สังคมเกาหลีกับเส้นทางชีวิตที่กำหนดด้วยผลการสอบ

1214 views

ทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่าการสอบเป็นประเด็นสำคัญซึ่งถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมเกาหลีใต้ (ย่อเหลือเพียง ‘เกาหลี’ นับจากนี้) ตามที่พบเห็นในสื่อทั่วไป การสอบถูกนำเสนอในลักษณะที่ว่า มันก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมในหลายประการ เช่น เป็นการสร้างความกดดันให้แก่เด็กนักเรียนมากเกินไป จากการที่ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการสอบ จนไม่อาจได้ใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตด้านอื่นๆ ซึ่งหมายความรวมถึงการเรียนกวดวิชาที่มากเกินเหตุ อันเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่กระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และอาจนำไปสู่ความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

นอกจากปัญหาที่พบได้ในข่าวแล้ว ในละครโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อบันเทิงยอดนิยมของเกาหลี ก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวบริบทของการสอบไว้ในแนวทางเดียวกัน นั่นคือ ค่านิยมที่มีต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเป้าหมายหลักของผู้เข้าสอบ จากละครเรื่อง Sky castle (2018), Penthouse (2020) และ Crash course in romance (2023) ได้แสดงให้เห็นภาพของผู้ปกครองที่ทำการกวดขันบุตรหลานของตนอย่างเข้มงวด โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งสุดท้ายแล้ว มักจะลงเอยไปกับการทุ่มค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสถาบันกวดวิชาหรือติวเตอร์ที่ดีที่สุด โดยมุ่งหวังว่าทรัพยากรที่ใช้ไปนี้ จะนำมาซึ่งโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของบุตรหลาน 

พฤติกรรมของการกวดขันบุตรหลานอย่างเข้มงวดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เนื่องจากว่าการสอบนั้น เป็นวัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่คู่กับสังคมเกาหลีมาอย่างยาวนานแล้ว หากต้องการสืบสาวที่มาก็สามารถย้อนกลับไปได้ถึงตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์โชซ็อน (ค.ศ.1592-1598) ชนชั้นนำเกาหลีในสมัยโบราณต่างก็เคี่ยวเข็ญบุตรหลานไปกับการสอบที่เรียกว่า ‘ควากอ’ (Kwon et al., 2017)  อันเป็นการสอบรับราชการเพื่อเลื่อนสถานะเป็นขุนนางชนชั้น ‘ยังบัน’ ซึ่งการสอบนี้เปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าสอบได้ นั่นหมายความว่า ต่อให้เป็นลูกชาวนาที่ยากจนหรือเป็นลูกขุนนางที่สูงศักดิ์ ทั้งคู่ต่างก็มีความเท่าเทียมกันในการสอบ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ลูกหลานชนชั้นขุนนางมักมีแนวโน้มของการสอบผ่านที่มากกว่าก็ตาม กระนั้น หากลูกหลานชาวนาคนหนึ่งคนใดสามารถสอบผ่านได้ขึ้นมา นั่นหมายความถึงการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไปได้สามชั่วรุ่น และมีแนวโน้มจะคงสถานะไปได้เรื่อยๆ (ทิวเดอร์, 2565) สอดคล้องกับลัทธิขงจื๊อที่มองว่า การศึกษาไม่เพียงแค่ดำเนินไปเพื่อคุณค่าทางการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าทางสังคมได้อีกด้วย

อิทธิพลของลัทธิขงจื๊อซึ่งแผ่ขยายไปยังหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกาหลีใช้การสอบมาเป็นกลไกหลักในการคัดเลือกรับราชการ และทำให้การสอบผ่านหมายถึงความสำเร็จในการขยับสถานะทางเศรษฐกิจ โดยพื้นฐานเดิมแล้ว ขงจื๊อเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการวางตัวให้เหมาะสมตามบทบาทฐานะทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น ผู้น้อย ต้องเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส ผู้หญิงที่ดีควรอยู่แต่ในบ้าน ความกตัญญูถือได้ว่าเป็นคุณธรรมสูงสุด การพัฒนาตนเองด้วยการศึกษา (นพพล, 2563) และที่สำคัญคือ การมีความพยายามและความสามารถที่คู่ควรต่อความสำเร็จ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับกลไกการสอบ

 อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาล่วงผ่าน การเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจด้วยการศึกษาระดับสูงก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไป หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้น เกาหลีซึ่งพึ่งจะได้รับเอกราชจากญี่ปุ่นก็ได้ทำการเปลี่ยนผ่านประเทศตัวเองให้เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม โดยเน้นไปที่การผลิตมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการแรงงานฝีมือจำนวนมากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จึงได้มีการขยายตัวทางการศึกษาระดับสูง ดังนั้น ผู้ที่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ก็จะมีโอกาสในตำแหน่งงานระดับสูง และได้รับค่าแรงจำนวนมากเป็นการตอบแทน (Joo, 2018) การได้เรียนในมหาวิทยาลัยจึงเป็นเครื่องมือสำคัญและมีประสิทธิภาพในการพัฒนาสถานะทางสังคม (Cho et al., 2016)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้คนเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงกันมากขึ้น จากเดิมที่เคยมีอัตราการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอยู่ร้อยละ 42.9 ในปี 1974 ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70.7 ในปี 2013 และคงตัวอยู่ประมาณนี้เรื่อยมา (Kwon et al., 2017) แม้ว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงจะมีอยู่อย่างแพร่หลาย ทว่าผลตอบแทนในตลาดแรงงานกลับไม่เฟื่องฟูอย่างที่เคยเป็นในอดีต ผลประโยชน์จากการเรียนมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการรับประกันตำแหน่งงานที่ดีเหมือนกับในสมัยหลังสงครามอีกต่อไป

ในยุคปัจจุบัน การคัดเลือกรับสมัครบุคคลเข้าทำงานนั้น นายจ้างต้องทำการคัดเลือกผู้สมัครจากสัญญาณบางอย่างที่มากกว่าใบปริญญาบัตร (Boliver & Wakeling, 2016) ซึ่งในที่นี้คือชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย จากการแข่งขันที่สูงมากต่อการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผู้ที่สามารถผ่านการคัดเลือกได้จึงมีคุณสมบัติบางประการที่เหนือกว่า ชื่อเสียงของสถาบันจึงกลายเป็นสิ่งมีค่า และยิ่งสถาบันนั้นมีการแข่งขันสูงมากเพียงไร การส่งสัญญาณก็จะยิ่งถูกยอมรับมากขึ้น (Che et al., 2022) ส่งผลให้การได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยชั้นนำนั้น เป็นคุณสมบัติที่สำคัญกว่าการมีทักษะในสายงานนั้นเสียอีก (Jung & Lee 2016)

ประโยชน์จากชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนั้น เห็นผลทันทีตั้งแต่กระบวนการหางาน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจะมีโอกาสเข้ารับโครงการฝึกงานที่มากกว่า โดยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่มีความจำเป็นต่อการพิจารณารับเข้าทำงาน ทว่านักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอันดับรองลงมากลับต้องใช้ความพยายามกว่านั้นมาก พวกเขาต้องยอมฝึกงานแบบไร้ค่าจ้าง ต้องทำกิจกรรมนอกหลักสูตรเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในตลาดแรงงานที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย (Jung & Lee 2016)

 นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากความต้องการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำจะถูกสะท้อนออกมาในรูปของการเรียนกวดวิชาอย่างหนัก และผู้ปกครองชาวเกาหลีเองก็ล้วนแล้วแต่เต็มใจ ที่จะใช้จ่ายเงินไปกับการกวดวิชามากเกินจำเป็น แม้ว่าค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองกับคะแนนสอบซูนึงจะมีความสัมพันธ์กันที่อ่อนมากก็ตาม ปัญหาความฟุ่มเฟือยนี้ก็เป็นประเด็นที่ถูกจับตาโดยภาครัฐ ซึ่งได้มีความพยายามยับยั้งบทบาทและการเจริญเติบโตของธุรกิจการกวดวิชาอยู่เรื่อยมา เช่น การออกนโยบายจำกัดเวลาเรียนกวดวิชา หรือเปลี่ยนเกณฑ์คะแนนคัดเลือกเพื่อลดความสำคัญของคะแนนสอบ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ไม่สามารถกำจัดการเรียนกวดวิชาให้หมดไปได้ (Lee & Shouse, 2011)

ปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากเรื่องของการใช้จ่ายไปกับการเรียนกวดวิชาอย่างเปลืองเปล่าแล้ว แรงกดดันทางสังคมที่มีต่อนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้นั้น ก่อให้เกิดความเครียดและทุกข์ใจอย่างมาก ซึ่งนั่นทำให้เกาหลีมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD ด้วยกัน โดยในปี 2021 การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 10 ถึง 39 ปี ทางด้าน พักจองอู ศาสตราจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคยองฮี ได้กล่าวว่าความกังวลเกี่ยวกับอนาคต และความยากในการหางาน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น เส้นทางชีวิตที่ไม่ยืดหยุ่นนี้เป็นผลมาจากการยึดชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในตลาดแรงงาน (Kim, 2022)

ซึ่งทางด้านตลาดแรงงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการว่างงานจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างทักษะที่แรงงานมีกับปริมาณความต้องการในตลาดแรงงาน นักศึกษาในสายมนุษย์ศาสตร์เผชิญความลำบากในการหางานที่น่าพอใจ ในทางกลับกัน ตลาดแรงงานกลับขาดแคลนนักเรียนในสายอาชีพ ซึ่งมักถูกมองว่ามีสถานะทางสังคมที่ต่ำ และมีตำแหน่งงานด้อยคุณภาพ พลอยทำให้ได้รับค่าจ้างต่ำไปด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีนักวิชาการเสนอให้ภาครัฐเพิ่มผลตอบแทนของการเรียนสายอาชีพที่มากขึ้น เพื่อลดปัญหาความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงานดังกล่าว (Choi, 2021)

จากภาพรวมที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า ตลาดแรงงานเกาหลีในทุกวันนี้ เป็นการแข่งขันเพื่อโอกาสในการบรรจุงาน มากกว่าที่จะแข่งขันกันเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่ดีกว่า และการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้คนในสังคมเลิกเหมารวม ว่าชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนั้นหมายถึงคุณภาพของนักศึกษาที่ดีกว่า รวมถึงฝั่งนายจ้างเองที่ต้องปรับปรุงเกณฑ์ในการรับสมัครพนักงานเสียใหม่แทนที่จะใช้วิธีการง่ายๆ อย่างการมองชื่อเสียงของสถาบัน สถานการณ์คงจะดีกว่านี้ หากบุคคลได้รับการคัดเลือกจากทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน ไม่ใช่ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เขาจบมา


อ้างอิง

  • ทิวเดอร์, แดเนียล. (2565). KOREA: The Impossible Country, Revised and Expanded [มหัศจรรย์ เกาหลี: จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม] (ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ,ผู้แปล).  สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.
  • นพพล จันทร์กระจ่างแจ้ง และณัฐพงศ์ พืชภูมิ. (2563). หลักคุณธรรมความกตัญญูของขงจื๊อที่สะท้อนผ่าน ความเชื่อและพิธีกรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน : กรณีศึกษาพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราช. วารสารการบริหารนิติบุคคลและนวัตกรรมท้องถิ่น, 6(2), 73-88
  • Boliver, V., & Wakeling, P. (2016). Social Mobility and Higher Education. Encyclopedia of  International Higher Education Systems and Institutions, 1-6.
  • Che, Y. K., Hahm, D. W., Kim, J., Kim, S. J., & Tercieux, O. (2022). Prestige Seeking in College 
  • /////////Application and Major Choice. Available at SSRN 4309000.
  • Cho, Y., Yoon, H., & Seminar, S. G. (2016). Higher Education and Social Mobility in Korea. SNU  Journal of Education Research, 25 (2), 1-20.
  • Choi, S. (2021). The Impact of Education Levels and Paths on Labor Market Outcomes in  South Korea: Focusing on Vocational High School gGaduates. Social Sciences &  Humanities Open, 4 (1), 100-152.
  • Joo, L. (2018). Education and Labor Market Outcomes in Korea. International Education  Studies, 11 (6), 145-163.
  • Jung, J., & Lee, S. J. (2016). Influence of University Prestige on Graduate Wage and Job  Satisfaction: The Case of South Korea. Journal of Higher Education Policy and  Management, 38(3), 297-315.
  • Kim, Y. M. (2022). Suicide, No.1 cause of deaths in Koreans aged 10-39. KBR, September 27.      Available at https://www.koreabiomed.com/news/articleView.html?idxno=14689
  • Kwon, S. K., Lee, M., & Shin, D. (2017). Educational Assessment in the Republic of Korea:  Lights and Shadows of High-Stake Exam-Based Education System. Assessment in  Education: Principles, Policy & Practice, 24(1), 60-77.
  • Lee, S., & Shouse, R. C. (2011). The Impact of Prestige Orientation on Shadow Education in  South Korea. Sociology of Education, 84(3), 212-224.
ปวริศ อำนวยพรไพศาล
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชื่นชอบโค้กมากกว่าเปปซี่ ชอบเคเอฟซีมากกว่าแมคโดนัลด์ ชอบฟังเดอะบีเทิลส์ และชอบอ่านนิยายมูราคามิ