ความสัมพันธ์ระหว่างตลาด สินค้าจำแลง และกบฏในล้านนา

4920 views

ตลาดและกบฏเป็นคำสองคำที่มองแล้วไร้ซึ่งความเชื่อมโยง ผู้เขียนในฐานะผู้ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มีความคุ้นเคยกับคำแรกอย่าง ตลาด’ แต่กลับรู้จักคำที่สองอย่าง กบฏ’ แค่เพียงผิวเผินเท่านั้น ตลาดหรือระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเป็นคำสำคัญ และปรากมากมายในตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยระบบเศรษฐกิจดังกล่าวทำงานด้วยฟันเฟืองที่มีชื่อว่ากลไกราคา ไม่มีอาชีพใดที่คุ้นเคยกับตลาดเทียบเท่านักเศรษฐศาสตร์อีกแล้ว Karl Polanyi ก็เช่นกัน แต่หนังสือของเขาที่มีชื่อว่า The Great Transformation (1944) กลับไม่ได้อธิบายความเป็นไปของตลาดในรูปแบบที่เรารู้จัก Polanyi เชื่อว่าตลาดที่ดำเนินโดยกลไกราคาไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ ต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองที่เชื่อมโยงมายังระบบเศรษฐกิจ 


ตลาดในอดีตเป็นสถานที่รองรับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ดังบันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ช่วงปี พ.. 2422Colquhoun บรรยายบรรยากาศตลาดเช้าว่ามีผู้คนมากถึง 1,500 คน แต่แทบจะเป็นไปอย่างเงียบงัน ผู้คนในตลาดสวมใส่เสื้อฟ้าที่ตนถักทอขึ้นมาเอง Colquhoun ประหลาดใจอย่างมากกับบรรยากาศเช่นนี้ เพราะในตอนที่เขาเดินทางไปยังตลาดในพม่ากลับพบเสียงต่อรองราคาที่ดังจนอื้ออึงตลาดในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้เองจากวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น แต่ตลาดตามนิยามของ Polanyi ที่เป็นไปตามจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจ มีลักษณะอันจะนำไปสู่การแข่งขัน มีสินค้าชนิดเดียวกันขายเป็นจำนวนมาก และมีการต่อรองราคาในตลาด ทำให้ราคาของสินค้าส่งผลต่อการดำเนินไปของตลาดและต้องอาศัยกระบวนการเกิดของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่พยายามจะกำกับดูแลตัวเอง (self-regulating market) ตลาดดังเช่นในปัจจุบันหรือตลาดที่ผู้เขียนเรียกขานให้แตกต่างจากตลาดในอดีตว่า ตลาดการค้าจึงต้องอาศัยอำนาจรัฐ


ตลาดการค้าเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ยอมรับให้ระบบตลาดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การปฏิรูปการปกครองของสยามในดินแดนล้านนาไม่ได้เป็นไปในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย จากความเชื่อของสยามที่ว่าการค้าขายนำความเจริญมาสู่เมือง ดังที่ข้าหลวงสยามกล่าวถึงเมืองน่านไว้ว่า การค้าขายในเมืองน่านฝืดเคืองด้วยหนทางที่ไปมาหากันยากลำบาก ไม่สามารถเลี่ยงการเดินทางตามไหล่เขาหรือห้วยได้ เป็นอุปสรรคต่อลูกค้าพาณิชและราษฎร ทำให้เมืองน่านไม่มีสินค้าจำหน่ายมากรวมทั้งไม่เจริญอย่างรวดเร็วทัดเทียมกับหัวเมืองอื่นด้วยลักษะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ ไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางค้าขาย แต่ยังมีข้อจำกัดในการทำเกษตรกรรมอีกด้วย สยามจึงมีความพยายามอย่างมากในการทำให้ตลาดการค้าเกิดขึ้นในเมืองน่าน ผ่านการสร้างถนนหนทางและความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย ความพยายามเหล่านี้เห็นผลในเวลาต่อมา รวมการทั้งปวงที่นครน่านในศก ๑๑๙ ดีขึ้นกว่าศกก่อนๆเปนอันมาก คือ ในระเบียบราชการก็เรียบร้อยสะดวกขึ้น การรักษาจับโจรผู้ร้ายก็แขงแรงมีผู้ร้ายเกิดขึ้นที่ใดก็จับได้มากกว่าที่ไม่ได้ การถนนหนทางบ้านเมืองก็ค่อยเรียบร้อยงดงามขึ้นกว่าเก่า การผลประโยชน์ก็ได้ทวีมากขึ้น ลูกค้าที่นำสินค้าจำหน่ายที่เมืองน่านก็ค่อยเจริญขึ้นในศกนี้ราษฎรก็มีความศุขสบาย ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทำการอย่างใด ราษฎรทำนาได้ผลเมล็ดเข้าบริบูรณ์มากกว่าปีก่อนมาก ระบบตลาดและตลาดการค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองน่านได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยราษฎรในเมืองน่านได้รับผลประโยชน์จากระบบดังกล่าว และสังคมเมืองน่านไม่ได้รู้สึกถึงความอันตรายของตลาด เมืองน่านเป็นหัวเมืองที่ไม่เกิดการก่อกบฏ และการลุกฮือของราษฎรเพื่อต่อต้านสยาม แตกต่างกับหัวเมืองล้านนาอื่นอย่างเมืองเชียงใหม


กบฏพระยาปราบสงครามในเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการขยายตัวของตลาด เมืองเชียงใหม่แตกต่างจากเมืองน่านที่ชัยภูมิเหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม ตามบันทึกของ Colquhoun ที่กล่าวไว้ว่าเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ทางขวาของลุ่มแม่น้ำปิง เป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่บนแม่ปิง มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรมากมายระหว่างแม่น้ำ ตั้งอยู่ไปทางตะวันออกของเมือง ทางเหนือเป็นที่ลุ่มน้ำขัง ทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่รกร้างและสวน ทางตะวันตกเป็นกำแพงเมืองเก่าที่ถูกสร้างโดยพม่า และมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูก ทางใต้เป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่สำหรับเพาะปลูกที่มีพืชหลักคือข้าว สะพานข้ามแม่น้ำถูกสร้างจากไม้สักอย่างดี และในฤดูแล้งบางพื้นที่ก็ขาดแคลนน้ำ สยามเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจในเมืองเชียงใหม่ ผ่านการเก็บภาษีในรูปของตัวเงิน แตกต่างจากในอดีตที่ราษฎรทำเกษตรกรรมเพียงเพื่อดำรงชีพ แล้วจ่ายภาษีแก่เจ้าเมืองในรูปของผลผลิต สยามต้องการเปลี่ยนแรงจูงใจให้ราษฎรผลิตเพื่อค้าขายแล้วแสวงหากำไร เพื่อทำให้ผลผลิตมีมากพอที่จะค้าขายในตลาด แต่แล้วการเก็บภาษีในรูปภาษีกลับกลายเป็นชนวนของการก่อกบฏขึ้น จากจดหมายของข้าหลวงสยามในเมืองเชียงใหม่เขียนขึ้นในวันที่ 19 มกราคม พ.. 2432 กล่าวว่าพระเจ้าอินยาวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ไปปรึกษาพร้อมด้วยเจ้านายทั้งหลายเห็นว่า การเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ในทุกวันนี้ ทำให้ราษฎรเป็นที่เดือดร้อนมาก เพราะไม่มีเงินจะจ่าย ประกอบกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเจ้าภาษีอย่างบ่อยครั้ง จึงอยากขอให้ยกเลิกภาษีอากร เพื่อให้ราษฎรสามารถทำมาหากินโดยสะดวก แต่สยามกลับไม่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีแต่อย่างใด ทำให้มีราษฎรมากมายจ่ายภาษีไม่ไหว โดนเจ้าภาษีจับใส่ขื่อคา ผู้นำท้องถิ่นในเมืองเชียงใหม่อย่างพระยาปราบสงครามและราษฎรจึงร่วมมือกันก่อกบฏขึ้น ดังหลักฐานลายมือของข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ที่บันทึกคำให้การของราษฎรโดยละเอียดพบว่า ราษฎรที่ไม่จ่ายเงินแก่เจ้าภาษีนั้นพยายามขอจ่ายในรูปของผลผลิตแทน แต่เจ้าภาษีไม่ยอมรับ โดยในเหตุการณ์นี้มีชาวบ้านที่จ่ายภาษีไม่ได้ถึง 100 คน พระยาปราบสงครามที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านจึงได้ไปปรึกษาพระยารัตนคูหาว่าควรจะไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองเชียงใหม่อีกหรือไม่ แต่ก็ได้ความว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่คงจะให้เก็บภาษีแบบเดิมอีก จึงชักชวนชาวบ้านให้พร้อมใจกันไม่จ่ายภาษี ความแค้นของเหล่าราษฎรเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏในกบฏพระยาปราบสงครามผ่านประโยคสำคัญในการก่อกบฏในครั้งนี้ว่า ให้ฆ่าพวกไทยพวกจีนแลเผาบ้านเรือนริมฝั่งน้ำปิงเสียให้สิ้นการก่อกบฏในครั้งนี้สามารถอธิบายผ่านแนวคิดของ Polanyi ได้ดังนี้ การเก็บภาษีในรูปตัวเงินถือเป็นความพยายามของสยามเพื่อการขยายตัวของตลาด (Market Expansion) จึงถือเป็นการเคลื่อนไหวทางแรกเพื่อเอื้อให้เกิดตลาดการค้า ในทางกลับกันกบฏของพระยาปราบสงครามคือ การเคลื่อนไหวย้อนทางผ่านขบวนการโต้กลับ (Countermovement) เพื่อดึงวิถีชีวิตของราษฎรเมืองเชียงใหม่กลับสู่รูปแบบเดิม นั่นคือการทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ มิใช่การค้าขายเพื่อแสวงหากำไร 


เมืองแพร่เองก็เกิดการก่อกบฏเช่นกัน กบฏเงี้ยวเมืองแพร่เกิดขึ้นเพื่อนำที่ดินที่มีป่าไม้สักกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม วิถีชีวิตของชาวเมืองแพร่แตกต่างไปจากเมืองน่านและเมืองเชียงใหม่ ราษฎรในหัวเมืองล้านนาอื่นล้วนทำเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ราษฎรเมืองแพร่กลับแตกต่างกันไป โดยเฉพาะชาวเงี้ยวดังที่ปรากฏในบันทึกของมิสเตอร์เฟงเกอร์ ชาวต่างชาติผู้อาศัยในเมืองแพร่ที่ว่า ในความคิดของเขาชาวเงี้ยวเป็นผู้คนที่ขยัน เป็นนักการป่าไม้ที่ดี และเขาก็เชื่ออีกว่าเงี้ยวหลายคนเป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่งที่มาอยู่อาศัยในเมืองแพร่เป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้เมืองแพร่ในมุมมองของข้าหลวงสยามจึงแตกต่างจากหัวเมืองอื่นในล้านนา ข้าหลวงสยามได้กล่าวว่าราษฎรเมืองแพร่บริบูรณ์จากการรับจ้างทำป่าไม้ ในปีหนึ่งได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างมาก จึงเสนอให้มีการเก็บภาษีมากยิ่งขึ้น แต่เดิมแล้วป่าไม้ถือเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน และตามแนวคิดของ Polanyi ที่ดินมิใช่สินค้าตามธรรมชาติ การแทรกแซงของสยามผ่านการจัดตั้งกรมป่าไม้เพื่อควบคุมคนที่จะเข้ามาทำกิจการไม้สักในพื้นที่ นอกจากนี้ยังออกประกาศห้ามแก่ราษฎรในปี .. 2442 อีกด้วย เอกสารของข้าหลวงสยามในเมืองแพร่กล่าวถึงประกาศจากสยามที่เกี่ยวกับไม้สักและพวกเงี้ยวดังนี้ ประกาศห้ามไม่ให้ฟันไร่คร่อมทางหลวง ใกล้บ้านเรือนหรือในป่าไม้สัก ห้ามไม่ให้ตัดฟันไม้สักและเอาไม้ออกจากป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และประกาศถึงคนที่อ้างตนในบังคับต่างประเทศอย่างเงี้ยว พม่า และขมุว่า หากจะสร้างบ้านเรือนต้องไปขออนุญาตจากรัฐบาลสยามก่อน จึงถือเป็นการดึงที่ดินที่มีป่าไม้สักออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในเมืองแพร่ การให้สัมปทานป่าไม้แก่บริษัทต่างชาติโดยกรมป่าไม้จึงเป็นความพยายามของสยามที่จะทให้ที่ดินที่มีป่าไม้สักกลายเป็นสินค้าจำแลง(Fictitious Commodities) ตามแนวคิดของ Polanyi ความพยายามที่จะทำให้ที่ดิน แรงงาน และเงินตรากลายเป็นสินค้าผ่านการออกกฎเกณฑ์ควบคุม เพื่อให้ทั้งสามสิ่งนี้สามารถซื้อขายกันได้ในตลาด ถือเป็นกระบวนการจำแลง เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตได้ผลิตสินค้าที่แท้จริง (Genuine Commodities) ขึ้นได้ กระบวนการจำแลงถือเป็นการเคลื่อนไหวทางแรกเพื่อการขยายตัวของตลาดจากฝั่งของสยาม ขณะเดียวกันชาวเงี้ยวและราษฎรเมืองแพร่ก็ได้ก่อกบฏอันเป็นการเคลื่อนไหวย้อนทางผ่านขบวนการโต้กลับรายงานของข้าหลวงสยามในเมืองน่านเล่าเรื่องกบฏเงี้ยวว่า เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม มีพวกเงี้ยวจำนวน 400 กว่าคนเข้ามาโจมตีเมืองแพร่ พร้อมทั้งฆ่าข้าหลวงสยามและคนไทยตายไปหลายคน สำเนาโทรเลขของข้าหลวงในเมืองแพร่ส่งมาอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม ศก 121 บอกว่าเงี้ยวโห่ร้องป่าวประกาศตั้งแต่ประตูไชยในเมืองแพร่ว่า แม้พบคนนอกจากคนไทยก็ไม่ฆ่าอันตราย ถ้าเปนคนไทยถึงเปนเด็กก็ฆ่าเสียนอกจากนี้ข้าหลวงยังได้พบเห็นว่าเงี้ยวฆ่าตำรวจตาย แล้วยังมีคนไทยถูกฆ่าตายไปแล้วสามสิบคน แสดงถึงความแค้นของเหล่ากบฏที่มีต่อความพยายามในการแทรกแซงของสยาม 


กบฏมิใช่เพียงเรื่องการเมือง แต่ยังเป็นเรื่องของปากท้องคน ดังเหตุการณ์กบฏของราษฎรในหัวเมืองล้านนาอย่างเมืองเชียงใหม่และเมืองแพร่ รวมทั้งการไม่ก่อกบฏของราษฎรเมืองน่าน ล้วนเป็นผลมาจากมุมมองของสังคมต่อระบบตลาดที่เข้ามาว่า เป็นภัยอันตรายต่อวิถีชีวิตเดิมของตนหรือไม่ การเกิดขึ้นของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจึงมาจากการเคลื่อนไหวทั้งสองทาง การเคลื่อนไหวทางแรกเพื่อการขยายตัวของตลาด และการย้อนทางผ่านขบวนการโต้กลับ ผลกระทบจากการเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ตลาดการค้าจึงมิได้เป็นเพียงหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอีกด้วย

 


เอกสารอ่านเพิ่มติม

• นัฏฐิญา แก้วแกมทอง. (2565). ความสัมพันธ์ระหว่างตลาด สินค้าจำแลง และการก่อกบฏในหัวเมืองล้านนาภายใต้การปกครองของสยาม ช่วง พ.ศ. 2396  2451[ปริญญานิพนธ์เศรษฐศาสตร์บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์].
• Polanyi, K. (2001). THE GREAT TRANSFORMATION The Political and Economic Origins of Our Time (2nd ed.). Boston: Beacon Press books.
 
นัฏฐิญา แก้วแกมทอง
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เรียนจบแล้ว อยู่ที่ห้องคอมมอนของคณะและหอสมุดป๋วยเป็นประจำ นอกจากเศรษฐศาสตร์ ชอบ Interstellar และหนังของโนแลนเป็นพิเศษ