คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการประกอบธุรกิจ การเดินทาง การทำงาน และอื่น ๆ ซึ่งหลายคนมักใช้คำว่า New Normal เพื่อนิยามการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดดังกล่าว แต่ไม่ว่าจะใช้คำอะไรมาถกเถียงกันก็ตาม ยังมีสิ่งหนึ่งที่ Normal หรือเป็นปกติอยู่เหมือนเดิม นั่นคือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่ไม่ว่าจะเจอวิกฤตการณ์ใดๆ หรือไม่ก็ตาม ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่และสำแดงฤทธิ์ออกมาให้เห็นจนปวดหัวกันในทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะมากหรือจะน้อยเท่านั้นเอง
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะหยิบยกข้อมูลบางมิติมาเล่าให้ฟังว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ครั้งนี้มีฤทธิ์อย่างไร โรคระบาดรอบนี้ส่งผลต่อทั้งโรงเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็ก ดังนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เด็ก ๆ เองก็ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในครัวเรือนที่ยากจนซึ่งคงไม่มีโอกาสและสิทธิพิเศษเท่ากับเด็ก ๆ ในครัวเรือนร่ำรวยอย่างแน่นอน
เด็กในครัวเรือนที่ยากจนที่สุด
ผู้เขียนใช้ข้อมูลรายได้ครัวเรือนที่แท้จริง (Real Household Income) จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2562 และปี 2550 ในการสร้างเส้นลอเรนซ์ (Lorenz Curve) เพื่อแสดงความเหลื่อมล้ำของรายได้ของครัวเรือนในสังคมไทย เส้นลอเรนซ์เป็นเส้นที่แสดงให้เห็นว่า ร้อยละของครัวเรือนมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละเท่าใดของรายได้รวมของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศ โดยเส้นทะแยงมุม 45 องศาแสดงว่าสังคมไม่มีความเหลื่อมล้ำ แต่ยิ่งเส้นลอเรนซ์โค้งออกจากเส้นตรงมากเท่าไหร่จะยิ่งแสดงว่า สังคมยิ่งเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้มากขึ้นเท่านั้น
จากรูปที่ 1 (ซ้าย) เราจะพบว่า แม้ว่าระหว่างปี 2550 และ 2562 นั้น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนไทยจะดีขึ้น แต่ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งหมดมีรายได้เพียงร้อยละ 50 ของรายได้ครัวเรือนทั้งหมดในประเทศ ส่วนร้อยละของรายได้ของครัวเรือนที่ยากจนที่สุดได้รับนั้นแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ดังนั้นจึงสามารถหยิบคำพูดที่ว่า "คนรวยรวยขึ้น ในขณะที่คนจนก็ยังจนเหมือนเดิม" มาใช้ได้โดยไม่เคอะเขินนัก
ขณะที่รูปที่ 1 (ขวา) เมื่อผู้เขียนพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมพบว่า ความเหลื่อมล้ำเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นอยู่แบบนั้น ผู้อ่านคงเดาได้ไม่ยากว่า ความเหลื่อมล้ำโดยรวมที่ดีขึ้นนั้นน่าจะมาจากครัวเรือนที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรม ดังนั้น ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมน่าจะตกขบวนรถไฟเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลา 10 ปี หรือนานกว่านั้น
รูปที่ 1 เส้นลอเรนซ์รายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนปี 2562 (ค.ศ. 2019)
ครัวเรือนทั้งหมด (ซ้าย) ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรม (ขวา)
จากนั้น ผู้เขียนได้ลองประมาณการจำนวนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีในแต่ละกลุ่มครัวเรือนในปี 2562 พบว่า ครัวเรือนที่ยากจนที่สุดจำนวนร้อยละ 10 ของครัวเรือนทั้งหมดอาจแบ่งออกได้เป็นครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมราวร้อยละ 30 อีกร้อยละ 50 เป็นครัวเรือนที่ไม่ได้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจใด ๆ นอกจากพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ (อาจเป็นปู่ย่าตายายที่เลี้ยงลูกของแรงงานพ่อแม่ที่มาประกอบอาชีพในเมือง) ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 เป็นครัวเรือนที่เป็นลูกจ้างหรือนายจ้าง ทั้งนี้ ครัวเรือนที่ยากจนที่สุดเหล่านี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนราว ๆ 4 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั้งหมดของประเทศ เด็ก ๆ ในกลุ่มนี้เกือบร้อยละ 50 อยู่ในภาคอีสาน รองลงมาคือ ภาคเหนือ และกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากรายได้ของครอบครัวในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 หดหายและ โรงเรียนต้องปิดตัว เด็ก ๆ กลุ่มนี้จึงน่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องถูกมองเห็นและเข้าไปช่วยเหลือเป็นอันดับแรก ๆ
การเรียนการสอนออนไลน์สำหรับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด
แม้จะยังไม่กล่าวถึงประเด็นคุณภาพของการศึกษา แต่จากการประมาณการพบว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุดจะเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้ว สัดส่วนของจำนวนสมาร์ทโฟนต่อครัวเรือนนั้นอยู่ที่ 2-4 เครื่องต่อ 10 ครัวเรือน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่อยู่ที่ 20 เครื่องต่อ 10 ครัวเรือนมาก ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการขาดแคลนอุปกรณ์และการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตของครัวเรือนเหล่านี้ และหากจะให้ซื้อเพิ่มก็คงทำได้ยากเช่นกัน เพราะโดยเฉลี่ยแล้วร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายของครัวเรือนหมดไปกับค่าอาหาร ซึ่งยังไม่ได้นับรวมค่าเช่าบ้าน หนี้สิน ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก
หากรัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยวิธีการอุดหนุนเงินต่อหัว ท่านผู้อ่านก็สามารถเอาตัวเลขคูณกันเองได้เลยไม่ยากว่า รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณเท่าใดในการอุดหนุนค่าอุปกรณ์ ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่า หากมีนโยบายใด ๆ หรือสตาร์ตอัปใดที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ผู้เขียนก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะทำ
รูปที่ 2 ค่าเฉลี่ยจำนวนสมาร์ทโฟนต่อครัวเรือน กลุ่มยากจนที่สุด ในปี 2563
โภชนาการและโครงสร้างของครอบครัวของเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด
ในประเด็นโภชนาการของเด็ก ๆ ที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุดนั้นพบว่า เด็ก ๆ จำนวนร้อยละ 70 ของเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดนั้นอยู่ในโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน หากโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่จะทำให้เด็กยากจนสามารถอิ่มท้องและได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนต้องถูกปิดลง เด็ก ๆ เหล่านี้จะได้รับสารอาหารครบถ้วนหรือไม่อย่างไร และจะเกิดผลกระทบอย่างไร เป็นเรื่องที่คงต้องหาคำตอบกันต่อไป
ขณะที่ประเด็นโครงสร้างของครอบครัวเองก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึง จากข้อมูลพบว่า ครัวเรือนที่ยากจนที่สุดร้อยละ 50 เป็นครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว (Single Parenting) ซึ่งมีเพียงพ่อหรือแม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวเพียงลำพัง ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 50 ของครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว เป็น "ครัวเรือนแม่เลี้ยงเดี่ยว" (Single Mother)
งานวิจัยล่าสุดพบว่า ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยวเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้ผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 มากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจสูง รายได้มักต่ำ และต้องทำงานหลายงานเพื่อเลี้ยงครอบครัว (Alon et al., 2020; Mikolai et al., 2020) ดังนั้น หากต้องปิดโรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็กเป็นเวลานาน ย่อมทำให้เด็ก ๆ ได้อยู่กับผู้ปกครองมากขึ้น และได้รับความอบอุ่นมากขึ้น แต่สภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเหล่านี้อาจจะไม่ได้สวยหรูเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีอิสระทางการเงินมากกว่า
ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่พ่อหรือแม่ตกงาน ย่อมไม่มีเงิน เกิดความเครียด และหากต้องเลี้ยงลูกด้วยคงไม่ใช่ภาพที่พวกเราอยากเห็นมากนัก ผู้เขียนเห็นว่ายังมีช่องว่างในงานศึกษาและข้อมูลในด้านนี้ให้ช่วยกันศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก โดยผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเบื้องต้นว่า นโยบายช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ควรจะออกแบบบนพื้นฐานของพฤติกรรมและสภาพครอบครัวในยุคปัจจุบันด้วย
ในบทความนี้ ผู้เขียนยังไม่ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญอื่นๆ ไว้ อาทิ ผลกระทบที่จะเกิดกับครู คุณภาพของการเรียนการสอน ตลอดจนการเลิกเรียนกลางคันเนื่องจากคาดการณ์ว่า ต้นทุนด้านการเรียนอาจจะสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี หากผู้อ่านต้องการทราบข้อมูลเด็กยากจนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ท่านสามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่ ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนอยากทิ้งท้ายไว้ว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ใช่ของใหม่ มันเตือนพวกเราอยู่เสมอว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต คนไทยแต่ละกลุ่มนั้นได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน บางกลุ่มโดนมองข้าม บางกลุ่มไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นั้นจะยังไม่จบจนกว่าจะมีวัคซีนและทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ความไม่แน่นอนจึงยังคงจะมีเข้ามาอีกเรื่อย ๆ หากอนาคตพวกเราจะต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก พวกเราพร้อมรับมือแค่ไหน หากมีบางคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พวกเราพร้อมจะช่วยดึงเขาเหล่านั้นขึ้นมาหรือไม่ เพราะการดึงแต่ละครั้งมีต้นทุนเสมอ ยิ่งมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังเป็นจำนวนมาก ต้นทุนที่ทุกคนต้องช่วยกันหารก็จะยิ่งมากตามไปด้วย
หมายเหตุ: บทความนี้นำเนื้อหาบางส่วนมาจากการที่ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปเป็นหนึ่งในวิทยากรหลักในงานสโมสรวิจัยเกี่ยวกับประเด็นทางการศึกษา (Education Journal Clubs) ครั้งที่ 3 หัวข้อ "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทย ในสถานการณ์โควิด" จัดโดยบริษัท คิดเปลี่ยนเรียนรู้ จำกัด สนับสนุนโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
เอกสารอ้างอิง
Alon, T. M., Doepke, M., Olmstead-Rumsey, J., & Tertilt, M. (2020). The impact of COVID-19 on gender equality (No. w26947). National Bureau of Economic Research.
Mikolai, J., Keenan, K & Kulu, H. (2020). 'Household level health and socio-economic vulnerabilities and the COVID-19 crisis: an analysis from the UK'. SocArXiv. https://doi.org/10.31235/osf.io/4wtz8
National Statistical Office, Ministry of Information and Communication Technology (2019). Socioeconomic Survey, 2019 [Data file]. Avialable from National Statistical Office, Ministry of Information and Communication Technology Website, http://web.nso.go.th