ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับอนุภูมิภาค สมาชิกประกอบด้วย 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดน อำนวยความสะดวกทางการค้า ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก สร้างการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน และส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวม
ACMECS มีความร่วมมือทั้งหมด 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม (กระทรวงการต่างประเทศ, 2555) จากความร่วมมือ ACMECS ทั้ง 8 ยุทธศาสตร์ข้างต้น มี 4 ยุทธศาสตร์ที่สามารถส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูประหว่างประเทศสมาชิก ACMECS ประกอบด้วย
(1) ด้านการเกษตร กรอบความร่วมมือ ACMECS ได้กล่าวถึงการส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อส่งเสริมให้แต่ละประเทศสมาชิกเลือกลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตไม่เพียงพอในประเทศตนเอง ความตกลงดังกล่าวนี้ครอบคลุมประเด็นการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรที่อยู่ในเกษตรพันธสัญญา ซึ่งจะส่งผลให้การไหลเวียนของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปง่ายขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน ปัจจุบันความตกลงร่วมมือด้านเกษตรพันธสัญญาดำเนินการโดยไทย-สปป.ลาว และไทย-กัมพูชา เท่านั้น
(2) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ACMECS กำหนดวิสัยทัศน์จัดตั้งศูนย์ One-Stop Service เพื่อยกระดับการค้าบริเวณชายแดน การปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการตรวจสอบสินค้ารอบเดียว หรือดำเนินการพิธีการตรวจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Stop Inspection) บริเวณชายแดน รวมทั้งโครงการความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ในระยะยาวผู้ประกอบการสามารถกำหนดขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตเป็นหลักและลดข้อจำกัดเกี่ยวกับต้นทุนของการไหลเวียนสินค้า
(3) ด้านการเชื่อมโยงทางคมนาคม ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น 1) ACMECS Single Window Transport Cooperation ซึ่งจะผลักดันการทำข้อตกลงและกฎระเบียบการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS ให้สอดคล้องกัน โครงการทวิภาคีระหว่างไทยและสปป.ลาว ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับเส้นทาง R12 จากท่าแขก (สปป.ลาว) ถึง Na Phao (เวียดนาม) และผลักดันการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมบ้านเซียงแมนและหลวงพระบาง รวมทั้งโครงการทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชา โดยการพัฒนาทางหลวงสาย 62 ในกัมพูชา
(4) ด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความยั่งยืน ACMECS จึงมีวิสัยทัศน์ในประเด็นดังกล่าว โดยจัดตั้งคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม มีการนำเสนอกรอบความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีโครงการ Cross-border Collaboration on Geology and Mineral Resources ซึ่งนำเสนอโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย (กระทรวงการต่างประเทศ, 2555)
ACMECS มีแผนแม่บทระยะ 5 ปี หรือ ACMECS Master Plan 2019-2023 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือ ACMECS ในปัจจุบัน ด้วยวิสัยทัศน์ “Building ACMECS Connect by 2023” ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity) (2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies) (3) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)
ที่มา : ACMECS Master Plan (2019-2023)
ภายใต้ 3 เสาหลักของแผนแม่บทระยะ 5 ปี หรือ ACMECS Master Plan 2019-2023 มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ได้แก่ (1) เสาหลักที่หนึ่ง การสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity) ด้านการสร้างเส้นทางคมนาคม ซึ่งมุ่งเน้นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศสมาชิก รวมทั้งมีประโยชน์ต่อการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน (2) เสาหลักที่สอง การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies) ในด้านการสร้างความสอดคล้องและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกฎระเบียบและมาตรการเชิงสถาบัน รวมทั้งการสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทาน เหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้ห่วงโซ่อุปทานดำเนินการได้โดยง่ายขึ้น (3) เสาหลักที่สาม การพัฒนาภูมิภาค ในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS) ในมิติการเกษตรยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่มีผลกระทบทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม
3. แนวคิดการจัดการห่วงโซ่อุปทานภาคเกษตรแปรรูป
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้นิยามห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร หมายถึง กลุ่มผู้ดำเนินการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่นำผลผลิตทางการเกษตรขั้นพื้นฐานจากการผลิตไปสู่การบริโภคขั้นสุดท้าย ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะมีการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ห่วงโซ่คุณค่า สามารถเชื่อมโยงในแนวตั้งหรือเครือข่ายระหว่างองค์กรธุรกิจ รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับการแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บ การขนส่งและการจัดจำหน่าย
การจัดการห่วงโซ่อุปทานในภาคเกษตรแปรรูป (Agricultural Processing Supply Chain Management) คือ กระบวนการเชื่อมโยงการดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าปลายทาง ทั้งด้านสินค้าและบริการเพื่อให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้าในการผลิต (Suppliers) ผู้ผลิตหรือเกษตรกร (Farms) โรงงานแปรรูปสินค้า (Manufactures) การกระจายสินค้า (Distributions) ร้านค้าย่อย (Retailers) และลูกค้าหรือผู้บริโภค (Customers) ขั้นตอนการตอบสนองความต้องการของลูกค้าไม่เพียงแต่อยู่ในส่วนของผู้ผลิตและผู้จัดส่งวัตถุดิบ แต่รวมถึงผู้จัดส่งสินค้า คลังสินค้า พ่อค้าคนกลางและลูกค้า
ปัจจัยหรือตัวเชื่อมสำคัญต่อองค์ประกอบในห่วงโซ่อุปทานคือ ความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำหรือจากผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค ห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรอาจรวมถึงการพัฒนาและการเผยแพร่สารพันธุกรรมพืชและสัตว์ การจัดหาปัจจัยการผลิต องค์กรเกษตรกร การผลิตในฟาร์ม การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป การจัดหาเทคโนโลยีการผลิต และการจัดการเกณฑ์มาตรฐาน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีการระบายความร้อนและบรรจุภัณฑ์ กระบวนการแปรรูปในท้องถิ่นหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปทางอุตสาหกรรม การจัดเก็บ การขนส่ง การเงิน และตลาด
ห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนเป็นการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดการบริหารที่มีธรรมาภิบาล ตลอดทั้งวงจรชีวิตของสินค้าและบริการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดย UN Global Compact ได้นำเสนอ 10 หลักการ ประกอบด้วย 2 หลักด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ภาคธุรกิจควรสนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และภาคธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 4 หลักด้านแรงงาน ได้แก่ ธุรกิจต้องยึดถือเสรีภาพการจัดตั้งสมาคมหรือสมาพันธ์แรงงาน กำจัดการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ ป้องกันการใช้แรงงานเด็ก และการกำจัดการเหยียดและแบ่งแยก และ 4 หลักด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ธุรกิจควรสนับสนุนเพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมล่วงหน้า ริเริ่มสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และกระตุ้นการพัฒนาและกระจายเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม สุดท้ายคือหลักการต่อต้านการคอร์รัปชัน คือ ธุรกิจควรต่อต้านการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ
การจัดการโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) และห่วงโซ่อุปทานสีเขียว คือ การจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งที่มา การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบ การผลิต การขนส่ง การบริโภคและวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โลจิสติกส์สีเขียวและห่วงโซ่อุปทานสีเขียว ประกอบไปด้วย การออกแบบสีเขียว (Green Design) การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement/Green Supply) การผลิตสีเขียว (Green Manufacturing) การตลาดสีเขียว (Green Marketing) การบริโภคสีเขียว (Green Consumption) โลจิสติกส์ย้อนกลับสีเขียว (Green Reverse Logistics) และการขนส่งสีเขียว (Green Transportation)
4. สถานะห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรแปรรูปกัมพูชา
กัมพูชาเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากสภาวะสงครามการเมืองและความไม่มั่นงทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 กัมพูชาบริหารเศรษฐกิจด้วยระบบการควบคุมจากส่วนกลาง โดยนำระบบตลาดเสรีเข้ามาผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อต่ำและมีความมั่นคง เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวกว่าร้อยละ 7 ต่อปี ในปี พ.ศ. 2562 ประชาชนกัมพูชามีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 1,663.8 ดอลลาร์สหรัฐ เศรษฐกิจกัมพูชายังคงพึ่งพากับภาคเกษตรกรรมในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค กล่าวคือ มีสัดส่วนภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 16.7 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 36.6 ขณะที่ภาคบริการ ร้อยละ 39
กัมพูชามีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรอย่างเข้มข้นตามที่ปรากฏในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ปี พ.ศ. 2552-2556 (National Strategic Development Plan 2009-2013) หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือ การสนับสนุนการทำเกษตรพันธสัญญาในสินค้าเกษตรที่สำคัญ กฎหมายว่าด้วยเกษตรพันธสัญญา (Sub-decree on Contract Farming, 2011) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรผ่านกลไกการลงทุนในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ว่าจ้าง (Agribusiness company) กับเกษตรกร (Farmer) บนพื้นฐานความเท่าเทียมและความเป็นธรรม เพื่อรับรองราคาขายและราคาต้นทุนในการผลิต เพื่อส่งเสริมทั้งกระบวนการซื้อ การแปรรูปและการส่งออกสินค้าเกษตร โดยมีเป้าหมายให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้เกิดการจ้างงาน ลดความยากจนและพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของกัมพูชา โดยมีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและควบคุมการทำสัญญาระหว่างเกษตรกรและบริษัทผู้ว่าจ้าง อีกทั้งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการประสานงาน (Coordination Committee) คอยทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการ
กัมพูชาได้ปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการสร้างตราสินค้า เนื่องจากต้องแข่งขันกับสินค้าจากมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ส่งผลให้กัมพูชาต้องสร้างความแตกต่างด้านคุณภาพของสินค้าเกษตรภายใต้การผลิตแบบยั่งยืนและการปรับปรุงคุณภาพอาหารปลอดภัย เช่น ข้าว และพริกไทย ขณะที่สินค้าเกษตรบางประเภทมุ่งเน้นการพัฒนาด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และแป้ง (Starch) ดังนั้นกัมพูชาจึงเปิดตัวตรา “Malys Angkor” ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่นเดียวกับพริกไทย Kampot กาแฟ Mondulkiri และยังพบว่ากัมพูชากำลังสร้างโรงงานเพื่อแปรรูปมันสำปะหลัง ส่วนสินค้าเกษตรในกลุ่มปศุสัตว์และประมงพบว่าประสบความสำเร็จน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มพืชข้างต้น (World Bank, 2019) นอกจากข้าวซึ่งมีพื้นที่ในการเพาะปลูกมากกว่าร้อยละ 70 แล้ว กัมพูชายังมีสินค้าเกษตรอื่นที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา มันเทศ ผัก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และอ้อย โดยมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเกษตรที่มีการเพาะปลูกสูงเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ นอกจากนี้กัมพูชายังมีผลไม้ส่งออกที่สำคัญที่มีความหลากหลายและมีคุณภาพ ได้แก่ มะม่วง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลำไย ขนุน มะละกอ และเงาะ ฯลฯ
กัมพูชาตระหนักถึงความสำคัญของภาคเกษตรว่ามีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงร่างแผนแม่บทสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรภายในปี พ.ศ. 2573 กำหนดการลงทุนโดยตรงในภาคเกษตรผ่านการใช้เครื่องจักรที่มีความทันสมัยและการใช้ประโยชน์จากปัจจัยการผลิตในภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้ยางพารา มันสำปะหลัง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
การค้าและการแปรรูปสินค้าเกษตรมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเห็นได้จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าเกษตรและการลงทุนสัมปทานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าข้าว อย่างไรก็ตามการพัฒนาของภาคการค้าสินค้าเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตรเติบโตค่อนข้างช้า ซึ่งมีสาเหตุหลายประการคือ (1) การลงทุนโดยภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมีจำกัด (2) การประกันคุณภาพสินค้า (3) การรับรองมาตรฐาน (4) การตลาด (5) การสร้างแบรนด์ และอื่น ๆ ดังนั้นกัมพูชาจึงยังคงพึ่งพาตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยและเวียดนามเพื่อส่งออกสินค้าหลักทางการเกษตร จากการศึกษาของ EuroCham กัมพูชา ระบุว่ามีเพียงร้อยละ 8 ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับการแปรรูปจนถึงห่วงโซ่คุณค่าในระดับสูง ซึ่งคิดเป็นปริมาณที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกัมพูชามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติให้บริการหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ประกอบการในการแปรรูปอาหาร เช่น มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (Royal University of Agriculture) สถาบันเทคโนโลยีแห่งกัมพูชา มหาวิทยาลัยพนมเปญ (Institute of Technology of Cambodia) ศูนย์ความร่วมมือกัมพูชา-ญี่ปุ่น (Cambodia Horticulture Advancing Income and Nutrition) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ทีมพัฒนาชนบทกัมพูชา (Cambodia Rural Development Team) ฯลฯ
จากการศึกษาของ FAO (2019) ระบุว่า การแปรรูปของระบบการผลิตอาหารเป็นผลมาจากปัจจัยดึงที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการผลักดันด้านอุปสงค์ ปัจจัยผลักเกิดจากความเข้มข้นในการใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตร และการพัฒนาตลาด การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ชนบท พื้นที่ขนาดเล็ก และเมืองใหญ่ และยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมการแปรรูปและการค้าจากฟาร์มสู่หมู่บ้านและจากหมู่บ้านไปยังเมือง ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของทุนในการสร้างสินทรัพย์ถาวร เช่น โรงงานในการแปรรูป เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศที่ทำการเกษตรเป็นหลัก โดยปี พ.ศ. 2573 ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาสินค้าเกษตร 8 ประเภท ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเขียว มะม่วง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย และผัก แต่ความพร้อมในการแปรรูปสินค้าเกษตรค่อนข้างจำกัด จึงทำให้กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ จากการศึกษากรณีมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชอาหารที่สำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลกและเป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศในเขตร้อน ประเทศที่มีการบริโภคมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย และอินเดีย ในขณะที่ไทยใช้มันสำปะหลังเพื่อบริโภคน้อย แต่เน้นการส่งออกไปต่างประเทศ โดยไทยยังเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของโลก อีกทั้งเป็นประเทศผู้ส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อันดับ 1 ของโลก มันสำปะหลังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมันสำปะหลังสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย จึงทำให้ไทยนำเข้ามันสำปะหลังจากกัมพูชาในสัดส่วนที่สูงมากเป็นอันดับต้นของการนำเข้าสินค้าเกษตรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก จากข้อมูลของกรมศุลกากรพบว่า ในปี พ.ศ. 2559 ไทยนำเข้ามันสำปะหลังจากกัมพูชาและสปป.ลาว โดยนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และบังกลาเทศ
กรณีศึกษาเม็ดมะม่วงหิมพานต์กะเทาะเปลือกพบว่า กัมพูชาสามารถส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบได้มากถึง 202,318 ตัน ในปี พ.ศ. 2562 กระทรวงเกษตรได้วางแผนปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์มากกว่า 500,000 เฮกตาร์ เพื่อทำให้กัมพูชาเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของโลก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาเป็นเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีคุณภาพสูง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์กะเทาะเปลือกเกือบทั้งหมดถูกส่งออกไปยังเวียดนามเพื่อทำการแปรรูปผลผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สำหรับไทยมีการนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่กะเทาะเปลือกออกจากกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันของรัฐบาลกัมพูชาและการเติบโตของตลาดสินค้าออร์แกนิกในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยไทยนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์เพื่อมาแปรรูปและส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ถึงแม้รัฐบาลกัมพูชาจะมีความพยายามในการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับภาคเอกชนในมาเลเซีย (Camcashew Company) และเกาหลีใต้ (Naroo Marine Company) ซึ่งลงทุนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม เป็นการยากสำหรับกัมพูชาในการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศที่มีศักยภาพในการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) ประกอบกับการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ต้องใช้การอบ การคั่ว ซึ่งต้องอาศัยไฟฟ้า และเทคนิคในการดำเนินการ อีกทั้งผู้ค้าชาวเวียดนามเข้าไปซื้อเม็ดมะม่วงหิมพานต์ตั้งแต่หน้าสวนเพื่อส่งไปแปรรูปที่เวียดนาม ดังนั้นในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรแปรรูป เกษตรกรชาวกัมพูชาเป็นเพียงผู้ปลูกเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) นักลงทุนชาวไทยควรให้ความสนใจในการปลูกมะม่วงหิมพานต์ผ่านการสัมปทาน จากนั้นนำผลผลิตกลับมาแปรรูปในไทย เนื่องจากผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาเป็นผลผลิตที่มีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมากเนื่องจากพฤติกรรมของคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามคู่แข่งสำคัญในการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และครองตลาดมากกว่าร้อยละ 60 ของโลก คือ เวียดนาม ซึ่งอาศัยการทำตลาดภายใต้แบรนด์ Fairnamese ซึ่งให้ความสำคัญกับการค้าที่เป็นธรรม (Fairtrade) ดังนั้นข้อเสนอแนะสำหรับนักลงทุนไทยในการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ คือ ต้องมุ่งเน้นจุดแข็งทางด้านออร์แกนิก เพราะเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพต่อผู้บริโภค
5. การพัฒนาความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูประหว่างไทยและกัมพูชา
- การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาระดับภูมิภาคและทวิภาคี
ไทยกับกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีการค้าขายและลงทุนระหว่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงได้มีการทำข้อตกลงและจัดตั้งกลไกที่มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและผลักดันให้เกิดการค้าขายและลงทุนร่วมกัน เช่น ข้อตกลงภายใต้กรอบอาเซียน และ ACMECS รวมทั้งกลไกความร่วมมือที่ทางกระทรวงพาณิชย์ผลักดันคือ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งมีทั้งฝ่ายภาครัฐ เอกชนและนักลงทุนเข้าร่วมการประชุม
ความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชามีแนวทางดำเนินการที่สำคัญ คือ ส่งเสริมการค้าชายแดน โดยกำหนดให้จังหวัดสระแก้ว-บันเตียเมียนเจย เป็นโครงการนำร่องการส่งเสริมความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานและเกษตรอินทรีย์ การอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดน และยกระดับจุดผ่านแดน ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน เช่น การจัดงานแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจ การสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศผ่านโครงการ YEN-D และการเจรจาการจัดทำความตกลงเพื่อยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนเพื่อประโยชน์ของนักลงทุน การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและดึงดูดการลงทุน
ในส่วนข้อตกลงร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา ได้ลงนามข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทยกับกัมพูชาเรื่องความร่วมมือสนับสนุนเกษตรพันธสัญญาภายใต้ ACMECS เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556 มีใจความสำคัญคือ ขอบเขตหน้าที่ของไทยและกัมพูชา ฝ่ายไทยจะส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนให้ไปลงทุนในเกษตรพันธสัญญาในกัมพูชา โดยรัฐบาลกัมพูชาจะให้คำปรึกษาชี้แนะประเภทพืชที่มีศักยภาพและกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำแปลงเกษตรพันธสัญญาให้กับทางรัฐบาลไทย
นอกจากนี้ ฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาจะอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้าวัตถุดิบที่ต้องใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมตามพันธสัญญา ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ สารเคมี เครื่องมือ เครื่องจักรและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ภายใต้กรอบกฎหมายของกัมพูชา โดยรัฐบาลกัมพูชาจะรับผิดชอบผลักดันสิทธิพิเศษทางภาษีและค่าธรรมเนียมในการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์และวัตถุดิบอื่น ๆ เพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมในพื้นที่เกษตรพันธสัญญา รัฐบาลกัมพูชาจะเป็นฝ่ายดำเนินการจัดการงบประมาณในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบชลประทานไปยังพื้นที่เกษตรพันธสัญญา รัฐบาลไทยดำเนินการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ด้านภาษี รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ผลิตในกัมพูชา มีการตกลงยกเว้นหรือลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ผลิตตามโครงการเกษตรพันธสัญญาภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA)
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งสมาคมชาวนาเพื่อเป็นคลัสเตอร์ผู้ผลิตภายใต้เกษตรพันธสัญญา โดยรัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย เพื่อปรับปรุงพัฒนาและกำหนดให้มีการจัดตั้งกลไก One-Stop Service ณ พื้นที่ชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านคุณภาพสินค้าเกษตรภายใต้เกษตรพันธสัญญาให้ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ตามความตกลงของไทยและกัมพูชา และเห็นควรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาขั้นตอนและกลไกในการนำมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มาใช้ในกระบวนการเกษตรพันธสัญญา
- การลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวในด้านการแข่งขันระหว่างไทยกับกัมพูชา เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในบางช่วงเวลา ไทยควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อปกป้องเกษตรกรภายในประเทศ และมักจะแข่งขันกันในการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ นอกจากนี้ความร่วมมือและมาตรการด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปยังมีอุปสรรคและความท้าทายหลากหลายด้าน เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) และความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขข้อกำหนดด้านมาตรฐานสินค้าและเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนและการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรตามเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งนี้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทย-กัมพูชามี 2 ส่วน คือ มาตรการด้านภาษีศุลกากร (Tariff Measures) และมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs)
เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาผลักดันให้กัมพูชาต้องปฏิรูปในหลายด้าน ทั้งด้านการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ การจัดตั้งหน่วยงานอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย และการใช้ยุทธศาสตร์ดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาเพื่อสร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านภาษีศุลกากร กัมพูชาได้ลงนามในความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ที่กำหนดให้ลดภาษีลงมาภายในปี พ.ศ. 2558-2561 การลดมาตรการด้านภาษียังเป็นไปตามข้อตกลงภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งกรอบแบบทวิภาคี เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area: ACFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN-Australia- New Zealand Free Trade Area: AANZFTA) และกรอบในระดับภูมิภาคอย่างเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
สินค้าเกษตรและอาหารเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) หลายมาตรการ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เสนอว่า ผลกระทบด้านปริมาณและราคาของสินค้าเกษตรเป็นผลมาจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) 4 ประเภท คือ (1) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) (2) มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barrier to Trade: TBT) (3) มาตรการควบคุมบริเวณชายแดนและการควบคุมปริมาณ (Quota) และ (4) มาตรการด้านการส่งออก
การใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าสินค้าเกษตรและอาหารอย่างชัดเจน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นคุณภาพและสุขอนามัยของผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับประเภทสินค้าที่จำกัดกว่า ได้แก่ การกำหนดมาตรฐาน การห่อหุ้มอาหาร และฉลากกำกับ การใช้เคมีภัณฑ์ ซึ่งมักจะเป็นข้อกำหนดเชิงเทคนิคและต้องมีการขอใบอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งนี้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) มีผลทำให้ต้นทุนสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 15
มาตรการกีดกันทางการค้าในการนำเข้าจากกัมพูชามายังไทย โดยไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน และได้ทำความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กระทรวงการคลังจึงได้ทำประกาศเรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน พ.ศ. 2560 โดยมีการยกเว้นภาษีอากรสำหรับสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสมาชิกอาเซียนตามรายการแจ้ง ทั้งนี้ผู้นำเข้าต้องแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D (ATIGA)) ไทยยังมีพันธะด้านภาษีกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และชิลี
สำหรับมาตรการหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทย กรมศุลกากรได้ประกาศผ่อนคลายเรื่องการเดินเอกสาร สำหรับพิธีการศุลกากรสำหรับประเทศภายใต้กรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) โดยในกรณีที่ประเทศต้นทางมีการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียน หรือ Form D แต่ไม่สามารถส่งต้นฉบับหนังสือรับรองให้แก่ผู้นำของเข้าในไทยได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมศุลกากรผ่อนปรนให้ผู้นำเข้าสามารถแสดงสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรได้ และให้นำต้นฉบับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาแสดงต่อสำนักงานศุลกากรภายหลัง
- การพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน
กัมพูชามีพื้นที่ติดกับไทย 7 จังหวัด ได้แก่ ทิศเหนือติดกับจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด มีระยะทางยาวรวมกันประมาณ 798 กิโลเมตร มีด่านศุลกากร 4 ด่าน คือ ด่านศุลกากรช่องจอม อรัญประเทศ คลองใหญ่ และด่านศุลกากรจันทบุรี มีจุดผ่านแดนถาวร 6 จุด และจุดผ่อนปรนการค้า 9 จุด ซึ่งทำให้การค้าชายแดนกัมพูชา-ไทย มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากความสะดวกรวดเร็วของการขนส่งสินค้า และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรด้วยระบบ e-Customs
ภายใต้กรอบความร่วมมือ ACMECS ไทยมีบทบาทใหม่ในฐานะผู้ให้กัมพูชาผ่านโครงการความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบภารกิจนี้ กรอบความร่วมมือ ACMECS ยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) ที่ให้การสนับสนุนเชิงเทคนิคและความช่วยเหลือทางการเงิน
ความร่วมมือกัมพูชา-ไทยด้านการเชื่อมโยงภายใต้กรอบ ACMECS สอดคล้องกับแผนแม่บทระยะ 5 ปี หรือ ACMECS Master Plan 2019-2023 จากการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ACMECS ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ กรุงเทพฯ กำหนดวิสัยทัศน์ในการ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี 2023” (ปี พ.ศ. 2566) โดยมีเป้าหมายการเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity) โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านเส้นทางคมนาคมขนส่ง และทางด้านดิจิทัล รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านพลังงาน โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
การลงทุนด้านการเกษตรของไทยใน ACMECS มีรูปแบบการทำเกษตรพันธสัญญา เพื่อทำการเพาะปลูกและรับซื้อพืชผลทางการเกษตรที่ผลิตได้กลับมาแปรรูปที่ไทย หรือรับซื้อเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม และการลงทุนการขอรับสัมปทานจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกจากรัฐบาล นักลงทุนไทยในกัมพูชาจะสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference) หรือ GSP ของกัมพูชาในการส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และไทยยังมีสิทธิพิเศษสำหรับนำเข้าสินค้าเกษตรของกัมพูชาด้วยอัตราภาษีร้อยละ 0 รวม 10 รายการ คือ ถั่วลิสง ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวโพดหวาน มันฝรั่ง มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ละหุ่ง และไม้ยูคาลิปตัส และอัตราร้อยละ 0-5 สำหรับสินค้าของกัมพูชาอีก 340 รายการ นอกจากนี้มีการจัดตั้ง ACMECS Business Council การศึกษาการจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกกับการศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในกัมพูชา รวมทั้งการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการของกัมพูชา
หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาวิจัย โครงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) สู่ความยั่งยืน โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
รายการอ้างอิง
- กระทรวงการต่างประเทศ. (2555). ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS). สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564. จากhttps://business.mfa.go.th/th/content/16231-ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง-(-acmecs-)?cate=5d73a21d15 e39c36a8006c2b
- ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2562). ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS). สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2564. จาก https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/International Cooperation/Pages/ACMECS.asp
- Baldwin, R. (2013). Global supply chains: Why they emerged, why they matter, and where they are going, in Elms, D. and P. Low (eds.), Global Value Chains in a Changing World, WTO, Geneva/TFCTN. https://doi.org/10.30875/3c1b338a-en. MILLAR, M. (2015) Global Supply Chain Ecosystem, London: Kogan Page
- Chartered Institute of Procurement and Supply. (2021). Global Supply Chain. https://www.cips.org/knowledge/procurement-topics-and-skills/supply-chain-management/global-supply-chains/
- Continot, A., and Vogel, J. (2013). An elementary Theory of Global Supply Chains. Review of Economic Studies, Vol.80, pp.109-144.
- Council for the Development of Cambodia. (2013), Cambodia Investment Guidebook.
- Cross, B., and Bonin, J. (2010). How To Manage Risk In a Global Supply Chain. Ivey Business Journal, Vol.74, PP.1-9.
- FAO. (2019). FAOSTAT. http://www.fao.org/faostat/en/#data
- Food and Agriculture Organization of the United Nations. (2017). The State of Food And Agriculture, Leveraging Food Systems For Inclusive Rural Transformation.
- Gerber, D. W., and Biggie, B. R. (2012). The Global Supply Chain: Understanding, Measuring, Mitigating and Managing Exposure in a Supply Chain Dependent Globalized Market. Defense Counsel Journal, Vol.79(4), pp.412-437
- Goletti, F, S. Sin. (2016). Development of Master Plan for Crop Production in Cambodia 2030. Final Report. Prepared for Ministry of Agriculture Forestry and Fisheries (MAFF), Tonle Sap Poverty Reduction and Smallholder Development Project (TSSD).
- Grow Asia and CPSA. (2020). Rapid Fruit Value Chain Assessment of longan, mango, dragon fruit, banana, coconut. Cambodia.
- Hummels, D., Ishii, J. and Yi K-M. (2001). The Nature and Growth of Vertical Specialization in World Trade. Journal of International economics, 54, pp. 75–96.
- ITC Trade Map. (2020). Trade Map. https://www.trademap.org/ Index.aspx
- Khmer Times. (2020). Cambodia has 54 special economic zones, more to come. https://www.khmertimeskh.com/686294/cambodia-has-54-special-economic-zones more-to-come/
- National Bank of Cambodia. (2018). Annual Report 2018. Council for the Development of Cambodia CDC.
- OECD. (2018). Agro-food trade, GVCs and agricultural development in ASEAN. OECD Food. Agriculture and Fisheries Papers, No. 116, OECD Publishing, Paris. http://dx.doi.org/10.1787/89d40ebb-en
- Oxfam. (2019). Foreign Direct Investment in Agribusiness in Cambodia. February 2019, Oxfam in Cambodia.
- Prasad, S., and Sounderpandian, J. (2003). Factors influencing global supply chain efficiency: Implications for Information System. Supply chain Management: An International Journal, Vol.8 (3), pp.241-250
- Royal Government of Cambodia. (2015). Cambodia industrial development policy 2015-2025.
- Sreymom, S., & Pirom, K. (2015). Contract farming in Cambodia: different models, policy and practice. CDRI working paper series.
- United States Agency International Development. (2019), Cambodia Agricultural Competitive Opportunity Assessment.
- World Bank. (2015). Cambodian Agriculture in Transition: Opportunities and Risks. Economic and Sector Work, Report No. 96308-KH. World Bank: Washington D.C.
- World Bank. (2019), Cambodia Economic Update. Recent Economic Developments and Outlook, Selected Issue Investing in Cambodia’s Future: Early Childhood Health and Nutrition, May 2019, World Bank: Washington D.C. https://opendevelopmentcambodia.net/topics/agriculture-and-fishing/
- World Bank. (2020). World Bank Open data. https://data.worldbank.org/