คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการออนไลน์เรื่อง “ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ จากนักเศรษฐศาสตร์ มธ.” ณ วันพุธที่ 13 กันยายน 2566 โดยมีอาจารย์จากกลุ่มความสามารถในการแข่งขัน (ICRC) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) และกลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา (HIDE) ร่วมกันนำเสนอความท้าทายของการบริหารงานประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

งานเสวนาดังกล่าวตั้งประเด็นคำถามการบ้านแก่รัฐบาลใหม่ออกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรในช่วง 1 ปีข้างหน้า และประเด็นถัดมา คือ ภาพอนาคตที่อยากเห็นประเทศไทยในอีก 4 ปี จะเป็นอย่างไร
  • โดยมีอาจารย์เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการงานเสวนานี้ ก่อนเริ่มต้นประเด็นคำถามเสวนาทั้งสองนั้น อาจารย์อาชนัน เกาะไพบูลย์ (กลุ่มความสามารถในการแข่งขัน (ICRC)) ได้เกริ่นนำถึงภาพรวมของปัญหาทางเศรษฐกิจไทยตั้งแต่วิกฤติ COVID-19 โดยชี้ให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันแล้ว ไทยใช้เงินจำนวนมากในการต่อสู้กับความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากวิกฤติโควิด-19
  • แต่จนถึงปัจจุบันนี้เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งสัดส่วนการบริโภคต่อ GDP ของไทยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศรายได้ปานกลาง แต่มีสัดส่วนการลงทุนน้อย และปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน  นอกจากนี้ อาจารย์ ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล (ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green))  นายชล บุนนาค (ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)) และอาจารย์ดวงมณี เลาวกุล (ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP)) พยายามชี้เห็นว่าไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลากมิติ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมและการเข้าถึงพลังงาน และความไม่ยั่งยืนในการพัฒนา โดยรัฐบาลใหม่อาจไม่ได้ให้น้ำหนักแก่ประเด็นเหล่านี้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระจายทรัพยากรของประเทศอย่างเป็นธรรม และการพัฒนาประเทศโดยรอบด้านทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายที่เป็นธรรม เป็นต้น
  • ภายใต้ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจและสังคมข้างต้น จึงนำมาสู่ประเด็นเสวนาแรก นั่นคือ อะไรคือความเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรต้องทำภายใน 1 ปีข้างหน้าแล้ว จะมีรายละเอียดของข้อเสนอแนะจากอาจารย์ต่าง ๆ สำคัญดังนี้

อาจารย์อาชนัน เกาะไพบูลย์ (กลุ่มความสามารถในการแข่งขัน (ICRC)) ได้ให้ข้อแนะนำแก่รัฐบาลใหม่ 3 ประการ คือ
  • ประการแรก ต้องมีความระมัดระวังในการฟื้นเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเนื่องจากผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่มากและไม่ยั่งยืน
  • ประการที่สอง การพึ่งพาการส่งออกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็น อย่างไรก็ตาม เราควรคำนึงถึงผลที่ไทยจะได้รับจากการลงนาม FTA และควรมียุทธศาสตร์แยกระหว่างการลงนามกับประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา และเราต้องวาง Position ให้ดีท่ามกลางกระแสแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิต(Decoupling) โดยนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศต้องสอดรับกันเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์ และต้องสร้าง Ecosystem การลงทุนให้เหมาะสมเพื่อดึงดูด Investment Diversion ที่เหมาะสม
  • ประการสุดท้าย ในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ควรต่อยอดจากสิ่งที่ดำเนินการอยู่เดิมและผ่องถ่ายไปสู่โครงสร้างใหม่ และจำเป็นต้องใช้ Industrial Information Roadmap ควบคู่ไปกับ Technology Roadmap

อาจารย์ชล บุนนาค (ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move))  กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่ควรดำเนินการเร่งด่วนในหลากหลายมิติดังนี้ 

  • ประเด็นสังคม อันได้แก่ การลดภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี การลดการตายและเป็นโรคไม่ติดต่อสำคัญ และการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
  • ประเด็นเศรษฐกิจ อันได้แก่ การเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นธรรม  การจัดการหนี้ครัวเรือนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาคการเกษตรและในกลุ่มคนรายได้น้อย และGreen MSMEs
  • ประเด็นสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ การผลักดัน Climate Adaptation อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ การผลักดันกฎหมาย PRTR  และการรับมือกับปัญหา PM 2.5 ในระยะสั้น

อาจารย์ดวงมณี เลาวกุล (ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP)) มองว่ารัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำในหลาย ๆ ด้านที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นดังนี้ 

  • ข้อมูลด้านการถือครองทรัพย์สินต้องเป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
  • รัฐควรสนับสนุนให้เกิดระบบตลาดที่มีการแข่งขันและป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เพื่อให้เกิดการกระจายโอกาสและรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น
  • รัฐต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลังอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยแบบรากฐานรวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำ
  • ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครอง
  • ภาษีมรดก ควรลดการยกเว้นภาษีลงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในระยะยาว และยังควรขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้ง ควรจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน (Capital Gains Tax) เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น กำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
  • ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการการลดหย่อนภาษีและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ (Tax Expenditure) ที่เอื้อประโยชน์กับผู้มีความมั่งคั่ง และการให้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม สวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ควรมีความครอบคลุมและทั่วถึง
  • พัฒนาการทำงานของภาครัฐ และการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขจัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือมีความซ้ำซ้อน

อาจารย์ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล (ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green)) อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการพลังงานและมาตรการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในไทยดังนี้

  • ประเด็นราคาพลังงาน: ระยะสั้น ในส่วนราคาน้ำมันควรปรับลดราคาหน้าโรงกลั่นโดยปรับการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งเดิมอ้างอิงตามราคานำเข้าปรับเป็นอ้างอิงตามราคาส่งออกไปสิงคโปร์  และสำหรับราคาไฟฟ้าควรปรับเปลี่ยนระบบคำนวนราคาในการซื้อก๊าซธรรมชาติเพื่อให้ภาคประชาชน(ภาคไฟฟ้า)สามารถซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่ถูกลงได้  นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่สำหรับระยะยาว ควรส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (การผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์)  ปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้พร้อมรับการผลิต RE ในสัดส่วนสูง  ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Solar บนหลังคา) และปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้พร้อมรับกับการเข้ามาของยายนต์ไฟฟ้า
  • ในประเด็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 รัฐบาลควรมุ่งแก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาในที่โล่งภาคเกษตรโดยสร้างกระแสความเข้าใจของประชาชน สร้างมาตรการจูงใจในการลดการเผาของสินค้าเกษตรแต่ละประเภท  และตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาทางเลือกมาตรการที่เหมาะสมแต่ละกรณี รวมทั้ง แก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น การแก้ปัญหาฝุ่นจากภาคขนส่งสามารถทำได้โดยการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นการเดินทางหลักของเมือง ทำให้กรุงเทพไม่เป็นเมืองแห่งรถยนต์โดยใช้ระบบตั๋วร่วม การอุดหนุนจากรัฐ ระบบจอดแล้วจรเป็นที่เพียงพอ และเพิ่มต้นทุนการใช้รถ

  • ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดระบบของประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อลดความซับซ้อนในการรีไซเคิล ภาษีพลาสติก เร่งรัดการออกกฎหมายการจัดการขยะ electronics ภายใต้แนวทาง Extended Producer Responsibility (EPR)  เร่งรัดการออกกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR)

อาจารย์ถิรภาพ ฟักทอง (กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา (HIDE)) นำเสนอการบ้านสำคัญแก่รัฐบาลใหม่ดังนี้ 

  • รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและประสิทธิภาพการผลิตของระบบเศรษฐกิจ เพื่อจะส่งผลดีแก่เศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยหัวใจสำคัญของดำเนินการ คือ การเร่งกระบวนการ Re-skill และ Up-skill อย่างเป็นระบบและตอบโจทย์การปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
  • รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องรับฟังความต้องการของแรงงานรวมถึงให้ประชาชนและกลุ่มคนผู้ประสบปัญหามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายด้านแรงงาน

ในส่วนท้ายของงานเสวนานี้ นำเสนอประเด็นภาพอนาคตที่อยากเห็นประเทศไทยในอีก 4 ปี จะเป็นอย่างไรนั้น อาจารย์ชล บุนนาคมองว่า รัฐบาลใหม่ควรมองว่าในอีก 4 ปีควรให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุมใน 6 มิติ คือ ระบบอาหารที่ยั่งยืน เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน เมืองที่ยั่งยืนและครอบคลุม การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ธรรมาภิบาล  และการศึกษาที่ยั่งยืนในทุกระดับ และรัฐบาลใหม่ไม่ควรดำเนินการการพัฒนาแบบแยกส่วน แต่ควรมองการขับเคลื่อนระบบสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนมากกว่า และต้องคำนึงไปถึงกลไกการขับเคลื่อน SDGs ไปพร้อมกัน เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน

    นอกจากนี้ อาจารย์ชโลทร แก่นสันติสุขมงคลยังให้คำแนะนำว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และย้ำว่าความสำเร็จของรัฐบาลอยู่ที่ความจริงใจในการมองปัญหาและการแก้ปัญหาให้ประชาชนส่วนรวม ไม่ควรให้ปัญหาการทับซ้อนของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และเช่นเดียกับอาจารย์ดวงมณี เลาวกุล แนะนำว่ารัฐบาลใหม่คงต้องจริงจังกับการส่งเสริมความเป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทย

    สุดท้าย อาจารย์อาชนัน เกาะไพบูลย์ มองว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการผลักดันผลประโยชน์ระยะสั้น ๆ กับผลประโยชน์ระยะยาวผ่านมาตรการหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศให้ดี เพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของไทย เนื่องจากไทยไม่ได้มีงบประมาณภาครัฐมากนักและยังมีหนี้สาธารณะสูงขึ้นในปัจจุบัน
    พิรญาณ์ สุทธาโรจน์
    นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์