อ่านแฟรงเกนสไตน์กับการจัดการปิศาจร้ายที่ชื่อว่าเทคโนโลยี

18 มกราคม 2567
845 views

แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) มักจะถูกเข้าใจว่าคือชื่อของสิ่งมีชีวิตประหลาดที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคน แต่นั่นคือความเข้าใจผิด อันที่จริงแฟรงเกนสไตน์คือนามสกุลของตัวละครเอกในนวนิยาย แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรเมธีอุสยุคใหม่ (Frankenstein; or The Modern Prometheus) แต่งโดยนักเขียนหญิงชาวอังกฤษชื่อแมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) ที่ตีพิมพ์ในปี 1818 ที่มีชื่อเต็มว่า วิคเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ (Victor Frankenstein)


วิคเตอร์เป็นชายหนุ่มผู้ปราดเปรื่องจากสวิตเซอร์แลนด์ เขาไปศึกษาต่อในเยอรมนีและหมกมุ่นอยู่กับการค้นหาหนทางที่จะทำให้มนุษย์เอาชนะความตาย  เขาค้นคว้าและทำงานหามรุ่งหามค่ำในการนำเอาอวัยวะจากซากศพมาปะติดปะต่อกัน  ความน่าขยะแขยงของงานทำให้เขาต้องแอบทำงานในที่ลับ โดยแทบไม่ได้ออกไปสูดอากาศนอกห้องทำงานและน้อยครั้งที่จะได้พบปะผู้คน  ความพยายามอย่างหนักทำให้เขาประสบความสำเร็จ  ซากศพกลับมามีชีวิต  แต่เมื่อเขาออกจากความอึดอัดและกลิ่นเน่าเหม็นในห้องทำงานเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ สิ่งมีชีวิตประหลาดที่เขาสร้างขึ้นกลับหายตัวไป


สิ่งมีชีวิตที่วิคเตอร์สร้างขึ้นมีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว แต่มีพละกำลังมหาศาล เคลื่อนไหวรวดเร็ว สามารถทนทานได้ในทุกสภาพแวดล้อม มีสมองที่พร้อมเรียนรู้สรรพสิ่ง  แต่ความแข็งแกร่งทางกายภาพและความสมบูรณ์ทางสติปัญญาไม่ได้หมายความว่ามันมีจิตใจต่างจากคนปกติ  รูปโฉมอัปลักษณ์ทำให้สิ่งมีชีวิตตนนี้ถูกรังเกลียดจากชุมชนมนุษย์  ความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายเป็นสิ่งที่ทรมานเกินทนและกัดเซาะจริยธรรมในใจจนกระทั่งความรุนแรงและความตายบังเกิดขึ้น  หากปล่อยให้เจ้าสิ่งมีชีวิตร้ายนี้มีชีวิตอยู่ต่อไป มันอาจจะทำร้ายผู้ชีวิตผู้คนมากมาย สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่กำลังเป็นภัยต่อมนุษยชาติ


ด้วยเหตุนี้เอง วิคเตอร์ในฐานะผู้ประดิษฐ์สิ่งมีชีวิตเลวร้ายนี้ขึ้นมาจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งความโหดร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น  เขาสร้างมันได้ก็ต้องทำลายมันได้


ทุกวันนี้ แฟรงเกนสไตน์ จึงเป็นนวนิยายที่มักถูกหยิบยกให้เป็นข้อคิดเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีทันสมัยที่อาจจะสร้างผลร้ายกับมนุษยชาติ เช่น ยานิส วารูฟราคิส (Yanis Varufrakis) นักเศรษฐศาสตร์ชาวกรีกเขียนถึง แฟรงเกนสไตน์ ในหนังสือ คุยกับลูกสาวเรื่องเศรษฐกิจ : ประวัติศาสตร์ย่อของทุนนิยม (Talking to My Daughter about the Economy: A Brief History of Capitalism) เพื่อสะท้อนว่าการจัดการเทคโนโลยีเพื่อกำไรในระบบทุนนิยมอาจจะทำให้ผู้คนตกเป็นทาสของเครื่องจักรและดำรงชีวิตด้วยความหวาดผวาว่าจะถูกแย่งงาน [1] หรือ “คำพยากรณ์แฟรงเกนสไตน์” ในหนังสือ เซเปียนส์ : ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind) ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ที่บอกว่า “วันสิ้นโลกกำลังใกล้มาถึง หากไม่มีหายนะภัยนิวเคลียร์หรือนิเวศวิทยามาแทรกเสียก่อน ก้าวย่างของการพัฒนาเทคโนโลยีจะนำไปสู่การแทนที่ โฮโมเซเปียนส์ ด้วยสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง” [2]


สิ่งที่น่าคิดจากการอ่าน แฟรงเกนสไตน์ ก็คือ แล้วมนุษย์จะจัดการกับเทคโนโลยีใหม่ที่ก่อผลเสียร้ายแรงแก่เผ่าพันธุ์ของตนอย่างไร?  หรือมนุษย์ควรเลิกพัฒนาเทคโนโลยี? เนื่องจากความสามารถในการสร้างเครื่องมือเป็นลักษณะจำเพาะของมนุษย์และการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติเสมอมา  ดังนั้นเทคโนโลยีใหม่จะถูกคิดค้นขึ้นเสมอ และการถอยหลังเข้าคลองแก้ปัญหาโดยการเลิกสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่จึงเป็นไปไม่ได้


ในหนังสือ แฟรงเกนสไตน์ การจัดการกับเจ้าสิ่งมีชีวิตชั่วร้ายเป็นภาระกิจของวิคเตอร์ เขายอมสละชีวิตของตนเพื่อทำลายชีวิตสิ่งประดิษฐ์ของเขาเพราะเขารู้สึกว่าตนเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการสร้างมันขึ้นมา  แต่ทว่าในโลกแห่งความจริง เทคโนโลยีไม่ได้ถูกพัฒนามาโดยบุคคลที่ชาญฉลาดผู้ใดผู้หนึ่งแต่เพียงผู้เดียว  จริงอยู่ที่โลกเรามีนักประดิษฐ์ผู้ยอดเยี่ยมมากมาย  โธมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ผู้ประดิษฐ์หลอดไส้แห่งบริษัท General Electric อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ผู้อ่านนึกถึง  แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เขาไม่ได้ประดิษฐ์หลอดไส้มาจากอากาศอันว่างเปล่า  เขาต้องใช้ความรู้เรื่องการเปล่งแสงของวัตถุประกอบกับความรู้เรื่องสุญญากาศซึ่งพัฒนาเรื่อยมาก่อนหน้าเขาหลายร้อยปี  อันที่จริง มีคนที่ทดลองผลิตหลอดไส้ก่อนหน้าเอดิสันถึง 22 คน  แน่นอนว่าว่าเขาเรียนรู้จากหลอดไส้ยุคก่อนหน้าเขาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง [3]  ในแง่นี้ เทคโนโลยีใหม่เกิดจากนำความรู้ด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมมาผสมผสานกัน ความรู้ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นกลายเป็นสมบัติของสังคมที่ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีก นี่เรียกว่า “กระบวนการผสมผสานเครื่องมือของสังคม (communal tool combination process)” [4]  ด้วยธรรมชาติของเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตของสังคมจึงเป็นไปได้ยากที่จะมีนักประดิษฐ์คนใดรู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบต่อผลพวงทางลบของสิ่งที่ตนสร้างขึ้นเหมือนที่วิคเตอร์รู้สึก


จากตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยีทำให้คนตกเป็นทาสเครื่องจักรและถูกเครื่องจักรแย่งงานที่วารูฟราคิสกล่าวถึง ไม่สามารถบอกได้เลยว่าการที่คนงานในโรงงานทอผ้าตกงานเพราะมีการนำเครื่องจักรมาใช้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 นั้นเป็นความผิดของนักประดิษฐ์คนใด เพราะเครื่องจักรเหล่านั้กถูกพัฒนาขึ้นจากความรู้มากมายหลายด้านที่สะสมกันมาตั้งแต่อดีต  ในทำนองเดียวกัน ผู้เขียนเชื่อว่าหากในอนาคต AI จะทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน AI ต้องถูกพัฒนาและนำไปใช้โดยคนมากมายจนไม่สามารถบอกได้ว่าใครคือผู้ประดิษฐ์ AI ที่ทำให้คนตกงาน


ในปัจจุบัน กลไกหนึ่งในสังคมที่อาจจะบอกว่านักประดิษฐ์ที่สร้างเทคโนโลยีที่ส่งผลเสียต่อสังคมคือใครก็คือสิทธิบัตร  แต่การมีสิทธิบัตรก็สร้างเฉพาะประโยชน์ทางการค้าแก่ผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ไม่ได้บีบให้เขาต้องรับผิดชอบกับผลร้ายของสิ่งที่เขาอ้างว่าตนได้คิดค้นขึ้นมา เนื่องจากสิทธิบัตรเป็นการทำให้เจ้าของเทคโนโลยีกลายเป็นผู้ขาย ผู้ใช้กลายเป็นผู้ซื้อ และเทคโนโลยีใหม่เป็นสินค้า  ในการนี้ ผลผลิตจากเทคโนโลยีใหม่กลายเป็นของบุคคล (individual) ซึ่งขัดกับธรรมชาติของเทคโนโลยีที่เป็นของสังคม (communal)  ผู้ขายสามารถบอกได้ว่าตนทำหน้าที่เพียงสร้างสรรค์เทคโนโลยี แต่ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีไปใช้เพราะการนำไปใช้เป็นเรื่อของผู้ซื้อ เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบต่อผลเสียของเทคโนโลยีก็ไม่ได้อยู่ในมือตนอยู่ดี


อันที่จริง วิคเตอร์ไม่ได้เป็นคนที่มีจริยธรรมมากเป็นพิเศษถึงขนาดที่ทำให้เขายอมสละชีวิตเพื่อทำลายเจ้าสิ่งมีชีวิตชั่วร้ายที่เขาประดิษฐ์ขึ้น  แต่เขาคือคนเดียวที่สามารถสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นอีกตน คือความหวังเดียวของเจ้าสิ่งมีชีวิตชั่วร้ายที่จะมีเพื่อนและหลุดพ้นจากความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย  เมื่อเขาปฏิเสธที่จะสร้างสิ่งมีชีวิตอีกตน เขาจึงถูกรังควาน  มูลเหตุนี้ชวนให้ผู้เขียนคิดว่า ความเลวร้ายในตัวเจ้าสิ่งมีชีวิตประหลาดเป็นผลมาจากความไม่รู้ของคนในสังคม  หากเขาเลือกที่จะไม่เก็บงำความรู้ใหม่ไว้แต่ผู้เดียว แล้วประกาศให้สังคมรู้ว่าเขาทำอะไรสำเร็จ  เมื่อคนอื่นสามารถประดิษฐ์สิ่งมีชีวิตจากซากศพได้เหมือนเขา เทคโนโลยีของเขากลายเป็นผลผลิตของสังคมอย่างที่มันควรจะเป็น บางทีโศกนาฏกรรมทั้งหลายอาจจะไม่เกิดขึ้น


กลับไปที่คำถาม แล้วมนุษย์จะจัดการกับเทคโนโลยีใหม่ที่ก่อผลเสียร้ายแรงแก่เผ่าพันธุ์ของตนอย่างไร?  เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วการคิดค้นและการใช้งานเทคโนโลยีเป็นเรื่องของของสังคม ผู้เขียนคิดว่าแนวทางจึงไม่น่าจะใช่การเรียกร้องความรับผิดชอบผ่านสิทธิบัตรและตลาดซึ่งขัดกับธรรมชาติของเทคโนโลยี แต่ต้องเป็นการทำให้เทคโนโลยีเป็นของสังคมมากขึ้นและเป็นของบุคคลน้อยลง ไม่ควรมีผู้ใดผูกขาดความเป็นเจ้าของความรู้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี  ในเดือนมีนาคม 2023 องค์กร Future of Life Institute ได้ออกจดหมายเปิดผนึก “Pause Giant AI Experiments: An Open Letter” เพื่อเรียกร้องให้หยุดการวิจัยระบบ AI ให้ก้าวหน้ากว่า GPT-4 ไว้ชั่วคราว ซึ่งมีคนร่วมลงชื่อแล้วกว่าสามหมื่นคน [5]  นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าสังคมควรรับรู้ความเป็นไปของเทคโนโลยีและสามารถทัดทานได้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการหยุดยั้งไม่ให้โศกนาฏกรรมไม่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติเหมือนที่เกิดขึ้นใน แฟรงเกนสไตน์




[1] บทที่ 6 ของหนังสือ Talking to My Daughter about the Economy: A Brief History of Capitalism

[2] เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ หน้า 561

[3] Friedel, Robert, and Paul Israel. 1986. Edison's electric light: biography of an invention. New Brunswick, New Jersey: Rutgers University Press. pages 115–117

[4] Dugger, William M. Technology and Property: Knowledge and the Commons.

[5] https://futureoflife.org/open-letter/pause-giant-ai-experiments/

นภนต์ ภุมมา
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์