เสี้ยมคือกลยุทธ์เด่นของผู้แพ้

1074 views
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤกษภาคม 2566 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.2 ล้านคนและมีผู้มาใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละ 75.7 การเลือกตั้งนี้ทำให้มีผู้ชนะและผู้แพ้เกิดขึ้น โดยผู้ชนะการเลือกตั้งซึ่งส่วนใหญ่ คือ ฝ่ายค้านเดิมรวมเสียงได้ 312 เสียงจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.4 ขณะที่ผู้แพ้การเลือกตั้งซึ่งส่วนใหญ่ คือ ฝ่ายรัฐบาลเดิมได้เสียงรวมเพียง 188 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละเพียง 37.6 จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
การจัดตั้งรัฐบาลควรเสร็จไปอย่างรวดเร็วโดยพรรคที่ได้อันดับ 1 ควรได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ (ตาม Common Sense ของเราทุกคน) แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งขณะนี้มีกฎเกณฑ์สุดพิศดารของรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้ง ๆ ที่ที่มาของคนกลุ่มนี้มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ แต่รัฐธรรมนูญกลับระบุเฉยเลยว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีสิทธิออกเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเทียบเท่ากับเสียงครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
หลังจากผลการเลือกตั้งปรากฎชัดถึงการแพ้แบบขาดลอยของกลุ่มผู้แพ้ เราได้เห็นการเซ็นบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 22 พฤกษภาคม 2566 ของกลุ่มผู้ชนะที่ประกอบไปด้วย 8 พรรคการเมืองซึ่งถือเป็นอะไรที่แปลกใหม่กับสังคมไทยและเต็มไปด้วยความหวัง ณ วันนั้น แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้ (22 สิงหาคม 2566) ซึ่งก็คือผ่านมา 3 เดือนแล้ว เรายังไม่ได้รัฐบาลใหม่ แต่ MOU ดังกล่าวถูกฉีกทิ้งไปแล้วโดยหนึ่งในพรรคที่เป็นผู้ชนะที่ขึ้นมาเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลแทนและถือเป็นการสลายขั้ว 8 พรรคเดิม หลังรู้ผลการเลือกตั้งจนกระทั่ง MOU ถูกฉีกทิ้ง ปรากฏการณ์หนึ่งที่ประชาชนมักเห็นบ่อยตามสื่อต่าง ๆ คือ เมื่อไรก็ตามที่มีโอกาส ฝ่ายผู้แพ้จะเสี้ยมให้ฝ่ายผู้ชนะแตกกัน ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
 
ทฤษฎีเกมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มักใช้ในชีวิตประจำวัน โดยองค์ประกอบของเกม คือ ผู้เล่น กลยุทธ์ของผู้เล่นแต่ละราย และ Payoff ในที่นี้ เราจะสร้างเกมอย่างง่ายเพื่ออธิบายพฤติกรรมบางอย่างของผู้แพ้รวมถึงการแตกกันระหว่างขั้ว 8 พรรคเดิมใน MOU และเดาว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้
 
เพื่อความง่ายเราให้มีผู้เล่นแค่ 3 ฝ่ายและมีจำนวนกลยุทธ์แค่ 2 อย่างสำหรับผู้เล่นแต่ละฝ่าย สามผู้เล่นในที่นี้คือ ผู้แพ้ และสองผู้ชนะ โดยผู้แพ้ (Loser) ในที่นี้ก็คือ พรรคการเมืองทั้งหลาย 188 เสียงที่แพ้การเลือกตั้งแบบขาดลอยรวมถึงกลุ่มคนที่มาจากการจิ้มของเผด็จการให้มีสิทธิออกเสียงในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี (และอื่น ๆ อีกมากมาย)
 
ถ้าเราใช้สีแทนผู้เล่นในเกมส์นี้แล้ว สีที่เหมาะกับผู้แพ้นี้น่าจะเป็นสีเหลือง และสองผู้ชนะคือส้มและแดง  ส่วนสองกลยุทธ์ของ Loser คือ เสี้ยมและไม่เสี้ยม โดยเสี้ยมหมายถึงการยุแหย่ให้อีกฝ่ายแตกสามัคคีกันจะด้วยการอ้างอะไรก็แล้วแต่ สำหรับสองกลยุทธ์ของส้มและแดง คือ แยกและไม่แยก โดยการฉีก MOU หรือการแตกกันระหว่างส้มและแดงเป็นผลลัพธ์ในกรณีที่ส้มเลือกไม่แยกแต่แดงเลือกแยกเท่านั้น และในกรณีนี้จะมีอีก 1 stage หรือเกมย่อยเกิดขึ้น
 
คำอธิบายสำหรับพฤติกรรมเสี้ยมของผู้แพ้นั้นง่าย ๆ ในภาษาเกมก็คือ ผู้แพ้ต้องเสี้ยมเพราะเสี้ยมคือกลยุทธ์เด่นของผู้แพ้ กล่าวคือไม่สำคัญว่าส้มและแดงจะแยกกันหรือไม่ ผู้แพ้จะต้องเสี้ยมเพราะเขาได้รับความสุขหรือได้ payoff มากกว่าถ้าได้เสี้ยม
 
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ Loser ซึ่งไม่ควรเข้าสู่อำนาจอยู่แล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าเสี้ยมแล้วอีกฝ่ายแตกกันจริง Loser ส่วนหนึ่งจะได้เข้ามามีอำนาจอย่างน้อยในช่วง 4 ปีข้างหน้า ผู้ที่มีโอกาสถูกเช็คบิลหลายคน (ถ้าส้มเป็นนายก) จะอยู่รอดปลอดภัยและอาจได้ประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น โอกาสในการคอรัปชั่น ในกรณีที่เสี้ยมแล้วอีกฝ่ายไม่แตกกัน Loser ก็ยังรู้สึกดีกว่าไม่เสี้ยมอยู่ดีเพราะอย่างน้อยได้เสี้ยมเพื่อความสุขใจและเอาใจฐานเสียงน้อย ๆ ของตัวเองเหมือนได้ช่วยปลดปล่อยตัวเองจากความพ่ายแพ้ที่ประชาชนมอบให้
 
เกมจะง่ายลงโดยปริยายเพราะเราไม่ต้องคำนึงถึงผู้แพ้และมีตัวเลข payoff เพิ่มมาสำหรับเหลืองให้ปวดหัว เราสามารถดูจากตาราง 2x2 ที่คุ้นเคยได้ในแต่ละ stage เราจะเริ่มจากเกมย่อยซึ่งสื่อถึงอนาคตในช่วง 4 ปีข้างหน้าก่อน โดยผู้เล่นในเกมย่อย คือ ส้มและแดง เพื่อความง่ายสมมุติให้ทั้งส้มและแดงมีแค่ 2 กลยุทธ์ในเกมย่อย คือ “ดี” และ “ไม่ดี” ซึ่งกลยุทธ์ทั้งสองแสดงถึงบทบาทของการทำงานของส้มและแดงว่าเป็นอย่างไร และบทบาทของการทำงานดังกล่าวจะต่างกันระหว่างส้มและแดง ในที่นี้ คือ ส้มทำงานในฐานะฝ่ายค้าน ขณะที่แดงทำงานในฐานฝ่ายรัฐบาล
ดังนั้น กลยุทธ์ “ดี” ของส้ม คือ การทำงานในฐานะฝ่ายค้านได้ดี แต่กลยุทธ์ “ไม่ดี” ของส้ม คือ การทำงานในฐานะฝ่ายค้านได้ไม่ดี ขณะที่ในฝั่งแดง กลยุทธ์ “ดี” ของแดง คือ การทำงานในฐานะฝ่ายรัฐบาลได้ดี แต่กลยุทธ์ “ไม่ดี” ของแดง คือ การทำงานในฐานะฝ่ายรัฐบาลได้ไม่ดี ซึ่งกลยุทธ์ของทั้งสองฝ่ายจะถูกสมมติให้เกิด Payoff เป็นดั่งเลขในตารางที่ 1

 
สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเกม วิธีอ่านก็คือ ตัวเลขในแต่ละเซลที่ตรงกับกลยุทธ์ของผู้เล่นแต่ละคน ตัวเลขแรก คือ payoff ของผู้เล่นตามแถวซึ่งในที่นี้คือส้ม ส่วนตัวเลขที่สองจะหมายถึง payoff ของผู้เล่นตามคอลัมน์ซึ่งในที่นี้คือแดง เช่น ตัวเลข 7,2 ในช่องที่ตรงกับกลยุทธ์ “ดี” ของส้มและกลยุทธ์ “ไม่ดี” ของแดง หมายถึง กรณีที่ส้มทำงานได้ดีแต่แดงทำงานได้ไม่ดี ส้มจะได้ payoff เท่ากับ 7 ขณะที่แดงจะได้ payoff เท่ากับ 2 ส่วนคำอธิบายสำหรับตัวเลขต่าง ๆ ในตารางที่ 1 เป็นดังนี้
 
จากจำนวนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร 500 คน แปลงออกมาเป็นจำนวนเต็ม 10 ตัดทิ้งไป 50 โดย 50 นี้เป็นจำนวนที่นั่งโดยประมาณสำหรับสำหรับพรรคอื่น ๆ ที่เหลือ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ Loser ใน Stage แรก  และจะเหลืออีก 450 ที่นั่งซึ่งแปลงออกมาเป็นเลข 9 หรือผลลัพธ์ของ Payoff เท่ากับ 9 หน่วยที่จะแบ่งกันระหว่างส้มและแดง ซึ่งเราจะสมมติ Payoff ของเหตุการณ์ต่าง ๆ คือ
กรณีแรก ส้มทำงานได้ดีและแดงก็ทำงานได้ดี จะสมมติให้เกิดส่วนแบ่งเป็น 5 สำหรับส้มและ 4 สำหรับแดง
กรณีที่สอง ส้มทำงานได้ดีแต่แดงทำงานได้ไม่ดี จะสมมติให้เกิดส่วนแบ่งเป็น 7 สำหรับส้มและ 2 สำหรับแดง
กรณีที่สาม ส้มทำงานได้ไม่ดี แต่แดงทำงานได้ดี จะสมมติให้เกิดส่วนแบ่งเป็น 3 สำหรับส้มและ 6 สำหรับแดง
กรณีสุดท้าย เป็นกรณีพิเศษ คือ ส้มและแดงทำงานได้ไม่ดี จำนวนเต็มของ Payoff จะสมมุติให้ลดลงเหลือแค่ 5 (แทนที่จะเป็น 9) และส้มจะได้ Payoff เท่ากับ 3 ขณะที่แดงได้รับ Payoff เท่ากับ 2 แต่ Payoff ที่เหลือ (4 คะแนน) อาจถูกโยกไปยังพรรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ เพราะสังคมเห็นว่าทั้งส้มและแดงทำงานได้ไม่ดี
ในทุก ๆ กรณี จะเห็นว่าตัวเลขของส้มมักจะสูงกว่าแดง (ยกเว้นกรณีที่ส้มทำงานได้ไม่ดีแต่แดงทำงานได้ดี) เพราะส้มน่าจะได้คะแนนสงสารซึ่งแปลงเป็น payoff ที่สูงกว่า
 
ดุลยภาพเดียวของเกมย่อยนี้ คือ (ดี,ดี) เพราะ “ดี” คือ กลยุทธ์เด่นของทั้งส้มและแดงหรือทั้งคู่จะตั้งใจทำงานเพื่อให้ผลงานออกมาดีในช่วง 4 ปีข้างหน้าและ equilibrium payoff ของเกมย่อยนี้คือ (5,4) เช่น ในฐานะรัฐบาล ประชาชนคาดได้ว่าแดงจะต้องออกนโยบายโน่นนี่นั่นมาเพื่อเอาใจประชาชน รวมถึงการอาจนำนโยบายบางอย่างของส้มมาทำเองโดยมีข้ออ้างเดิม ๆ ว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน
 
สมมุติเราแยกวิเคราะห์โดยคิดถึง Stage 1 แต่คิดเฉพาะปัจจุบัน ทั้งส้มและแดงมี 2 กลยุทธ์คือ “แยก”หรือ “ไม่แยก” สมมุติให้ payoff เป็นดั่งเลขในตารางที่ 2

คำอธิบายสำหรับตัวเลขต่าง ๆ ในตารางที่ 2 คือ ตัวเลขแบ่งระหว่างส้มและแดง (Payoff) ยังคงเต็ม 9 เหมือนเดิม เพื่อให้เปรียบเทียบได้ง่ายกับ Payoff ใน Stage 2  ในกรณีแรก Payoff ของส้มจะเป็น 0 ทันที ถ้าส้มเลือกกลยุทธ์ “แยก” เพราะถ้าส้มเลือกที่จะแยกตัว ส้มจะไม่มีหน้าเหลือในสังคม และส้มไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เองถ้าไม่มีแดง ดังนั้น กรณีที่ส้มเลือกแยก จะไม่ต้องมี Stage 2 หรือเกมย่อยที่สื่อถึงอนาคตเพราะส้มคงจอดอยู่แค่นี้ แต่แดงนั้นไม่เหมือนกันเพราะอย่างไรแดงก็ต้องได้เป็นรัฐบาล กรณีดีสุดของแดง คือ ถ้าส้มเลือกแยกแต่แดงเลือกไม่แยก แดงจะได้เป็นแกนนำรัฐบาลแทนแบบหล่อ ๆ ได้คะแนนเต็ม 9 ในขณะที่ส้มได้ 0
 
กรณีทั้งส้มและแดงเลือกไม่แยกแล้ว ส้มจะได้เป็นแกนนำรัฐบาลส่วนแดงก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลแต่อยู่ใต้อาณัติส้ม แต่เพื่อความง่ายสมมุติให้ได้ Payoff ไปเท่า ๆ กัน คือ 4.5 และเราไม่ได้วิเคราะห์เกมย่อยหรืออนาคตสำหรับกรณีนี้ (หรือจะวิเคราะห์ก็ได้โดยมีตารางคล้าย ๆ กับตารางที่ 1 แต่จะไม่กระทบต่อดุลยภาพที่จะได้ ดังนั้นเพื่อความง่ายจึงตัดทิ้ง)
 
อีกกรณี กรณีแดงเลือกกลุทยธ์ “แยก” แต่ส้มเลือกกลยุทธ์ “ไม่แยก” (กรณีนี้น่าจะใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นมากสุด) แดงจะเป็นรัฐบาลส่วนส้มจะถูกถีบให้เป็นฝ่ายค้าน สมมุติให้ payoff ของแดงคือ 6 (เพราะได้เป็นแกนนำรัฐบาลแต่โดนประชาชนล้อ/ด่าแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้) และ Payoff ของส้มคือ 3 ในกรณีนี้จะมีเกมย่อยซึ่งก็คือตารางที่ 1 ซึ่งสื่อถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
 
เมื่อนำค่า Equilibrium Payoff ของเกมย่อยมาใช้ใน stage 1 ซึ่งหมายถึงปัจจุบันด้วย เพื่อความง่ายเราจะไม่คิดถึงความแตกต่างระหว่าง Payoff ปัจจุบันและ Payoff อนาคต (หรือสมมุติให้อัตราการคิดลดเป็นศูนย์) เราจะได้ Payoff ในตารางที่ 3

ดุลยภาพเดียวของเกมนี้ คือ (ไม่แยก,แยก) โดย “ไม่แยก” คือ กลยุทธ์เด่นของส้ม ส่วนแดงนั้นไม่มีกลยุทธ์เด่นแต่ถ้าส้มเลือกไม่แยก ดีสุดสำหรับแดง คือ “แยก” ซึ่งก็คือ การฉีก MOU โดยแดงถีบส้มไปเป็นฝ่ายค้านถึงแม้ว่าส้มอาจไม่อยากเป็นฝ่ายค้านก็ตาม
 
ถ้าเรานำอัตราคิดลดมาคิดด้วยและเปลี่ยนตัวเลข 6 สำหรับแดงในตารางที่ 2 และ 3 ให้เป็นพารามิเตอร์แทน จะพบว่า ดุลยภาพของเกมอาจเปลี่ยนไป เช่น ที่อัตราคิดลดเท่ากับ 1/3 ถ้าพารามิเตอร์มีค่ามากกว่า 1.5 ดุลยภาพ คือ (ไม่แยก,แยก) แต่ถ้าพารามิเตอร์มีค่าน้อยกว่า 1.5 ดุลยภาพ คือ (ไม่แยก,ไม่แยก) หรือถ้าประโยชน์ในปัจจุบันมีมากพอ แดงจะเลือกแยกเพราะนั่นเป็นสิ่งที่ดีสุดสำหรับแดง
 
ข้อสมมุติหลายอย่างของเกมนี้อาจจะผิดหรือแตกต่างจากความเป็นจริงมาก เช่น ตัวเลข Payoff ที่สมมุติขึ้น หรือเหลืองอาจได้เกิน 50 หรือไม่ควรตัดเหลืองออกจากการวิเคราะห์ในเกมย่อย หรืออาจมีกลยุทธ์อื่นที่ควรคำนึงถึง เช่น แทนที่จะเป็นเสี้ยมหรือไม่เสี้ยมสำหรับเหลือง อาจเป็นกลยุทธ์อื่น เช่น ผู้เล่นเหลืองอาจเลือก “หักหลัง” หรือ “ไม่หักหลัง” แดงก็ได้ รวมถึงการสมมุติให้เกมย่อยจะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่ส้มเลือกไม่แยกและแดงเลือกแยก หรือแม้กระทั่งอาจไม่มีเกมย่อยดังกล่าวเพราะเหลืองอาจถอนรากถอนโคนส้มด้วยข้อหาบางอย่าง (ซึ่งเป็นไปได้เพราะเมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากส้ม ก็ต้องบอกว่า เขาหน้าด้านจริงและทำกันเป็นขบวนการ โดยขบวนดังกล่าวน่าจะได้ชื่อว่าขบวนการปล้นอำนาจจากประชาชนรอบที่ ??? )
อย่างไรก็ตาม เกมอย่างง่ายนี้ก็อธิบายปรากฎการณ์บางอย่างที่เห็นในปัจจุบันได้ คือ เหลืองจะต้องเสี้ยมให้ส้มและแดงแตกกัน เพราะเสี้ยมคือกลยุทธ์เด่นของเหลือง เดาได้ว่าถึงจะแตกกันแต่ทั้งส้มและแดงจะตั้งใจทำงานใน 4 ปีที่จะถึงนี้เพื่อให้ได้คะแนนเสียงมากสุดในการเลือกตั้งครั้งถัดไป โดยส้มน่าจะยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แดงได้อีกครั้ง

ส่วนตัวในฐานะประชาชนผู้ดูคนหนึ่งก็สนุกดีที่ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น แต่ก็เสียดายที่แดงเลือกที่จะทิ้งส้มไป ถ้าส้มและแดงยังจับมือกันสุดท้ายก็ต้องได้เป็นรัฐบาล และเสียงด่า/เสียงล้อเลียนทั้งหลายจากประชาชนจะไปลงที่เหลืองแทนที่จะไปลงที่แดงแบบที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งตามที่เห็นจากสื่อต่าง ๆ ก็ตลกดี คลายเครียดได้ในระดับหนึ่ง
อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์