ปลานิล: ความเปลี่ยนแปลงว่าด้วยแนวทางการพัฒนาชนบท

29 พฤศจิกายน 2566
2082 views
เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “Edible Economics: A Hungry Economist Explains the World” ของ Ha-Joon Chang (2022) (หนังสือเล่มนี้มีฉบับพากษ์ไทยในชื่อ “เศรษฐศาสตร์กินได้” แปลโดยคุณสกุลรัตน์ บวรสันติสุทธิ์) เพราะความคิดริเริ่มของอาจารย์นภนต์ ภุมมา หนึ่งในกองบรรณาธิการของ เศรษฐสาร ที่ต้องการให้สมาชิกของกอง บก. จัดกลุ่มอ่านหนังสือ (reading group) ที่มีผลผลิตคือ บทความที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือแต่ละเล่ม โดยผู้เขียนรับอาสาเป็นผู้เปิดหัวของการเขียนบทความที่มาจากกลุ่มอ่านหนังสือนี้

หนังสือ Edible Economics ไม่ใช่หนังสือที่บรรยายและวิเคราะห์ถึงเศรษฐศาสตร์ของอาหารแต่ละประเภท ดังที่เราเคยเห็นผ่านมาตากับอาหารบางชนิดเช่น ซูซิ ปลาคอด หรือ กล้วย หากแต่ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้คือการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์ทางสังคมและเศรษฐกิจของอาหารกับประเด็นด้านประวัติศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ เช่น Chang ได้ผูกเรื่องของการนำเข้ากระเจี๊ยบเขียว (Okra) สู่สหรัฐอเมริกาโดยผู้คนที่ถูกกวาดต้อนเป็นทาสจากทวีปแอฟริกามาผูกโยงกับเรื่องความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพและระบบทุนนิยม หรือการชักชวนให้ผู้อ่านเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนเพื่อแสวงหาเครื่องเทศ (Spices) ในแดนตะวันออกของชาวยุโรปกับการบรรยายถึงข้อดีและข้อเสียของระบบบริษัทจำกัด (limited liability)  

อย่างไรก็ตาม บทความของผู้เขียนไม่ได้เป็นการปริทัศน์ (review) หนังสือเล่มนี้ที่มักมีเนื้อหาทำนองว่า เนื้อหาเป็นอย่างไร ข้อเสนอหลักคืออะไร หรือกระทั่งหนังสือมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร หากแต่ผู้เขียนขอหยิบยืมวิธีการของหนังสือเล่มนี้ที่ทำการเชื่อมโยงอาหารที่ผู้คนทั่วโลกค่อนข้างคุ้นเคยข้างกับข้อถกเถียงทางเศรษฐศาสตร์ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านความรู้และภูมิปัญญาของผู้เขียน บทความชิ้นนี้จึงเป็นการพยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาหารและประเด็นทางเศรษฐกิจที่คุ้นเคยในสังคมไทยเสียก่อน

ผู้เขียนขอเชื่อมโยงปลานิล (Nile tilapia) ที่เป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุดของผู้คนในสังคมไทยในปัจจุบันเข้ากับประเด็นของการพัฒนาชนบท (rural development) ที่เป็นความท้าทายของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อย่างน้อยที่สุดนับตั้งแต่การปรากฏกายขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกใน พ.ศ. 2504 ความเชื่อมโยงระหว่างปลานิลและประเด็นการพัฒนาชนบทเผยให้เห็นถึงความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทในสังคมไทย

ดังที่รับรู้กันโดยทั่วไปในสังคมไทย ปลานิลถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกผ่านการแนะนำของมกุฎราชกุมารอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายปลานิลชุดแรกแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และปลานิลชุดนี้ถูกนำมาเลี้ยงในโครงการพระราชดำริที่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ใน พ.ศ. 2508 ก่อนปลานิลชุดนี้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วและถูกแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคเพื่อเป็นแหล่งอาหาร (กรมประมง 2562) การเผยแพร่พันธุ์ปลานิลกลายเป็นหนึ่งในนโยบายที่ถูกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความผันผวนทางอาหารในพื้นที่ชนบทของไทย

ปรากฏการณ์ข้างต้นไม่ใช่เรื่องเฉพาะของสังคมไทย เพราะองค์การการพัฒนาระหว่างประเทศทั้งหลายได้ทำการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลานิลอันเป็นปลาที่มีแหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกาในในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง เช่นอินโดนีเซีย ก็ได้พบเจอกับปลานิลในฐานะของแหล่งโปรตีนทางเลือกของผู้คน เพราะปลานิลสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำที่มีสภาวะแตกต่างกันออกไป และยังเป็นสัตว์น้ำที่มีปริมาณเนื้อเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวและมีปริมาณการแลกเนื้อ (feed conversion ration) ที่สูง เหมาะแก่การเลี้ยงในพื้นที่ชนบทที่การเข้าถึงอาหารเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นแล้ว ปลานิลจึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการดำเนิน “การปฏิวัติเขียว (Green Revolution)” ที่มีจุดมุ่งหมายในการขจัดความอดอยากในพื้นที่ชนบทไปพร้อมกับการจำกัดอิทธิพลของ “การปฏิวัติแดง (Red Revolution)” ที่นำโดยขบวนการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ที่มักใช้ประเด็นความขัดสนทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องขับเคลื่อน (Greenberg 2010)

เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาความอดอยากในชนบทเริ่มหมดไปพร้อมไปกับความอ่อนแรงของขบวนการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ สถานะของปลานิลไม่ได้จำกัดเพียงแค่การเป็นแหล่งโปรตีนของผู้คน แต่ปลาชนิดนี้ยังกลายเป็นสินค้าที่เป็นภาพตัวแทนของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรแบบใหม่ด้วย กล่าวคือในทุกวันนี้ การผลิตปลานิลได้ยกระดับกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ที่มีบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ร่วมด้วย โดยจากคำกล่าวของนายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง (ตำแหน่งในขณะนั้น) ประเทศไทยมีผลผลิตปลานิลจากการเพาะเลี้ยงอยู่ที่ 197,600 ตัน และมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจำนวน 282,857 ราย กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2559 (กรมประมง 2560) 

ผู้เลี้ยงปลานิลมีทั้งกลุ่มผู้ประกอบการอิสระและกลุ่มผู้เลี้ยงในระบบพันธสัญญา (contract farming) แต่ทั้งสองกลุ่มล้วนต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หน่วยงานของรัฐบาลอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ให้สินเชื่อแก่เกษตร และหน่วยงานอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเข้ามาทำให้ความรู้ทางเทคนิคและช่วยเหลือด้านการตลาดแก่เหล่าเกษตรกร (เกวลิน 2564,1) โดยสรุปแล้ว การเลี้ยงปลานิลจึงแปลงสภาพจากการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของครัวเรือนหรือชุมชนดังที่เกิดขึ้นในยุคริเริ่มของการพัฒนา ไปเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีจุดหมายมุ่งหมายเพื่อแสวงหากำไรแต่ตองอาศัยการเข้าถึงเงินทุนและตลาดในยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ที่ปลานิลกลายเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าจากปัจจัยการผลิตในชนบทไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จากสถิติในบทความของ El-Sayed and Fitzsimmons (2022, 7) การเลี้ยงปลาตระกูลหมอสี (tilapia) ในระดับโลก เพิ่มขึ้นจากถึง 6 เท่าในช่วง ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2019 โดยปลานิลครอบครองสัดส่วนถึงร้อยละ 74 ในการเลี้ยงปลาตระกูลหมอสี ปลานิลจึงมักถูกเรียกว่า “ไก่น้ำ (aquatic chicken)” เนื่องด้วยเพราะเป็นโปรตีนที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับปลาเลี้ยงชนิดอื่น และบางประเทศเช่น อินโดนีเซีย หรือจีน กลายเป็นผู้ส่งออกเนื้อปลานิลแช่แข็งหรือปลานิลแปรรูปไปยังตลาดโลก และในประเทศกำลังพัฒนาอย่างฟิลิปปินส์ หน่วยงานภาครัฐก็ได้ทำการเพิ่มพูนศักยภาพของผู้ประกอบการการเลี้ยงปลานิล ผ่านการให้ความรู้เชิงเทคนิคและการตลาด (El-Sayed and Fitzsimmons 2022, 12) 

ความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบกิจกรรมการเลี้ยงปลานิลในสังคมไทยก็สอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมิติของการพัฒนาชนบทที่ความท้าทายในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่มีความเกี่ยวเนื่องกับกระแสคิดด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับโลก เพราะในช่วงแรกของกระแสการพัฒนาที่รัฐไทยได้กระจายพันธุ์ปลานิลสู่ทุกภูมิภาคเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนก็ดำเนินไปพร้อมกับกระแสการปฏิวัติเขียวในระดับนานาชาติที่องค์การที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระหว่างประเทศใช้ปลานิลเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการต่อสู้กับความอดอยาก กระแสการพัฒนาเช่นนี้สอดคล้องกับภาพใหญ่ของการพัฒนาในสังคมไทยในช่วงเริ่มต้นที่รัฐไทยมีเป้าหมายในการสร้างความหลากหลาย (diversification) ของการผลิตสินค้าเกษตรกรรมที่แต่เดิมเน้นไปที่การปลูกข้าวเป็นหลัก เพื่อหวังว่าผลผลิตการเกษตรที่หลากหลายขึ้นจะเป็นปัจจัยที่หนุนเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในฐานะของอาหารที่หล่อเลี้ยงแรงงานอุตสาหกรรมในเขตเมืองหรือวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าหัตถอุตสาหกรรม โดยรัฐได้เข้าไปส่งเสริมกระบวนการนี้โดยตรงผ่านการตั้งองค์กรใหม่ เช่นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (Goss and Burch 2001, 975-976) 

นโยบายการพัฒนาของไทยในช่วงเวลานั้นสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามทฤษฎีนำไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ที่สมาทานโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อว่า ถ้าวิสัยทัศน์ต่ออนาคตประเทศอันถูกต้องถูกผลักดันโดยรัฐสมัยใหม่ (modern state) ที่ครอบครองเทคโนโลยีอันก้าวหน้า ประเทศเหล่านั้นได้รับผลลัพธ์จากการเดินไปในเส้นทางสู่ความรุ่งโรจน์ของยุคสมัยใหม่ที่เป็นเกราะป้องกันอันแข็งแกร่งจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ (Cullather 2004, 230-231)  ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่รัฐนำเข้าเทคโนโลยีใหม่เช่น พันธ์ข้าวสมัยใหม่จากแปลงทดลองสถาบันวิจัยพันธุ์ข้าวในฟิลิปปินส์ หรือพันธุ์ปลานิลที่มีต้นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา หรือเครื่องจักรการเกษตรยุคใหม่ จึงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในคริสต์ทศวรรษ 1960

กระนั้น นับตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 แนวทางการเกษตรกรรมในสังคมไทยก็ได้เปลี่ยนแปลงไปทิศทางที่ทุนการเกษตรกรรมขนาดใหญ่เริ่มเข้าไปทำเกษตรแบบพันธสัญญากับเกษตรกรในชนบทเพิ่มขึ้น ทิศทางเช่นนี้ยังผลให้เกษตรกรผูกชะตากรรมของตนเองเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในตลาดทั้งในประดับประเทศและโลก และรัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรแปลงสภาพตนเองให้มีระดับความเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่สูงขึ้น โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างไม่ลำบากนัก (Hirsch 2020) กล่าวคือเป้าหมายหลักของของการพัฒนาชนบทไทยในช่วงเวลานี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หลักประกันให้กับภาคอุตสาหกรรมในเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนให้ภาคเกษตรกรรมกลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่แสวงหากำไรสูงสุดอย่างเข้มข้นขึ้น  

เช่นเดียวกับนโยบายการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้ทันสมัยในยุคของการปฏิวัติเขียว มาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเงินทุนดำเนินตามทิศทางการพัฒนากระแสหลักในโลกอย่าง แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ที่ทรงอิทธิพลนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 โดยแนวคิดข้างต้นมีข้อเสนอหลักคือ เสรีภาพและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของผู้คนสามารถบรรลุผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกรรมทางเศรษฐกิจในระบบตลาด นักวิชาการที่สมาทานแนวคิดนี้จึงเสนอว่าการเข้าถึงเงินทุนในระดับดอกเบี้ยที่ชำระได้ช่วยให้เกษตรกรในชนบทสามารถดำเนินตามแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมที่เน้นบทบาทของตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนในการจัดสรรทรัพยากร การเข้าถึงเงินทุนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาในยกระดับตัวเองให้เข้าไปมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้ (Bernards 2022, 119)

เนื้อหาของบทความชิ้นนี้เผยให้เห็นว่า ปลานิลไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งโปรตีนจำนวนมากของผู้คนเท่านั้น หากแต่ตำแหน่งแห่งที่ของปลานิลในระบบเศรษฐกิจยังเป็นภาพตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงของชนบท โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่นโยบายรัฐไทยที่มีต่อภาคเกษตรกรรมก็ยังคงมีความต่อเนื่องในบางมิติ เช่นความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการพัฒนาชนบทของไทยกับกระแสแนวคิดการจัดการเศรษฐกิจภาคชนบทในระดับระหว่างประเทศ หรือการจัดวางให้พื้นที่ชนบทเป็นเสมือนภาคส่วนที่ส่งเสริมการเติบโตของเขตเมือง โดยเฉพาะการผลิตอาหารในราคาที่เข้าถึงได้ให้แก่ผู้คน  ในท้ายที่สุด เรื่องราวของปลานิลได้ทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามสำคัญที่อยากชวนทิ้งไว้คือ สังคมไทยควรแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่พยายามจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทใหม่หรือไม่ และสังคมไทยควรหาแนวทางการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและตลาดที่ตอบโจทย์เงื่อนไขการพัฒนาของตนเองอย่างไร

ก่อนจากกัน ถ้าผู้อ่านท่านใดอยากลองเขียนบทความว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและประเด็นทางเศรษฐกิจ สามารถส่งมาที่เศรษฐสาร ทางกองบรรณาธิการพร้อมรับพิจารณาครับ

เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
  • กรมประมง. (2560). กรมประมงชวนรวมกลุ่มแปลงใหญ่เลี้ยงปลานิล เผยคนเลี้ยงปลานิล กาฬสินธุ์ยิ้มร่า...  ที่นี่มีประกันราคาไม่มีตก. เข้าถึงได้ที่ https://www4.fisheries.go.th/index.php/dof/activity_ item/853/all_activity/120. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 
  • กรมประมง. (2562). ประวัติ/ความเป็นมาของปลานิล. เข้าถึงได้ที่ https://www4.fisheries.go.th/local/ index.php/main/view_blog2/1220/64289/2315. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
  • เกวลิน หนูฤทธิ์. (2564). การศึกษาการเลี้ยงปลานิลในกระชังแบบเกษตรพันธสัญญาและแบบอิสระ:  กรณีศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย. เอกสารวิชาการฉบับที่ ๑/๒๕๖๔. กรุงเทพฯ:  กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาษาอังกฤษ

  • Bernards, Nick. (2022). “The World Bank, Agricultural Credit, and the Rise of Neoliberalism in  Global Development.” New Political Economy 27 (1): 116-131.
  • Chang, Ha-Joon. (2002). Edible Economics: A Hungry Economist Explains the World. London:  Allen Lane.
  • Cullather, Nick (2004). “Miracles of Modernization: The Green Revolution and the Apotheosis  of Technology.” Diplomatic History 28 (2): 227-254.
  • El-Sayed, Abdel-Fattah M. and Kevin Fitzsimmons. (2023). “From Africa to the World – The  Journey of Nile Tilapia.” Review in Aquaculture. Available online at https://doi.org/ 10.1111/raq.12738.
  • Goss, Jasper and David Burch. (2001). “From Agricultural Modernisation to Agri-Food  Globalisation: The Waning of National Development in Thailand.” Third World  Quarterly 22 (6): 969-986.
  • Hirsch, Philip. (2020). “Limits to Neoliberal Authoritarianism in the Politics of Land  Capitalisation in Thailand: Beyond the Paradox.” Canadian Journal of Development  Studies
ตฤณ ไอยะรา
อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์