รายได้ส่งกลับและการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของครัวเรือนไทย

1503 views
บทความนี้ จะมาเล่าเกี่ยวกับแรงงานย้ายถิ่นในไทย ทั้งสาเหตุของแรงงานที่ต้องย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ๆ และรายได้ของแรงงานย้ายถิ่นถูกนำไปใช้ในค่าใช้จ่ายด้านใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายจ่ายเพื่อลงทุนในการศึกษาของบุตรหลานที่เป็นความหวังจะสามารถยกระดับมาตรฐานชีวิตในอนาคต 

สาเหตุของแรงงานย้ายถิ่นในไทย
การย้ายถิ่นของแรงงานในไทยเป็นปรากฎการณ์ที่พบได้ทั่วไป ทั้งการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศและไปต่างประเทศ การสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรประจำปี พ.ศ. 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ย้ายถิ่นฐานถึง 8.09 แสนคน โดย 35% ของผู้ย้ายถิ่นมีเป้าหมายด้านการงาน ไม่ว่าจะเป็นการหางานทำ การเปลี่ยนงานทำ และการหาความหน้าทางการงาน เพื่อแลกกับผลตอบแทนโดยตรงจากการย้ายถิ่นของแรงงาน นั่นคือ “รายได้ส่งกลับ” ไปยังสมาชิกในครัวเรือน (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 แรงงานย้ายถิ่นจำแนกตามสาเหตุ
นอกจากนี้ ข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่า ในปี พ.ศ.  2558 – 2564 ครัวเรือนไทยมีสมาชิกที่ส่งรายได้ส่งกลับเฉลี่ยอยู่ที่ 1.32 คนต่อครัวเรือน โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในครัวเรือนที่ย้ายถิ่นเพื่อหางานทำและเพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง และเป็นการย้ายถิ่นในประเทศ โดยเฉพาะการย้ายถิ่นภายในจังหวัดเดียวกันและการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพฯ 

คนกลุ่มนี้ยังอยู่ในวัยทำงาน (ผู้ชายมีอายุเฉลี่ยที่ 37 ปี และผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยที่ 35 ปี) และทำงานในลักษณะงานที่แตกต่างกัน โดยเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ย้ายถิ่นชายทำงานเป็นช่างฝีมือ เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างโลหะและช่างไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ย้ายถิ่นหญิงทำงานเป็นพนักงานบริการและพนักงานขาย 

ทั้งนี้ ผู้ส่งเงินกลับมีแนวโน้มที่จะส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่หรือบุตรของตนมากที่สุด การบริหารรายได้ส่งกลับจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับสมาชิกในครัวเรือน ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า รายได้ส่งกลับถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และบางส่วนถูกนำไปชำระหนี้ (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 การจัดสรรรายได้ส่งกลับของสมาชิกของครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่น


ครัวเรือนที่มีรายได้ส่งกลับมองว่าการศึกษาเป็นสินค้าจำเป็น
จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างครัวเรือนที่ได้รับรายได้ส่งกลับ พบว่า รายได้ส่งกลับส่งผลให้ครัวเรือนไทยอยากใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากรายได้ส่งกลับของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1% ครัวเรือนจะใช้จ่ายด้านการศึกษาโดยเฉลี่ยมากขึ้นถึง 13.5% หรือครัวเรือนเหล่านี้มองว่าการศึกษาเป็นสินค้าจำเป็น 

นอกจากนี้ ครัวเรือนจะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของครัวเรือน หากเราเน้นไปที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาจะเพิ่มขึ้นเพียง 11% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด

ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ทรัพย์สินของครัวเรือนและสถานภาพการทำงานของหัวหน้าครัวเรือนกลายเป็นปัจจัยส่งเสริมในการลงทุนการศึกษาอย่างมาก โดยครัวเรือนกลุ่มนี้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากขึ้นถึง 16% หากครัวเรือนมีทรัพย์สินมากขึ้น 1% ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนยังทำงานอยู่สูงกว่าในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้ทำงานถึง 27% ดังนั้น ปัจจัยทั้งสองจึงสะท้อนความสำคัญของสามารถในการลงทุนด้านการศึกษา (affordability) ในครัวเรือนรายได้น้อย 

อย่างไรก็ดี ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่ในครัวเรือนที่มีระดับรายได้สูงขึ้นมา ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนจะมีบทบาทกำหนดรายจ่ายด้านการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงความตระหนักถึงอัตราผลตอบแทนจากการศึกษา (awareness) ในครัวเรือนและโอกาสการเข้าถึงแหล่งงานที่แตกต่างกันตามระดับรายได้ของครัวเรือนต่าง ๆ อย่างชัดเจน

ผลกระทบต่ออัตราการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง คือ รายได้ส่งกลับของครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นลดอัตราการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่าง แต่หากแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามเส้นความยากจนแล้วพบว่า รายได้ส่งกลับลดอัตราการเรียนต่อเฉพาะนักเรียนที่อาศัยอยู่บนเส้นความยากจนเท่านั้น ขณะที่ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเรียนต่อของนักเรียนที่อาศัยอยู่ใต้เส้นความยากจนอย่างมีนัยสำคัญ

ในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน การศึกษาของมารดาและทรัพย์สินของครัวเรือนส่งผลให้อัตราการเรียนต่อในมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากพิจารณาระดับทรัพย์สินของครัวเรือนเข้าไปพร้อมกันจะพบว่า นักเรียนในครัวเรือนที่มีทรัพย์สินน้อยกว่าค่ามัธยฐานทรัพย์สินของครัวเรือนทั้งหมดมีความเปราะบางต่อต้นทุนค่าเสียโอกาสทางการศึกษามากกว่า และมีความเปราะบางต่อรายได้จากการทำงาน จนมีโอกาสถูกดึงดูดให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่า หรือมีโอกาสหลุดออกจากการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ง่าย เหตุการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงความไม่เพียงพอของการสนับสนุนด้านการศึกษาในครัวเรือนกลุ่มนี้ 

เรื่องดังกล่าวจึงแตกต่างกับกลุ่มนักเรียนที่มีเศรษฐานะดีกว่า (ครัวเรือนมีทรัพย์สินและรายได้มากกว่า) อย่างชัดเจน หรือกลุ่มนักเรียนที่มีฐานดีกว่าจะมีทางเลือกมากกว่านักเรียนที่มีรายได้น้อย ทั้งในแง่ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อการศึกษาและโอกาสการเข้าถึงแหล่งงาน

บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
แม้ครัวเรือนไทยที่มีรายได้ส่งกลับจะให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานผ่านการลงทุนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่รายได้ส่งกลับของครัวเรือนกลับลดอัตราการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของนักเรียนไทย ผลการศึกษานี้อาจจะดูขัดแย้งกันเนื่องจากอัตราการเรียนต่อของนักเรียนควรสูงขึ้นหากได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากครอบครัว 

อย่างไรก็ดี เราสามารถอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้จากงานวิจัยในอดีตผ่าน 2 มุมมอง คือ (1) นักเรียนในครัวเรือนที่มีรายได้ส่งกลับรู้จักกับเครือข่ายผู้ย้ายถิ่น โดยความเชื่อมโยงกับผู้ย้ายถิ่นรุ่นก่อนจะช่วยลดต้นทุนการย้ายถิ่นของนักเรียน และในขณะเดียวกันก็เพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการย้ายถิ่นและเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของนักเรียน (Massey, 1990; Hu, 2012) และ (2) ครัวเรือนที่มองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงจะเลือกลงทุนกับการย้ายถิ่นเพื่อหางานมากกว่าการลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน (Dietz et al., 2015) ปัจจัยเหล่านี้จึงผลักดันให้ครัวเรือนที่มีแรงงานย้ายถิ่นบางส่วนมีแรงจูงใจส่งเสริมให้บุตรหลานตนเองเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายลดลง

ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของนักเรียนในครัวเรือนเหล่านี้ โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีรายได้และทรัพย์สินน้อย ผ่านการลดค่าเทอมหรือเพิ่มเงินสนับสนุนพิเศษสำหรับนักเรียนที่กำลังเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

เอกสารอ้างอิง

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่อง The impact of remittances on human capital investment in Thai households ของผู้เขียน และข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรและผลสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรระหว่างปี พ.ศ.  2558 – 2564

เพชรอุมา มานิช
นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์