แลหน้า เหลียวหลัง: จากยังโอมถึงคาราบาว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับเพลงร่วมสมัยในสังคมไทย

1116 views
การสะท้อนภาพความคิดของผู้คนลงไปในงานศิลปะแขนงต่างๆ นับเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมมนุษย์ หนึ่งในแขนงของศิลปะที่ถูกใช้สะท้อนภาพความคิดของผู้คนมากที่สุดก็คือ เพลงที่เนื้อร้องสามารถนับได้ว่าเป็นการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนเนื้อเพลงสื่อสารสิ่งที่คิด และนักร้องทำหน้าที่สื่ออารมณ์ และถ่ายทอดสารเหล่านั้นนั้นออกมา
 หนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ทรงคุณค่าที่สุดเล่มหนึ่งอย่าง เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ ได้เสนอว่า เพลงเพื่อชีวิต และเพลงลูกทุ่งนั้นมีเนื้อหาสะท้อนถึงสภาพความคิดของผู้คนต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ ตัวอย่างเช่น เพลงเมดอินไทยแลนด์ของวงคาราบาว ที่สะท้อนถึงเศรษฐกิจในช่วงโชติช่วงชัชวาลย์ และการก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2520 เช่นเดียวกันกับเพลงลูกทุ่งจำนวนมากนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่สะท้อนความคิด และภาพชีวิตของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานหาโอกาสในกรุงเทพมหานคร  

แต่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวเพลงที่เป็นที่นิยมขึ้นมาในระยะหลังก็คือแนวเพลงแร๊ป หรือ แนวฮิปฮอป ที่เป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลก โดยดนตรีฮิปฮอปมีจุดเริ่มต้นเป็นดนตรีของกลุ่มคนเชื้อสายอัฟริกันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเนื้อร้องของเพลงในดนตรีกระแสนี้หลายเพลง เป็นการระบาย หรือ บรรยายสภาพชีวิตของคนเชื้อสายอัฟริกันที่ต้องเผชิญกับการเหยียดสีผิว การได้รับความอยุติธรรม การวิจารณ์สภาพสังคม การวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น และบทเพลงที่มีเนื้อร้องข้างต้นก็มีความเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวทางสังคมในการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองอเมริกันที่มีเชื้อสายอัฟริกันด้วยเช่นกัน 

แนวเพลงแร๊ป/ฮิปฮอปได้แผ่อิทธิพลมาสู่ประเทศไทย และได้รับความนิยมสูงในระยะหลังอันเป็นปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกับกระแสความนิยมในระดับโลก[1]  กรณีที่เพลงฮิปฮอปเชื่อมกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยก็มีปรากฏเช่นกัน เช่น กลุ่ม Rap Against Dictatorship ที่ทำเพลงวิพากษ์วิจารณ์สังคม และรัฐบาล คสช. ในขณะนั้น

อัลบั้มเพลงแร๊ปที่เป็นกระแสนิยมใน พ.ศ. 2566 ย่อมหนีไม่พ้น อัลบั้มธาตุทองซาวด์ ของยังโอม ศิลปินฮิปฮอป/แร๊ปชื่อดังของไทย อัลบั้มดังกล่าวมียอดฟังสตรีมมิ่งมากกว่า 20 ล้านครั้งใน Spotify และมียอดชมรวมกันมากกว่า 50 ล้านครั้งในเว็บไซต์ Youtube[2]  กระแสที่เป็นที่พูดถึงในสังคมในวงกว้างเกิดขึ้นจากเพลง ธาตุทองซาวด์ ที่มีมิวสิควิดีโอเป็นการแข่งรถ สร้างกระแสให้ผู้คนออกมาขุดรูปอดีตของตัวเอง รวมไปถึงในแง่วิชาการ เช่น บทความที่มีการถอดความ และสำรวจถึงอีกี้ในมิวสิควิดีโอ หรือ กลุ่มคนที่ถูกสังคมเรียกว่า สก๊อย ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถูกประกอบสร้างมาอย่างไร[3,4] (รวมไปถึงกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า เด็กแว้น ด้วยเช่นกัน)

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วเพลงในอัลบั้มธาตุทองซาวด์ หลายๆเพลงนั้นได้สะท้อนแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมในหลายๆแง่มุม ไม่ใช่เพียงแต่ในแง่มุมของเด็กแว้น หรือ สก๊อยเท่านั้น  แง่มุมที่จะกล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จากการเรียงเพลงในอัลบั้มสามเพลงต่อกันที่มีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน ก็คือ Very Very Small, สายน้ำผึ้ง, และเด็กอินเตอร์ ทั้งสามเพลงเล่าเรื่องถึงเด็กผู้หญิงที่เรียนต่างโรงเรียนกันสามโรงเรียน ในเพลง Very Very Small เป็นการเล่าถึงประสบการณ์ความรักครั้งแรกสมัยมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองด้วยกัน สายน้ำผึ้ง พูดถึงการชอบนักเรียนโรงเรียนอื่นในละแวกใกล้กัน เนื้อร้องสะท้อนถึงความรู้สึกต่ำต้อยกว่าเล็กน้อย และยังมีความหวังที่จะประสบความสำเร็จในความรักถึงแม้จะมีคู่แข่งเป็นนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลในละแวกเดียวกันก็ตาม และเพลง เด็กอินเตอร์ คือการบรรยายถึงนักเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ถูกมองว่ามีความห่างไกลจากตนเองมากๆกับเด็กโรงเรียนวัด และมองว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะได้คู่กัน หากมองอย่างผิวเผินก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการพูดถึงเรื่องความรักวัยรุ่นทั่วไป แต่แท้จริงแล้วหากเพลงเป็นสิ่งสะท้อนภาพความคิดของผู้คน สามเพลงนี้ได้สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งการเรียงเพลงทั้งสามเพลงต่อกันนั้นก็ยิ่งเป็นการขับเน้นให้เห็นถึงการพูดถึงชนชั้น และความเหลื่อมล้ำทางในประเด็นการศึกษาในบทเพลง

เพลงของยังโอมได้พูดถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละโรงเรียน ซึ่งเป็นการพูดถึงชนชั้นผ่านสถานศึกษา และสะท้อนออกมาผ่านมุมมองในความชอบผู้หญิง เพราะในอีกทางหนึ่งแล้วสถานศึกษาก็สะท้อนถึงสถานะทางสังคมของผู้เรียนด้วยเช่นกันและสถานะทางการเงินของครัวเรือน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรีโดยรัฐบาลอยู่ แต่กระนั้นการเรียนฟรีในไทยก็ยังมีปัญหาฟรีไม่จริงอยู่ เนื่องจากทางโรงเรียนจะต้องเก็บค่าทรัพยากรหลากหลายประเภทจากผู้เรียนอยู่ดีในรูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากค่าเทอม และแต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกันในการจัดเก็บ ในขณะที่โรงเรียนเอกชนนานาชาติที่มีราคาค่าเทอมสูงกว่าค่าเทอมโรงเรียนทั่วไปหลายเท่า เราจึงอนุมานได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนของนักเรียนในโรงเรียนนานาชาตินั้นมีรายได้ที่สูงมากกว่านักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลทั่วไปโดยเฉลี่ย ซึ่งอาจจะมีมาตรฐานทางการศึกษาที่ดีกว่าโรงเรียนอื่นๆด้วย

นอกจากมาตรฐานทางการศึกษาแล้ว ทรัพยากรที่ได้รับจากส่วนกลาง รวมไปถึงทรัพยากรที่โรงเรียนจัดหามาได้เองนั้นก็แตกต่างกันด้วย โรงเรียนนานาชาติที่ราคาค่าเทอมสูง หรือ โรงเรียนที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ที่สามารถออกแบบห้องเรียนพิเศษเพื่อเก็บค่าโครงการราคาแพง รวมไปถึงได้รับเงินและทรัพยากรจากการบริจาคต่างๆมากกว่า ก็ย่อมที่จะมีทรัพยากรทางการศึกษาที่ดีกว่าโรงเรียนรัฐที่เรียนฟรี(ไม่จริง)ทั่วไป ภาวะนี้ก็สามารถเปรียบเทียบได้กับคำถามระหว่างประเภทไก่กับไข่ สิ่งไหนเกิดก่อนกัน กล่าวคือ ทรัพยากรที่แตกต่างกันก็อาจจะส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาที่แตกต่างกันไปด้วย[6]
 
การกล่าวถึงคุณภาพที่แตกต่างกันของโรงเรียนในเขตเมืองกับชนบทเป็นปัญหาด้านการศึกษาในต่างจังหวัด แต่ในกรุงเทพมหานคร แต่ละโรงเรียนที่ถูกพูดถึงในเพลงทั้งสามเพลงนี้ยังอยู่ในละแวกเดียวกัน ความแตกต่างภายในกลุ่มเดียวกันแบบโรงเรียนในเขตเมืองเหมือนกันก็อาจจะมีความแตกต่างกันได้เช่นเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้สามารถสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพมหานครได้อีกในหลายๆมิติอีกด้วย เช่น ในบางเขตพื้นที่ก็มีทั้งที่อยู่อาศัยของคนรวย อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ห้างราคาแพง และชุมชนแออัดอยู่ร่วมกันในบริเวณไม่ห่างกันมากนัก

หากเรามองการเล่าเรื่องผ่านเนื้อเพลง หรือ ดนตรี เป็นการสะท้อนถึงตะกอนความคิดของผู้คนในสังคม เราสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ รวมไปถึงความคิดในอดีตของผู้คนได้ เมื่อมองย้อนกลับไปยังอัลบั้มเพลงไทยที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น ในอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ที่ออกขายเมื่อปี พ.ศ. 2527 ก็มีเพลงที่กล่าวถึงการศึกษา[7] เช่นกันคือ ลูกหิน ที่พูดถึงการเรียน “โรงเรียนวัด” และพูดถึง “โรงเรียนดีๆ” ซึ่งการเข้าถึงโรงเรียนดีๆในเพลงก็เกี่ยวกันกับรายได้ของผู้ปกครองด้วยเช่นกัน[8]  ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าความคิดเรื่องการเรียนในโรงเรียนคนละแห่งกันแล้วมีความแตกต่างกันนั้นอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานอย่างน้อย 40 ปี และเรื่องราวลักษณะนี้ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยเสมอมา ถึงแม้หลายๆคนอาจจะเฝ้าฝันถึงการศึกษาที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนอย่างไร ก็มีสถานะทางสังคมที่เท่ากัน ได้รับคุณภาพทางการศึกษาที่เท่ากัน แต่ในขณะเดียวกันการศึกษาในสถานศึกษาอันมีเกียรติประวัติ หรือ สถานศึกษาที่มีคุณภาพสูงลิบลิ่วก็เป็นความใฝ่ฝันของหลายๆคนเช่นกัน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นประเด็นที่อาจจะต้องศึกษาและถกเถียงเพื่อหาหนทางที่จะแก้ไขกันต่อไป

[1]จากสถิติของ Spotify บริการสตรีมมิงดนตรีในปี 2565 ศิลปินที่ถูกฟังมากที่สุดของแพลตฟอร์ม อันดับ 1 ได้แก่ Bad Bunny แร๊ปเปอร์ชาวเปอร์โตริโก้ และอันดับ 3 ได้แก่ Drake แร๊ปเปอร์ชาวแคนาดา ซึ่งอาจจะเป็นตัวสะท้อนได้ถึงความนิยมของดนตรีแร๊ปในปัจจุบัน 
[2]ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2566
[3]ก่อร่างเป็น ‘อีกี้’ สำรวจแง่มุมของวัฒนธรรมสก๊อยผ่านงานวิชาการ ในเว็บไซต์ thematter.co URL:  https://thematter.co/quick-bite/understanding-sagoy/201151
[4]สรรสร้าง ‘อีกี้’ ผ่านแว่นชนชั้นกลาง ว่าด้วยแฟชั่น ‘สก๊อย’ ที่เก๋ได้ ก็ต่อเมื่อเธอไม่ใช่ ‘ตลาดล่าง’ ตัวจริง ในเว็บไซต์ themomentum.co URL : https://themomentum.co/gender-egie-skoiiz/
[6]อีกทั้งในยุคเด็กเกิดน้อยการกำเนิดขึ้นของโรงเรียนนานาชาติจำนวนมากเกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีฐานะดีที่มีลูกจำนวนน้อยคนก็มักจะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนานาชาติเพราะต้องการคุณภาพทางการศึกษาที่สูงที่สุดให้ลูกของตนเอง เป็นการเน้นย้ำภาพความแตกต่างของการศึกษาของไทย อ้างอิงจาก “ไทยเติบโตสูงสุดในอาเซียน เกิน 10% ทุกปี'รร.นานาชาติ'ฮิตสะพัดแสนล้าน” ในกรุงเทพธุรกิจ URL: https://www.bangkokbiznews.com/health/education/1056440
[7]อีกเพลงที่พูดถึงการศึกษาในอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ก็คือเพลง มหาลัย แต่เป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
[8]ในเพลง ลูกหิน ได้พูดถึงเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ”สำหรับ “ยัด” ลูกเข้า “โรงเรียนดีๆ” จะเห็นได้ว่าการเข้าถึงโรงเรียนดีๆ ก็เกี่ยวพันกับทรัพย์สินของผู้ปกครองเช่นกัน

สรงกรณ์ เตชวณิชย์พงศ์
ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้ชื่อจริงใหม่ๆตลอด เพราะไม่ค่อยมีใครอ่านถูก