มรดกนิธิ 2 : ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยรอบใหม่ 2566 คนรุ่นใหม่และระบบอุปถัมภ์ของไทย

699 views
จากงานเสวนา “นิธิกับความ (ไม่) รู้ทางเศรษฐศาสตร์” อาจารย์อภิชาตได้ชี้ว่า อาจารย์นิธิมีกรอบการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกิดจากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสถาปนาระเบียบทางเศรษฐกิจการเมืองแบบใหม่มารองรับเหตุการณ์ไม่คาดหมาย (Shock) ที่เกิดจากภายนอก เมื่อระเบียบทางเศรษฐกิจการเมืองแบบใหม่สถาปนาขึ้นแล้วจะส่งผลให้เกิดตัวละครทางการเมืองใหม่ขึ้นมา และตัวละครกลุ่มนี้ต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบเศรษฐกิจการเมือง ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองรอบใหม่ จนกว่าสังคมจะได้ระเบียบทางการเมืองใหม่ที่ผนวกตัวละครใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมในระบบด้วย วัฏจักรเหล่านี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ผลักดันให้สังคมมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลง

อาจารย์อภิชาตได้เสนอว่า อาจารย์นิธิได้ใช้กรอบนี้ในการวิเคราะห์บทบาทของเสื้อแดงในการเมืองไทย โดยชี้ว่าระเบียบทางเศรษฐกิจการเมืองในช่วงทศวรรษ 1990 ก่อให้เกิดกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่เพิ่งสามารถตั้งตัวได้ และต้องการมีปากมีเสียงในการกำหนดนโยบายมากขึ้น จึงให้การสนับสนุนทักษิณเนื่องจากทักษิณดำเนินนโยบายที่สร้างความพึงพอใจแก่กลุ่มตน เมื่อทักษิณถูกรัฐประหาร กลุ่มคนเสื้อแดงจึงไม่พอใจและออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องกติกาการเมืองแบบใหม่ที่จะมองเห็นความต้องการของพวกตนบ้าง อาจารย์อภิชาติและคณะได้นำกรอบคิดนี้ของอาจารย์นิธิไปพัฒนาต่อยอดเป็นงานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ในปี 2556 เพื่ออธิบายที่มาและโลกทัศน์ของคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญในยุคนั้น (กลุ่มคนเสื้อเหลือง และ กลุ่มคนเสื้อแดง) 

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้ง 2566 ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การเมืองของไทยเปลี่ยนไปจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วมากแล้ว เราอาจจะไม่สามารถใช้กรอบเดิมมาอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันได้แล้ว ในช่วงท้ายของงานเสวนานิธิวิทยากรและผู้ร่วมจึงได้ร่วมกันถกเถียงเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากที่อาจารย์ตะวัน มานะกุล ตั้งคำถามว่า ถ้าอิงตามกรอบคิดของอาจารย์นิธิ “คนรุ่นใหม่” คือกลุ่มพลังใหม่ที่ไม่ได้ผนวกเข้าไปในระบบ คนกลุ่มนี้คือใครและมีที่มาอย่างไร

ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย
จากการสรุปการสนทนาของอาจารย์อภิชาต และยุกติ (มุกดาวิจิตร) ผลการเลือกตั้งในปี 2566 (พรรคก้าวไกลได้อันดับหนึ่ง) สะท้อนว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการเมืองไทยอีกแล้ว คนเสื้อแดงจำนวนมากลดระดับการขับเคลื่อนทางการเมืองแล้ว ตัวละครที่สำคัญทางการเมืองของไทยจึงกลายเป็นกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ที่สมาชิกประกอบไปด้วยคนทุกชนชั้น ทุกกลุ่มอายุ และไม่มีคุณสมบัติทางบุคคลอะไรที่เด่นชัด ไม่เหมือนนิยามของคนเสื้อแดงที่สามารถนิยามด้วยชนชั้น (กลางระดับล่าง) ได้ กล่าวคือหลังจากที่ได้ไปลงพื้นที่ในกรุงเทพพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่นี้มีลักษณะที่ข้ามผ่านนิยามคุณสมบัติ (คนรุ่นใหม่มีทุกแบบ) เลยตอบได้ยากว่าจริง ๆ แล้วกลุ่มทางการเมืองกลุ่มใหม่นี้คือกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติแบบไหน 

คนรุ่นใหม่กับระบบอุปถัมภ์
อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เสนอว่า ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่สามารถนิยามคนรุ่นใหม่ด้วยคุณสมบัติส่วนบุคคลได้เลย เนื่องจากคนทุกแบบทุกประเภทก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้หมด ดังนั้นอาจจะเป็นการดีกว่าถ้าเอากรอบคิดของนิธิมาสร้างนิยามของคนรุ่นใหม่ กล่าวคืออาจารย์นิธิมักพิจารณาสิ่ง ๆ หนึ่งจากการที่สิ่งนี้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับสถาบันทางสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะสัมพันธ์อย่างไรกับรัฐอุปถัมภ์ของไทย และเมื่อพิจารณาตามประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ความสัมพันธ์กับรัฐอุปถัมภ์นี่แหละที่เป็นประเด็นศูนย์กลางของการเมืองไทยมาตลอด โดยการเมืองความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเสื้อแดงคือการที่คนกลุ่มหนึ่ง (เสื้อแดง) ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐอุปถัมภ์ ดูได้จากการเกิดปรากฎการณ์ ผีไทยรักไทย ขึ้นเพื่อขับไล่เครือข่ายกลุ่มการเมืองทักษิณและคนเสื้อแดงออกจากเครือข่ายอุปถัมภ์ของรัฐ ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับรัฐอุปถัมภ์ของไทย จะพบว่าคนกลุ่มนี้คือคนที่ได้ผลประโยชน์จากเครือข่ายรัฐอุปถัมภ์ต่ำ คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้สนใจต้องการที่จะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอุปถัมภ์ และมีความต้องการที่จะทำลายระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยด้วย 
อาจารย์วีระยุทธยังระบุเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอของก้าวไกลตอบสนองต่อความต้องการทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ พรรคก้าวไกลจึงสามารถดึงคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มาเป็นฐานผู้สนับสนุนทางการเมืองที่สำคัญ นอกจากนี้อาจารย์นิธิยังมองว่าพรรคเพื่อไทยเองก็สามารถปรับจุดยืนของพรรคเพื่อมาหาฐานเสียงจากคนกลุ่มนี้ได้ โดยให้พรรคเพื่อไทยผลักดันคนมีความคิดแบบใหม่ขึ้นมามีอำนาจในพรรค และเลือกเส้นทางเผชิญหน้ากับอำนาจโดยใช้แนวทางแบบปฏิบัตินิยมกว่าแนวทางของพรรคก้าวไกล อีกทั้ง การก้าวเข้ามาของระบบดิจิทัลส่งผลให้คนพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์น้อยลง เช่น Youtube ทำให้คนสามารถเป็นดาราดังได้โดยไม่ต้องพึ่งค่ายเพลงหรือผู้จัดการที่มีชื่อเสียง Shopee ทำให้คนที่ต้องการเปิดกิจการไม่ต้องมีเส้นสายเพื่อเปิดตึกแถว หรือต้องเข้าหาแบรนด์สะดวกซื้อ สามารถไลฟ์ขายของได้เลย สิ่งเหล่านี้ทำให้โลกทัศน์คนจำนวนมากเปลี่ยนไป เมื่อคนจำนวนมากไม่ต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ กลุ่มคนนอกระบบอุปถัมภ์ก็ใหญ่ขึ้น

อาจารย์อภิชาตยังกล่าวเสริมว่า สาเหตุที่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่ยอมรับในระบบอุปถัมภ์และต้องการทำลายระบบอุปถัมภ์ของไทยเนื่องจาก มองว่าระบบอุปถัมภ์ทำให้สังคมไม่มีความเป็นธรรม มีคนบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์มากเกินไป ในขณะที่คนบางกลุ่ม (ซึ่งรวมถึงพวกเขาด้วย) ได้รับโอกาสน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังเจริญเติบโตได้ดีพวกเขายังพอได้รับส่วนแบ่งบ้าง (ถึงจะได้น้อยกว่าที่ควรจะได้) สามารถก่อร่างสร้างตัวได้ จึงไม่ยังไม่ได้ต่อต้านระบบอุปถัมภ์มากนัก แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวการเจริญเติบโตกระจุกอยู่กับอภิสิทธิ์ชนและไม่ตกถึงพวกเขา พวกเขาจึงเลือกแสดงความไม่พอใจ เลือกที่จะต่อต้าน หรือเลือกที่จะย้ายประเทศ โดยคนในวัยหนุ่มสาวแนวโน้มจะไม่พอใจสูงกว่าและมีแนวโน้มจะอยากหนีไปต่างประเทศมากกว่า เนื่องจากมีความต้องการโอกาสในการสร้างตัวที่สูงกว่า ความเห็นของอภิชาติยังสอดคล้องกับของตะวันที่เสนอว่าคนที่เรียกร้องปฏิรูปประเทศหรืออยากย้ายประเทศไม่ใช่กลุ่มคนรายได้น้อย คนกลุ่มนี้มีการศึกษามีความสามารถแต่มองว่าระบบไม่เปิดโอกาสให้เขาได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถเขา โดยอาจารย์อภิชาตได้รวบยอดว่า คนรุ่นใหม่จึงไม่ใช่ตัวละครชนชั้นใหม่เฉกเช่นคนเสื้อแดงที่เติบโตหลังเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มนี้มีมานานแล้วแต่ก่อนหน้าไม่คิดว่ามีความจำเป็นต้องสู้ เมื่อเศรษฐกิจซบเซาจึงมีความจำเป็นต้องออกมาเรียกร้อง 

พรรคเพื่อไทย
ภายหลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรครัฐบาลชุดก่อน ทั้งที่ก่อนหน้าทั้งสองกลุ่มคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ในเวทีเสวนานี้ก็พยายามจะหาคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วย
อาจารย์ธงชัยเสนอว่า โดยกลุ่มการเมืองของพรรคเพื่อไทยประกอบด้วยสองแกนหลักที่สำคัญ 1. เครือข่ายที่ต้องการเข้ากับระบบอุปถัมภ์รัฐไทยแต่ไม่ได้รับการยอมรับ 2. กลุ่มที่ต่อต้านระบบอุปถัมภ์ ในปัจจุบันกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ครอบงำพรรค ส่งผลให้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคเพื่อไทยจะเข้าร่วมกับรัฐบาลในชุดปัจจุบัน และอาจารย์วีระยุทธยังได้เสนอเพิ่มเติมว่า หากย้อนไปในสมัยไทยรักไทย ภายในพรรคไทยรักไทยมี 3 กลุ่มที่ต่างมีแนวทางในการผลักดันนโยบายวาระของตัวเอง 1. กลุ่มหมอชนบท ที่ได้ตกผลึกนโยบายสวัสดิการระบบสาธารณสุขมาแล้ว 2. กลุ่มบ้านใหญ่ ที่ต้องการผลักดันวาระทางนโยบายที่เหมาะสมกับระบบอุปถัมภ์แบบไทย 3. กลุ่มพันธ์ศักดิ์ (วิญญรัตน์) ที่ต้องการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างชนชั้นกลาง ทั้ง 3 กลุ่มสามารถระดมความเห็นและผลักดันนโยบายที่เหมาะสมส่งผลให้สามารถชนะการเลือกตั้งได้  โดยนโยบายของพรรคไทยรักไทยได้พลิกความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย กล่าวคือจากเดิมชนชั้นนำทางการเมืองจะมีความสัมพันธ์เป็นลำดับชั้นหลาย ๆ ชั้นจากศูนย์กลางไปสู่ประชาชนตามท้องที่ แต่พรรคไทยรักไทยสามารถสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับประชาชนผู้เลือกตั้งตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยตรง ข้ามหัวเครือข่ายหัวคะแนนและระบบราชการซึ่งเคยเป็นตัวกลางในความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดเป็นความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบใหม่ที่ผู้นำทางการเมืองกับประชาชนมีความสัมพันธ์กันโดยตรงมากขึ้น 

(เคาะ) ในปัจจุบันภายหลังการรัฐประหาร กลุ่มพลังประชารัฐได้กลับมากุมอำนาจรัฐ และผลักดันให้ระบบอุปถัมภ์กลับไปเป็นแบบเก่า โดยมีกลุ่มพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ในขณะที่ภายในพรรคเพื่อไทยเองกลุ่มพันธ์ศักดิ์ก็เริ่มหมดบทบาทในพรรคแล้ว กลุ่มหมอชนบทก็ผลักดันวาระของตนไปเสร็จสิ้นแล้ว กลุ่มบ้านใหญ่จึงขึ้นมามีบทบาทนำในพรรค ส่งผลให้เมื่อพรรคเพื่อไทยกลายเป็นรัฐบาล ภารกิจที่สำคัญในระยะสั้นของพรรคคือการไปดึงสายระบบอุปถัมภ์แบบเดิมคืนกลับเข้ามาในเครือข่ายของตน

เทคโนแครตใหม่
อาจารย์ธรได้เปิดประเด็นว่า การที่กลุ่มอุปถัมภ์จะสามารถครอบอำนาจรัฐต่อไปได้ภายใต้แรงกดดันจากภาคประชาสังคม ภาครัฐจำเป็นต้องหาความชอบธรรม ในอดีตความชอบธรรมของภาครัฐเป็นเรื่องเศรษฐกิจ กลุ่มชนชั้นนำจึงพึ่งพาให้เทคโนแครตนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้กำหนดนโยบายผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันกลุ่มนักวิชาการที่รับใช้ให้อำนาจรัฐยังคงอยู่ได้เปลี่ยนไป จากนักเศรษฐศาสตร์มาเป็นนักกฎหมาย โดยคำถามที่สำคัญคือ ภายใต้กระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลอย่างไรต่อกลุ่มนักวิชาการกฎหมายที่มารับใช้อำนาจรัฐ?

อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ได้ตอบคำถามเหล่านี้ว่า หากวิเคราะห์จากโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนักกฎหมาย อาจจะคาดหวังให้นักกฎหมายเข้ามาเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ยาก เนื่องจากระบบอาชีพของนักกฎหมายค่อนข้างสร้างแรงจูงใจให้นักกฎหมายรับใช้ระบบต่อไป กล่าวคือเส้นทางและผลตอบแทนของอาชีพนักกฎหมายที่รับใช้รัฐค่อนข้างดึงดูดและสามารถคาดหวังได้ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะมีคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงล้มล้างระบบอุปถัมภ์ในสังคม แต่พวกเขาเลือกที่จะสงวนท่าทีดีกว่า แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันมีนักกฎหมายจำนวนมากขึ้นที่เลือกจะไม่เดินตามระบบ 
อาจารย์ธงชัยได้เสนอเพิ่มเติมว่า ระบบยุติธรรมและนักกฎหมายจำนวนมากยังไม่ได้เปลี่ยนตามสังคม จะส่งผลให้มีแนวโน้มสูงว่าในอนาคตระบบยุติธรรมจะกลายเป็นองค์กรหรือกลุ่มที่ถูกกดดันทางการเมืองอย่างหนัก กล่าวคือสถานการณ์ที่สังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คนพึ่งพาระบบอุปถัมภ์น้อยลง หากองค์กรกฎหมายยังทำหน้าที่ปกป้องรัฐอุปถัมภ์อยู่ องค์กรและระบบกฎหมายจะสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์อย่างรวดเร็ว
กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์
นักเรียนเศรษฐศาสตร์สายการเมืองเนิร์ดๆ ผู้หลงใหลในอาร์เซนอลและเฟรนซ์บูด็อก