RCEP: ความตกลงการค้าเสรีของประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็ก

14 พฤศจิกายน 2566
1942 views
บทความนี้จะนำผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จัก “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือ RCEP” ให้เข้าใจมากขึ้น ทั้งในแง่พื้นฐานของประเทศสมาชิกที่มารวมตัวในเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ข้อผูกพันของการเปิดเสรี และความแตกต่างของผลประโยชน์ในข้อตกลง RCEP เทียบกับเขตการค้าเสรีอื่น ๆ ดังนั้น ความเข้าใจเหล่านี้จะฉายให้เห็นบทบาทของ RCEP ต่อประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กอย่างไทยได้ชัดเจน

พื้นฐานของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP)
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เป็นเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก และประกอบด้วยประเทศ ASEAN 10 ประเทศ และ 5 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

ที่สำคัญ RCEP ถือเป็นเขตการค้าเสรีสำคัญอย่างชัดเจนที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,252 ล้านคน หรือ 30.2 % ของประชากรโลก และมีจีดีพีมากกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30 % ของจีดีพีโลก รวมทั้ง มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 27.4 % ของมูลค่าการค้าโลก (ตารางที่ 1)

RCEP มี 20 ข้อบทที่นอกเหนือจากเรื่องการลดภาษีนำเข้าแล้ว บทอื่น ๆ ยังมีความครอบคลุมในเรื่องของการค้า การลงทุน และประเด็นของการค้าในยุคปัจจุบัน เช่น การแข่งขัน การอำนวยความสะดวกในการค้ายุคใหม่ กฎแหล่งกำเนิดสินค้า การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา และอื่น ๆ (Armstrong & Drysdale, 2021)

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก คือ RCEP จะกลายเป็นกลไกส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความซับซ้อนของระบบการค้าที่เกิดจากความตกลงการค้าเสรีที่ ASEAN มีอยู่เดิม โดยที่ ASEAN เป็นศูนย์กลาง และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความตกลงระดับภูมิภาคนี้ และในขณะเดียวกัน RCEP มีความสำคัญต่อ ASEAN ในการจัดการผลประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ในภูมิภาค

ข้อผูกพันการเปิดเสรีภายใต้ RCEP
อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกของ RCEP มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของระดับของการพัฒนา และสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีทั้งประเทศรายได้ต่ำอย่างเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ไปจนประเทศที่มีรายได้สูงอย่างสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ดังนั้น ข้อผูกพันการเปิดเสรีภายใต้ RCEP จึงมีลักษณะประนีประนอม กล่าวคือ การเปิดเสรีค่อยเป็นค่อยไป และมีระยะเวลาการปรับตัวนานถึง 20 ปี 

นอกจากนั้น การเปิดเสรียังมีความหลากหลายระหว่างกลุ่มภายใน RCEP เช่น จีนมีแผนการเปิดเสรีให้กับอาเซียน แตกต่างจากแผนที่ให้กับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น  เรื่องดังกล่าวแตกต่างจากเอฟทีเอขนาดใหญ่อย่าง CPTPP ที่แผนการเปิดเสรีเกิดขึ้นทันทีทันใดและครอบคลุมสินค้าจำนวนมาก ด้วยประเทศสมาชิก RCEP มีการลงนามเอฟทีเอระหว่างกันก่อนหน้า ผลประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรีบนพื้นฐานของกฎระเบียบตามความตกลง RCEP จึงน่าจะมีจำกัดในระยะสั้น 

ในระยะยาวด้วย RCEP มีกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดกลางที่ใช้กับทุกประเทศ งานศึกษาของ Kohpaiboon and Jongwanich (2022) ชี้ให้เห็นว่ากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของ RCEP เอื้อต่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระหว่างสมาชิกได้ ดีกว่าเมื่อเทียบกับเอฟทีเอขนาดใหญ่อื่น ๆ ดังนั้น เมื่อขั้นตอนการลดภาษีของ RCEP สมบูรณ์ ผลประโยชน์ทางการค้าของ RCEP น่าจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างให้ประเทศสมาชิกหันมาพัฒนาห่วงโซ่อุปทานกันภายใน RCEP และใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้าเพิ่มมากขึ้น และดึงดูดการลงทุนให้กับประเทศสมาชิกได้มากขึ้น 

บทสรุป : ผลประโยชน์ของ RCEP ต่อประเทศขนาดเล็ก
ประโยชน์ประการหนึ่งของ RCEP ต่อประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศขนาดเล็กที่มีกำลังการเจรจาต่อรองที่จำกัด คือ การรักษาบรรยากาศทางการค้าที่อิงกับกฎระเบียบ หรือ Rule-based ที่เป็นจุดเด่นของกรอบการเจรจาพหุภาคีอย่างองค์กรการค้าโลก หรือ WTO เพราะข้อบทหนึ่งของ RCEP เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกหารือและบริหารจัดการกับความท้าทายใหม่ทางการค้าของโลกผ่านกลไกของสำนักเลขาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีตัวแทนจากประเทศสมาชิกคอยประสานความร่วมมือ เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงจัดทำกฎระเบียบเพิ่มเติมที่มีความจำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

เรื่องดังกล่าวที่ RCEP มักถูกหยิบยกว่าเป็น ความตกลงที่มีชีวิต (Living agreement) เรื่องดังกล่าวสำคัญอย่างมากในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง อันเป็นผลจากกระแสความนิยมที่ประเทศต่าง ๆ หันมาใช้นโยบายคุ้มครองทางการค้า (Protectionism) การฟูมฟักอุตสาหกรรม และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การมีกรอบความตกลงอย่าง RCEP ที่มีลักษณะเป็น Rule-based จึงเสมือนเป็นเกราะป้องกันให้กับประเทศขนาดเล็กจากการดำเนินการฝ่ายเดียว (Unilateral Action) ของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ตารางที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานของประเทศสมาชิก RCEP ปี 2022

อาเซียน = สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, EU = สหภาพยุโรป, FDI = การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ, GDP = ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ, n.a. = ไม่ปรากฏข้อมูล
หมายเหตุ: อาเซียน+5 = ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อาเซียน+6 = ประเทศอาเซียน+5 รวมถึง อินเดีย
* ค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2011–2022
** ข้อมูลตั้งแต่ปี 2019
*** ข้อมูลตั้งแต่ปี 2021
ที่มา: World Bank (2023), World Development Indicators. https://databank.worldbank.org/source/world-development-indicators (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2023)

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกงานของนักศึกษาในกลุ่มคลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขัน (ICRC: The International Competitiveness Research Cluster) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เขียนขอขอบคุณ รศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์ ที่ช่วยให้คำแนะนำและปรับแก้ไขบทความดังกล่าวอย่างยิ่ง

เอกสารอ้างอิง
  • Kohpaiboon, A. and J. Jongwanich. (2022). "Restrictiveness of RCEP Rules of Origin: Implications for Global Value Chains in East Asia," Chapters, in: Fukunari Kimura & Shujiro Urata & Shandre Mugan Thangavelu & Dionisius Narjoko (ed.), Dynamism of East Asia and RCEP: The Framework for Regional Integration, chapter 3, pages 39-69, Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA).
  • Peter Drysdale & Shiro Armstrong. (2021). RCEP: a strategic opportunity for multilateralism. China Economic Journal. 14:2, 128-143, DOI: 10.1080/17538963.2021.1937092
กัญญาณัฐ สัตตธารา
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องลูบแมวทุกตัวที่เห็นเมื่อเดินผ่าน