สถิติข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เกาหลีใต้มีความไม่สัมพันธ์กันระหว่าง 2 ดัชนีข้างต้น กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยสูงแต่กลับมีความเท่าเทียมทางเพศต่ำ ซึ่งต่างจากประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุโรปและสแกนดิเนเวียที่ความเท่าเทียมทางเพศเติบโตสอดคล้องกับความเข้มแข็งของประชาธิปไตย ดังนั้น บทความนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและแสดงสาเหตุที่ส่งผลให้ความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายและหญิงของประเทศเกาหลีใต้มีการเติบโตที่ไม่สอดคล้องไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นประชาธิปไตยภายในประเทศ
หากจะพิจารณาสภาพความเป็นมาเป็นไปของสังคมหนึ่ง ๆ นั้น แน่นอนว่าย่อมเกิดจากหลากหลายปัจจัยที่หลอมรวมกันมาตั้งแต่ในอดีต แล้วฝังรากตกทอดเป็นมรดกมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจในประเด็นทางเพศของเกาหลีใต้ได้อย่างครอบคลุม จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้งมุมมองทางด้านวัฒนธรรมความเชื่อ บทบาทของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงลักษณะของระบบเศรษฐกิจ
“ขงจื๊อ” ความเชื่อเพื่อความสงบสุขที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ?
“สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่น่าสนใจ เพราะมีความเป็น multi society system คือ ในมุมการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยสูง ในมุมความเท่าเทียมเนี่ย คุณเป็นประธานาธิปบดีคุณทำผิด คุณก็ติดคุก แต่ขณะเดียวกันนั้น สังคมเกาหลีก็ยังเป็นสังคมที่มีลำดับขั้นภายในบ้านอยู่ดีซึ่งเกิดจากแนวคิดขงจื๊อที่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของคนในสังคม เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าในสังคมเกาหลีจะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมาก แต่มันก็ยังมีพื้นที่ที่พลังทางการเมืองยังคงไม่สามารถแทรกเข้าไปได้ ซึ่งก็คือพื้นที่ทางวัฒนธรรม และพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ว่านี้ก็เรียกได้ว่าเป็นกำแพงที่มีความแข็งแกร่งมากเช่นกัน ซึ่งกำแพงที่ว่าก็คือแนวคิดขงจื๊อนั่นเอง” อ.ดร. ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ (สัมภาษณ์, 23 กุมภาพันธ์ 2566)
คำกล่าวข้างต้นจากการสัมภาษณ์ข้างต้นในประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อและการเมืองในเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นว่า ความเท่าเทียมในมิติทางการเมืองของเกาหลีใต้มีความเด่นชัดมาก เช่น ผู้ชายทุกคนต้องเกณฑ์ทหารไม่ว่าจะเป็นดาราหรือคนมีชื่อเสียงก็ตาม และผู้คนเมื่อทำผิดต้องได้รับโทษไม่เว้นแม้แต่ประธานาธิบดีอย่างกรณีของอดีตประธานาธิบดี พัค กึนฮเย ที่ถูกศาลเกาหลีใต้ตัดสินจำคุก 24 ปี จากความผิด 16 ข้อหาที่เกี่ยวกับการทุจริต (BBC News ไทย, 2561) เป็นต้น ในขณะเดียวกัน “แนวคิดขงจื๊อ” กลับเป็นกรอบความคิดในมิติทางสังคมที่แข็งแกร่งซึ่งมีอิทธิพลต่อความเชื่อและการดำเนินชีวิตของผู้คนภายในประเทศเป็นอย่างมาก
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจึงต้องทำความเข้าใจในแนวคิดขงจื๊อเสียก่อน ว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมจีนมีความวุ่นวาย เป้าหมายของขงจื้อจึงมุ่งเน้นไปที่การทำให้สังคมเกิด “ความสงบสุข” โดยสังคมจะสงบสุขได้ก็ต่อเมื่อผู้คนในสังคมมีคุณธรรมประจำตัว อันได้แก่ “เหริน” ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตนอย่างมีมนุษยธรรมต่อผู้อื่น และ “หลี่” คือการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมจารีตและประเพณี และเมื่อใดที่ผู้คนประพฤติปฏิบัติไปตามแบบแผนที่ควรจะเป็น เมื่อนั้นก็จะนำมาซึ่งความสงบสุขภายในสังคมในที่สุด (Tudor, 2565, น. 69-71) หนึ่งในแนวคิดของขงจื๊อที่ถูกใช้เป็นธรรมเนียมแบบแผนสำคัญซึ่งว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นในสังคม คือ คู่ความสัมพันธ์หลักทั้ง 5 คู่ ได้แก่ 1) ผู้ปกครอง-ผู้ใต้ปกครอง 2) พ่อ-ลูก 3) ผู้อวุโส-ผู้น้อย 4) สามี-ภรรยา และ 5) เพื่อนที่มีสถานะเท่ากัน โดยผู้ที่อยู่ลำดับหน้าจะมีสถานะสูงกว่าลำดับหลัง ดังนั้น เมื่อผู้คนเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและปฏิบัติตามสถานะของตนได้อย่างเหมาะสมแล้ว ความสงบสุขในสังคมก็จะเป็นสิ่งที่ตามมาโดยปริยาย
เมื่อพิจารณาตามหลักแนวคิดของขงจื๊อแล้ว บทบาทหน้าที่ในอุดมคติของผู้หญิงคือการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนลูกเพื่อให้ลูกเติบโตมาเป็นคนดีของสังคม เมื่อคนในสังคมเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว สังคมก็จะเกิดความสงบสุข เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเหตุผลให้ผู้หญิงไม่ควรออกไปยุ่งกับเรื่องนอกบ้านซึ่งหมายถึงทั้งการออกไปทำงานและการมีส่วนร่วมทางการเมือง เนื่องจากหากผู้หญิงเลือกที่จะไปยุ่งกับเรื่องนอกบ้านแล้ว ก็จะส่งผลให้เรื่องในบ้านอย่างการเลี้ยงดูและอบรมบุตรถูกละเลยได้ กล่าวได้ว่าบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดขงจื๊อคืองานประเภทที่ไม่ได้รับค่าจ้างหรือ Unpaid Work เช่น งานบ้าน นั่นเอง ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็เป็นแนวคิดที่ฝังรากลึกอยู่ในวิธีคิดจนกลายเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตที่แบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเกาหลีไปโดยปริยายมาจนถึงปัจจุบัน
รัฐบาลเกาหลีใต้ กับการส่งเสริมนโยบายด้านการเลี้ยงดูบุตรเพื่อแรงงานหญิง
จากการศึกษาบทความ A Confucian War Over Childcare? Practice and Policy in Childcare and Their Implication for Understanding the Korean Gender Regime โดย Sook-yeon Won และ Gillian Pascall (2004) ผู้เขียนว่าเกาหลีใต้เองก็มีนโยบายที่สนับสนุนช่วยเหลือแรงงานหญิงอยู่บ้าง เช่น การออกกฎหมาย The Gender Equal Employment Act และ The Infant Care Act เพื่อช่วยเหลือด้านการเลี้ยงดูบุตรโดยตรงและสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศระหว่างแรงงานชายหญิง ตลอดจนรัฐบาลมีการช่วยเหลือภาคเอกชนในด้านนี้ด้วย เช่น การให้เงินกู้ระยะยาวกับสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น เมื่อพิจารณาถึงตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่าทางรัฐบาลเกาหลีใต้ได้มีการส่งเสริมและช่วยเหลือให้แรงงานหญิงมีโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือแรงงานหญิงเท่าที่ควร เนื่องจากใน The Gender Equal Employment Act และ The Infant Care Act มีข้อกำหนดให้ “นายจ้างต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกหรือพื้นที่สำหรับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน หากมีลูกจ้างผู้หญิงมากกว่า 300 คน” ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้รองรับเฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติ ผู้หญิงมักทำงานในบริษัทขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่ถึง 300 คนมากกว่าทำงานในบริษัทใหญ่ สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้นโยบายนี้ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติจริงเท่าไรนัก และสถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐเองก็ไม่ได้มีคุณภาพเท่าที่ควร โดยจากการสัมภาษณ์คุณแม่ชาวเกาหลีหลายท่าน พบว่า สถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐบาลนั้น มีเจ้าหน้าที่น้อย สกปรก เสียงดังและมีเด็กเป็นจำนวนมาก เงื่อนไขข้างต้นบีบให้คุณแม่หลายท่านจำเป็นต้องหันไปเลือกทางที่มีต้นทุนสูงกว่าเพื่อให้ลูกได้อยู่อย่างสบายและมีคุณภาพมากขึ้น เช่น การนำลูกไปฝากไว้กับพี่สะไภ้หรือแม่สามี เป็นต้น (Won and Pascall, 2004)
โดยสรุปแล้ว รัฐบาลเกาหลีนั้นมีนโยบายที่สนับสนุนด้านการเลี้ยงดูบุตรอยู่ แต่อาจยังไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากนักว่านโยบายเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติจริงอันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมในตลาดแรงงานและสังคมได้
ระบบเศรฐกิจที่แข่งขันกันอย่างหนักหน่วง จนผู้หญิงแข่งด้วยแทบไม่ไหว
ข้อมูลอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงเกาหลีในแต่ละช่วงวัย พบว่ามีลักษณะเป็น M-shape curve คือ มีจุดพีคแรก ที่ช่วงวัย 20-24 ปี สะท้อนการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่สูงเพราะเป็นช่วงก่อนแต่งงาน-มีลูก และหลังจากช่วงนี้ไปจำนวนแรงงานหญิงในตลาดจะลดลงมาก แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจุดพีคที่สองประมาณช่วงอายุ 40-49 ปี (Wong and Pascall 2004) ดังภาพประกอบที่ 1
ในขณะที่อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ชายเกาหลีมีลักษณะเป็น inverted U-shape curve คือตัวยูคว่ำ ที่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามช่วงวัย แล้วลดลงในช่วงอายุ 50 ปี ดังภาพประกอบที่ 2

เมื่อเทียบกันแล้ว ผู้ชายมีอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่สูงกว่าและต่อเนื่องกว่าผู้หญิง ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่ามีลำดับขั้นเกิดขึ้นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยผู้ชายจะได้เงินมากกว่าผู้หญิงนั่นเอง และการที่ผู้หญิงมีความไม่ต่อเนื่องในการเข้าร่วมตลาดแรงงาน (ความไม่ต่อเนื่องในการทำงาน) นั้นก็เป็นผลมาจากการที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับการแต่งงาน ตั้งครรภ์ การคลอด ตลอดจนการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งภาระหน้าที่จากการแต่งงานและมีบุตรของผู้หญิงนั้น ส่งผลกระทบต่อโอกาสการทำงานในตลาดแรงงานเป็นอย่างมากเพราะการที่ผู้หญิงจำเป็นต้องออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่มีการแข่งขันสูงมากนั้น เงื่อนไขเช่นนี้จึงก่อให้เกิดความยากลำบากแก่ผู้หญิงเหล่านี้ที่จะได้รับโอกาสในการกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง ดังนั้นแล้ว หากผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องการที่จะกลับไปทำงาน จึงมักได้รับเป็นงานประเภท Part-time แทน ส่งผลให้ช่องว่างของระดับรายได้ระหว่างเพศหญิงและชายสูงขึ้นด้วยนั่นเอง (Won and Pascall, 2004)
สรุปแล้ว... สิ่งใดทำให้ความเท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้เติบโตช้ากว่ามิติอื่น ๆ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเด็นความเท่าเทียมภายในประเทศเกาหลีใต้หลัก ๆ คือ แนวคิดความเชื่อแบบขงจื๊ออันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหน้าที่ของตนอย่างเป็นลำดับขั้นเพื่อความสงบสุขในสังคมนั้น นำไปสู่การแบ่งงานกันทำระหว่างเพศชายและหญิง (Gender Division of Labor) ในตลาดแรงงาน อีกทั้ง นโยบายสนับสนุนแรงงานหญิงที่ออกโดยรัฐบาลก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของแรงงานหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก จึงทำให้แรงงานหญิงเกาหลีใต้ยังคงต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางเพศภายในสังคม ในอีกนัยหนึ่ง ผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องเผชิญทั้งความกดดันของการเป็นแม่ การเป็นภรรยา การเป็นลูกสะไภ้ และการเป็นแรงงานที่ดี ในขณะที่ผู้ชายสามารถมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่การเป็นแรงงานคุณภาพอย่างเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับในสังคมเกาหลีใต้...
บรรณานุกรม
- The Economist Intelligence Unit Limited. (2023). Democracy Index 2022 Frontline democracy and the battle for Ukraine. สืบค้นจาก https://www.protagon.gr/wp-content/uploads/2023/02/Democracy-Index-2022-final.pdf
- World Economic Forum. (2022). Global Gender Gap Report 2022. สืบค้นจาก https://www3.weforum.org/docs/WEF_GGGR_2022.pdf
- Won, Sook-yeon, & Pascall, Gillian. (2004). A Confucian War Over Childcare? Practice and Policy in Childcare and Their Implication for Understanding the Korean Gender Regime.
- ทิวดอร์, แดเนียล. (2565). Korea: The Impossible Country, Revised and Expanded [มหัศจรรย์เกาหลี: จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม]. (พิมพ์ครั้งที่ 2). บุ๊คสเคป.