ล่มสลายจากภายใน: เหตุปัจจัยที่กัดกร่อนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจโซเวียต
"ค่าซ่อมท่อยี่สิบรูเบิลใช่ไหม?"
วาเลนตินาถามช่างประปาอย่างไม่ต้องการคำตอบ มือยื่นธนบัตรจำนวนยี่สิบรูเบิลให้
อีกฝ่ายมองหน้าเธอ ถอนหายใจพรืด "ใช่" เขาตอบห้วน ๆ อย่างไม่ยี่หระ
เงินคงไม่ใช่คำตอบ… วาเลนตินาคิดในใจ
ตัวละครที่ผู้เขียนยกตัวอย่างเป็นเพียงตัวละครสมมติ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริงในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ซึ่งเงินรูเบิลแทบจะกลายเป็นเศษกระดาษไร้ความหมาย เพราะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นโยบายการบำบัดแบบช็อค (Shock Therapy) อันเป็นความพยายามของเยกอร์ ไกดาร์ (Yegor Gaidar) ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเยลต์ซิน ซึ่งประกอบด้วยการลอยตัวค่าเงินรูเบิล การยกเลิกการตรึงราคาสินค้า การยกเลิกการจ่ายเงินสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ ยิ่งทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่รัสเซียกำลังเผชิญอยู่ยิ่งเละเทะจากเงินที่เฟ้อสูงขึ้นถึง 300% สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ทางการเงินย่ำแย่ลง เป็นเพราะปริมาณเงินในระบบที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะหนี้ที่รัฐวิสาหกิจโซเวียตที่กู้มาจากต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อบวกกับการอ่อนค่าเงินอย่างหนักของเงินรูเบิลที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตน้ำมันล้นตลาด ย่อมทำให้จำนวนหนี้ที่กู้มานั้นสูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เฟ้อ รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จึงต้องกู้เงินจากรัฐบาลกลางมากขึ้นเพื่อนำไปจ่ายเงินเดือนลูกจ้างและจ่ายหนี้ เป็นผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้เกิดปริมาณเงินในระบบมากขึ้นสูงสุดถึง 18 เท่า ทำให้การเฟ้อของค่าเงินรูเบิลนี้ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลงง่าย ๆ เพราะปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันนี้ ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาสูงมากอยู่แล้วจากการยกเลิกการควบคุมราคาสินค้า (Price Liberalization) ยิ่งทะยานสูงขึ้นไปอีก
กระนั้น นโยบายการบำบัดแบบช็อคก็เป็นเรื่องจำเป็น ทั้งการยกเลิกการตรึงราคาสินค้า และนำอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าสู่ระบบตลาด เป็นสิ่งที่จำเป็นและสมควรต้องทำเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่กำลังจะล้มให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หรือพูดได้อีกนัยหนึ่ง--รัสเซียมาถึงจุดที่ต้องยอมรับความผิดพลาดของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ที่ทุกอย่างมาจากการวางแผนโดยส่วนกลาง และและรับเอามือที่มองไม่เห็นของระบบทุนนิยมมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อะไรกันที่เป็นปัญหาสำคัญของความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต?
ก่อนสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าจะต้องกล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหภาพโซเวียตเพื่อให้เป็นการง่ายแก่ท่านผู้อ่านที่จะทำความเข้าใจถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตเป็นแบบคอมมิวนิสต์ที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกกำหนดและควบคุมโดยหน่วยงานรัฐ การครอบครองวิสาหกิจหรือธุรกิจส่วนบุคคลถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย กรรมการวางแผนงานแห่งรัฐหรือกอสปลัน (Gosplan) จะเป็นผู้วางแผนว่าจะผลิตอะไร มากเท่าไร ส่วนงบประมาณและกระบวนการผลิตสินค้าแต่ละประเภทนั้นเป็นหน้าที่ของแต่ละกรม และแต่ละกระทรวงต่าง ๆ ที่เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ โดยเฉพาะ ราคาสินค้าไม่ได้ผันเปลี่ยนไปตามอุปสงค์-อุปทานตลาด แต่ถูกกำหนดตายตัวโดนกอสคอมต์เซ็น (Goskomtsen) หรือคณะกรรมการส่วนที่รับผิดชอบการกำหนดราคาแห่งรัฐ การบริหารรายรับของทุกวิสาหกิจไม่ได้ถูกวางแผนด้วยองค์กรของตนเอง แต่จะถูกสั่งการโดยตรงมาจากกระทรวงการคลัง เงินเดือนของแรงงานถูกกำหนดโดยคณะกรรมการส่วนที่รับผิดชอบเงินเดือนและแรงงานแห่งรัฐ (Goskomtrud) ส่วนการนำเข้าและส่งออกสินค้า รับผิดชอบโดยกระทรวงการค้าต่างประเทศ และจากโครงสร้างการบริหารเศรษฐกิจโดยสังเขปที่ข้าพเจ้าได้กล่าวนั้น ก็เป็นที่กระจ่างชัดว่าเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตถูกควบคุมโดยส่วนกลางอย่างเบ็ดเสร็จ หรือพูดในอีกนัยหนึ่ง--รูปแบบของเศรษฐกิจโซเวียตเป็นแบบทุนนิยมผูกขาดโดยรัฐ ปัจจัยการผลิตในระบบเศรษฐกิจโซเวียตจึงไม่ได้เป็นของแรงงานและถูกจัดสรรโดยแรงงานตามนิยามของมาร์กซิสม์ แต่อยู่ในกำมือของข้ารัฐการ รัฐเป็นผู้ผูกขาดปัจจัยการผลิต สะสมทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีข้ารัฐการน้อยใหญ่เป็นเสมือนพนักงานบริษัท ร้อยรัดบุคลากรเข้าด้วยกันด้วยระบบบริหารราชการแบบบนลงล่าง มีลักษณะเป็นระบบเศรษฐกิจพึ่งพาตัวเอง (Autarky) ผูกขาด (Monopoly) และเน้นหนักด้านการทหาร (Militarization)
โดยทั่วไป สหภาพโซเวียตจะค้าขายกับประเทศในกลุ่ม COMECON ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยสหภาพโซเวียต ประเทศคอมมิวนิสต์บล็อคในยุโรปตะวันออก เช่นโปแลนด์ ฮังการี บัลแกเรีย เชโกสโลวาเกีย และประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ทั่วโลก เช่นคิวบา และเวียดนาม ในระยะแรก โซเวียตเน้นการค้าขายกับประเทศ COMECON เป็นส่วนมาก และพึ่งพาต่างประเทศน้อย เนื่องจากแนวทางเศรษฐกิจของโซเวียตมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจแบบปิด เน้นการพึ่งพาตัวเอง (Autarky) ซึ่งนั่นก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างดาษดื่น และภูมิประเทศที่หลากหลายซึ่งเอื้อต่อการผลิตอุตสาหกรรมหนักหลายประเภท อุตสาหกรรมหนักของโซเวียตมีการผลิตที่หลากหลายมาก จนสามารถกล่าวได้ว่า "ครบวงจร" เลยก็ว่าได้ ทั้งน้ำมันดิบ, โลหะ, เหล็ก, เครื่องจักร, รถจักรดีเซล, รถจักรไฟฟ้า, แทร็คเตอร์, แร่เหล็ก, ยูเรเนียม, ผ้าขนสัตว์, แก๊สธรรมชาติ, ไม้, การแปรรูปอาหาร,การเกษตร, สรรพาวุธทางการทหาร ส่วนกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตและประเทศอื่น ๆ ในเครือวอร์ซอเน้นการผลิตเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก และมักจะเป็นการผลิตในขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับการผลิตในอุตสาหกรรมเบาและการผลิตในขั้นตติยภูมิ สาเหตุเป็นเพราะว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศสังคมนิยมที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะถูกวางแผนจากส่วนกลางคล้ายคลึงกับสหภาพโซเวียต และถูกกดดันโดยอิทธิพลของโซเวียตให้ผลิตอุตสาหกรรมหนักในแขนงต่าง ๆ เพื่อป้อนให้แก่โซเวียตตามแนวทางที่โซเวียตต้องการ เพื่อลดการพึ่งพาตนเองได้ของประเทศเหล่านั้นลง และเพิ่มเสถียรภาพของส่วนกลางซึ่งก็คือโซเวียตรัสเซียให้มากขึ้น เช่นยูเครน เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของอุตสาหกรรมแร่เหล็ก, โลหะ, ถ่านหิน และน้ำตาล หรือคาซัคสถานก็เน้นการผลิตในอุตสาหกรรมหนักเช่นกัน โดยมากมักจะเป็นวัตถุตั้งต้นในการผลิต เช่น น้ำมัน, แมงกานีส, ตะกั่ว, ทังสเตน, สังกะสี, ทองแดง, ซีเมนต์ และถ่านหิน มีเพียงเยอรมนีตะวันออกเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีการผลิตในอุตสาหกรรมเบาในสัดส่วนที่มากขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจขั้นทุติยภูมิ หรือภาคบริการก็มีถึง 12% ของ GDP
จากตัวอย่างข้างต้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ไม่มีประเทศใดเลยนอกจากเยอรมนีตะวันออกที่มีความถนัดด้านการผลิตในอุตสาหกรรมเบา รวมถึงการผลิตในขั้นตติยภูมิซึ่งจะเป็นภาคการผลิตที่ช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจในประเทศ หากแต่สัดส่วนสินค้าประเภทนี้ของเยอรมนีตะวันออกก็ไม่ได้มีมากเพียงพอที่จะเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และการที่โซเวียตนำเข้าสินค้าจากประเทศกลุ่ม COMECON ก็ไม่ทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำอีกเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมเบาซึ่งมีการผลิตเพียงแค่ 14% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด เนื่องจากแทบทุกประเทศในเครือ COMECON ถูกโซเวียตบังคับให้มีความถนัดการผลิตเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก การผลิตอุตสาหกรรมเบาเองทำให้พวกเขาต้องใช้เงินทุนที่สูงขึ้น และแรงงานที่มากขึ้นเพราะตนเองไม่ถนัด ทำให้ราคาของสินค้าที่มาจากการผลิตในอุตสาหกรรมเบาในประเทศเหล่านี้ต้องมีราคาสูงขึ้นในขณะที่ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณเท่าเดิม ทำให้โซเวียตและประเทศอื่นใน COMECON ต้องซื้อ-ขายสินค้าอุตสาหกรรมเบาจากประเทศคู่ค้าในราคาสูง ในขณะที่คุณภาพสินค้าสู้ของตะวันตกไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสินค้าอุตสาหกรรมเบาในราคาที่ถูกลงได้เนื่องจากไม่มีประเทศใดถนัดการผลิตสินค้าชนิดนี้ ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังซื้อของประชาชนโซเวียตย่อมปรับตัวต่ำลงตาม และการขาดกำลังซื้อของผู้บริโภคทำให้เศรษฐกิจขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญไปอีกหนึ่งอย่าง จึงสามารถสรุปได้ว่าเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองของโซเวียตที่ทำการผลิตทุกอุตสาหกรรมเองนั้น เมื่อเปรียบเทียบประเทศตะวันตกอื่น ๆ ที่มีการนำผลิตภัณฑ์ที่ตนเองได้เปรียบในการผลิต ไปค้าขายกับประเทศอื่นที่ถนัดการผลิตในอุตสาหกรรมชนิดอื่นที่ตนไม่ถนัด เพื่อให้ตนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ตนสามารถผลิตได้น้อยหรือไม่ได้เลยในราคาที่สมเหตุสมผลแล้วนั้น เศรษฐกิจโซเวียตไม่มีการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) อีกทั้งการไม่แบ่งงานกันทำนี้ก็เป็นการไม่ประหยัดและเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบในด้านของการลงทุนและแรงงาน หากแต่การผลิตโดยเน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมหนักของโซเวียต และการควบคุมให้ประเทศบริวารในเครือวอร์ซอผลิตในสิ่งที่ตนวางแผนไว้ก็ไม่ได้เป็นไปโดยไร้เหตุผล หากแต่เป็นเพราะโซเวียตใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ Mobilization
Mobilization Economy คืออะไร? Mobilization Economy คือเศรษฐกิจที่เน้นหนักไปในด้านการผลิตอย่างเต็มกำลัง ส่วนประสิทธิภาพของการนำเอาทรัพยากรไปใช้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องรอง เพราะคุณค่าสูงสุดของเศรษฐกิจประเภทนี้ไม่ใช่การที่ว่าทรัพยากรจะนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดมากเพียงใด แต่คือการเอาชนะภัยคุกคามด้วยทุกวิถีทางไม่ว่าจะเสียอะไรไปเท่าไร และการบรรลุเป้าหมายนั้นก็ไม่ได้มาจากวิธีการทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้วิธีการอื่น เช่น วิธีการทางการเมืองเป็นตัวช่วย เศรษฐกิจแบบ Mobilization นี้ ได้ริเริ่มขึ้นในยุคที่สตาลินกำลังเรืองอำนาจ (กลางทศวรรษ 1920-1953) และปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมาตั้งแต่สมัยครุชชอฟ (1953-1964) เบรชเนฟ (1964-1982) ซึ่งเป็นช่วงที่การผลิตเฟื่องฟูอย่างมาก และมีนโยบายเน้นหนักในด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศสูงกว่าช่วงครุชชอฟ และยังคงถูกใช้เรื่อยมาในช่วงของการปกครองโดยอันโดรปอฟ (1982-1984) และเชียรเนนโก (1984-1985) จนกระทั่งอำนาจในมือกอสปลันเริ่มคลายลง อำนาจการตัดสินใจในการดำเนินการทางเศรษฐกิจถูกโอนให้วิสาหกิจต่าง ๆ ในการปฏิรูปกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกาโดยกอร์บาชอฟ (1985-1991)
ถ้าหากพิจารณาประวัติศาสตร์ของโซเวียต จะพบว่าสหภาพโซเวียตเองมีศัตรูและภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่พวกศักดินาและนายทุนในช่วงปฏิวัติ, นาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มาจนถึงประเทศ 'จักรวรรดินิยม' อย่างอเมริกาและโลกตะวันตกในช่วงสงครามเย็น สิ่งเหล่านั้นจึงส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของโซเวียตมีแนวทางการพัฒนาแบบ Mobilization มาตลอด คุณค่าของการผลิตที่ดีของโซเวียตโดยมากมุ่งเป้าหมายว่าการผลิตนั้นควรจะผลิตได้มากเท่าไร และทำอย่างไรให้แรงงานหนึ่งคนสามารถผลิตได้มากขึ้น ไม่ใช่การทุ่มเทไปกับการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อป้อนให้แก่ตลาดตามแบบโลกทุนนิยม
และดังเช่นที่ผู้เขียนได้อ้างอิงไปก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจประเภท Mobilization นี้มีจุดประสงค์สูงสุดเพื่อเอาชนะภัยคุกคาม การลงทุนของรัฐบาลโซเวียตเพื่อที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของตนเพื่อเอาชนะภัยคุกคามดังกล่าว โซเวียตลงทุนลงแรงไปกับการใช้ทรัพยากรเพื่อผลิตอย่างเต็มกำลัง (Mobilization) โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้อนผลิตผลให้กับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเป็นหลัก โดย 80% ของอุตสาหกรรมทั้งหมดมีความเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์กว่า 75% เป็นไปเพื่อพัฒนาแสนยานุภาพของกองทัพ รัฐวิสาหกิจกว่าครึ่งในมอสโก และสามในสี่ของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นวิสาหกิจที่ผลิตเพื่อป้อนกองทัพ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังเพื่อบรรลุจุดประสงค์ของการแข่งขันแสนยานุภาพทางด้านการทหารกับประเทศตะวันตก โดยมองถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องรองนั้น ในระยะยาวก็ทำให้เป็นการไม่ประหยัดทรัพยากร เศรษฐกิจโซเวียตแม้จะเป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา แต่กลับใช้น้ำมันมากกว่าอเมริกาถึง 2.2 เท่า ใช้เหล็กหล่อมากกว่าถึง 3.7 เท่า ใช้ซีเมนต์มากกว่า 2.9 เท่า และใช้โลหะมากกว่าถึง 3 เท่า
ทำไมต้องเป็นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ? หากท่านผู้อ่านเคยได้ยินเรื่อง Hard Power - Soft Power มาบ้างคงจะเข้าใจกระจ่างชัดทันที แม้แนวคิดอำนาจแข็ง-อำนาจอ่อนนี้จะยังเป็นทฤษฎีที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่กี่สิบปี แต่ผู้เขียนมีทรรศนะว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายการทุ่มงบประมาณไปกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของโซเวียตในบทความนี้ อำนาจแข็งหรือ Hard Power ประกอบด้วยแสนยานุภาพทางการทหารและเศรษฐกิจ หรือที่เจ้าของทฤษฎีอย่าง โยเซฟ เนย์ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า 'แครอท (เศรษฐกิจ) และกิ่งไม้ (กองทัพ)' สิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจทางรูปธรรมที่สามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเลขสถิติ ความเข้มแข็งของทั้งสองปัจจัยนี้สามารถใช้ในการโน้มน้าว หรืออาจจะบังคับให้อีกประเทศสามารถดำเนินนโยบายที่เป็นผลประโยชน์แก่ตนเองได้ และมักจะได้ผลในทันที เช่นการเพิ่มกำแพงภาษีในสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด หรือการแทรกแซงทางการทหาร ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมโซเวียตถึงทุ่มงบประมาณกับอุตสาหกรรมประเภทนี้มากที่สุด คือ 15-17% ของ GNP และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงสุดถึง 25% ของ GNP ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ Mobilization ซึ่งนำพาให้อุตสาหกรรมหนักของโซเวียตมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากประเทศที่บอบช้ำเพราะสงคราม กลายเป็นประเทศที่มีตัวเลข GDP เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาภายในไม่กี่สิบปี แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นเพราะกลไกทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากวิธีทางการเมืองด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งก็คือกระบวนการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าทุกคนเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไป เพื่อต่อสู้กับประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกาได้ กระนั้นก็ตาม การผลิตแบบเต็มกำลังเช่นนี้ แม้จะผลิตได้เยอะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็จริง แต่การทุ่มใช้ทรัพยากร ทุน และแรงงานอย่างเต็มที่ไปตลอด บวกกับการผลตอบแทนเป็นรูปธรรมอย่างกำไร ก็อาจทำให้ผลิตภาพของแรงงานถดถอยลง ดังจะเห็นได้จากผลผลิตทางการเกษตรของโซเวียตน้อยกว่าอเมริกาถึง 5 เท่า ผลิตภาพโดยรวมของแรงงานโซเวียตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ น้อยกว่าอเมริกาถึง 2 - 2.5 เท่า
อีกเหตุผลหนึ่งคือการละเลยความสำคัญของเศรษฐกิจภาคบริการ การมีเศรษฐกิจภาคบริการหมายถึงการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการผลิตและเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งนั่นช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจ แต่การที่โซเวียตมีภาคบริการอยู่อย่างน้อยนิดในระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งยังถูกบริหารจัดการโดยรัฐทั้งหมด ก็หมายความว่าเศรษฐกิจภาคบริการต่าง ๆ เช่นโทรคมนาคม, การขนส่ง การค้าปลีก หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งข้องเกี่ยวและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเบาโดยตรงนั้นพัฒนาไปได้ช้ามาก จริงอยู่ว่าการผลิตขั้นตติยภูมิหรือเศรษฐกิจภาคบริการในสหภาพโซเวียตนั้นมีอยู่ เช่นการเงิน, การบัญชี, ที่อยู่อาศัย, การรักษาพยาบาล แต่ทั้งหมดก็ถูกบริหารจัดการโดยรัฐ และมีสัดส่วนน้อยมากจนไม่สามารถถูกนับรวมใน GDP ประเทศได้เป็นเปอร์เซนต์ที่แน่นอน เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์นั้นยึดถือแนวคิดของมาร์กซ์เป็นสำคัญ ซึ่งไม่ได้ให้คุณค่าความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคบริการมากนัก เพราะมาร์กซ์มีชีวิตอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมการผลิตยังเป็นระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิเสียเป็นส่วนมาก และการผลิตยังไม่มีความซับซ้อนมากนักในเชิงนวัตกรรม ดังนั้นเศรษฐกิจภาคบริการจึงถูกมองว่าไม่มีผลผลิตที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน และไม่ได้สร้างมูลค่าทางวัตถุใด ๆ เหตุผลที่สองคือรัฐโซเวียตเป็นรัฐสวัสดิการ และไม่ได้ใช้เงินตราเป็นเครื่องมือหลักเพียงอย่างเดียวในการแลกเปลี่ยนสินค้า ทำให้โซเวียตไม่จำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมชนิดนี้มากนัก เช่น บริการทางด้านการเงิน (ธนาคาร, ประกันภัย, การลงทุน) หรือแฟรนไชส์ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของ 'สเบียร์คาสซา - Sberkassa' หรือธนาคารออมสินของชาวโซเวียต ซึ่งไม่มีมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เพราะคำว่าธนาคารในโลกสังคมนิยมไม่ได้มีคำจำกัดความเดียวกันกับโลกทุนนิยม ธนาคารออมสินหรือสเบียร์คาสซาของชาวโซเวียตมีไว้สำหรับออมเงินเท่านั้น ประชาชนไม่สามารถจำนองทรัพย์สินหรือกู้เงินจากธนาคารได้ และแน่นอนว่าไม่มีการใช้เช็คและบัตรเครดิต อนึ่ง ในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลโซเวียตนั้นจะมุ่งเน้นความสำคัญด้านงบประมาณให้กับอุตสาหกรรมหนักก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้มแข็งของกองทัพ และเทคโนโลยีอวกาศ ตามมาด้วยการเกษตรกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมหนักจะกินงบประมาณมากถึงประมาณ 75% ของงบประมาณทั้งหมดของการผลิตภาคอุตสาหกรรม หลังจากนั้น จึงค่อยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเบาภายหลัง ซึ่งแน่นอนว่างบประมาณที่ถูกจัดสรรมาให้จะน้อยกว่าด้านอุตสาหกรรมหนักเป็นอย่างมาก โดยงบประมาณที่ได้จะมีเพียง 25% ของงบประมาณอุตสาหกรรมทั้งหมด ผลที่ตามมาทำให้ส่วนของอุตสาหกรรมเบาต้องใช้งบประมาณที่ได้มาอย่างน้อยนิดและไม่เพียงพอ ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจภาคบริการที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเบาจะล่าช้ากว่าประเทศตะวันตกที่รุดหน้าไปไวกว่ามาก และเมื่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เศรษฐกิจโซเวียตจึงไม่สามารถนำเอามูลค่าเพิ่มจากการผลิตในภาคบริการที่มีอยู่น้อยนิดมาช่วยแบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เลย
ปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจสั่งสมมานาน จนกระทั่งมีตัวกระตุ้นที่ทำให้เศรษฐกิจซึ่งเหนื่อยล้าอยู่แล้วล้มป่วยลง ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ถึงช่วงทศวรรษที่ 1980 โซเวียตประสบกับวิกฤตการณ์น้ำมันล้นตลาด ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันลดลงถึง 3 เท่า และยังเป็นช่วงขาลงของจุดผลิตน้ำมันสูงสุด (Peak Oil) ซึ่งทำให้ผลิตน้ำมันได้น้อยลงถึง 140 ล้านตัน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้โซเวียตสูญเสียรายได้ไปกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1987 แน่นอนว่าการสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันก็หมายถึงการสูญเสียเงินสำรองสกุลแข็งในรูปแบบดอลลาร์ไปด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงค่าเงินที่อาจจะอ่อนลงของเงินสกุลรูเบิล อีกทั้งในช่วงเวลานั้น การพยายามส่งออกน้ำมันเพื่อเพิ่มเงินสำรองเป็นเงินสกุลแข็งอย่างดอลลาร์ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันและค่าเงินดอลลาร์ที่ลดต่ำลง ซึ่งเป็นผลให้อำนาจซื้อน้ำมันของสหรัฐฯ ลดต่ำลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ภายในระยะเวลาเพียงสามปี (1984-1987) วิกฤตการณ์น้ำมันที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เช่นนี้จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง ที่ทั้งพยายามพึ่งพาตัวเองจนขาดการแบ่งงานกันทำ แต่ก็ต้องดำเนินการผลิตอย่างเต็มกำลังไปด้วยเพื่อจุดประสงค์ทางการขยายแสนยานุภาพทางด้านการทหารนั้นถูกขึงให้ตึงเขม็งจนขาดผึง เศรษฐกิจแบบ Mobilization ก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรจำนวนมากถูกใช้อย่างขาดประสิทธิภาพและสิ้นเปลือง อีกทั้งการสร้างแรงจูงใจด้วยโฆษณาชวนเชื่อ แต่ขาดกำไรซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมก็ทำให้ผลิตภาพของแรงงานอ่อนกำลังลงเรื่อย ๆ ในระยะยาว ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเป็นอีกชนวนเหตุหนึ่งของการล่มสลายของเศรษฐกิจโซเวียตในระยะเวลาต่อมา ดังเช่นที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงในย่อหน้าแรกของบทความนี้
ถ้าหากเงินไม่ใช่คำตอบ...
วาเลนตินาเก็บแบงก์ยับยู่ยี่ใส่กระเป๋า เดินไปหยิบขวดวอดกาหลังตู้ ยื่นให้กับช่างประปาอย่างรู้งาน
ช่างประปายิ้มแป้นแทนคำขอบคุณ
บรรณานุกรมหนังสือและบทความ
Hanson, P. (2003). The Rise and Fall of the The Soviet Economy. Abingdon: Routledge.
Hutchings, R. (1983). The Soviet Budget. London: Palgrave Macmillan.
Ofer, G. (1973). The Service Sector in Soviet Economic Growth: A Comparative Study, Volume 71. Massachusetts: Harvard University Press.
Siegelbaum, L. and Sokolov, A. (2000). Stalinism as a Way of Life. New Haven: Yale University Press.
Вопросы экономики, 8, 4. (1991)
Вопросы статистики, 2, 20. (1991)
เลียวนาร์ด ชาปิโร. (2516). การเมืองและการปกครองของสหภาพโซเวียต. กรุงเทพฯ : รุ่งวัฒนา.
สัญชัย สุวังบุตร. (2560). โซเวียตสมัยสตาลิน. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.
สัญชัย สุวังบุตร และอนันตชัย เลาหะพันธุ์. (2548). รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.
สุรพงษ์ ชัยนาม. (2553). มาร์กซ์และสังคมนิยม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ศยาม.
อนุช อาภาภิรม. (2556). รัสเซียใหม่ เสือซ่อนเล็บ. กรุงเทพฯ : มติชน.
ออนไลน์
Gaidar, Y. (2007). The Soviet Collapse: Grain and Oil. American Enterprise Institute for Public Policy Research. Retrieved 12 June 2020, from https://www.aei.org/wp-content/uploads/2011/10/20070419_Gaidar.pdf
Song, A. (2016). Four Reformers in Russia's Shock Therapy. Retrieved 14 June 2020, from https://geohistory.today/russia-shock-therapy/
Soviet Military Industry. (2019). Retrieved 13 June 2020, from https://www.globalsecurity.org/military/world/russia/cccp-industry.htm
Wikipedia, the free encyclopedia. (2020). Autarky. Retrieved 13 June 2020, from https://en.wikipedia.org/wiki/Autarky#Macroeconomic_theory
Wikipedia, the free encyclopedia. (2020). Labor theory of value. Retrieved 13 June 2020, from https://en.wikipedia.org/wiki/Labor_theory_of_value
Wikipedia, the free encyclopedia. (2020). Stakhanovite movement. Retrieved 13 June 2020, from https://en.wikipedia.org/wiki/Stakhanovite_movement
Wikipedia, the free encyclopedia. (2020). Экономика СССР. Retrieved 10 June 2020, from https://ru.wikipedia.org/wiki/Экономика_СССР
Wikipedia, the free encyclopedia. (2020). Экономические реформы в России (1990-е годы). Retrieved 13 June 2020, from https://ru.wikipedia.org/wiki/Экономические_реформы_в_России_(1990-е_годы)
Wikipedia, the free encyclopedia. (2020). Мобилизационная экономика. Retrieved 14 June 2020, from https://ru.wikipedia.org/wiki/Мобилизационная_экономика
"Мобилизационная экономика: путь к процветанию или развалу россии?". (1999). Retrieved 14 June 2020, from http://rusotechestvo.narod.ru/finansy/f49.html
การวางแผนเศรษฐกิจของอดีตสหภาพโซเวียต. [ม.ป.ป.]. ค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2563, จาก http://old-book.ru.ac.th/e-book/e/EC446/ec446-4.pdf
วินัสยา สุริยาธานินทร์. (2558). ภาคบริการ....แรงขับเคลื่อนใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย?. ค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2563, จาก https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/article28_04_58.pdf
ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน. (2555). Soft Power. ค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2563, จาก http://www.vijaichina.com/%E0%B8%BAbook-reviews/597