได้เพียงทีมเดียว ขณะที่แฟนทีมอื่นที่เหลืออาจจะสุข เสียใจ ผิดหวังบ้าง และมีทีมตกชั้นที่สร้างความทุกข์หนักอีกถึง 3 ทีม แต่แฟนบอลก็ยังติดตามและคอยเชียร์ทีมรักด้วยแรงศรัทธาไม่เสื่อมคลาย และด้วยเหตุที่การเป็นแฟนฟุตบอลมีโอกาสที่จะต้องพานพบกับความผิดหวังมากกว่าสมหวัง จึงนำมาสู่คำถามวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ว่า แฟนบอลที่ตามเชียร์ทีมรักมีเหตุมีผล (rational) หรือไม่?
ตามทฤษฎีแล้ว การตามเชียร์ทีมรักของแฟนบอลนั้นไม่น่าจะสมเหตุสมผลนัก เพราะคนเรามักจะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย (Loss aversion) เนื่องจากโดยธรรมชาตินั้นคนเรามักให้คุณค่าต่อความทุกข์มากกว่าความสุข ดังเช่นคำอธิบายของทฤษฎี Prospect Theory ที่นำเสนอโดย Tversky and Kahneman (1979) ซึ่งมีใจความสำคัญว่า "losses loom larger than gains"
ก่อนที่จะเล่าถึงการวิจัยข้างต้น ผู้เขียนขอปูพื้นทฤษฎีนี้เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย โดยอยากให้ผู้อ่านลองทำความเข้าใจภาพที่ 1 ไปพร้อมกัน ภาพนี้อธิบายว่า ในกรณีที่คนเราได้รับ "ผลลัพธ์" เป็นความสุขหรือความทุกข์เทียบเป็นหน่วยเท่ากัน คือ r=3 หน่วย แต่จะสังเกตได้ว่า "คุณค่า" ที่วัดตามแนวแกนตั้งกลับมีค่าไม่เท่ากัน กล่าวคือ ความสุขที่ได้รับ (แกนตั้งด้านบน) มีค่าเพียง A-X=3 หน่วย เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาความทุกข์ (แกนตั้งด้านล่าง) จะพบว่า B-X=4 หน่วย
ภาพที่ 1: ความทุกข์เจ็บปวดรุนแรงกว่าความสุขที่ได้รับ
ที่มา: Tversky and Kahneman (1979)
เพื่อที่จะเข้าใจทฤษฎีนี้ได้ดียิ่งขึ้น Peter Dolton และ George MacKerron สองนักเศรษฐศาสตร์จาก University of Sussex ในสหราชอาณาจักรจึงได้ออกแบบงานวิจัยโดยสร้าง application ในโทรศัพท์มือถือชื่อว่า "Mappiness app" เพื่อติดตามสอบถามความสุขของแฟนบอลอาสาสมัครในอังกฤษ จำนวน 32,000 ราย โดยแฟนบอลจะต้องตอบคำถามผ่าน application ดังกล่าวทั้งช่วงก่อนเกมการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน และจบเกมการแข่งขัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เก็บข้อมูลนี้ มีคำตอบส่งตรงจากแฟนบอลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลมากกว่า 3 ล้านครั้ง
ข้อค้นพบของงานวิจัยดังที่ปรากฏในภาพที่ 2 อธิบายได้ว่า เส้นที่ 1 (สีฟ้า) ที่แสดงถึงความสุขของแฟนบอลก่อนชมการแข่งขันจะมีค่าค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นมากเมื่อใกล้ถึงเวลาแข่งขัน แต่พอการแข่งขันเพิ่งจบลงสด ๆ ร้อน ๆ ความสุขเมื่อทีมชนะและความเสียใจเมื่อทีมแพ้หรือเสมอจะมีระดับที่สูงมาก (วัดจากความห่างของกราฟออกจากเส้น Happiness delta =0) แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสุขรวมถึงความเสียใจจะค่อย ๆ บรรเทาเบาบางลง (ความห่างของกราฟที่ออกจากเส้น Happiness delta =0 แคบลง) อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมความสุขและความเสียใจยังคงสอดคล้องกับ Prospect Theory ดังจะเห็นได้จากเส้นที่ 4 (สีแดง) ซึ่งแสดงถึงความเสียใจเมื่อทีมแพ้ จะถ่างออกค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นที่ 2 (สีเขียว) ซึ่งแสดงถึงความสุขเมื่อทีมชนะ ทั้งนี้ นักวิจัยประเมินว่า ความเสียใจเมื่อทีมแพ้มีระดับที่สูงกว่าความสุขเมื่อทีมชนะถึง 4 เท่าตัว
ภาพที่ 2: ดัชนีความสุขที่ได้รับจากการชมเกมฟุตบอล
ที่มา: Dolton and MacKerron (2018)
จากผลการวิจัยดังกล่าว คำตอบต่อคำถามข้างต้นของนักวิจัยคือ การติดตามเชียร์ทีมรักนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ตาม คำอธิบายที่พอจะสนับสนุนเหตุผลของแฟนบอลที่ยังคงติดตามเชียร์ต่อไปมีดังนี้
ประการแรก เป็นผลจากความอคติอย่างเป็นระบบของการคาดการณ์โอกาสที่จะชนะ (Systematic bias in estimating the probability of winning) โดยงานวิจัยพบว่า แฟนบอลมักจะประเมินทีมรักของตนเองสูงเกินกว่าความเป็นจริง และเชื่อเสมอว่า ทีมของตนมีโอกาสที่จะชนะ จึงติดตามชมเกมการแข่งขัน
ประการที่สอง คุณค่าของเรื่องราวที่ชวนให้ติดตาม (Value of curiosity) หากเปรียบการชมเกมฟุตบอลเหมือนกับการดูภาพยนตร์สักเรื่อง เราอาจจะไม่ได้สนใจมากนักว่าตอนจบจะเป็นเช่นไร แต่การได้ชมเกมหรือระหว่างที่ชมเกมนั้นมีเรื่องราวที่ชวนให้ติดตาม รวมถึงได้อรรถรสชวนให้ตื่นเต้น และเพลิดเพลิน
ประการที่สาม การเป็นแฟนฟุตบอลเป็นการเสพติดอย่างหนึ่ง (Being a football fan is addictive) โดยผู้วิจัยอ้างงานของ Becker and Murphy (1988) ว่า เมื่อคนเราเสพติดอะไรบางอย่าง ไม่ว่าผลระหว่างทางจะเป็นเช่นไร ในท้ายที่สุด เราจะกลับไปชื่นชมยินดีในจุดสูงสุดหรือความสำเร็จสูงสุดเสมอ ซึ่งการติดตามเชียร์ฟุตบอลก็เช่นกัน แฟนบอลต่างก็หวังว่า ทีมของตนจะกลับสู่ความยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อครั้งวันวานอีกครั้ง
ประการสุดท้าย การได้เข้าเป็นพวกหรือได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม (Being in a tribe) ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเข้าร่วมเป็นพวกหรือเป็นหมู่เหล่าของกลุ่มทางสังคมใด ๆ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงตัวตนหรืออัตลักษณ์รูปแบบหนึ่งว่าเป็นพวกใคร กลุ่มใคร หรือในกรณีฟุตบอลก็เป็นแฟนทีมอะไร ตามเชียร์ใคร นอกจากนี้ การเชียร์ฟุตบอลมีผลต่อสังคมเพื่อนฝูง ได้มีโอกาสได้พูดคุย วิจารณ์และสังสรรค์
ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลของแฟนบอลเพิ่มเติมจากงานวิจัยข้างต้น ผู้เขียนได้มีโอกาสสอบถามไปยังกลุ่มนอริช ซิตี้ ไทยแลนด์ แฟนคลับ ซึ่งเป็นทีมเล็กและต้องกระเสือกกระสนหนีตาย วนเวียนไปมาระหว่างพรีเมียร์ลีกและลีกรองถึงเหตุผลของการติดตามเชียร์ทีมรักทั้งที่ผลการแข่งขันไม่ค่อยจะเป็นใจมากนัก
เริ่มจากจุดเริ่มต้นของการเชียร์นอริช ซึ่งมีหลากหลายเหตุผล ทั้งที่อธิบายได้และไม่ได้ ตั้งแต่เสื้อสวย โลโก้ตรานกขมิ้นสะดุดตา เชียร์ตามคนรุ่นก่อน เป็นตัวละครในเกม มีสไตล์การเล่นที่ชื่นชอบ ผลงานในอดีต มีนักฟุตบอลคนใดคนหนึ่งที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่น่าจะให้คำตอบของการเชียร์บอลที่ชัดเจนขึ้นคือความคาดหวังของแฟนบอล
สำหรับทีมเล็กอย่างนอริช แฟนบอลไม่ได้คาดหวังสูงมากมาย เหมือนชีวิตที่มีทั้งสมหวังและผิดหวัง หากอยู่รอดในพรีเมียร์ลีกได้นาน ๆ หรือได้อันดับสูง ๆ มีนักเตะติดทีมชาติ ก็ถือเป็นโบนัส หรือหากตกชั้นไปก็ตามไปเชียร์เพื่อให้กลับมาลีกสูงสุดได้อีกครั้ง ซึ่งผลการแข่งขันเป็นส่วนหนึ่ง แต่ความสนุกและอรรถรสในการดูบอลก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมที่สามารถเบียดชนะทีมใหญ่ได้ มันคือความรู้สึกที่พิเศษ
เมื่อเปรียบเทียบกับแฟนบอลลิเวอร์พูลซึ่งเป็นทีมใหญ่ หวังได้ หล่อเลี้ยงด้วยอคติของการมองโลกในแง่ดี (optimism bias) ดังนั้น แฟนบอลจะเชื่ออยู่เสมอว่า ฤดูกาลนี้จะต้องเป็นของเราสักที ในขณะที่นอริชซิตี้ เคยเข้าใกล้ความสำเร็จสูงสุดเมื่อฤดูกาล 1992-93 โดยจบที่อันดับ 3 เท่านั้น การที่แฟนบอลเลือกเชียร์ทีม Underdog จึงอธิบายได้อย่างดีถึงคาดหวังและความสุขของการเชียร์บอล
จากเหตุผลที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้น พอจะอธิบายถึงคำถามที่เกริ่นไว้เป็นอย่างดีว่า เหตุใดแฟนบอลจึงยังคงตามลุ้นตามเชียร์ทีมรัก การจดจำเฉพาะแง่มุมของความสุขและความสำเร็จ และพยายามหลีกเลี่ยงความผิดหวัง ถือเป็นกลไกการเอาตัวรอดของมนุษย์อย่างหนึ่ง ที่ช่วยไม่ให้ตัวเองต้องจมปลักอยู่กับเรื่องร้าย ๆ นานจนเกินไป และเมื่อระยะเวลาผ่านไปความทรงจำไม่ว่าจะเรื่องดีหรือร้ายจะค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงไป เมื่อฤดูกาลใหม่เริ่มต้นขึ้น ก็กลับมาตามลุ้นตามเชียร์กันอีกครั้ง
แหล่งอ้างอิง
Becker, G.S. and Murphy, K.M. (1988). A Theory of Rational Addiction. Journal of Political Economy, 96(4), pp. 675-700
Dolton, P. and MacKerron, G. (2018). Is Football a Matter of Life and Death – Or is it more Important than that? NIESR Discussion Paper No. 493.
Tversky, A. and Kahneman, D. (2008). Prospect theory: an analysis of decision under risk. Econometrica, 47(2), 263-292.
สัมภาษณ์ สมาชิกในกลุ่ม "นอริชซิตี้ ไทยแลนด์ แฟนคลับ" 16 มิถุนายน 2563.