เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้จันทนา ฟองทะเล หรืออานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัดสินใจเดินทางเข้าป่า หนังสือเรื่อง‘จากดอยยาวถึงภูผาจิ’ จึงเป็นบันทึกของจันทนา ฟองทะเล ตลอดการเดินทางนั้น การเดินทางเริ่มจากกรุงเทพไปดอยยาว จังหวัดเชียงราย ในปลายเดือนตุลาคม 2519 เพื่อข้ามเข้าลาว แล้วเดินทางต่อไปยังเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนาในจีน ก่อนเดินทางกลับไทยเข้าฐานที่มั่นน่าน เมื่อต้นปี 2522 รวมถึงเรื่องราวการปฏิบัติการของจันทนา ฟองทะเล ในพื้นที่อำเภอทุ่งช้าง เชียงกลาง ปัว และท่าวังผา จังหวัดน่าน ตลอดปี 2522-2523 ก่อนย้ายไปภูผาจิ เขตฐานที่มั่นพะเยา ช่วงต้นปี 2524 การเดินทางสิ้นสุดลงในปี 2525 เมื่อจันทนา ฟองทะเล ออกจากป่า กลับเข้าเมือง
นอกจากเรื่องราวการเดินทาง ภูมิประเทศ บทเพลง บทกวี และหนังสือฝ่ายซ้าย รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว จากดอยยาวถึงภูผาจิ ยังเล่าวิถีชีวิตทางด้านเศรษฐกิจของชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย
ในทางเศรษฐกิจ สังคมทุกสังคมจะมีกลไกหรือสถาบันแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาด้านการผลิต และปัญหาการแบ่งปันผลผลิต ในส่วนของปัญหาด้านการผลิตนั้น สังคมจะมีกลไกหรือวิธีการโยกย้ายหรือมอบหมายให้คนในสังคมไปทำงานผลิตสิ่งของเครื่องใช้ที่คนในสังคมต้องการบริโภคอุปโภคกันได้อย่างไร ส่วนปัญหาการแบ่งปันผลผลิตนั้น สังคมจะมีวิธีการแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ที่ผลิตได้กันอย่างไร ที่ผ่านมา สังคมต่าง ๆ มีกลไกหรือสถาบันที่ใช้แก้ไขปัญหาพื้นฐานดังกล่าวนี้อย่างน้อย 3 วิธีคือ จารีตประเพณี การสั่งการหรือการวางแผนจากส่วนกลาง และตลาดหรือการซื้อขายแลกเปลี่ยน
วิธีการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจทั้ง 3 วิธีดังกล่าว ได้เล่าสอดแทรกไว้ในหนังสือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ ในส่วนของการใช้จารีตประเพณีแก้ไขปัญหาพื้นฐานด้านการผลิตและการแบ่งปันผลผลิต คนในสังคมจะทำการผลิตอย่างที่เคยทำตาม ๆ กันมา การเปลี่ยนแปลงการผลิตไปจากเดิมจะสุ่มเสี่ยงให้ขาดแคลนสินค้าที่คนในสังคมต้องการได้ เช่นเดียวกัน การแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ที่ผลิตได้ก็เป็นไปตามจารีตประเพณีที่เคยทำกันมา หนังสือได้เล่าเรื่องการใช้จารีตประเพณีแก้ไขปัญหาการผลิต เช่น ในสังคมชาวม้งแถบภูผาจิ ชาวม้งมักทำไร่ข้าว ไร่ข้าวโพด และไร่ฝิ่น ไปพร้อมกัน “ปกติครอบครัวชาวม้งจะทำไร่ปีละ 3 ผืนพร้อม ๆ กัน คือ ไร่ข้าว ไร่ข้าวโพด และไร่ฝิ่น ไร่ข้าวจะประกอบด้วยข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว โดยชาวม้งจะบริโภคข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ส่วนข้าวเหนียว ชาวม้งจะนำมาทำขนมในวันขึ้นปีใหม่ที่เรียกว่า ‘หยัว’ คือ ข้าวเหนียวสุกตีจนเป็นแป้งเหนียว อัดเป็นแผ่น กับใช้ทำข้าวหมากเพื่อละลายน้ำกินแก้กระหายเมื่ออยู่ในไร่ ในไร่ข้าว เขาจะปลูกแตกและฟักเขียวแซม เพื่ออาศัยแตงกินแทนน้ำในช่วงเกี่ยวข้าว และลำเลียงฟักเขียวกลับบ้านเป็นเสบียงเมื่อสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว สำหรับไร่ข้าวโพด วัตถุประสงค์หลักคือ เป็นอาหารสำหรับหมู ไก่ และปลูกฟักทองแซมข้าวโพด เพื่ออาศัยยอดฟักทองกินเป็นอาหารในต้นฤดูฝน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดเสร็จก็เก็บลูกฟักทองกลับบ้าน ส่วนไร่ฝิ่นคือสินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยน และจะปลูกผักกาดกับยาสูบแซม ซึ่งเป็นทั้งอาหารและพืชที่เกื้อกูลการเจริญเติบโตของต้นฝิ่น” (หน้า 208-209)
ส่วนการใช้จารีตประเพณีแบ่งปันผลผลิตที่ผลิตได้นั้น ก็มีเรื่องราวของชาวบ้านตำบลตาลชุม ซึ่งเป็นพื้นที่ใต้สุดของอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ที่มีจารีตประเพณีกำหนดว่าใครจะเป็นเจ้าของสัตว์ที่ล่าได้ในป่า “ในการล่าสัตว์ ชาวบ้านจะถือว่าใครยิงได้เป็นของคนนั้น ถ้าร่วมกันล่าหลายคนที่เรียกว่า ‘ไล่เลา’ ก็แบ่งกันไป โดยผู้ยิงถูกจะได้หัวสัตว์ไปก่อน หากสัตว์ถูกยิงบาดเจ็บและหนีไปตายในที่ดินหรือป่าเลาของคนอื่น ซึ่งภาษาท้องถิ่นที่นี่เรียกว่า ‘หนีไปตายเลาอื่น’ เจ้าของที่ดินหรือป่าเลาแห่งนั้นจะเป็นเจ้าของสัตว์ แม้จะไม่ได้ร่วมล่าด้วยก็ตาม” (หน้า 148-149)
นอกจากจารีตประเพณีแล้ว การใช้ระบบสั่งการก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่แก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจด้วย ในระบบการสั่งการนี้ การตัดสินใจเรื่องการผลิตและการแบ่งปันผลผลิตสั่งการมาจากผู้ปกครอง ผู้ปกครองกำหนดให้ใครในสังคมไปทำอะไร และใครในสังคมจะได้ผลผลิตเหล่านั้นไป โดยทั่วไปแล้ว มักคิดกันว่า สังคมคอมมิวนิสต์ที่มีการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางเป็นสังคมที่ใช้ระบบสั่งการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจเท่านั้น เอาเข้าจริงแล้ว ในระบบเศรษฐกิจหรือสังคมแบบอื่นก็ใช้ระบบสั่งการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ในสังคมประชาธิปไตย หรือสังคมที่ใช้การซื้อขายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ก็ใช้ระบบสั่งการแก้ไขปัญหาพื้นฐานเศรษฐกิจบางอย่างด้วย เช่น การเกณฑ์ทหาร หรือการเก็บภาษี ในหนังสือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้การสั่งการแก้ไขปัญหาการผลิต โดยกำหนดว่าใครจะต้องทำอะไร การดำเนินการต้องรอคำสั่งจากผู้นำหรือจากพรรค “ชีวิตในโรงเรียนการเมืองการทหาร 6 ตุลา นอกจากการศึกษาทฤษฎีการเมือง ฝึกทหาร ภารกิจที่สำคัญ จำเป็น และหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างหนึ่งก็คือ การใช้แรงงาน ในฐานะนักเรียน เราไม่ต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตหลักคือทำไร่ข้าว การใช้แรงงานเท่าที่จำเป็นสำหรับพวกเราขณะนั้นคือ รดน้ำสวนผัก แบกฟืน เป๊อะฟักทองจากไร่ และการลำเลียง” (หน้า 57) หรือกรณีของเขมรแดงที่ได้ใช้ระบบสั่งการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตอย่างเข้มงวด ก็เป็นไปตามเรื่องราวที่จันทนา ฟองทะเลได้รับฟังมา ขณะไปปฏิบัติการพื้นที่น่านใต้ ว่า “รัฐบาลเขมรแดงแยกหญิงชาย สามีภรรยาออกจากกันไปอยู่คนละเขตงานหรือคนละจังหวัด เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตรวมหมู่อยู่ในค่ายและที่พัก โดยไม่ต้องเกิดภาระในทางครอบครัว บางคนเคยนั่งรถบรรทุกทหารผ่านทุ่งนา ซึ่งมีแต่ผู้หญิงดำนาอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ เขาเล่าว่าเมื่อผู้หญิงเห็นเขาบนรถจะหยุดยืนดูและหัวเราะกัน เหมือนได้เห็นมนุษย์พันธุ์ประหลาด เขารู้สึกว่าผู้หญิงเหล่านั้นกำลังถูกทำให้เป็นบ้า เป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ผิดธรรมชาติของระบบเขมรแดง” (หน้า 119) ในระบบเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลางอย่างพรรคคอมมิวนิสต์นี้ พรรคไม่เพียงสั่งการด้านการผลิตเท่านั้น แต่ยังสั่งการเรื่องการจัดสรรผลผลิตอีกด้วย เช่นตัวอย่างที่เล่าในหนังสือเกี่ยวกับการร้องขอข้าวของเครื่องใช้จากพรรค แต่สิ่งที่ได้รับกลับไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการ “เมื่อขอลูกตระกร้อหรือวอลเลย์บอลเพื่อการเล่นกีฬาออกกำลังกาย เขาจะได้รับจอบเสียมมาแทนเพราะออกกำลังเหมือนกัน แต่ได้งานมากกว่า” (หน้า 119)
แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะใช้ระบบสั่งการแก้ไขปัญหาการผลิตและการจัดสรรผลผลิตดังกล่าว แต่ก็ยังใช้ตลาดหรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนร่วมแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ระหว่างการเดินทางจากลาวไปจีน จันทนา ฟองทะเลเล่าว่า ที่ปากแบง ในลาว ก็ใช้การซื้อขายหรือตลาดแก้ไขปัญหาการจัดสรรผลผลิต ตลาดที่ได้พบเห็นมานั้น มีทั้งการซื้อขายแบบเอาสินค้ามาแลกกันโดยตรง และการซื้อขายที่ใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน “ในวันหยุด เราจะลงเรือลัดเลาะไปตามหมู่บ้านริมน้ำโขง หาซื้อเสบียง ยาเส้น น้ำอ้อย และเหล้าขาว ประชาชนลาวแถบนี้ค่อนข้างคุ้นเคยกับอ้ายน้องไทยและยินดีแลกเปลี่ยนกับเรา เพราะเราใช้เงินบาทซึ่งเป็นที่เชื่อถือมากกว่าเงินกีบ ประกอบกับเรามีสินค้าจำเป็นติดตัวกันหลายชนิด เช่น เข็มเย็บผ้า สบู่ ยาสีฟัน ถ่านไฟฉาย เข็มเย็บผ้า 1 เล่มหรือสบู่ครึ่งก้อนอาจจะแลกไก่ได้ 1 ตัว ถ่ายไฟฉาย 1 คู่อาจแลกเหล้าได้ 1 เท (20 ทะนาน หรือประมาณ 20 ลิตร) การแลกเปลี่ยนของเราไม่จำกัดเฉพาะประชาชน ทหารอ้ายน้องก็ชอบแลกเปลี่ยนสินค้ากับเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ทหาร เนื่องจากพวกเราเป็นทหารแนวหลัง อุปกรณ์ติดตัวจึงเป็นของจีนและเป็นของใหม่เสียส่วนใหญ่ เช่น กระติกน้ำสีเขียว ซึ่งในป่าเรียกตามภาษาเวียดนามว่า บิดง เป้หรือบัลโล เข็มขัดจีนหัวเป็นรูปดาว แต่อุปกรณ์ของอ้ายน้องลาวส่วนใหญ่เป็นของทหารอเมริกัน เช่น กระติกน้ำสแตนเลส เข็มขัด เป้าตรายูเอส.อาร์มี อ้ายน้องชอบอุปกรณ์แบบจีน แต่พวกเราชอบอุปกรณ์แบบอเมริกัน การแลกเปลี่ยนจึงสะดวกรวดเร็ว บางทีเราก็เอาสบู่แลกกระติกน้ำ เอาผ้าเช็ดตัวแลกเป้ เมื่อกลับออกจากหมู่บ้านหรือค่ายทหาร เราก็แปรสภาพจากทหารแนวหลังที่แต่งเครื่องแบบใหม่เอี่ยมเหมือนเพิ่งจบจากโรงเรียนกลายเป็นทหารเก่าผู้กรำศึกมาจากแนวหน้า” (หน้า 103)
เช่นเดียวกับลาว ในพื้นที่สีแดงแถบจังหวัดพะเยา ชุมชนแถบนั้นก็ใช้ซื้อขายหรือตลาดแก้ไขปัญหาการจัดสรรผลผลิตด้วย “การค้าขายพัฒนาเป็นล่ำเป็นสันขนาดมีตลาดนัดทุกเดือนในบริเวณเขตชายฐานที่มั่นที่เรียกว่าปางมะโอ โดยมีทหารป่าคอยคุ้มกันความปลอดภัย ผมมีโอกาสเห็นตลาดนัดครั้งหนึ่งซึ่งจัดขึ้นกลางป่า ก่อนเปิดตลาดสัก 2-3 วัน หน่วยทหารจะจัดกำลังเคลียร์พื้นที่และแนวป้องกันไว้ก่อน เมื่อถึงวันนัด ขบวนลำเลียงชาวเย้าก็จะเดินป่าเข้ามาประมาณ 1 วัน ขบวนชาวม้งจากฐานที่มั่นก็เดินลงไปใช้เวลาประมาณ 1 วันเท่านั้น สินค้าจากเย้าเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าจากชาวม้งจะเป็นผลิตผลจากป่า เช่น เขากวาง ดีหมี แต่สินค้าสำคัญที่สุดคือฝิ่นดิบ ซึ่งมีแต่เขตปกครองทหารป่าเท่านั้นที่ยังเพาะปลูกได้โดยเสรี เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเป็นผลผลิตเดียวที่มีฐานะเป็นสินค้าภายในระบบเศรษฐกิจบรรพกาลหรือเศรษฐกิจทำเองใช้เอง” (หน้า 161-162)
นอกจากวิธีการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจที่เล่าสอดแทรกในหนังสือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ แล้ว วิธีการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ยังส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ล่มสลายลงอีกด้วย ในประเด็นนี้ จันทนา ฟองทะเล อาจเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนาม การที่จีนสนับสนุนเขมรแดง โซเวียตสนับสนุนเวียดนาม ลาวร่วมกับเวียดนาม การตัดสินใจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เลือกเข้าฝ่ายจีน ปัญหาภายในของ พคท. รวมถึงการปรับยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย เป็นสาเหตุสำคัญให้ พคท. ล่มสลายในที่สุด แต่เอาเข้าจริงแล้ว หนังสือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ ก็ยังสะท้อนให้เห็นได้ว่า ระบบการสั่งการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ พคท. ล่มสลายลง เนื่องจากการผลิตในระบบรวมหมู่ไม่สามารถสร้างรายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในสังคมได้ คนในสังคมย่อมแสวงหาวิธีการอื่นที่สร้างรายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมแทน ดังเช่นกรณีทหารชาวลัวะ ในกองร้อย 303 ที่รับผิดชอบบริเวณฝั่งตะวันตกของน้ำว้า ได้ทยอยลาออกไปเนื่องจากความขัดสน “ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา กองร้อย 303 อยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย ทหารลัวะซึ่งเป็นกำลังหลักทยอยกันลาออกไปเป็นประชาชน เนื่องจากความเบื่อหน่ายสิ้นหวัง บางคนพอเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวก็แต่งงาน ชีวิตครอบครัวในกองทหารเป็นชีวิตที่อัตคัดและอึดอัด ที่สำคัญคงไม่มีหลักประกันใดๆ สำหรับชีวิตครอบครัวและลูกเต้า ระบบเศรษฐกิจรวมหมู่ชีวิตรวมหมู่ขัดแย้งกับชีวิตเกษตรกรรมดั้งเดิมของสังคมภูดอย เมื่อความจำเป็นในชีวิตมีมากขึ้น อุดมการณ์เพียงอย่างเดียวในท่ามกลางความขัดสน จึงไม่อาจเหนี่ยวรั้งพี่น้องลัวะได้อีกต่อไป” (หน้า 117) หรือความล้มเหลวของระบบการผลิตแบบรวมหมู่หรือระบบสหกรณ์ในสังคมชาวม้ง ดังเช่นบันทึกท้ายหนังสือที่ว่า “2 ปีแรกสหกรณ์คึกคักมีชีวิตชีวาเพราะคนร่วมมาก ทุกคนปลูกบ้านหลักเล็กๆ รอบสหกรณ์หมู่บ้านของตน มีชีวิตและทำงานแบบรวมหมู่ ทุกคนสนุกสนาน มีโอกาสร้องรำทำเพลง ศึกษาการเมือง ทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกันหลายอย่าง เรียนหนังสือ รับรู้เรื่องราวข่าวสารจากคนของ พคท. ที่ลงไปอยู่ด้วย ยามเจ็บป่วย มีหมอสหกรณ์ดูแลรักษาชีวิต รวมหมู่จึงสนุกสนาน แต่หลังจากปี 2519 สมาชิกสหกรณ์ที่เป็นคนวัยกลายคน เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ก็เริ่มทยอยออกไปทำไร่ส่วนตัว เลี้ยงหมูส่วนตัวมากขึ้น คงเหลือเพียงเยาวชนหนุ่มสาวเท่านั้น เนื่องจากผลผลิตของสหกรณ์ไม่มาก การแบ่งปันไม่พอกินและขาดรายได้ซึ่งเดิมปลูกฝิ่น เพราะการทำสหกรณ์เบียดบังเวลาในชีวิตไป จึงจำเป็นต้องออกไปหาประโยชน์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น” (หน้า 238)
นอกจากความล้มเหลวของระบบสั่งการในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ระบบแบบสั่งการที่เข้ามาในสังคมยังไม่สอดคล้องกับจารีตประเพณีซึ่งเป็นกลไกหรือสถาบันแบบเดิมของสังคมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ คนในสังคมที่อาศัยกลไกหรือสถาบันแบบจารีตประเพณีแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมาแต่เดิมจึงไม่เข้าใจว่ากลไกหรือสถาบันแบบใหม่ที่เข้ามานั้นจะแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ปัญหานี้สะท้อนได้จากเรื่องราวของเด็กชาวม้งที่ไม่เคยเห็นสังคมภายนอกว่า “เขาเข้าใจเพียงว่า คนที่จะมีข้าวกินได้ก็คือคนที่ลงมือปลูกข้าวเอง จะมีสิ่งใดก็ต้องลงมือทำสิ่งนั้นโดยตรง ด้วยความเข้าใจนี้ จึงกลายเป็นความขัดแย้งในใจ เมื่อพบว่าหน่วยงานบางหน่วยของ พคท. ไม่ได้ทำการผลิต และมักมีความไม่พอใจเสมอเมื่อพบว่า กองทหารหลักซึ่งมีหน้าที่สู้รบ ทำเพียงสวนผักเล็ก ๆ แล้วขอซื้อข้าวและหมูจากประชาชน มีความไม่พอใจเมื่อพบว่า ปัญญาชนทำไร่ไม่เป็นหรือทำอะไรเงอะงะน่ารำคาญ นอกจากนี้ ความเข้าใจต่อผู้คนและความขัดแย้งต่าง ๆ ก็มีน้อยมาก เข้าใจว่า ‘นักศึกษา’ คือชนชาติอีกชนชาติหนึ่ง ที่มีคนใส่แว่นตามากมาย และทำงานไม่เป็น” (หน้า 239)
หนังสือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ ไม่เพียงบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดการเดินทางของจันทนา ฟองทะเล ทว่าหนังสือเล่มนี้ยังบอกเล่าวิธีการที่สังคมต่าง ๆ ใช้แก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาการผลิตและการแบ่งปันผลผลิตอีกด้วย สังคมต่าง ๆ สร้างกลไกหรือสถาบันขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว เช่น การใช้จารีตประเพณี การสั่งการ และการซื้อขายแลกเปลี่ยน หากกลไกหรือสถาบันใดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สังคมก็อาจเลือกใช้กลไกหรือสถาบันแบบอื่นเข้ามาเสริมหรือทดแทนกลไกหรือสถาบันแบบเดิม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมแล้ว กลไกหรือสถาบันที่ใช้แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจย่อมต้องปรับเปลี่ยนได้ การยึดติดกับกลไกหรือสถาบันแบบเดิมโดยไม่ยอมให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้ แต่ยังอาจทำให้สังคมล่มสลายตามไปด้วย