การวัดค่าใช้จ่ายรายบุคคลและความเหลื่อมล้ำที่เกิดภายในครัวเรือนไทย

1148 views
บทความนี้ จะชวนมาติดตามความซับซ้อนของความยากจนในครัวเรือนไทย โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำภายในครัวเรือนจนเกิดปรากฎการณ์คนจนที่อาศัยในครัวเรือนที่ไม่ยากจน เพราะในความเป็นจริง สมาชิกในครัวเรือนสามารถได้รับการจัดทรัพยากรไม่เทียมกันได้ ซึ่งบทความนี้จะนำเสนอทั้งความท้าทายของการวัดส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายระหว่างสมาชิกในครัวเรือน และแนวโน้มของการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายระหว่างสมาชิกในครัวเรือนไทย

การวัดส่วนแบ่งการใช้จ่ายระหว่างบุคคลในครัวเรือน 
“บุคคล” สามารถจะยากจนได้แม้บุคคลนั้นจะอาศัยอยู่ใน “ครัวเรือน” ที่ไม่ยากจน ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นได้หากมีความเหลื่อมล้ำภายในครัวเรือนในระดับที่สูง [1] ข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายของคนไทยที่มีถูกสำรวจและบันทึกในระดับครัวเรือน บอกเราได้แค่ว่าครัวเรือนมีรายได้เท่าไหร่และซื้ออะไรบ้าง แต่ไม่สามารถบอกการบริโภคของแต่ละบุคคลในครัวเรือนได้ ดังนั้น เราต้องอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อใช้วัดส่วนแบ่งการใช้จ่ายและการบริโภคระหว่างบุคคลในครัวเรือนเพื่อช่วยทำความเข้าใจของความยากจนในครัวเรือนไทยได้ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การวัดส่วนแบ่งการใช้จ่ายและการบริโภคระหว่างบุคคลในครัวเรือนมีความท้าทายในทางปฏิบัติอย่างมาก แม้จะมีบางฐานข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลสำคัญในระดับบุคคล เช่น ข้อมูลการบริโภคสินค้าบางชนิด แต่การอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครัวเรือนมักจะมีสินค้าหลายรายการที่สมาชิกสามารถบริโภคร่วมกันได้ (Joint Consume) จนทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) จากการบริโภคร่วมกัน ทำให้การประมาณการการบริโภคในระดับบุคคลด้วยวิธีที่ตรงไปตรงมาอย่างการหารเฉลี่ยต่อหัวในหลายกรณีก็จะไม่สมเหตุสมผล ดังเช่น ครัวเรือน 3 คนที่อาศัยร่วมกันในบ้านมูลค่า 3 ล้าน ทุกคนได้อาศัยในบ้านมูลค่า 3 ล้าน ไม่ใช่อาศัยในบ้านมูลค่า 1 ล้าน 

การวัดส่วนแบ่งการใช้จ่ายระหว่างบุคคลในครัวเรือนสามารถทำได้ผ่านการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการบริโภคของครัวเรือน (Consumption Pattern) ซึ่งมีการพัฒนาแบบจำลองมาอย่างยาวนานเพื่อให้เกิดความสมจริงมากขึ้น ตั้งแต่แบบจำลองที่มองครัวเรือนเป็นเหมือนคน 1 คน [2] แบบจำลองที่มองครัวเรือนเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีการร่วมมือกัน [3] จนไปถึงแบบจำลองที่มองครัวเรือนเป็นกลุ่มคนที่มีการร่วมมือกันที่เรียกว่า Collective Model [4], [5] 

ในบทความนี้ อ้างอิงงานศึกษาของผู้เขียนที่เลือกใช้แบบจำลอง CPTW Model ที่พัฒนาโดย Calvi, Penglse Tommasi, and Wolf (2020) [8] เพื่อประมาณค่าส่วนแบ่งการใช้จ่ายระหว่างบุคคลในครัวเรือน เนื่องจากรูปแบบแบบจำลองดังกล่าวมีความเหมาะสมกับการวิเคราะห์ครัวเรือนไทยที่เป็นครัวเรือนขยาย มีเด็ก ผู้ใหญ่ผู้ชาย ผู้ใหญ่ผู้หญิง อาศัยอยู่ร่วมกันหลายคน 

แบบจำลอง CPTW Model จำเป็นต้องมีข้อมูล “สินค้าเอกชน” หรือ สินค้าที่สมาชิกในครัวเรือนไม่มีการบริโภคร่วมกันและระบุได้ว่าถูกบริโภคโดยใคร ซึ่งหลักการของแบบจำลองสำคัญ คือ หากบุคคล A มีอำนาจต่อรองในครัวเรือนมาก บุคคล A จะได้รับส่วนแบ่งทรัพยากรมากกว่าบุคคล B และในขณะเดียวกัน หากครัวเรือนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว สัดส่วนสินค้าเอกชนของบุคคล A จะเพิ่มมากกว่าบุคคล B เช่นกัน 

ข้อค้นพบของค่าส่วนแบ่งการใช้จ่ายระหว่างบุคคลในครัวเรือนไทย
หากเปรียบเทียบงานศึกษาต่าง ๆ ที่ผ่านมา พบว่า ค่าส่วนแบ่งการใช้จ่ายระหว่างบุคคลในครัวเรือนจะแปรไปตามประเทศ ช่วงเวลา และแบบจำลองที่แต่ละการศึกษาเลือกใช้ (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 สรุปผลการศึกษาค่าส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการศึกษาก่อนหน้าที่มีความน่าสนใจ
ในกรณีของไทย ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลสำรวจพบว่ามีเพียงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2562 ที่มีการสำรวจสินค้าเอกชนของครัวเรือน ทำให้ผู้เขียนใช้ข้อมูลชุดปี พ.ศ. 2562 ในการประมาณการส่วนแบ่งการใช้จ่ายระหว่างบุคคลในครัวเรือน โดยใช้ข้อมูลสินค้าเอกชน คือ รายจ่ายเสื้อผ้า เสื้อผ้ากีฬา รองเท้า รองเท้ากีฬา ที่มีการแยกรายการของชายอายุมากกว่า 13 ปี หญิงอายุมากกว่า 13 ปี และเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เราจึงสามารถประมาณการแยกส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายของแต่ละบุคคลในครัวเรือนได้ (กลุ่มผู้ใหญ่ผู้ชาย กลุ่มผู้ใหญ่ผู้หญิง และกลุ่มเด็ก) 
 
ลักษณะของครัวเรือนไทยมีความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ไทยมีครัวเรือนแหว่งกลางจำนวนมาก โดยครัวเรือนแหว่งกลางมีแนวโน้มจะยากจนกว่ามีสัดส่วนของรายได้เงินโอนต่อรายได้รวมที่สูง โดยเฉพาะครัวเรือนนอกเขตเทศบาล และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีครัวเรือนแหว่งกลางกว่า 14.3% ของครัวเรือแหว่งกลางทั้งหมด (ภาพที่ 1) ดังนั้น การศึกษาความเหลื่อมล้ำในส่วนนี้สามารถทำได้โดยการเทียบเคียงการประมาณการส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายรายบุคคลของเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่มีพ่อและแม่ของเด็กกับค่าใช้จ่ายรายบุคคลของเด็กที่อยู่ในครัวเรือนแหว่งกลาง



ตารางที่ 2 สะท้อนว่าในภาพรวม ไม่พบว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ใหญ่ชายหญิงมากนัก ค่าความต่างของส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายรายบุคคลของผู้ใหญ่ผู้ชายจะมากกว่าผู้ใหญ่ผู้หญิงประมาณ 2.8% เท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศที่มีสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศสูงกว่าไทย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา 

ขณะที่เด็กจะมีส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายรายบุคคลประมาณคนละ 9-15% ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับผลการศึกษาในต่างประเทศ โดยสัดส่วนของเด็กมักจะน้อยกว่าผู้ใหญ่เพราะเด็กมีความต้องการในการบริโภคสินค้าในระดับที่ต่ำกว่าผู้ใหญ่ และมักจะมีอำนาจต่อรองภายในครัวเรือนน้อยกว่า

ปัจจัยกำหนดส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไทย
ในงานศึกษาของผู้เขียน ยังพิจารณาปัจจัยกำหนดส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไทยและพบสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ นั่นคือ ตัวแปรจำนวนสมาชิกในครัวเรือนจะส่งผลกระทบลบต่อส่วนแบ่งของทุกคนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการมีสมาชิกในครัวเรือนเพิ่มขึ้น จะมีจำนวนบุคคลที่ต้องแบ่งทรัพยากรมากขึ้น นอกจากนี้ ครัวเรือนที่มีสมาชิกจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและการมีงานทำ จะส่งผลกระทบทางบวกต่อส่วนแบ่งของสมาชิกแต่ละคน และเด็กจะได้รับส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเด็กเหล่านี้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่เป็นมุสลิม

นอกจากนี้ หากพิจารณาแยกประเภทครัวเรือนแล้ว ครัวเรือนอ้างอิงที่มีผู้ใหญ่ผู้ชาย ผู้ใหญ่ผู้หญิง และเด็ก อย่างละ 1 คนในทุกภูมิภาค ผู้ชายจะมีส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายในครัวเรือนมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย แต่เมื่อครัวเรือนมีเด็กเพิ่มมากขึ้น ส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายของผู้หญิงจะลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับส่วนที่ลดลงของส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายของผู้ชาย เรื่องดังกล่าวสะท้อนว่าการมีเด็กช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองภายในครัวเรือนของผู้หญิง (ดูภาพที่ 2)   

หากพิจารณาความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในครัวเรือนประเภทต่างๆ พบว่า เด็กที่อยู่กับญาติและคนอื่น จะได้รับส่วนแบ่งในสัดส่วนที่มากกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่เพียงเล็กน้อย และเด็กที่อยู่กับญาติและคนอื่นจะลำบากกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่มาก เพราะครัวเรือนของเด็กกลุ่มนี้มีรายได้และค่าใช้จ่ายครัวเรือนโดยเฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนที่ต่ำกว่ามาก 

สุดท้าย การทดสอบการเลือกปฏิบัติระหว่างเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ซึ่ง Deaton (1989) ได้เคยทดลองทำผ่านการวัดสัดส่วนสินค้าผู้ใหญ่ ขณะที่เราได้ประเมินที่สัดส่วนการได้รับทรัพยากรภายในครัวเรือนของเด็กโดยตรง โดยเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนอ้างอิงที่มีเด็กผู้ชาย 1 คนกับครัวเรือนอ้างอิงที่มีเด็กผู้หญิง 1 คน และเราพบว่า ครัวเรือนไทยให้ส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงเพียงเล็กน้อยและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติแต่อย่างใด ดังนั้น นัยสำคัญคือ เราไม่พบหลักฐานว่าครัวเรือนไทยเลือกปฏิบัติระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง และข้อค้นพบดังกล่าวยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Deaton (1989) เช่นกัน

บทสรุป
บทความนี้ พบว่าผลการศึกษาของครัวเรือนไทยในภาพรวมค่อนข้างสอดคล้องกับผลการศึกษาในอดีต อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของผู้เขียนยังมีข้อจำกัดจากข้อมูลที่ประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายของบุคคลจากรายการค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนน้อยในรายจ่ายรวมของครัวเรือน ดังนั้น ผลการศึกษาจะมีความแม่นยำมากขึ้นหากเราสามารถเก็บข้อมูลการบริโภคในระดับบุคคลได้มากขึ้น เช่น กรณีของต่างประเทศที่มีการเก็บข้อมูลการบริโภคอาหาร และของใช้ส่วนตัว เป็นต้น

ผลการศึกษานี้มีนัยสำคัญต่อผู้กำหนดนโยบายสวัสดิการต่าง ๆ เนื่องจากงานศึกษานี้นำเสนอให้เห็นว่าครัวเรือนอาจมีแนวโน้มที่จะแบ่งค่าใช้จ่ายอย่างไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้คนบางกลุ่ม เช่น เด็กในครัวเรือนแหว่งกลาง สมาชิกครัวเรือนที่ไม่มีงานทำ หรือสมาชิกที่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับที่สูง อาจจะกำลังอยู่ภายใต้ความยากจนแม้ว่าครัวเรือนจะมีระดับรายได้ที่มากพอควรก็ได้ หรือกล่าวได้ว่า คนกลุ่มนี้มักจะถูกมองข้ามเพราะข้อมูลเท่าที่ภาครัฐมีคือข้อมูลรายได้ในระดับครัวเรือนเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
[1] V. Lechene, K. Pendakur, and A. Wolf, “OLS estimation of the intra-household distribution of consumption,” Jul. 2019. doi: 10.1920/wp.ifs.2019.1919.
[2] P. A. Samuelson, “Social Indifference Curves,” Q. J. Econ., vol. 70, no. 1, p. 1, Feb. 1956, doi: 10.2307/1884510.
[3] Z. Chen and F. Woolley, “A Cournot-Nash Model of Family Decision Making,” Econ. J., vol. 111, no. 474, 2001, doi: https://www.jstor.org/stable/798410.
[4] P.-A. Chiappori, “Rational Household Labor Supply,” Econometrica, vol. 56, no. 1, pp. 63–90, Aug. 1988, doi: 10.2307/1911842.
[5] M. Browning, F. Bourguignon, P.-A. Chiappori, and V. Lechene, “Income and Outcomes: A Structural Model of Intrahousehold Allocation,” J. Polit. Econ., vol. 102, no. 6, pp. 1067–1096, Dec. 1994, doi: 10.1086/261964.
[6] M. Browning, P.-A. Chiappori, and A. Lewbel, “Estimating Consumption Economies of Scale, Adult Equivalence Scales, and Household Bargaining Power,” Rev. Econ. Stud., vol. 80, no. 4, pp. 1267–1303, Oct. 2013, doi: 10.1093/restud/rdt019.
[7] G. R. Dunbar, A. Lewbel, and K. Pendakur, “Children’s Resources in Collective Households: Identification, Estimation, and an Application to Child Poverty in Malawi,” Am. Econ. Rev., vol. 103, no. 1, pp. 438–471, Feb. 2013, doi: 10.1257/aer.103.1.438.
[8] R. Calvi, J. Penglase, D. Tommasi, and A. Wolf, “The More the Poorer? Resource Sharing and Scale Economies in Large Families,” SSRN Electron. J., no. 13948, 2020, doi: 10.2139/ssrn.3751841.
[9] V. Atella, C. Arias, F. Perali, and R. Castagnini, “Estimation of the Sharing Rule Between Adults and Children and Related Equivalence Scales Within a Collective Consumption Framework,” SSRN Electron. J., vol. 10, no. 28, 2003, doi: 10.2139/ssrn.428540.
[10] M. Browning, P.-A. Chiappori, and A. Lewbel, “Estimating Consumption Economies of Scale, Adult Equivalence Scales, and Household Bargaining Power,” no. 289, pp. 1–47, 2013.
[11] C. Thibout, “Allocation of Resources within Couples: Some New Evidence about the Sharing Rule,” 15th IZA/SOLE Transatlantic Meeting of Labor Economists. Germany, 2016.
[12] Z. Chen and Y. Li, “Identication of Children’s Resources in Collective Households in China,” 2016.
[13] G. R. Dunbar, A. Lewbel, and K. Pendakur, “Identification of Random Resource Shares in Collective Households Without Preference Similarity Restrictions,” J. Polit. Econ., vol. 125, no. 4, pp. 1100–1148, 2017.
[14] A. Lewbel and X. Lin, “Identification of Semiparametric Model Coefficients , With an Application to Collective Households,” no. September, pp. 1–36, 2019.
วุฒิพงษ์ ตุ้นยุทธ์
นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และจบการศึกษาจากเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์