ฮาเวียร์ มิเล และพันธสัญญาว่าด้วยการปลดปล่อยพลังของตลาดในอาร์เจนตินา

21 ธันวาคม 2566
19382 views
ในช่วงเวลาเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ข่าวที่ฮือฮาที่สุดของอาร์เจนตินาคงไม่พ้นการคว้าชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ของเหล่า ลา อัลบิเชเลตเต (La Albiceleste) ที่คว้าดาวแห่งชัยชนะของการแข่งขันฟุตบอลมาประดับได้เป็นดวงที่สามเสียที  และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันของปีนี้ ข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจประเทศอาร์เจนตินาคือ การชนะเลือกตั้งของฮาเวียร์ มิเล (Javier Milei) ที่ได้กลายเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐในอีกสุดขอบโลก  มิเลเป็นอดีตนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และนักจัดรายการโทรทัศน์ได้ประกาศตัวว่า สมาทานอุดมการณ์แบบ “ทุนนิยมอนาธิปัตย์” (anarcho-capitalist) ที่มองว่า รัฐคืออาชญากรในการเข้าไปแย่งชิงรายได้และทรัพย์สินของเอกชน  เขายังกล่าวการแทรกแซงของรัฐไม่เพียงบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรของกลไกตลาดอันมีประสิทธิภาพ แต่ยังละเมิดเสรีภาพทางเศรษฐกิจของปัจเจก  หนึ่งในตัวอย่างของรูปแบบการเสียงของมิเลที่เด่นชัดคือ การถือเลื่อยไฟฟ้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคำป่าวประกาศถึงการหั่นกลไกรัฐอาร์เจนตินาออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนมีผู้สนับสนุนของเขานำรูปของ “มนุษย์เลื่อยยนต์” (Chainsaw Man) ตัวละครเอกจากมังงะชื่อเดียวกันมาใช้เป็นหนึ่งในป้ายหาเสียงของมิเล ราวกับมิเลเป็นมนุษย์เลื่อนยนต์ที่เข้าไปหั่นปีศาจอย่างรัฐอาร์เจนตินา

ชัยชนะของมิเลเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการครองอำนาจของพรรคการเมืองที่สมาทานแนวคิด “เปรอนนิสต์” (Peronist) ที่ทรงอิทธิพลอาร์เจนตินามาในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา  หลักการใหญ่ของพรรคแบบเปรอนนิสต์คือ การส่งเสริมบทบาทของรัฐให้เข้าไปแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายบางประการ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริมสวัสดิการของผู้คนบางกลุ่มอย่างแรงงาน การให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะอย่างค่าไฟฟ้าหรือค่าประปา รวมไปถึงการปฏิเสธโครงการปรับโครงสร้าง (structural adjustment program) ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund - IMF) ต้องการให้อาร์เจนตินาลดขนาดการแทรกแซงและการใช้จ่ายของรัฐ พร้อมไปกับเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ลดกฎเกณฑ์ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเข้ามาซื้อและจัดการสินทรัพย์ของรัฐได้มากขึ้น  พรรคเปรอนนิสต์ได้รับชนะในบริบทของการต่อต้านนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ที่ไอเอ็มเอฟกำหนดให้รัฐบาลอาร์เจนตินาใช้รับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000

แนวคิดเปรอนนิสต์เริ่มจากประธานาธิบดี ฮวน โดมิงโก เปรอน (Juan Domingo Peron) ผู้มักได้รับการกล่าวถึงในฐานะต้นแบบผู้นำประชานิยม (populist leaders) ที่ใช้นโยบายด้านสวัสดิการ และการใช้จ่ายของรัฐในการสร้างพันธมิตรกับมวลชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน  จากประสบการณ์ที่ได้ไปกรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) ช่วงกลางปี ผู้เขียนรู้สึกว่า ผู้คนที่นั้นยังระลึกถึงช่วงเวลาอันน่าจดจำภายใต้การนำของฮวน โดมิงโก เปรอน อยู่บ้าง ดังเห็นได้จากการดำรงอยู่ของรูปปั้นหรือข้อความระลึกถึง

รูปปั้นของ ฮวน โดมิงโก เปรอน กลางนครบัวโนสไอเรส
ที่มา: ผู้เขียน

ชัยชนะของมิเลที่มีต่อพรรคเปรอนนิสต์เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่อาร์เจนตินาเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายปี โดยใน ค.ศ. 2022 อัตราเงินเฟ้อของอาร์เจนตินารุนแรงถึงระดับร้อยละ 140 และยังประสบกับปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตของภาคเกษตรกรรมอันเป็นแหล่งรายได้ส่งออกหลักของประเทศประสบปัญหา จนทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน และเงินเปโซอาร์เจนตินา (Argentine Peso) สูญเสียมูลค่าไปมากกว่าร้อยละ 90 ในช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา  ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ มิเลจึงประกาศว่าหนึ่งในนโยบายเรือธง (flagship policies) คือการยกเลิกสกุลเงินเปโซอาร์เจนตินา และหันไปใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาแทน (dollarisation)  นโยบายข้างต้นจึงทำให้มิเลประกาศไปในทิศทางที่สุดขั้วยิ่งกว่าเดิมว่า รัฐบาลของเขายกเลิกธนาคารกลาง เพราะการเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลดอลลาร์แทนเปโซอาร์เจนตินา ยังผลให้นโยบายการเงินของอาร์เจนตินาถูกกำหนดจากกรุงวอชิงตัน ดีซี มิใช่กรุงบัวโนสไอเรส ราวกับว่า นโยบายเศรษฐกิจบางส่วนของอาร์เจนตินาไม่ได้ถูกกำหนดจากอาคารบริเวณรอบจัตุรัสแห่งเดือนพฤษภาคม (Plaza de Mayo – Plaza of May) ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการเมืองของสาธารณรัฐแห่งนี้  

ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนพบว่า ชาวอาร์เจนติน่าที่พอมีทุนรอนทางเศรษฐกิจอยู่บ้างจะเลือกการถือเงินดอลลาร์แทนเงินสกุลท้องถิ่นเป็นวิธีการรับมือกับความเสี่ยง ดังเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนทางการ (official exchange rate) กับอัตราแลกเปลี่ยนตามท้องตลาด (market exchange rate) ที่ห่างกันเกือบเท่าตัว  ในช่วงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2023 อัตราแลกเปลี่ยนทางการอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 25-26 เปโซอาร์เจนตินา ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนตามตลาดอยู่ที่ประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อ 46-48 เปโซอาร์เจนตินา  การประกาศนโยบายยกเลิกการใช้เงินสกุลท้องถิ่นแล้วหันมาใช้เงินดอลลาร์แทนอาจได้ใจประชาชนชาวอาร์เจนตินาที่แทบไม่เหลือความเชื่อมั่นในเงินสกุลเปโซอีกต่อไปแล้ว   

บริเวณจัตุรัสแห่งเดือนพฤษภาคม
ที่มา: ผู้เขียน

นอกจากการยกเลิกเงินสกุลท้องถิ่นและธนาคารกลาง มิเลยังแสดงออกว่าต้องการยุบหน่วยงานของรัฐและนโยบายอีกหลายประการ เพื่อเป็นการยกระดับของเสรีภาพทางเศรษฐกิจส่วนบุคคลและลดขนาดของรัฐให้เล็กลง  ในช่วงของการรณรงค์เพื่อแข่งขันลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี มิเลได้ประกาศนโยบายหลายประการที่ไปในทิศทางแนวคิดเสรีนิยมใหม่ เช่น การลดจำนวนกระทรวงของรัฐบาล ผ่านการควบรวมกระทรวงที่รับผิดชอบในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกัน ดังที่เขาได้ประกาศยุบกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ เป็น “กระทรวงการพัฒนาทุนมนุษย์ (Ministry of Human Capital)” หรือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปครอบครองและควบคุมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มิเลมองว่าเป็นหน่วยงานที่พนักงานทำงานกันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ 

ณ เวลานี้ (ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023) มิเลเพิ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาร์เจนตินาได้ไม่ครบหนึ่งเดือน จึงเร็วเกินไปที่บอกว่า เขาสามารถทำตามนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงได้มากน้อยแค่ไหน  กระนั้น มิเลได้แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพทางเศรษฐกิจที่เขาได้ตอกย้ำหลายครั้งอาจไม่ได้เดินไปทางเดียวกันกับเสรีภาพทางการเมือง โดยเฉพาะการแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐบาล  ดังในช่วงต้นเดือนธันวาคมของ ค.ศ. 2023 ที่รัฐบาลของมิเลได้ประกาศลดค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา (devaluation) มากกว่าร้อยละ 50 เพื่อทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนทางการกับอัตราแลกเปลี่ยนตลาดแคบลง แต่การลดค่าเงินอย่างรวดเร็วยังผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อหนักขึ้นไปอีก  การลดค่าเงินพร้อมไปกับการตัดงบเงินอุดหนุนบริการสาธารณะอย่าง การขนส่งมวลชน หรือการลดค่าจ้าง ยังผลให้ผู้คนแสดงความไม่พอใจออกมาประท้วงรัฐบาล แต่รัฐบาลของมิเลได้กล่าวเตือนว่า จะดำเนินคดีกับผู้ประท้วงฐานทำลายความสงบเรียบร้อย  สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ถ้อยแถลงของ แพทริเซีย บลูริช (Patricia Bullrich) รัฐมนตรีความมั่นคง ที่กล่าวในทำนองว่า รัฐจะไม่แบกรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตำรวจในการรักษาความสงบ แต่รัฐใช้เทคโนโลยีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวเพื่อระบุตัวตนของผู้เข้าร่วมการประท้วง พร้อมกับส่งใบสั่งให้คนผู้นั้นมาจ่ายค่าปรับ  ถึงแม้รัฐบาลของมิเลอาจไม่ได้ทำตามที่กล่าวได้จริง แต่ถ้อยแถลงข้างต้นแสดงวิธีคิดของรัฐบาลนี้ที่ต้องการลดขนาดของรัฐให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ 

ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน การชนะเลือกตั้งของมิเลถือได้ว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจในอาร์เจนตินา ประเทศที่พรรคเปรอนนิสต์มักชนะการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลของมิเลไม่ใช่รัฐบาลชุดแรกที่ปรับนโยบายแบบส่งเสริมการทำงานของกลไกตลาดในสาธารณรัฐแห่งนี้  ดังเช่นกรณีการชนะเลือกตั้งของ เมาริซิโอ มาร์ซี (Mauricio Marci) ใน ค.ศ. 2015 ที่ผู้สันทัดกรณีมองว่า เป็นการกลับมาของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ แต่รัฐบาลของมาร์ซีเผชิญกับการต่อต้านและตอบโต้จากกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่สกัดกั้นมิให้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ปักหลักในแผ่นดินอาร์เจนตินาได้สำเร็จ  คำถามสำคัญคือ รัฐบาลของมิเลจะเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้หรือไม่  ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนยังมองว่า การชนะเลือกตั้งของมิเลไม่ได้เป็นอะไรที่น่าแปลกใจ หากเราพิจารณาว่า ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของประเทศลาตินอเมริกา (Latin America) คือประวัติศาสตร์ของการเป็นสนามทดลองของอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจอันหลากหลาย ไล่มาตั้งแต่ ทฤษฎีการพึ่งพา (dependency theory) การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import-Substitution Industrialization – ISI) จนมาถึงแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ และอุดมการณ์ประชานิยม (populism) การชนะเลือกตั้งของมิเลจึงเป็นการตอกย้ำคุณลักษณะประการนี้เสียด้วยซ้ำ  ความสนใจของผู้เขียนจึงอยู่ที่การจับตาชะตากรรมของนโยบายมิเลในอนาคตอันไม่ไกลนัก

เอกสารอ่านเพิ่มเติม
ตฤณ ไอยะรา
อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์