ครบรอบ 1 ปี ChatGPT: ความสมดุลระหว่างความซื่อสัตย์ทางวิชาการกับการใช้นวัตกรรม

1428 views
การถือกำเนิดของ ChatGPT ที่พัฒนาโดย OpenAI [https://chat.openai.com] เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในรูปแบบโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) [1] กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกเทียบเท่าปรากฏการณ์ปฏิวัติด้านเทคโนโลยีครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลก นับเฉพาะปีที่ปรากฏตัวสู่สาธารณะครั้งแรก (First introduced) ได้แก่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลปี พ.ศ. 2518 [2] อินเทอร์เน็ตปี พ.ศ. 2526 [3] และสมาร์ทโฟนปี พ.ศ. 2537 [4]

ChatGPT มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การศึกษาและงานวิชาการไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยขีดความสามารถที่ทัดเทียมหรืออาจเหนือกว่ามนุษย์ สามารถผลิตผลงานวิชาการได้ตลอดทั้งกระบวนการของการทำวิจัย (Research process) เช่น การคิดค้นไอเดีย การออกแบบงานวิจัย การทบทวนวรรณกรรม การวิเคราะห์ประมวลผล การรายงานผล การสรุปและอภิปรายผลการวิจัย การเขียนบทความวิชาการ รวมถึงการเขียนเอกสารคำสอนและตำราทางวิชาการ โดยสามารถเขียนได้มากกว่า 500 คำ ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที (ดูภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 ตัวอย่างการใช้ ChatGPT
หมายเหตุ: 
ภาพที่ 1 (ซ้าย) แสดงเนื้อหาใน PowerPoint วิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค ที่ต้องการให้ ChatGPT-4 เขียนคำบรรยาย]
ภาพที่ 2 (ขวา) ChatGPT-4 ขยายความและเรียบเนื้อหา ผ่านการอัพโหลดไฟล์ PDF และเขียนคำสั่ง (Prompt) ให้เขียนคำบรรยายเพิ่มเติม

ด้วยความสามารถดังกล่าวเกิดประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงถึงความซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic integrity) เกี่ยวกับงานวิชาการที่เขียนโดย ChatGPT แต่ถึงกระนั้นในชุมชนทางวิชาการก็ยังขาดกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตการใช้งาน ChatGPT 

บางวารสารสามารถยอมรับได้ในฐานะผู้ช่วย (Assistant) หรือในฐานะเครื่องมือสนับสนุน (Support tool) แต่ต้องทำด้วยความโปร่งใส สามารถชี้แจงได้ว่าใช้งาน ChatGPT อย่างไร วารในกลุ่มนี้ อาทิ วารสาร Nature, JAMA Network และวารสารในเครือ Springer Nature Journals [5] ดังตัวอย่างนโยบายของวารสารวิชาการ ในกล่องข้อความ 1

กล่องข้อความ 1

All authors submitting manuscripts to Accountability in Research must disclose and describe the use of any natural language processing (NLP) systems in writing the manuscript text or generating ideas used in the text and accept full responsibility for the text’s factual and citation accuracy; mathematical, logical, and commonsense reasoning; and originality…


ในขณะที่ Science Journals ประกาศแบนอย่างสิ้นเชิง ดังบทบรรณาธิการที่เขียนโดย H. Holden Thorp บรรณาธิการบริหาร แสดงจุดยืนชัดเจนที่ไม่ยอมรับงานเขียนโดย ChatGPT หรือโปรแกรม AI รูปแบบอื่น ภายใต้หลักที่ว่า “the Work is an original” คำว่า “original” เป็นคำที่ส่งสัญญาณว่างานเขียนต้องริเริ่มสร้างสรรค์โดยผู้ประพันธ์เอง 

นอกจากข้อความตัวหนังสือแล้ว Science Journals ยังไม่ยอมรับรูปภาพหรือภาพกราฟฟิกที่สร้างโดย AI อีกด้วย นั่นคือ ChatGPT ต้องไม่ใช่ผู้ประพันธ์หรือผู้ร่วมประพันธ์ [7] ดังนั้น นโยบายของกองบรรณาธิการ Science Journals ถือว่างานเขียนโดย ChatGPT เป็นการประพฤติมิชอบในการทำวิจัย (Research misconduct) 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นหลักการร่วมกันของวารสารวิชาการโดยส่วนใหญ่ คือ ChatGPT ไม่สามารถเป็นผู้ประพันธ์ได้ เนื่องจากงานเขียนทางวิชาการต้องมีผู้รับผิดชอบต่อเนื้อหา ซึ่ง ChatGPT เปรียบเสมือนอวตาลที่ไร้ตัวตน จึงไม่สามารถรับผิดชอบต่องานเขียนของตนได้ ขณะเดียวกัน การใช้งาน ChatGPT สร้างสรรค์งานเขียนขึ้นมาเอง ยังมีความสุ่มเสี่ยงในประเด็นการเสกสรรปั้นแต่ง (Fabrication) โดยยกเมฆงานเขียนขึ้นมาเอง ปราศจากหลักฐานเชิงวิชาการสนับสนุน  

นอกจากนี้ การใช้งาน ChatGPT ยังเข้าข่ายการคัดลอกผลงานของ AI ตามคำศัพท์บัญญัติใหม่ว่า “AIgiarism” หรือ “AI-based plagiarism” ซึ่งหมายถึง การนำหรือคัดลอกข้อความที่สร้างขึ้นจาก AI มาใช้งาน เสมือนหนึ่งเป็นความคิดหรืองานเขียนของผู้วิจัยเอง [8] ดังนั้น กรณีข้างต้นถือเป็นการประพฤติมิชอบในทางวิชาการ (Academic misconduct) แบบหนึ่ง 

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพการใช้งาน ChatGPT ในงานวิชาการ ที่มีความหมิ่นเหม่ต่อการประพฤติมิชอบในทางวิชาการ ได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแนวการใช้คำสั่ง (Prompt) ในบริบททางวิชาการภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ดังนำเสนอในตารางที่ 1


อนึ่ง จากประเด็นข้อกังวลเชิงจริยธรรมต่อการใช้งาน ChatGPT ข้างต้น ทางออกของการใช้งานเทคโนโลยีด้วยความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ในทัศนะของผู้เขียนมี 5 แนวทาง ดังนี้ 

แนวทางที่ 1: ต้องวางบทบาทการใช้งาน ChatGPT ให้ชัดเจนว่าเป็นเพียงผู้ช่วย (Assistant) และใช้งานในฐานะเป็นเครื่องมือสนับสนุน (Complementary use) โดยหลีกเลี่ยงการเขียนคำสั่ง (Prompt) ที่เข้าข่ายการมอบหมายให้ ChatGPT การสร้างสรรค์ผลงานให้ (ดังตัวอย่าง ในตารางที่ 1)

แนวทางที่ 2: ใช้งานด้วยความโปร่งใส (Transparency) โดยผู้วิจัยมีหน้าที่ในการเขียนคำชี้แจงอย่างเปิดเผยว่าใช้งาน ChatGPT ช่วยงานในส่วนใด และใช้งานอย่างไร

แนวทางที่ 3: ต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) เพื่อให้แน่ใจถึงการมีอยู่จริงของแหล่งข้อมูล (Existing sources) และเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (Credible sources)

แนวทางที่ 4: การใช้งาน ChatGPT ช่วยเหลือเรื่องภาษา เป็นแนวทางที่ยอมรับได้ อาทิ การพิสูจน์อักษร (Proofreading) และการแปล (Translation) 

แนวทางที่ 5: ผ่านกระบวนการพิจารณาจริยธรรมวิจัย โดยคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยของหน่วยงานต้นสังกัด ในประเด็นของการใช้เครื่องมือ ChatGPT ช่วยในงานวิจัย 

กล่าวโดยสรุป ชุมชนทางวิชาการควรมีการหารือเพื่อออกเป็นแนวปฏิบัติ (Guideline) หรือการออกกฎเกณฑ์ (Protocol) ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งาน ChatGPT ในเชิงวิชาการ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยต่อประเด็นเชิงจริยธรรม 
 
เอกสารอ้างอิง
[1] OpenAI. (n.d.). Introducing ChatGPT. Retrieved December 1, 2023, from https://openai.com/blog/chatgpt
[2] n.a. (n.d.). History, development, and importance of personal computers. Encyclopedia.com. Retrieved December 1, 2023, from https://www.encyclopedia.com/science/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/history-development-and-importance-personal-computers 
[3] University System of Georgia. (n.d.). A Brief History of the Internet. Retrieved December 1, 2023, from https://www.usg.edu/galileo/skills/unit07/internet07_02.phtml
[4] Smith, R. (2018, March 13). IBM created the world's first smartphone 25 years ago. World Economic Forum. December 1, 2023, from https://www.weforum.org/agenda/2018/03/remembering-first-smartphone-simon-ibm/
[5] Brainard, J. (2023). Journals take up arms against AI-written text. Science, 379(6634), 740–741. https://www.science.org/content/article/scientists-explore-ai-written-text-journals-hammer-policies.
[6] Hosseini, M., Rasmussen, L. M., & Resnik, D. B. (2023). Using AI to write scholarly publications. Accountability in Research. https://doi.org/10.1080/08989621.2023.2168535 
[7]Thorp, H. H. (2023). ChatGPT is fun, but not an author. Science, 379, 313-313. https://doi.org/10.1126/science.adg7879
[8]Tang B. L. (2023). The underappreciated wrong of AIgiarism - bypass plagiarism that risks propagation of erroneous and bias content. EXCLI journal, 22, 907–910. https://doi.org/10.17179/excli2023-6435
ลอยลม ประเสริฐศรี
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์