เศรษฐกิจไทย จะเข้มแข็งได้อย่างไรถ้าไม่คุ้มครอง?

5 มกราคม 2567
1938 views
สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ในสภาวะยากลำบาก การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 ได้รับการคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่เพียงประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่สำนักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างประเทศต่างก็มองภาพในปีหน้าของไทยไว้ว่าจะสามารถโตได้อยู่ที่เพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น [i]
 
การเติบโตที่ช้าลงของประเทศไทยไม่ได้เกิดเพียงจากการยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะการระบาดของโควิด-19 แต่เป็นแนวโน้มการถดถอยที่เกิดขึ้นมานานนับทศวรรษแล้ว นอกจากนี้ ภาวะที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นเพียงผลจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะตกต่ำ เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับเรา ซึ่งควรจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเช่นกัน จะเห็นได้ว่าประเทศไทยก็ยังมีอัตราการเติบโตที่แย่กว่าประเทศอื่นๆ
 
ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยเองจึงเป็นปัญหาที่ชัดเจนว่ามาจากปัจจัยภายในมากกว่าภายนอก ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ นโยบายหลายด้านได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเพื่อเป็นเครื่องมือยกระดับความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายยกระดับผลิตภาพให้กับแรงงาน นโยบายดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ และนโยบายกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 
 
หนึ่งในนโยบายที่ได้รับการพูดถึงเช่นกันก็คือนโยบายคุ้มครองทางสังคม ซึ่งหมายความถึงชุดนโยบายที่มุ่งสร้างความมั่นคงทั้งในด้านรายได้และคุณภาพชีวิต ช่วยสร้างโอกาสให้กับประชาชนอย่างเสมอหน้า และลดความยากจนและด้อยโอกาสให้กับประชาชนกลุ่มที่เสียเปรียบ นโยบายคุ้มครองทางสังคมครอบคลุมการดูแลชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยแบ่งแง่มุมออกได้เป็นการคุ้มครองทางสุขภาพ การคุ้มครองในวัยเด็ก ในวัยทำงาน และในวัยชรา 
 
จากประสบการณ์ในระดับสากล การผลักดันนโยบายคุ้มครองทางสังคมมีความเชื่อมโยงอย่างเป็นสำคัญกับการยกระดับความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ ด้วยเพราะการกระจายโอกาสและลดความยากจนนั้นเป็นกลไกที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แรงงานจำนวนมากได้มีบทบาทร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจให้พัฒนาได้ ในขณะที่การสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนก็เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มในการประกอบอาชีพของตนเอง จนนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ

งานศึกษาจำนวนมากพบความสัมพันธ์ที่เป็นบวกระหว่างระดับการลงทุนในนโยบายคุ้มครองทางสังคมกับตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น รายได้ต่อหัว ระดับความเหลือมล้ำ และระดับผลิตภาพ [ii]  แม้ความสัมพันธ์นี้จะยังไม่ได้หมายถึงการเป็นเหตุ (causation) ของผลที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็พอจะบอกได้ในการขยายตัวของนโยบายการคุ้มครองทางสังคมเป็นส่วนสำคัญที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่
 
เมื่อมองย้อนมาที่ประเทศไทยของเรา นโยบายคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยยังคงไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น นับจากนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนเด็กเล็กที่เกิดมาในสังคม มีเด็กเล็กในช่วงอายุ 0-6 ปีเพียงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับเงินช่วยอุดหนุนการเลี้ยงดู ทั้งที่การได้รับการสนับสนุนในช่วงวัยเด็กนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งกับพัฒนาการจากการเป็นเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ในขณะที่ด้านนโยบายสำหรับผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุที่เกษียณอายุจากการทำงานมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยที่ไม่มีบำนาญและมีโอกาสได้รับเพียงเบี้ยยังชีพชราภาพ ซึ่งก็มีอัตราตัวเงินที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในทุกวันนี้ [iii]
 
ปัญหาของนโยบายคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยเชื่อมโยงอยู่กับการที่แรงงานจำนวนมากไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองผ่านกองทุนสวัสดิการในลักษณะสมทบ และจะได้การคุ้มครองผ่านการรับสวัสดิการจากรัฐเท่านั้น แน่นอนว่าสภาพเช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แรงงานจำนวนมากอยู่ในภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ แต่ในอีกทางหนึ่ง แม้แรงงานที่สามารถเข้าร่วมระบบประกันสังคมได้ก็ยังมีที่เลือกปฏิเสธจะเข้าร่วมเนื่องจากมองว่ากองทุนประกันสังคมของไทยไม่ได้สร้างแรงจูงใจและให้ความยืดหยุ่นที่สนับสนุนพวกเขาได้ดีเท่าไรนัก สำหรับคนวัยแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โอกาสที่พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองหากต้องประสบความผกผันในชีวิตการทำงานจึงเหลือเพียงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่รู้จักกันชื่อของบัตรคนจนเท่านั้น
 
จากที่กล่าวไว้ข้างต้น ประเทศไทยยังสามารถปรับปรุงนโยบายคุ้มครองทางสังคมให้ดีขึ้นได้อีกมาก ทั้งให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น และให้มีศักยภาพในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมา กระแสความสนใจในการผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาระบบคุ้มครองการสังคม หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า "ระบบสวัสดิการ" ให้ดีขึ้นนั้นก็แผ่ขยายไปในวงกว้าง นโยบายเช่นการปรับปรุงระบบบำนาญ การขยายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด การปรับปรุงระบบประกันสังคม กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง 
 
แต่กระนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยเพิ่งได้มีรัฐบาลใหม่ นโยบายคุ้มครองทางสังคมกลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามไป รัฐบาลปัจจุบันมุ่งความสนใจไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามาเป็นเวลานาน ผ่านเครื่องมือเช่นโครงการดิจิทัลวอลเลต อาจพอเข้าใจได้ว่าการรีบหยิบยกเอาโครงการเช่นนี้มาผลักดันก่อนนั้นก็ด้วยเพราะรีบต้องการผลลัพธ์ระยะสั้นในการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากมองไปที่ความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย การมองข้ามนโยบายคุ้มครองทางสังคมไปก็ถือเป็นที่เรื่องน่าเสียดาย
 
ด้วยเพราะการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจากอ่อนแอเป็นเข้มแข็งได้อย่างแท้จริงนั้น จะละเลยการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่ดีไปไม่ได้เลย มุมมองจากองค์กรระหว่างประเทศเช่นธนาคารโลกและยูนิเซฟนั้น ต่างก็คอยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในทุนมนุษย์ในประเทศไทย ผ่านการขยับขยายนโยบายคุ้มครองทางสังคมในด้านต่าง ๆ ว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้แรงงานไทยมีผลิตภาพที่ดีขึ้น และยังจะช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ 
 
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบประเทศของเรากับประเทศอื่นๆ ยังพบว่าในปัจจุบันประเทศไทยลงทุนกับการคุ้มครองทางสังคมอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น  ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่อยู่ที่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนว่าที่ผ่านมานั้นประเทศเราไม่ได้ใช้จ่ายกับประเด็นเรื่องการคุ้มครองทางสังคมหรือนโยบายสวัสดิการมากเกินไปอย่างที่มักจะถูกอ้างถึงบ่อยครั้ง แต่กลับลงทุนน้อยเกินไปต่างหาก [iv]

เอกสารอ้างอิง
i ดูอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและประเทศอื่นๆในอาเซียนได้ที่ https://thaipublica.org/2023/12/adb-cuts-thailand-2023-gdp-forecast/

ii ดูเพิ่มเติมได้จากรายงาน Time for Equality: The Role of Social Protection in Reducing Inequalities in Asia and the Pacific https://www.unescap.org/sites/default/files/SDD%20Time%20for%20Equality%20report_final.pdf

iii ข้อมูลจากรายงาน Thailand Social Protection Diagnostic Review โดย ILO, UNICEF, IOM และ UN Women 2022 https://www.unicef.org/thailand/reports/thailand-social-protection-diagnostic-review-0

iv ตัวเลขการลงทุนในการคุ้มครองทางสังคมโดยไม่รวมการใช้จ่ายด้านสุขภาพในปี 2020 คาดการณ์ใน World Social Protection Database โดย ILO https://www.social-protection.org/gimi/WSPDB.action?id=13
ธร ปิติดล
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์