หากพูดถึงสำเพ็งแล้ว หลายท่านคงคุ้นเคยกับภาพผู้คนเบียดเสียดบนถนนสายเล็ก ๆ เต็มไปด้วยร้านค้าตามสองข้างทาง อย่างไรก็ดี สำเพ็งที่พลุกพล่านในอดีตกำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นสำเพ็งอันเงียบเหงาร้านค้าที่เคยขายดีเป็นเทน้ำเทท่าต่างทยอยปิดตัวลงไปตามกาลเวลา ผู้คนที่เคยเดินแน่นถนัดตากลับลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

หากสำเพ็งเป็นเพียงศูนย์การค้าทั่วไป การเกิดขึ้นและดับลงอาจเป็นวัฏจักรธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่สำเพ็งที่กำลังพูดถึงนี้เป็นย่านการค้าที่คงอยู่และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 200 ปี โดยไม่เคยพบเจอวัฏจักรการเกิดขึ้นและดับลงดังเช่นศูนย์การค้าทั่วไป ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะสืบหาสาเหตุการเสื่อมถอยของย่านการค้าอันเลื่องชื่อแห่งนี้ 

ต้นกำเนิดย่านการค้าอมตะ
ย่านสำเพ็งนั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์การค้าที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยสำเพ็งเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับการสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีแห่งใหม่ ในปี พ.ศ. 2325 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้บรรดาชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตท่าเตียนและละแวกใกล้เคียงอพยพไปอยู่ในเขตสำเพ็ง เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระบรมมหาราชวังในบริเวณดังกล่าว โดยอาณาเขตของแหล่งชุมชนชาวจีนแห่งใหม่นี้ กินพื้นที่ตั้งแต่วัดจักวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (หรือคนพื้นที่เรียกกันว่า วัดสามปลื้ม) ไปจนถึง วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (คลองสามเพ็ง ในอดีต) 

เนื่องจากคนจีนนิยมทำการค้าและมีความชำนาญในด้านการค้าขายอยู่แล้ว ชุมชนสำเพ็งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นจึงกลายเป็นแหล่งการค้าที่มีสินค้ามากมายวางขายไปโดยปริยาย โดยสินค้าที่ถูกวางขายในสำเพ็งในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ มีตั้งแต่ ภาชนะถ้วยชาม อาหาร ผลไม้ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องประดับ ไปจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้เหล็ก การค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองนี้เอง

การเวลาไม่เคยรอใคร

อย่างไรก็ดี ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราฉันใด ความรุ่งเรืองของย่านการค้าแห่งนี้ก็ย่อมมีวันร่วงโรยฉันนั้น ปฎิเสธไม่ได้ว่าในระยะหลังผู้คนที่มาซื้อของที่สำเพ็งได้ลดน้อยลงไปอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการมาถึงของแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada ที่เปิดตัวในปี พ.ศ. 2555 และ 2558 ตามลำดับ 

ความรุ่งเรืองที่หายไปยังเห็นได้ชัดเจนจากอัตราความว่างของบ้านเช่าในสำเพ็งของกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นจาก 0% ในช่วงปี 2545 ไปเป็น 13% ในปี 2561 นอกจากนี้ การเสื่อมถอยของสำเพ็งยังเจอคลื่นลูกใหม่ถาโถมเข้าใส่ในรูปแบบของการถดถอยทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยอัตราความว่างของบ้านเช่าในสำเพ็งเพิ่มขึ้นไปถึง 33% ในปี 2565

สาเหตุของการเสื่อมถอยของย่านสำเพ็ง
หากจะกล่าวคร่าว ๆ อะไรทำให้ตลาดสำเพ็งซบเซาไป สาเหตุหลักคงมาจาก 3 ปัจจัย คือ (1) ปัจจัยลักษณะเฉพาะของบ้านเช่าในสำเพ็ง  (2) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ  และ (3) ปัจจัยอีคอมเมิร์ช หรือมีรายละเอียดของปัจจัยเหล่านี้ดังนี้
  • ทำเลที่ตั้งของบ้านเช่า ลักษณะพิเศษของสำเพ็ง คือ ตลาดที่พลุกพล่านที่ไม่มีถนนสามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์ หรือไม่ได้อยู่ใกล้ระบบสาธารณะขนส่งอย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT อย่างถนนเจริญกรุง แต่กลับเป็นถนนเส้นเล็ก ๆ อย่าง ถนนวานิช 1 ที่เป็นทำเลทองให้คนมาเดินจับจ่ายใช้สอยอย่างแออัน และมีราคาเช่าตึกอาคารที่สูงกว่าที่อื่น ๆ ดังนั้น ต้นทุนค่าเช่าที่สูงกลับทำให้ย่านการค้านี้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับย่านการค้าอื่น ๆ
  • ความแออัดของสำเพ็ง บ้านเช่าแต่ละหลังในสำเพ็งเป็นตึกแถวที่อยู่ติด ๆ กันทอดไปตามแนวถนน ตึกแต่ละหลังสามารถทดแทนกันได้ และเมื่อตลาดสำเพ็งเริ่มซบเซา ผู้ค้าจึงเลือกไปเช่าตึกอาคารในย่านตลาดเยาวราชมากขึ้นเนื่องจากย่านดังกล่าวมีทำเลไม่ต่างจากสำเพ็ง และยังมีความสะดวกสบายในการเดินทางต่อนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมากกว่า
  • ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ความซบเซาทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนที่ลดลงเกิดผลกระทบโดยตรงต่อยอดซื้อขายในตลาดสำเพ็ง ผู้ค้าในตลาดสำเพ็งจึงค่อย ๆ ทยอยออกไป และทำให้ตึกอาคารไม่ถูกปล่อยเช่าเพิ่มมากขึ้น
  • ความนิยมในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ อย่างที่ทราบกันดีว่าแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ถือเป็นทางเลือกที่ทั้งสะดวกกว่า มีสินค้าให้เลือกมากกว่า และถูกกว่าสำหรับบรรดาผู้ซื้อ แพลตฟอร์มนี้จึงถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของร้านค้าแบบดั้งเดิม การขยายตัวของตลาดออนไลน์ช้อปปิ้งจึงแย่งส่วนแบ่งลูกค้าของร้านค้าในตลาดสำเพ็งไป เนื่องจากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์เปิดโอกาสให้ผู้ขายสามารถขายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยตัดขั้นตอนของพ่อค้าคนกลางออกไป ซึ่งแต่เดิมร้านค้าในสำเพ็งส่วนมากจะรับหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด ดังนั้น การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ช้อปปิ้งจึงค่อย ๆ ลดบทบาทความสำคัญของตลาดสำเพ็งออกไปโดยปริยาย 

ตลาดออนไลน์ช้อปปิ้งกับค่าเช่าตึกอาคารในสำเพ็ง
ดังที่เกริ่นมาแล้ว กระแสการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ช้อปปิ้งทำให้อัตราการเช่าตึกอาคารย่านสำเพ็งลดลงอย่างชัดเจน ปัจจัยดังกล่าวยังกระทบต่อค่าเช่าตึกอาคารในสำเพ็งด้วยเช่นกัน ผู้เขียนได้ใช้แบบจำลองเศรษฐมิติเพื่อวัดผลกระทบของงแพลตฟอร์มออนไลน์ช้อปปิ้งต่อค่าเช่าตึกอาคารในสำเพ็ง โดยอาศัยกลุ่มตัวอย่างตึกอาคารจำนวน 15 หลังในช่วงปี พ.ศ. 2545-2565 และมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

มูลค่าตลาดออนไลน์ช้อปปิ้งเกิดผลกระทบต่อค่าเช่าตึกอาคารในสำเพ็งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเมื่อมูลค่าตลาดออนไลน์ช้อปปิ้งที่เพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาท จะทำให้ค่าเช่าตึกอาคารในสำเพ็งลดลงเท่ากับ 6.2 บาท 
อย่างไรก็ดี อัตราการปล่อยเช่าตึกอาคารในย่ายสำเพ็งกลับกลายเป็นปัจจัยทางลบมากที่สุด หรือตึกอาคารที่ว่างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้ค่าเช่าตึกอาคารในย่านสำเพ็งลดลงไปเกือบ 1,439 บาท และสุดท้าย การเติบโตทางเศรษฐกิจทุก ๆ 1 พันล้านบาทจะส่งผลให้ค่าเช่าตึกอาคารในสำเพ็งเพิ่มขึ้นเท่ากับ 9.3 บาท

ดังนั้น สถานการณ์การเติบโตของตลาดออนไลน์ช้อปปิ้งและตึกอาคารที่ไม่สามารถปล่อยเช่าเพิ่มขึ้นแล้ว ย่อมคาดการณ์ว่าค่าเช่าตึกอาคารในสำเพ็งคงลดลงไปเรื่อย ๆ หากไม่มีการพัฒนาย่านสำเพ็งให้มีบทบาททางการค้าเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต

บทสรุปของสำเพ็ง
ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของอีคอมเมิร์ช คือ หนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบให้ย่านการค้าที่ไม่เคยเงียบเหงาแห่งนี้ต้องพบเจอชะตากรรมอันน่าเศร้า อย่างไรก็ดี ปัจจัยของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราว่างของบ้านเช่าในตลาดสำเพ็งเองก็ล้วนมีส่วนที่ทำให้ชะตากรรมของสำเพ็งเป็นเช่นนี้ และเนื่องจากปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้คนในสำเพ็ง 

ทางรอดเดียวของสำเพ็งอาจจะหมายถึงการต้องก้มหน้ายอมรับสายน้ำแห่งการเปลี่ยนแปลง และค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหามันอย่างช้าๆ เหมือนย่านดังในอดีตหลาย ๆ ย่านที่ยอมสูญเสียตัวตนของตัวเองเพื่อต่อลมหายใจออกไป เช่น การเปลี่ยนแปลงของย่านบรรทัดทองจากอดีตเป็นย่านที่มีชื่อเสียงในห้องเสื้อสำหรับตัดชุดเมื่อ 30-40 ปีก่อน ไปสู่ศูนย์รวมร้านอาหารชื่อดัง หรือจะเป็นย่านวังบูรพาที่แปรเปลี่ยนจากย่านความบันเทิงที่ประกอบไปด้วยโรงหนังมากถึง 4 โรงในยุค 60-70 ปีก่อน ไปเป็นที่ตั้งของบรรดาร้านขายอาวุธปืน

เอกสารอ้างอิง
1. Statista Research Department. (2023, March 1). Thailand: E-commerce market value 2017-2021. Statista. https://www.statista.com/statistics/1115125/thailand-e-commerce-market-value/
2. Thailand ecommerce market growth. International Trade Administration | Trade.gov. (2021). https://www.trade.gov/market-intelligence/thailand-ecommerce-market-growth
3. ชั่วโมง, ไอที 24. (2015, November 20). ETDA เผยผลสำรวจมูลค่า e-commerce ไทยปี 58. iT24Hrs by ปานระพี. https://www.it24hrs.com/2015/etda-survey-e-commerce-2558/
4. อีคอมเมิร์ซไทยเงินสะพัด! เปิดมูลค่าปี 58 ทะลุ 2 ล้านล้านบาท. www.thairath.co.th. (2016, September 28). https://www.thairath.co.th/news/tech/736272 
5. สืบต้นกำเนิดสำเพ็ง จากศูนย์การค้ายุคแรกสมัยรัตนโกสินทร์ สู่ย่านสีเทา-โสเภณี. ศิลปวัฒนธรรม. (2023, February 2). https://www.silpa-mag.com/history/article_26449
6. ย้อนตำนาน “สำเพ็ง” ตลาดเก่าแก่ที่ไฟไหม้บ่อยจนมีสำนวน “ไฟไหม้สำเพ็ง.” MGR Online. (2022, June 27). https://mgronline.com/travel/detail/9650000061036
7. สืบต้นกำเนิดสำเพ็ง จากศูนย์การค้ายุคแรกสมัยรัตนโกสินทร์ สู่ย่านสีเทา-โสเภณี. ศิลปวัฒนธรรม. (2023, Feb 2). https://www.silpa-mag.com/history/article_26449
8. MGR online. (2017, March 24). ย้อนรอยย่าน “วังบูรพา” เดินเพลินแหล่งรวมวัยเก๋า จากท้ายวังถึงหลังวัง. MGR Online. https://mgronline.com/travel/detail/9600000030191

ศิดาภา โล่ห์ตระกูล
นักศึกษาปริญญาโท University of Warwick
ธีรกานต์ ตั้งอมรสิริโชค
นักศึกษาปริญญาโท London School of Economics and Political Science