นโยบายการส่งเสริมมาตรฐานความงามของรัฐบาลเกาหลีใต้

27 มิถุนายน 2566
1531 views
ในยุคที่ความสวยงามคือความหลากหลาย ผู้คนต่างยอมรับและเปิดกว้างต่อความงามในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สีผิว รูปร่างหน้าตา ที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป ถึงกระนั้น สิ่งเหล่านี้คงเป็นไปได้ยากในประเทศเกาหลีใต้ (จากนี้จะเรียกว่า “เกาหลี” เพื่อความกระชับ) ที่ยังคงยึดติดและให้ความสำคัญกับ “มาตรฐานความงาม” ในรูปแบบเดียว ดังเห็นได้จากทั้งในสื่อออนไลน์ สื่อโฆษณา และสื่อกระแสหลัก เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้ ที่แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานความงามได้ชัดเจนที่สุด เช่น ภาพลักษณ์ของนักแสดงในซีรีส์ กลุ่มนักร้องไอดอลทั้งชายและหญิง ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีหน้าตาตรงตามมาตรฐาน เช่น มีใบหน้าที่เรียวเล็ก ตาโตสองชั้น จมูกโด่งแบบธรรมชาติ ดูน่ารักและอ่อนเยาว์ ซึ่งเป็นมาตรฐานความงามที่พบเห็นได้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มาตรฐานความงามที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อเป็นสิ่งที่สร้างการรับรู้และทัศนคติต่อความงามในรูปแบบเดียวให้แก่ผู้คนในเกาหลี ลามไปถึงการลดทอนคุณค่าความงามในรูปแบบอื่นๆ กล่าวคือ ผู้หญิงที่สวยตรงตามมาตรฐานจะได้รับการยอมรับจากสังคมในขณะที่ผู้หญิงที่มีหน้าตาไม่ตรงตามมาตรฐานจะถูกจัดไว้ในตำแหน่งที่ต่ำกว่า

นอกจากภาพลักษณ์ของมาตรฐานความงามที่สื่อได้สร้างขึ้นแล้ว สื่อเกาหลียังสร้างเนื้อหาในซีรีส์และภาพยนตร์ที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของการมีหน้าตาตรงตามมาตรฐาน เห็นได้จากเนื้อหาที่มักถ่ายทอดให้เห็นว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ตรงตามมาตรฐานความงามจะต้องโดนกลั่นแกล้งให้เกิดความอับอาย มีความรักที่ไม่สมหวัง ได้รับความเจ็บปวดในชีวิต จนทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้มีใบหน้าตรงตามมาตรฐาน แล้วชีวิตจึงจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี กลายเป็นที่รักและชื่นชอบของทุกคน เนื้อหาเหล่านี้ที่สื่อได้ผลิตซ้ำไปมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ผู้คนที่ได้รับสื่อเกิดความรู้สึกว่าการมีหน้าตาดีมักจะมาพร้อมกับสิทธิพิเศษอื่นๆเสมอ และสร้างคำถามให้แก่ผู้หญิงต่อร่างการของตนเอง จนนำไปสู่ความพยายามที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆของร่างกายเพื่อให้ตนเป็นไปตามมาตรฐานความงามเหล่านั้น
 ยิ่งกว่านั้น ในซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีมักสอดแทรกประเด็นการศัลยกรรมอย่างเปิดเผย รวมถึงมีการ Tie-in เครื่องสำอางต่างๆ ฉากศัลยกรรมหรือฉากใช้เครื่องสำอางของตัวละครนั้นๆ มักแสดงให้เห็นถึงการมีความมั่นใจเมื่อมีหน้าตาที่สวยงาม และสิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อผู้ชมทำให้อยากมีความสวยตามตัวละคร เกิดการซื้อเครื่องสำอางตาม จนไปถึงการศัลยกรรมตามนักแสดงในซีรีส์นั้นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สร้างมูลค่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศเกาหลี รวมถึงสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมศัลยกรรมอีกด้วย

ความงามตามมาตรฐานที่สื่อได้สร้างขึ้น ประกอบกับผลกระทบทางด้านบวกและลบของมาตรฐานความงามดังที่กล่าวไปในข้างต้น ส่งผลให้ผู้หญิงในประเทศเกาหลีมีความพยายามในการปรับปรุงแก้ไขหน้าตาตนเอง ผ่านการแต่งหน้า รวมไปถึงการทำศัลยกรรม โดยจะเห็นได้จากสถิติการทำศัลยกรรมในประเทศเกาหลีที่เพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 1994 เป็น 13% ในปี 2004 และ 31% ในปี 2015 (Gallup Korea, 2015) จึงสามารถกล่าวได้ว่าแรงจูงใจในการทำศัลยกรรมของผู้หญิง มาจากความไม่พอใจในหน้าตาของตน อันเป็นผลจากการบริโภคสื่อที่ได้บ่มเพาะมาตรฐานความงามในรูปแบบเดียว

เพราะสาเหตุใดที่ประเทศเกาหลีมีการผลิตซ้ำของสื่อทั้งซีรีส์และภาพยนตร์ จนสร้างมาตรฐานความงามมากมายขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนจากทางภาครัฐทั้งด้านของสื่อ อุตสาหกรรมความงาม เครื่องสำอาง และการทำศัลยกรรม โดยในบทความนี้จะทำการศึกษาในนโยบายของภาครัฐในฝั่งของสื่อและการศัลยกรรมที่เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้มาตรฐานความงามยังคงอยู่และมีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศเกาหลี

ในด้านของสื่อ คงต้องย้อนกลับไปในช่วงที่ประเทศเกาหลีเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 จากวิกฤติดังกล่าวกลายมาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาประเทศโดยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อส่งออก นอกจากนั้นเกาหลียังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงในฐานะกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยภาครัฐได้นำวัฒนธรรมเกาหลีมาใส่ในสื่อบันเทิงเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าวัฒนธรรม จนเกิดเป็นกระแส Korean Wave หรือ Hallyu ทำให้อุตสาหกรรมซีรีส์ได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย โดยปรากฏการณ์นี้สร้างรายได้ให้แก่เกาหลีเป็นเงินกว่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านการส่งออกวัฒนธรรม (พัชรี, 2563) และจากการสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ทำให้ภาครัฐได้ตระหนักถึงประโยชน์ในการพัฒนาให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าสร้างรายได้ ต่อมามีการจัดตั้งองค์การส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมคอนเทนต์แห่งเกาหลีใต้ (KOCCA) ในปี 1998 เพื่อพัฒนากลยุทธ์การถ่ายทอดเนื้อหาสาระความเป็นเกาหลี โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้นำเนื้อหาความเป็นชาติเกาหลีสอดแทรกลงไปในสื่อบันเทิงทุกประเภท ความนิยมในวัฒนธรรมเกาหลีที่ถ่ายทอดผ่านสื่อนี้ กลายเป็นห่วงโซ่ในการพัฒนาของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหาร การท่องเที่ยว รวมไปถึงการศัลยกรรม

ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงของภาครัฐผ่านนโยบายยังมีอีกมากมาย อาทิเช่น การสร้างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อในระยะยาวเพื่อรองรับการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสื่อ และการสนับสนุนผ่านงบประมาณด้านการสร้างเนื้อหาที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตเนื้อหาสื่อคุณภาพสูงทั้งในภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชัน และอื่นๆ โดยรัฐบาลเกาหลีมีการจัดสรรงบประมาณด้านเงินลงทุนกว่าปีละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับผู้ผลิตภาพยนตร์ในระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นการผลักดันการส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิง  นอกจากนี้ภาครัฐยังมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตสื่อ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถแสดงศักยภาพและแสดงความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งภาครัฐยังมีบทบาทในการอำนวยการสร้างและผลิตสื่อ ทั้งการเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยให้กับภาคเอกชน และช่วยประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเตรียมพื้นที่ในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างๆ เป็นต้น (กรณ์, 2565)

ถึงแม้การสนับสนุนของภาครัฐในด้านอุตสาหกรรมสื่อนั้นไม่ได้มีนโยบายที่สนับสนุนในด้านมาตรฐานความงามโดยตรง และไม่มีการมุ่งสนับสนุนสื่อที่ส่งเสริมมาตรฐานความงามอย่างจริงจัง แต่บทบาทของภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสื่อนั้นมุ้งเน้นไปที่กฎระเบียบ การช่วยเหลือผ่านเงินทุน และนโยบายการกำกับดูแลต่างๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้สื่อได้มีการผลิตเนื้อหาที่ส่งเสริมและถ่ายทอดมาตรฐานความงามต่อไปอย่างเสรีและกว้างขวาง โดยที่ภาครัฐไม่ได้คิดว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคม ซึ่งเนื้อหาเหล่านั้นมักตอบสนองความต้องการและกระแสนิยมของอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง เป็นผลให้เกิดการสานต่อของมาตรฐานความงามที่มีอยู่ในสังคมเกาหลีต่อไปเรื่อยไม่รู้จบ

จากการเติบโตของสื่อผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อการเกิดกระแสนิยมในด้านวัฒนธรรมของประเทศเกาหลี รวมไปถึงการปลูกฝังค่านิยมในมาตรฐานความงามจากสื่อบันเทิง ผู้หญิงทั้งในและนอกประเทศเกาหลีเกิดความต้องการที่จะมีความสวยงามตามนักแสดงในสื่อ จนเกิดการศัลยกรรมขึ้นมากมายในประเทศเกาหลี อ้างอิงจากข้อมูลสถิติการทำศัลยกรรมทั่วโลกของสมาคมศัลยกรรมเสริมความงามนานาชาติ (ISAPS) ในปี 2011 พบว่าประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราการทำศัลยกรรมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกและเอเชีย และในปี 2016 ตลาดศัลยกรรมของประเทศเกาหลีมีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็น 24% จากตลาดศัลยกรรมความงามของโลก โดยในปีนั้นประเทศเกาหลีถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศที่มีจำนวนการทำศัลยกรรมมากที่สุดในโลก ซึ่งมีจำนวนการทำศัลยกรรมทั้งหมดประมาณ 1,156,00 ครั้ง (วิสาขา, 2561, น. 59)

การศัลยกรรมในเกาหลียังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมาย อ้างอิงจากข้อมูลสถิติจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพเกาหลี (KHIDI)  พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นั้นมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2013 มีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพิ่มขึ้น 37% โดยรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2006 มากถึง 3 เท่าจาก 50 ล้านดอลลาร์ฯ เป็น 180 ล้านดอลลาร์ฯ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นอย่างมาก (KHIDI, 2014)

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อัตราการศัลยกรรมและมูลค่าตลาดการศัลยกรรมของประเทศเกาหลีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนหนึ่งมาจากการส่งเสริมการเติบโตผ่านนโยบายต่างๆของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการแพทย์และศัลยกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนให้เกาหลีเป็นประเทศศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ของเอเชียโดยเฉพาะในด้านศัลยกรรม ภาครัฐจึงส่งเสริมการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีในด้านการแพทย์และการศัลยกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการมอบเงินทุนให้แก่สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย และโรงพยาบาลที่มีแผนกการศัลยกรรมเฉพาะทาง เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ และพัฒนาโครงสร้าง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการศัลยกรรม (วิสาขา, 2561, น. 57) อีกทั้งยังมีการสร้างโครงการอำนวยความสะดวกแบบครบวงจรในเรื่องของการท่องเที่ยวและการศัลยกรรม ให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่มีความสนใจการศัลยกรรมที่ประเทศเกาหลี ได้แก่ การเดินทาง, โรงแรมที่พัก, ล่าม และการอำนวยความสะดวกหลังผ่าตัด เช่น อาหาร, เครื่องดื่ม และการพักผ่อน โดยจัดตั้งศูนย์กลางแห่งกรุงโซลเพื่อการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงศัลยกรรม (Seoul Center for Aesthetic Medical Tourism General Support) ขึ้นในปี 2013 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวเกาหลี (วิสาขา, 2561, น. 28) นอกจากนั้นภาครัฐยังได้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติ (International Patients Support Center) เพื่อให้การสนับสนุนแก่ผู้ที่มาทำศัลยกรรม รวมถึงให้การช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ไม่พอใจกับการรักษา พร้อมไปกับการออกมาตรการผ่อนผันวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อีกด้วย (Mundy, 2014)

นอกจากการสนับสนุนของภาครัฐในด้านที่กล่าวไปข้างต้น ภาครัฐยังได้มีการช่วยเหลือโรงพยาบาลและคลินิกศัลยกรรมผ่านการแก้ไขกฎหมายให้สามารถมีการโฆษณาเกี่ยวกับการศัลยกรรมในโรงพยาบาลและคลินิกศัลยกรรมได้มากขึ้น โดยในปี 2003 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (FTC) และกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของประเทศเกาหลี (Ministry of Health and Welfare) ได้ประกาศว่ารัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายการแพทย์เพื่ออนุญาตให้โรงพยาบาลและคลินิคศัลยกรรมสามารทำการโฆษณาเกี่ยวกับการศัลยกรรมได้ ดังนั้น ในปัจจุบันเราจึงเห็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเกาหลีมีการโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ และวิทยุ รวมถึงการโฆษณาถึงความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อันยาวนานของแพทย์ในการศัลยกรรม ยิ่งกว่านั้น โรงพยาบาลและคลินิกศัลยกรรมยังสามารถเพิ่มแรงกระตุ้นต่อการทำศัลยกรรมของผู้ที่เห็นโฆษณาผ่านโปรโมชั่นส่วนลด รวมถึงรูปภาพก่อนและหลังการศัลยกรรม การสนับสนุนผ่านนโยบายและการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดเสรีในการโฆษณาของโรงพยาบาลและคลินิกศัลยกรรมนี้ส่งผลโดยตรงกับจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ที่รับการศัลยกรรมอย่างมีนัยสำคัญ (Kim, 2016)

ท้ายที่สุด เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรฐานความงามในประเทศเกาหลีจะยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมต่อไป อันเป็นผลมาจากการสนับสนุนของภาครัฐในหลายด้านตั้งแต่ในช่วงที่ประเทศเกาหลีเริ่มส่งออกวัฒนธรรม ทั้งด้านสื่อบันเทิงต่างๆ และการสนับสนุนด้านศัลยกรรมเพื่อให้มีการเติบโตในระดับโลก ซึ่งล้วนแต่สามารถสร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีได้อย่างมหาศาล ทั้งทางภาครัฐ โรงพยาบาลหรือคลินิกศัลยกรรม สื่อบันเทิง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ล้วนได้รับประโยชน์จากการมีอยู่ของมาตรฐานความงามทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่ามาตรฐานความงามในประเทศเกาหลีจะยังคงอยู่และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ผลประโยชน์ของการมีมาตรฐานความงามจะยังไม่หมดไป ถึงแม้จะมีผู้คนมากมายที่ทนทุกข์ทรมานจากการมีอยู่ของมาตรฐานความก็ตาม

เอกสารอ้างอิง
ชุษณา จงใจเทศ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเขียนฝึกหัด ชีวิตขับเคลื่อนด้วยกาแฟ หนังสือ และแมวส้ม