มรดกของนิธิ 1 : นิธิ กับ ความ (ไม่) รู้ทางเศรษฐศาสตร์

945 views
ถึงแม้ว่าสังคมวิชาการจะสูญเสียนักคิดคนสำคัญอย่างนิธิ เอียวศรีวงษ์ไป แต่มรดกที่สำคัญอย่างความคิดและความรู้ที่อาจารย์เคยมอบให้สังคมไทยไม่ได้สูญหายไปตามสังขารของอาจารย์ ดังนั้นศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานเสวนา “นิธิกับความ (ไม่) รู้ทางเศรษฐศาสตร์” ขึ้นเพื่อรำลึกถึงมรดกทางวิชาการที่อาจารย์นิธิเคยมอบให้กับวงการผู้ศึกษาระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้อาจารย์นิธิไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ แต่อาจารย์ก็มักจะเขียนงานเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจอยู่เสมอ และในบางครั้งงานเขียนเหล่านั้นก็ได้ตั้งคำถามต่อความรู้ของนักเศรษฐศาสตร์ด้วย ความเห็นประเด็นทางเศรษฐกิจของอาจารย์จึงเป็นความเห็นที่หลุดพ้นจากกรอบคิดแบบเศรษฐศาสตร์และแปลกใหม่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยตามอ่านงานของอาจารย์นิธิ ในงานเสวนานี้จึงได้เชิญ 1. รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย 2. รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร 3. ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา 4. ดร.สิร นุกูลกิจ และ 5. ผศ.ดร.ธร ปีติดล (ผู้ดำเนินรายการ) มาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองมีแต่มรดกทางความคิดของอาจารย์นิธิกัน

คำถาม คำตอบ คำเตือน ของนิธิต่อวงการเศรษฐศาสตร์ไทย โดย รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
จากการตามอ่านงานเขียนของอาจารย์นิธิ วิธีวิทยา (กรอบวิธีคิด) ที่อาจารย์มักนำเสนอมักสะท้อนให้เห็น 1. อาจารย์มักจะมองปรากฎการณ์เล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันเชื่อมโยงกับกลไกที่เกิดขึ้นในภาพใหญ่ 2. อาจารย์ให้ความสำคัญกับบริบทในการวิเคราะห์มาก 3. ข้อเขียนของอาจารย์ตั้งคำถามต่อคำอธิบายทั้งจากแนวคิดแบบฝรั่ง (ตะวันตก) และแนวคิดของไทย และ 4. อาจารย์มักจะใส่มิติทาง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อำนาจ และรัฐในประเด็นการวิเคราะห์ของอาจารย์อยู่เสมอ โดยอาจารย์วีระยุทธได้ตกผลึกมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์นิธิได้ออกเป็น 3 ประเด็นที่สำคัญ

1. ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าระบบเศรษฐกิจจะถูกจัดการโดยรัฐหรือตลาด แต่อาจารย์มองว่าระบบเศรษฐกิจของไทยถูกกำหนดโดยกลไกตลาดผสมกลไกอุปถัมภ์ (โดยมีรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ใหญ่ที่สุด) ในบทความ “จากผ้าถึงการเมือง” อาจารย์ชี้ว่าอุตสาหกรรมผ้าพื้นเมืองของลาวประสบความสำเร็จกว่าไทยเป็นผลมาจากการที่ พ่อค้าชาวลาวสามารถบริหารกลไกตลาดและกลไกอุปถัมภ์ในกระบวนการผลิตอย่างลงตัว กล่าวคือ เนื่องจากการผลิตผ้าพื้นเมืองจำเป็นต้องอาศัยแรงงานครัวเรือนตามหมู่บ้าน ดังนั้นในกระบวนการผลิตผ้าพื้นเมืองจึงต้องเผชิญกับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของชุมชนหมู่บ้านในเอเชีย 
โดยในกระบวนการประกอบธุรกิจผ้าพื้นเมืองของพ่อค้าผู้อุปถัมภ์ผ้าพื้นเมืองชาวลาวมีความสัมพันธ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันระหว่างคนนอกประเทศและคนในประเทศ กล่าวคือ ในด้านหนึ่งพ่อค้าชาวลาวต้องปฏิสัมพันธ์กับตลาดโลก ไปเรียนรู้ความต้องการในตลาดโลก เพื่อแสวงหาลู่ทางโอกาสในการขายผ้าพื้นเมืองให้กับผู้ซื้อ ในอีกด้านหนึ่งพ่อค้าชาวลาวต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมอุปถัมภ์ในเอเชียโดยเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์กับแรงงานหญิงในหมู่บ้าน คอยส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัวของแรงงาน เป็นที่พึ่งให้ยามทุกข์ร้อน และเป็นการซื้อใจคนในหมู่บ้านให้มาเป็นแรงงานปฏิบัติตามแนวทางการผลิตผ้าพื้นเมืองที่ตลาดโลกต้องการ ในขณะที่พ่อค้าผู้อุปถัมภ์ผ้าชาวไทยเข้ามาสร้างสัมพันธ์กับผู้ผลิตผ้าในหมู่บ้านไทย โดยไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตผ้าพื้นเมืองของคนในหมู่บ้าน เนื่องจากพ่อค้าผู้อุปถัมภ์ต้องการให้ผ้าพื้นเมืองเป็นแบบดั้งเดิม เพราะต้องการนำไปใช้สร้างความภาคภูมิใจในชาติจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นหลัก การผลิตผ้าพื้นเมืองของไทยจึงไม่ประสบความสำเร็จมากนักเมื่อเทียบกับของลาว 

2. อาจารย์นิธิตั้งคำถามต่อ “ความเชื่อมั่นของนักลงทุน” “พื้นฐานทางเศรษฐกิจ” ของนักเศรษฐศาสตร์ ในบทความ “ความไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์” โดยในช่วง 2540 นักเศรษฐศาสตร์อธิบายสาเหตุของวิกฤตว่าการขาดสภาพคล่องเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนทุนออกไป แต่อาจารย์นิธิเห็นต่างและชี้ว่าเหตุที่นักลงทุนเห็นว่า หากลงทุนในประเทศต่อไปก็ไม่คุ้มเนื่องจากประเทศไทยมีแนวทางการพัฒนาที่เน้นขายทรัพยากรการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ อุตสาหกรรมค่าแรงราคาถูก เน้นอุตสาหกรรมประกอบ อัตรากำไรต่ำ สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ไม่มีอนาคต และทำให้นักลงทุนไม่ลงทุนในระยะยาว เศรษฐกิจของไทยไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่อง แต่มีปัญหาสภาพคลั่งที่ปั่นกำไรกันโดยไม่ได้สร้างพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น 
นอกจากนี้อาจารย์นิธิยังวิจารณ์ความเห็นที่นักเศรษฐศาสตร์มักพูดว่า “สภาพการเมืองไม่นิ่งส่งผลให้ไม่มีใครมาลงทุน” โดยอาจารย์ชี้ว่าสภาพการเมืองของไทยนิ่งเกินไป มีความแน่นอนสูง รัฐบาลบริหารเหมือนเดิมไปวัน ๆ เน้นโกยเข้ากระเป๋า ไม่ได้แก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ไม่ลงทุนระยะยาว สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้ไม่มีใครเข้ามาลงทุน

3. อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำอย่างไร ในบทความ “ความเสมอภาคแบบไทย” อาจารย์ได้ยกกรณีที่องค์กรสังคมสงเคราะห์เข้าไปแจกผ้าห่มให้ชุมชน แต่ปัญหาคือผ้าห่มมีไม่พอแจกทุกคน คนแจกจึงใช้วิธีให้ผู้นำชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจแจกโดยเน้นย้ำว่าให้แจกให้ผู้ที่ขาดแคลนและต้องการก่อน ส่งผลให้ลูกน้องของผู้นำชุมชนไม่พอใจ อาจารย์นิธิชี้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคุณค่าความเสมอภาคแบบวัฒนธรรมตะวันตกและคุณค่าความเสมอภาคแบบวัฒนธรรมไทย โดยความเสมอภาคแบบตะวันตกคือการชดเชยผู้ที่ขาดอุดหนุนผู้ด้อยโอกาส แต่วัฒนธรรมไทยชอบความเสมอภาคแบบถ้วนหน้าไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่สนว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำอยู่ ถึงแม้ทรัพยากรที่แจกจะไม่พอสำหรับทุกคน แต่ทุกคนควรจะมีโอกาสได้อย่างเท่าเทียม ใครจะได้หรือไม่ได้ให้เป็นเรื่องของบุญกรรม ลูกน้องที่ไม่พอใจเนื่องจากผู้นำชุมชนเป็นผู้ตัดสินว่าตนควรจะไม่ได้ ลูกน้องต้องการแจกด้วยระบบสุ่ม หากไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่หากได้ก็จะยอมเสียสละให้คนที่ต้องการ อย่างน้อยไม่ได้ผ้าห่มก็ยังได้หน้าบ้าง

นอกจากประเด็นเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นแล้ว งานอาจารย์นิธิยังถือได้ว่าเป็นมาสเตอร์พีซทางเศรษฐศาสตร์สถาบัน กล่าวคือเศรษฐศาสตร์สถาบันเชื่อว่ามีกฎกติกาต่าง ๆ ที่ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์อยู่นอกจากกฎกติกา เช่น ตลาด ระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรม อุดมการณ์ ฯลฯ ในบทความ “ตีนที่มองไม่เห็นที่อาจสามารถ” นายกทักษิณได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ไปเยี่ยมบ้านคุณพรหมมาแต่เจ้าของบ้านไม่อยู่เนื่องจากประสบปัญหา ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีการศึกษา ไม่มีโอกาสทำงานในเมือง มีรายได้ที่ไม่แน่นอนจึงล่องเรือไปทำการประมงในพื้นที่พม่าแล้วถูกรัฐบาลพม่าจับตัวไป นายกทักษิณแก้ปัญหาด้วยการไปประกันตัวจากพม่าและมอบที่ดินทำกินให้ แต่อาจารย์นิธิวิเคราะห์ว่าเมื่อเวลาผ่านไปคุณพรหมมาน่าจะขาดทุนจากการทำเกษตร เนื่องจากราคาผลผลิตต่ำ จนต้องสูญเสียที่ดิน ไม่สามารถไปแสวงหารายได้ในเมือง จนต้องออกทะเลอีกครั้ง และถูกรัฐบาลต่างประเทศจับไป กล่าวได้ว่ามีสถาบันหรือโครงสร้างอะไรบางอย่างที่เป็น “ตีนที่มองไม่เห็น” ที่ถีบคุณพรหมมาให้ออกทะเลไปถูกรัฐบาลประเทศอื่นจับกุมอยู่เสมอ

โลกไม่ได้มีแค่กฎทางเศรษฐศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา
งานของอาจารย์นิธิมองว่าโลกไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยกฎทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังมีปริมณฑลทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ผูกกันอย่างแนบแน่น แต่ละปริมณฑลต่างส่งผลต่อกันและกัน จึงคล้ายกับงานศึกษาสายเวเบอร์เลี่ยน (Max Weber นักสังคมวิทยาที่มีข้อเสนอว่า ความเชื่อทางศาสนาแบบนิกายโปรเตสแตนท์ส่งเสริมให้กลไกทุนนิยมสามารถเติบโตได้รวดเร็วในยุโรปภาคพื้นทวีป) โดยงานเขียนเกี่ยวกับการเมืองในสมัยธนบุรีของอาจารย์นิธิสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกฎของปริมณฑลต่าง ๆ

ในงานเรื่อง “วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย” อาจารย์ได้แบ่งวีรบุรุษออกเป็น 3 แบบที่สำคัญ คือวีรบุรุษแบบชาวบ้านที่มักมีบุคลิกแหกขนบจนมีคุณลักษณะที่น่าเลื่อมใส วีรบุรุษราชสำนักที่ต้องทำหน้าที่รักษาระเบียบจารีตการปกครองให้ต่อเนื่อง และวีรบุรุษแบบสมัยใหม่ที่จะเน้นผลงานที่เคยทำไว้ โดยอาจารย์พูดถึงเหตุการณ์หลังเสียกรุงศรีอยุธยาจะเป็นช่วงที่วีรบุรุษแบบชาวบ้านและวีรบุรุษแบบราชสำนักปะทะกัน กล่าวคือหากสถานการณ์เป็นปกติวีรบุรุษแบบราชสำนักจะเป็นผู้กุมอำนาจ เนื่องจากเป็นผู้ที่รักษาระเบียบทางการเมืองแบบราชสำนักในการควบคุมไพร่พลไว้ การใช้แรงงานเพื่อประกอบกิจการต่าง ๆ ในช่วงนี้จึงใช้ระเบียบการเมืองวัฒนธรรมแบบราชสำนักเกณฑ์ไพร่หลวงมาทำงานหรือไปรบ เมื่อกรุงแตกกฎระเบียบทางการเมืองก็พังทลายไปด้วย ประชาชนแต่ละคนต่างอพยพแยกย้ายไปอยู่กับผู้นำก๊กพื้นที่ต่าง ๆ พระเจ้ากรุงธนไม่ได้สืบเชื้อสายจากราชสำนักใช้กลวิธีสร้างบุคลิกที่มีบารมี (วีรบุรุษแบบชาวบ้าน) เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากผู้นำก๊กต่าง ๆ ส่งผลให้พระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถรวมไพร่พลไปก่อตั้งอาณาจักรใหม่ได้ 

อาจารย์ตฤณถอดประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างปริมณฑลต่าง ๆ ออกมาเป็น 2 ประเด็น คือ

1. วัฒนธรรมและเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น โดยในสมัยกรุงธนบุรีประเด็นสำคัญที่สุดคือเรื่องของการจัดการแรงงาน แต่การจัดการแรงงานในสมัยดังกล่าวไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างเพื่อให้แรงงานมาทำงานให้แบบในสมัยปัจจุบัน แต่เป็นการใช้อำนาจจากวัฒนธรรมมาควบคุมแรงงานให้ทำงานให้ตน ในช่วงปลายอยุธยาใช้อำนาจวัฒนธรรมจากระเบียบวัฒนธรรมจารีตบังคับให้ไพร่หลวงมาทำงานให้กับผู้นำของราชสำนัก แต่เมื่อระเบียบวัฒนธรรมแบบจารีตราชสำนักล่มสลายไปตอนเสียกรุง อำนาจจากบารมีของพระเจ้ากรุงธนกลายเป็นกลไกทางวัฒนธรรมที่ชักจูงให้แรงงานมาทำงานให้กับพระเจ้ากรุงธน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากฎกติกาทางวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดกฎกติกาทางเศรษฐกิจ
ในทางกลับกัน อาจารย์นิธิเคยยกตัวอย่างไว้ในงาน “ศาสนาในสังคมไทย” ว่ากฎกติกาทางเศรษฐกิจก็สามารถกำหนดกฎกติกาทางวัฒนธรรมได้ โดยในสมัยก่อน ศาสนาทำหน้าที่ในการสร้างความเชื่อโลกทัศน์ร่วมกันของสังคม เมื่อเวลาผ่านไปทุนนิยมเข้ามาศาสนาต้องเปลี่ยนหน้าที่ตัวเองไปสู่การเป็นตัวสร้างคำอธิบายตอบโจทย์ปัญหาความไม่แน่นอนในชีวิตที่คนในสังคมทุนนิยมต้องพบเจอ

2. อาจารย์นิธิมักให้ความสำคัญกับช่วงเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างกฎเก่าและกฎใหม่ และชี้ให้เห็นว่ากฎกติกามีพลวัต ในช่วงที่อยุธยาล่มสลายระเบียบการเมืองแบบราชสำนักเสื่อมลงจึงไม่สามารถควบคุมไพร่พลได้ วีรบุรุษชาวบ้าน (พระเจ้ากรุงธน) จึงได้สร้างระเบียบทางการเมืองใหม่ที่มีกฎกติกาแบบผู้นำบารมีมาควบคุมไพร่พลแทน และสถาปนาอาณาจักรใหม่ อย่างไรก็ตามในอาณาจักรใหม่ยังประกอบไปด้วยขุนนางที่มีอำนาจในระบบการเมืองแบบราชสำนัก จึงได้เข้าต่อสู่โค่นล้มระเบียบการเมืองแบบใหม่ลงเพื่อสถาปนาระเบียบทางการเมืองแบบเดิม ช่วงการเปลี่ยนผ่านจึงเป็นช่วงกฎกติกาทางการเมืองและวัฒนธรรมซี่งเป็นตัวควบคุมกฎกติกาทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนแปลง

อาจารย์นิธิเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย
อาจารย์อภิชาตมองว่าอาจารย์นิธิมีกรอบคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์การเมือง แบบจำลองที่อาจารย์นิธิใช้ในการสร้างคำอธิบายสำหรับการเปลี่ยนแปลงจะเน้นจากปัจจัยภายในเป็นหลัก (แต่ปัจจัยภายนอกก็สำคัญ) กล่าวคือในสังคมมีการต่อสู้ต่อรองระหว่างกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อก่อร่างปรับเปลี่ยนระเบียบทางเศรษฐกิจการเมืองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภายนอกสังคม โดยระเบียบดังกล่าวจะกำหนดอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ตัวละครแต่ละกลุ่มได้รับ และระเบียบใหม่นี้ก็จะถูกท้าทายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ อีกครั้ง 

อาจารย์นิธิได้ใช้กรอบนี้ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญคือการปฏิรูปไปสู่ระบบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวคือ ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์สถาบันชนชั้นนำได้ปรับตัวให้รองรับต่อการค้าระหว่างประเทศที่แพร่หลายตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ (และค้าขายมากขึ้นเมื่อเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง) เช่น การเลิกทาส การสร้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และการรวมอำนาจเพื่อสร้างรัฐสมัยใหม่แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในการปรับเปลี่ยนกฎกติกาเหล่านั้น กลุ่มสยามหนุ่มของรัชกาลที่ 5 ต้องปะทะแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับกลุ่มขุนนางเก่าตระกูลบุนนาค และเมื่อสร้างระเบียบเศรษฐกิจการเมืองสมัยใหม่ได้แล้วส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจสังคมของไทยโตขึ้น เกิดชนชั้นใหม่คือกลุ่มชนชั้นกลาง คนกลุ่มนี้ก็ได้ต่อสู้ทางการเมืองกับกลุ่ม

ขุนนางราชสำนักเก่าเพื่อปรับระเบียบเศรษฐกิจการเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์สมัยใหม่ ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติ 2475 เพื่อสร้างประเทศใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้อาจารย์นิธิยังใช้กรอบวิเคราะห์เดียวกันอธิบายที่มาของมวลชนคนเสื้อแดงด้วย โดยภายหลังที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวในช่วง 2530 ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว พื้นที่ชนบทเองก็ได้รับผลพลอยได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ส่งผลให้เกษตรกรชาวนามีรายได้สูงขึ้นจากงานนอกภาคเกษตรกรรม จนสามารถยกระดับตนเองพ้นความยากจน และกลายมาเป็นชนชั้นกลางระดับล่างที่ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แต่ที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองกลุ่มใดที่เป็นปากเป็นเสียงให้คนกลุ่มนี้ พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณสามารถซื้อใจคนกลุ่มนี้ได้จึงได้รับความนิยม 

แต่ในบทความ “คนเสื้อแดงสู้เพื่ออะไร” อาจารย์นิธิชี้ว่าแกนกลางที่คนเสื้อแดงเรียกร้องไม่ใช่การได้รับการอุปถัมภ์จากภาครัฐหรือผู้มีอำนาจ แต่คนเสื้อแดงต้องการกติกาทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เห็นหัวพวกเขา เป็นกติกาที่ทำให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ พวกเขาจึงประท้วงการรัฐประหารที่ริบอำนาจการมีส่วนร่วมของพวกเขา

อาจารย์อภิชาตได้ตั้งข้อสังเกตไว้ตอนท้ายว่า หากพิจารณาด้วยกรอบของอาจารย์นิธิ กลุ่มคนรุ่นใหม่อาจจะเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบและต่อสู้เพื่อแสวงหาที่ทางทางการเมืองของตนเพื่อต่อรองพื้นที่ในการกำหนดนโยบาย ส่งผลให้การเมืองอยู่ในสถานการณ์ผันผวนในปัจจุบัน

โลกทัศน์คนรุ่นอาจารย์นิธิ ดร.สิร นุกูลกิจ
อาจารย์สิรพาไปทบทวนลักษณะแนวคิดของปัญญาชนในรุ่นของอาจารย์นิธิรวมถึงข้อถกเถียงที่สำคัญในช่วง พ.ศ. 2520-2530 ซึ่งเป็นช่วงที่อาจารย์นิธิเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา อาจารย์นิธิเองมีบุคลิกที่คล้ายกับปัญญาชนในรุ่นเดียวกันหลายประการ เช่น มีการใช้ภาษาเชิงศีลธรรมเพื่อตัดสินเหตุการณ์ ชอบตั้งคำถามต่อเรื่องเล่าองค์ความรู้ในยุคนั้น พร้อมทั้งมีลีลาการเขียนล้อเลียนและใช้ภาษาแดกดัน 

ในส่วนงานถกเถียงที่สำคัญของอาจารย์นิธิ อยู่ในประเด็นวิวาทะเรื่องของการกลายเป็นระบบทุนนิยมของสังคมไทย โดยจุดเริ่มต้นของวิวาทะดังกล่าวเริ่มต้นจากที่จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้กรอบการวิเคราะห์ของมาร์กซิสม์มาวิเคราะห์ว่าระบบทางเศรษฐกิจของไทยขณะนั้น (ต้นศตวรรษ 2500) อยู่ในรูปแบบใด และชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีลักษณะเป็น “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” กล่าวคือมีส่วนผสมระหว่างการเป็นการเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจที่ต้องผลิตป้อนให้กับระบบทุนนิยมศูนย์กลางในตะวันตกภายหลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริง และการเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยังมีมรดกของระบบศักดินาไทยหลงเหลืออยู่ นัยยะที่สำคัญของข้อเสนอคือสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนสภาพไปสู่ทุนนิยมหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงแต่ยังไม่เปลี่ยนสามารถเปลี่ยนสภาพไปสู่ระบบทุนนิยมได้เต็มขั้น

โดยอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทรวาณิช และอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ชี้ว่าภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนสภาพไปสู่สังคมแบบทุนนิยมแต่ยังไม่สามารถกลายเป็นระบบทุนนิยมเต็มขั้นได้ เนื่องจากมีกลไกสถาบันบางอย่างที่คอยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอยู่ โดยอาจารย์ชัยอนันต์ชี้ว่าเครือข่ายราชสำนักเป็นกลุ่มอำนาจที่คอยทานพลังของทุนนิยม ในขณะที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ชี้ว่าสภาพสังคมแบบหมู่บ้านในชนบทเป็นปัจจัยที่ชะลอการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทุนนิยม
อย่างไรก็ตามอาจารย์นิธิมีข้อเสนอว่า สังคมไทยอาจจะไม่ได้เริ่มเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง แต่สังคมไทยเริ่มเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมนานแล้วก่อนทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเสียอีก กล่าวคือไม่ใช่ระบบทุนนิยมภายนอกที่ผลักดันให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง แต่เป็นภายในสังคมไทยเองที่เป็นพลังผลักดันให้สังคมไทยก้าวไปสู่ระบบทุนนิยม ปัจจัยจากภายนอก (สนธิสัญญาเบาว์ริง) เป็นแค่ปัจจัยที่มาหนุนเสริมให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เร็ว
กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์
นักเรียนเศรษฐศาสตร์สายการเมืองเนิร์ดๆ ผู้หลงใหลในอาร์เซนอลและเฟรนซ์บูด็อก