ค่าจ้างเป็นเรื่องนโยบาย ไม่ใช่ GDP อย่างที่กล่าวอ้าง

12 สิงหาคม 2566
2433 views

บทความนี้นำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่ากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมานั้นแรงงานไทยได้รับดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจน้อยมากกลไกตลาดประสบความล้มเหลวในการเพิ่มผลตอบแทนให้กับแรงงาน เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานลืมตาอ้าปากได้ไม่ใช่การเจริญเติบโตของ “GDP แต่กลับเป็น “นโยบาย” จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การเลือกตั้งในอดีต หนึ่งในนโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ


การวิเคราะห์จะมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงค่าจ้างแรงงานในระยะสองทศวรรษตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544-2564 โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร (Labor Force Survey)การวิเคราะห์จะแบ่งช่วงเวลาเป็น ช่วงเวลา ช่วงละ ปี


1. ค่าจ้างแรงงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากการสำรวจได้เผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ประการแรกค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นน้อยมาก ในปี 2564แรงงานไทยได้ค่าจ้างต่อวัน (ปรับค่าเงินเฟ้อและชั่วโมงการทำงานจำนวน 627 บาท เพิ่มขึ้นจาก 530 บาทในปี 2544 นั่นคืออัตราการเจริญเติบโตรวม 18.4% หรือคิดเป็นเพียง 0.85% ต่อปีเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม (GDP) ที่ 3.1% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกันหมายความว่าเมื่อ GDP เพิ่มขึ้น 1% ส่งผลให้ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่ม 0.27% ช่องว่างในระดับนี้ถือว่าสูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่ายี่สิบปี 


ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะคิดว่าถึงแม้จะไม่มากนัก แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง GDP กับค่าจ้างก็ยังเป็นไปในทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่อยากให้ด่วนสรุปเช่นนั้น เพราะข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงเบาะแสที่จะนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่และการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างในตลาดแรงงาน


ประการที่สองคือเมื่อพิจารณาแยกไปตามแต่ละช่วงเวลาแล้วจะพบว่าค่าจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ค่าจ้างที่แท้จริงกลับอยู่ในระดับคงที่ด้วยซ้ำ ช่วงเวลาเดียวที่ค่าจ้างเพิ่มขึ้นคือระหว่างปี 2554-2559 โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นกว่า 17อาจกล่าวได้ว่าค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดในรอบ 20 ปีเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ 

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นโดยทั่วไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์จะมองหาความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้าง เมื่อเศรษฐกิจดีประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยมาก ยอดขายของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น เกิดความต้องการจ้างแรงงานมากขึ้น ตลาดแรงงานจะตึงตัวและนำไปสู่การเพิ่มค่าจ้าง 

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยควรจะสูงที่สุดระหว่างปี 2554-2559 แต่กลับพบว่า GDP growth ไม่ได้สูงที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดคือ 32% ระหว่างปี 2544-2549 เราจะยิ่งฉงนมากขึ้นไปอีกเพราะค่าจ้างที่แท้จริงแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย ดังนั้นเมื่อพิจารณาในทุกช่วงเวลาแล้ว ผู้เขียนสามารถสรุปได้ว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างเลย 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างแรงงานที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ นโยบายค่าจ้าง” หลักฐานก็คือการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากการขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2555 และ 2556 ค่าแรงขั้นต่ำรายวันเพิ่มจาก 215 บาทเป็น 300บาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 40เงินเดือนข้าราชการในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ปวช. ไปจนถึงปริญญาเอก โดยเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรีเพิ่มขึ้นจาก 9,140 บาท เป็น 15,000 บาท 

ในทางกลับกัน ในช่วงเวลาอื่น ๆ นั้นผลกระทบจากนโยบายค่อนข้างน้อยจึงไม่อาจเป็นแรงส่งให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นได้อีก สิ่งนี้เห็นได้ชัดในช่วงสิบปีแรกที่ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเพิ่มน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียด้วยซ้ำส่งผลให้ค่าจ้างเฉลี่ยลดลง

เมื่อพูดถึงประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำมักมากับความเชื่อที่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย ผู้ประกอบการเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เกิดการว่างงานทั้งจากการลดการจ้างงานและการปิดกิจการ ความเชื่อดังกล่าวอาจจะเป็นจริงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและผู้ประกอบการขนาดเล็ก (กิตติพงศ์, 2557) อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมโดยเปรียบเทียบตัวเลขก่อนและหลังนโยบายจะพบว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ได้ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลงจากช่วงก่อนหน้าเลย

ความเชื่อที่แพร่หลายอีกประการคือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามเนื่องจากผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุน แต่โดยทั่วไปแล้วระดับเงินเฟ้อแปรผันตามราคาพลังงานเป็นหลักซึ่งถูกกำหนดในตลาดโลก โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ในตารางที่ ชี้ว่า ระหว่างปี 2554-2559 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 6.5% น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นกว่า 40% นอกจากนี้ค่าจ้างเฉลี่ยที่แสดงในตารางก็เป็นค่าที่ปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว (ราคาปี 2562)

 

2. ค่าจ้างแรงงานของแต่ละกลุ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

เนื้อหาในส่วนนี้ชวนให้ผู้อ่านพิจารณาในส่วนที่ย่อยลงไปตามกลุ่มของแรงงาน ในเงื่อนไขของเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน มีการค้นพบว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเน้นการใช้แรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น (Skill-biased technical change) (Acemoglu, 2002; Goldin and Katz, 2009) แรงงานที่มีการศึกษาสูงจึงน่าจะเป็นกลุ่มแรงงานได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มากที่สุด

รูปที่ (ก) บ่งชี้ว่าเงินเดือนของคนกลุ่มที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มเฉลี่ยต่อปีเพียง 0.5% เท่านั้น และข่าวร้ายคือ ในช่วง ปีที่ผ่านมาพวกเขาได้รับผลตอบแทนที่น้อยลงอย่างชัดเจน โดยผู้เขียนได้คำนวณค่าจ้างของปี 2562 ซึ่งถึงแม้ว่าค่าจ้างจะสูงกว่าปี 2564 แต่ก็เพียงเล็กน้อยและไม่ได้ส่งผลต่อการวิเคราะห์อย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ในปี 2564 เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤติโควิด 

ความจริงอันน่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ แรงงานที่มีการศึกษาในระดับมัธยมต้นหรือต่ำกว่าได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นน้อยมากจาก 376 บาทเป็น 393 บาท ในขณะที่แรงงานกลุ่มอื่น ๆ ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญานั้นก็มีชะตากรรมที่ไม่ต่างกันมากนัก แรงงานเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าสองในสามของแรงงานทั้งหมด 

 

รูปที่ ค่าจ้างเฉลี่ยตามระดับการศึกษาและประสบการณ์

หน่วย: บาท/วัน

1. ปริญญาตรีและมัธยมศึกษาตอนต้น

2. มัธยมศึกษาตอนต้นเพศชายแยกตามระดับประสบการณ์ (ปี)

ที่มา: คำนวณจาก LFS

 

สังคมมักจัดคนกลุ่มนี้มีระดับการศึกษาที่ต่ำที่สุดให้อยู่ในกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ นอกจากนี้ เราอาจจะได้เคยได้ยินค่ากล่าวที่ว่าพวกเขาไม่มีการพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นค่าจ้างที่เป็นอยู่จึงเหมาะสมแล้ว คำกล่าวอ้างนี้สามารถโต้แย้งได้ด้วยข้อมูลในรูปที่ 1 (ข) เราจะเห็นโครงสร้างของค่าจ้างแรงงานโดยกลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานในระดับน้อยที่สุด (0-9 ปีได้รับผลตอบแทนน้อยที่สุดและค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นตามระดับประสบการณ์ทำงาน (Lemieux, 2006)


รูปแบบค่าจ้างบ่งชี้ว่า เมื่อได้ทำงานเป็นเวลานานมากขึ้นแรงงานได้เพิ่มพูนทักษะการทำงานโดยอาจเกิดขึ้นจากการสนับสนุนจากนายจ้าง รัฐบาล หรือการฝึกฝนด้วยตนเอง และเมื่อความสามารถในการผลิตมากขึ้นนายจ้างจึงยอมจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้น โครงสร้างของค่าจ้างในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานระดับมัธยมปลาย อาชีวศึกษา หรือระดับปริญญา ต่างก็ได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ทำงานทั้งสิ้น 


ผลกระทบของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำได้รับการยืนยันอีกครั้งในรูปที่ (ก) สอดคล้องกับที่เคยวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้า ค่าจ้างของทั้งแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานที่มีการศึกษาสูงนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 21และ 13ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย

ในประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของตัวยูคว่ำ อัตราส่วนค่าจ้างของทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นในช่วงสิบปีแรกและค่อย ๆ ลดลงในช่วงสิบปีหลัง ตัวเลขสูงสุดคือ 2.93เท่าในปี 2554 และในปีล่าสุดคือ 2.67 เท่า อย่างไรก็ตามสัดส่วนดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ 1.81 ในสหรัฐอเมริกาในปี 2548 (Goldin and Katz, 2009) 

 

3. บทส่งท้าย

เมื่อชี้วัดด้วย GDP ประเทศไทยได้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมากแต่เรากลับล้มเหลวในการเพิ่มผลตอบแทนให้กับคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ นี่เป็นการท้าทายแนวนโยบายการพัฒนาแบบไหลรินลงสู่เบื้องล่าง (Trickle-down economicsเป็นอย่างมาก ลูกศรของเหตุผลที่ชี้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การเพิ่มค่าจ้างนั้นดูเหมือนจะกลับหัวไปอีกทางหนึ่ง นั่นคือการเติบโตเกิดจากการกดค่าจ้างและถึงแม้จะเป็นแรงงานทักษะสูงที่น่าจะได้รับผลในทางบวกจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยก็ยังไม่อาจคาดหวังกับการเติบโตได้มากนัก 

ข้อมูลต่าง ๆ บ่งชี้ตรงกันว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นนั้นตกอยู่ในมือของผู้ประกอบการและนายทุน ข้อมูลจากตลาดแรงงานเปิดเผยว่าค่าจ้างแรงงานในระยะยาวนั้นเพิ่มขึ้นน้อยมากสอดคล้องกับข้อมูลในเชิงมหภาคที่ระบุว่าสัดส่วนรายได้แรงงานในบัญชีรายได้ประชาชาตินั้นได้ลดลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกับสัดส่วนรายได้จากทุน 

หากจะเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับค่าจ้างแรงงานเป็นการไหลของน้ำ ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ามันจะไม่ใช่ “น้ำตก” ที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำแต่กลับกลายเป็น “เขื่อน” ที่เก็บกักน้ำจำนวนมากเอาไว้ หน้าที่ของรัฐบาลก็คือการเปิดประตูน้ำเพื่อให้คนที่อยู่ปลายน้ำได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นบ้าง


บรรณานุกรม

  • Acemoglu, D. (2002). Technical change, inequality, and the labor market. Journal of economic literature, 40(1), 7-72.
  • Goldin, C., & Katz, L. F. (2009). The race between education and technology. Harvard university press.
  • Lemieux, T. (2006). The “Mincer equation” thirty years after schooling, experience, and earnings. In Jacob Mincer a pioneer of modern labor economics (pp. 127-145). Boston, MA: Springer US.
  • Mincer, J. (1974). Schooling, Experience, and Earnings. Human Behavior & Social Institutions No. 2.
  • Kanittakul, S. (2565). ค่าแรง 600 บาทเป็นไปได้แค่ไหน? ฟังความเห็นนักวิชาการถึงนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ. สืบค้น 4 สิงหาคม 2566. จาก https://thematter.co/uncategorized/ptp-minimum-wage-600bahtperday-policy/192504.
  • กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์. (2557). ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท (รายงานทีดีอาร์ไอ), 101. สืบค้น 4 สิงหาคม 2566. จาก https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2014/04/wb101.pdf
กุศล เลี้ยวสกุล
นักเศรษฐศาสตร์ผู้หลงใหลรสชาติอันหลากหลายของเครื่องดื่ม