ยางไทยไม่ยืดหยุ่น : ปัญหาความไม่ยืดหยุ่นทางราคาของอุปทานในตลาดยางพาราไทย

4129 views
ในปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่ราคาเนื้อหมูต่อกิโลกรัมดีดตัวสูงสุดที่ 175 บาท ราคาเฉลี่ยของน้ำยางพาราสดต่อกิโลกรัมกลับอยู่ที่เพียง 54 บาทเท่านั้น ถึงแม้ว่ารายได้จากการผลิตยางพารา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าครองชีพนั้นจะน้อยนิด อะไรบางอย่างกลับทำให้เกษตรกรยางพาราไทยต่างพร้อมใจกันผลิตสินค้าในปริมาณมากเสียจนประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง แล้วอะไรบางอย่างที่ว่าคืออะไร? นี่ไม่ใช่คำถามที่เพิ่งผุดขึ้นมาในสมองของประชาชนยุคดิจิตอล หากแต่เป็นปริศนาที่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และในหลายบทวิจัยของผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นก็มีคำศัพท์หนึ่งที่โผล่ขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งก็คือ...ความไม่ยืดหยุ่นทางราคาของอุปทาน

หากอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด ความไม่ยืดหยุ่นทางราคาของอุปทาน (Price Inelasiticty of Supply) คือภาวะที่ปริมาณการผลิตสินค้าหรือบริการชนิดหนึ่งไม่ผันแปรตามการเปลี่ยนแปลงของราคา ในกรณีนี้ก็คือการที่ไม่ว่าราคาของยางพาราจะสูงหรือต่ำเพียงใด เกษตรกรก็ยังคงผลิตยางพาราในปริมาณมากตามเดิม ข้อสังเกตนี้จึงนำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่ามันต้องมีข้อจำกัดบางอย่างในตลาดยางพาราที่ทำให้เหล่าเกษตรกรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตยางพาราของตนได้ถนัดนัก และอุปสรรคที่ว่านั้นคืออะไร? 

หนึ่งในอุปสรรคหลักก็คือโครงสร้างของตลาดยางพาราเอง เพราะตลาดยางพาราทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติต่างก็เป็นตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ประเภทผู้ซื้อน้อยรายผู้ขายมากราย (Oligopsony) หมายถึงจำนวนผู้ผลิตยางพาราในระดับต้นน้ำ (ซึ่งคือเกษตรกรรายย่อย ทั้งที่เป็นเจ้าของที่ดินและที่เป็นผู้กรีดยาง) มีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ซึ่งตรงข้ามกับผู้ซื้อยางพาราในระดับปลายน้ำ (ซึ่งคือบริษัทแปรรูปยางพารา เช่น บริษัทผลิตยางรถยนต์ ยางรัดของ และถุงมือยาง) ที่มีจำนวนน้อยแต่มีกำลังซื้อสูง กล่าวคือเกษตรกรยางพาราขนาดย่อยในระดับท้องถิ่นที่แยกกันผลิตยางพาราตามความสามารถในการผลิตของตน ต่างก็ต้องขายสินค้าให้กับผู้ซื้อเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ดังนั้นผู้ซื้อในตลาดประเภทนี้จึงมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้ามากกว่าผู้ขายอย่างเป็นสาระสำคัญ 

อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือผู้ซื้อรายใหญ่ในระดับปลายน้ำมักเป็นบริษัทแปรรูปยางพาราในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาและจีน และด้วยปริมาณการส่งออกยางพาราที่มากกว่า 80% จากปริมาณการผลิตยางพาราในประเทศทั้งหมด เกษตรกรไทยจึงได้รับลกระทบจากสภาวการณ์ในตลาดโลกโดยตรง อีกทั้งเพราะยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เหมือนกันทุกประการ (Homogeneous Commodity) กล่าวคือไม่ว่าจะถูกผลิตในประเทศใดก็ไม่ได้มีคุณภาพที่แตกต่างกันมากนัก มันจึงถูกเก็งกำไรและได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures Market) 3 แห่ง อันได้แก่ Shainghai Futures Exchange (SHFE) Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) และ Singapore Exchange (SGX) 

นอกจากโครงสร้างของตลาดที่เอื้อต่อการมีอิทธิผลของผู้ซื้อในตลาดโลกแล้ว ตัวผู้ผลิตยางพาราไทยเองก็มีความอ่อนแอในหลายด้าน ประการที่หนึ่งวิธีการผลิตยางพาราของเกษตรกรยางพาราไทยส่วนมากยังเป็นแบบแรงงานเข้มข้น (Labour-intensive) และใช้เวลามาก (Time-consuming) อุปกรณ์ที่เกษตรกรยางพาราใช้ก็มักเป็นแบบดั้งเดิม อันประกอบด้วย มีดกรีดยาง จอกยาง ลิ้นยาง และไม้กวาดน้ำยาง 

โดยขั้นตอนในการผลิตยางพาราจะเริ่มจากการเตรียมที่ดินเพื่อปลูกต้นอ่อนยางพาราโดยเกษตรกร จากนั้นเกษตรกรต้องดูแลต้นอ่อนอย่างใกล้ชิด ทั้งใส่ปุ๋ยทุกไตรมาสและถางวัชพืชเป็นประจำ เพื่อให้ต้นยางอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด การกรีดยางสามารถทำได้เมื่อต้นยางพารามีอายุราวแปดปีขึ้นไป ในการกรีดยางครั้งแรก เกษตรกรจะตอกลิ้นยางเข้าไปในต้นยางพาราและติดตั้งจอกยางเอาไว้เบื้องล่างในระยะใกล้ๆ กัน จากนั้นจึงใช้มีดกรีดยางถากเปลือกไม้ของต้นยางพาราเป็นแนวเฉียงด้วยระดับความลึกที่เหมาะสม น้ำยางพาราซึ่งคือของเหลวสีขาวที่ซึมออกจากรอยถากจะค่อยๆ ไหลลงมาตามลำต้นลงไปจนถึงลิ้นยางและหยดลงในจอกยางตามลำดับ การกรีดยางมักทำในเวลากลางคืน ทั้งเพื่อเลี่ยงอากาศร้อนระอุในตอนกลางวันและเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำยางพารา เนื่องจากอากาศที่ร้อนกว่าในเวลากลางวันทำให้น้ำยางพาราออกน้อย 

ในขั้นตอนของการจำหน่ายเข้าสู่ตลาด เกษตรกรรอจนถึงเช้าเพื่อเข้าไปเก็บน้ำยางพาราที่สะสมอยู่ในจอกยาง โดยการใช้ไม้กวาดน้ำยางกวาดน้ำยางพาราลงในถุงพลาสติกหรือกระสอบที่เตรียมไว้ และขนส่งออกมาขายต่อผู้รับซื้อน้ำยางพาราในระดับท้องถิ่น การขายมักทำในเช้าวันเดียวกัน เพราะน้ำยางพาราจะเกาะตัวกันเป็นก้อนหากปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งยางก้อนมีราคาที่ต่ำกว่าน้ำยางพาราสด เศษยางที่เหลืออยู่ในจอกยางหลังการกวาดน้ำยางพาราเรียกว่าขี้ยาง ซึ่งสามารถนำมาขายให้ผู้รับซื้อท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้อีกทางเช่นกัน ในขั้นตอนนี้เกษตรกรยางพาราไม่มีความสามารถในการต่อรองราคาโดยสิ้นเชิง เพราะราคายางพาราที่ผู้ซื้อในระดับท้องถิ่นระบุไว้เป็นราคาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว โดยอ้างอิงจากราคาที่ถูกกำหนดโดยผู้ซื้อในลำดับที่สูงขึ้นไปอีกที ดังในแสดงในรูปที่ 1 และผู้รับซื้อยางพาราในระดับท้องถิ่นจะขนส่งสินค้าไปขายต่อผู้รับซื้อในระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุดในระดับภาคใต้คือตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่

เกษตรกรยางพารายังอาจรับสองบทบาทหลัก คือ เป็นเจ้าของสวนยางและ/หรือเป็นผู้รับจ้างกรีดยาง เกษตรกรคนหนึ่งอาจทำทั้งสองหน้าที่ก็ได้ ในกรณีที่เจ้าของสวนยางพาราจ้างผู้อื่นให้กรีดยาง ทั้งสองจะแบ่งรายได้รายวันตามที่ได้รับจากผู้รับซื้อยางพาราในท้องที่ตามอัตราส่วนที่ตกลงไว้ เกษตรกรสองกลุ่มนี้มักทำงานกันอย่างใกล้ชิดและแบกรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของราคายางพาราในระดับที่ใกล้เคียงกัน ในกรณีที่ตลาดยางพาราผันผวนมาก เกษตรกรยางพาราอาจเข้าไปหางานที่มีอัตรารายได้ที่แน่นอนเมืองทำ หรือพวกเขาอาจเปลี่ยนไปผลิตพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่น เช่น ข้าวและปาล์มน้ำมัน แทน  

รูปที่ 1 กระบวนกำหนดราคาของยางพารา

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในลักษณะนี้มาพร้อมกับต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มหาศาล  เพราะนอกจากเกษตรกรจะต้องโค่นต้นยางพาราเดิมและปรับที่ดินให้เข้ากับพืชชนิดใหม่ที่ตนเลือก พวกเขายังต้องใช้เวลาเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกพืชชนิดใหม่อย่างมีคุณภาพอีกด้วย อีกนัยหนึ่งคือเพราะต้นทุนจม (Sunk Cost) ในการผลิตยางพารามีมูลค่าสูง การเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นจึงทำได้ยาก 

ถึงแม้ความไม่ยืดหยุ่นทางราคาของอุปทานถูกตรวจจับมานานแล้ว แต่เกษตรกรยางพาราไทยก็ยังผลิตยางพาราในปริมาณสูงสวนทางกับราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง คำถามที่ว่าความไม่ยืดหยุ่นทางราคาของอุปทานในการผลิตยางพาราในประเทศไทยยังคงมีอยู่หรือไม่จึงปรากฏขึ้น หากความไม่ยืดหยุ่นดังกล่าวยังถูกตรวจจับได้อยู่ ก็แปลว่าเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรยางพาราไทยไม่ได้เกิดจากราคาของยางพาราที่ตกต่ำในช่วงเวลานั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลพวงจากความอ่อนแอเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องด้วย

ภาครัฐเองก็ไม่ได้ดูดายต่อความทุกข์ร้อนนี้และยังช่วยออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราไทยเป็นระยะ เช่น ผ่านโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางและการสนับสนุนปุ๋ยยางพาราแก่เกษตรกร แต่การประท้วงของเกษตรกรยางพาราที่ยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความไม่ยืดหยุ่นของการผลิตยางพาราอาจเป็นสัญญาณส่อความจำเป็นของการวางนโยบายที่สร้างสรรค์มากขึ้น เช่นการส่งเสริมเกษตรกรด้านทุนทรัพย์โดยปราศจากการส่งเสริมการต่อยอดสินค้า อาจทำให้อำนาจการต่อรองราคาที่ต่ำอยู่แล้วของเกษตรกรอ่อนแอยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้ว่าเกษตรจะสามารถนำเงินสนับสนุนนี้ไปเพิ่มจำนวนต้นยางพาราและสามารถสร้างรายได้เพิ่มผ่านการเพิ่มปริมาณการผลิต มันก็ยิ่งทำให้ตลาดยางพาราแข่งขันไม่สมบูรณ์แบบผู้ขายมากรายผู้ซื้อน้อยราย (Oligopsony) เพิ่มขึ้นในระยะยาวด้วยเช่นกัน อีกทั้งการแก้ปัญหาในลักษณะนี้อาจมีประสิทธิภาพน้อยลงด้วยเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบัน อัตราการเกิดที่ลดลงนำไปสู่จำนวนแรงงานในการผลิตยางพาราที่ลดลง เพราะการผลิตยางพาราต้องใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ดังนั้นเงินสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้นจึงอาจไม่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรยางพาราที่จะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน

แล้วมาตรการใดถึงจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม? นี่เป็นคำถามที่ตอบได้ยากที่สุดในบรรดาคำถามทั้งหมดในบทความนี้ แต่หากพิจารณากันโดยคร่าว ถ้าการพึ่งพาอุปสงค์ (Demand) ยางพาราจากตลาดต่างประเทศคือปัจจัยสำคัญที่ต่ออายุของความอ่อนแอของเกษตรกรยางพาราไทย ดังนั้นแล้ว การเพิ่มปริมาณและความสำคัญของอุปสงค์ (Demand) ยางพาราในประเทศ เช่น ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลัก ก็อาจจะพอทุเลาปัญหาลงได้  ยิ่งกว่านั้น หากสามารถส่งออกสินค้ายางพาราที่แปรรูปในประเทศ ไปสู่ตลาดนานาชาติได้รับการผลักดัน ผลกระทบเชิงบวกก็อาจกระจายไปสู่เศรษฐกิจไทยในวงกว้างได้เช่นกัน เพราะสินค้าประเภทนี้ไม่ได้อยู่ในรูปสินค้าโภคภัณฑ์ที่เหมือนกันทุกประการแล้ว จึงไม่อ่อนแอต่อแรงกดดันทางการกำหนดราคาจากผู้ซื้อมากเท่าการส่งออกยางพาราที่เป็นวัตถุดิบ

โดยสรุปคือ โครงสร้างทางตลาดยางพาราทั้งในไทยและในระดับนานาชาติ ประกอบกับความอ่อนแอเชิงประชากร และวิธีการผลิตยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยางไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเหล่านี้มีอำนาจการต่อรองราคายางพาราที่ต่ำ อีกทั้งต้นทุนในการผลิตยางพารา โดยเฉพาะในแง่ต้นทุนจม (Sunk Cost) ในการจัดเตรียมที่ดินและการเรียนรู้ทักษะประกอบอาชีพ ทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่นนัก นอกจากทนรับรายได้อันน้อยนิดจากการขายน้ำยางพารา แน่นอนว่าการหาวิธีและดำเนินการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นภารกิจที่ยาก แต่ก็คงไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ และสักวันหนึ่งเราอาจได้เห็นเกษตรกรยางพารา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐจับมือกันก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไปสู่วันที่ดีขึ้นของภาคเกษตรกรรมประเทศไทย  และในวันนั้นยางจากประเทศไทยอาจจะยืดหยุ่นขึ้นมาได้
จิดาภา ลู่วิโรจน์
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)